โครงการธนาคารโคและกระบือ ตามพระราชดำริ

3 กันยายน 2557 ศาสตร์พระราชา 0

ตามที่ ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนโค-กระบือลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเพิ่มมากขึ้น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือกลับลดจำนวนลง ด้วยสาเหตุสำคัญเพราะมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้อยลงประกอบกับแรงงานภาคเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงโค-กระบือเพื่อจะได้มีโค-กระบือเป็นของตนเองและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรกร ซึ่งหากมีการบูรณาการองค์ความรู้และกิจกรรมทุกภาคส่วน รวมทั้งการเพิ่มจำนวนโค-กระบือที่สนับสนุนให้เกษตรกรตามโครงการ จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโค-กระบือ และส่งผลให้เกิดประโยชน์จากการเลี้ยงโค-กระบืออย่างครบวงจร อันจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนในการเพิ่มประชากรโค-กระบือในประเทศ และเกษตรกรในโครงการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

bankkokabaura

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงโคเนื้อ
  2. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนโคเนื้อ
  3. เพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์และเพิ่มทางเลือกอาชีพให้แก่เกษตรกร

การดำเนินการ
สร้างฟาร์มต้นแบบโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เพื่อเป็นจุดสาธิตการเรียนรู้ตามโมเดลการผลิตโคและการใช้ประโยชน์อย่างครบวงจรและขยายผลไปยังเครือข่าย

เป้าหมาย

  1. สร้างฟาร์มต้นแบบโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จำนวน 100 ฟาร์ม (จังหวัดละ 5 ฟาร์ม)
  2. ขยายผลไปยังฟาร์มเครือข่าย ฟาร์มตัวอย่างละ 5 เครือข่าย (ในเวลา 6 เดือน) รวมฟาร์มเครือข่าย จำนวน 500 ฟาร์ม

การจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ แต่ละแห่งจะเริ่มต้นด้วยสมาชิกอย่างต่ำสุด ๑๐ ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรยากจน อยู่ในพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนในการหาโค-กระบือเพื่อมาใช้งาน คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียรและไม่มีโค-กระบือของตนเอง จัดเรียงลำดับไว้ ธนาคารฯ จะจัดสรรโค-กระบือให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้วตามจำนวนโค-กระบือ ที่ธนาคารฯ มีอยู่ ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หรือจากงบประมาณของรัฐ ผู้ที่ยังไม่ได้รับโค-กระบือจากธนาคารฯ ในครั้งแรก ก็จะมีโอกาสได้รับในคราวต่อไป เมื่อธนาคารฯ มีโค-กระบือเพิ่มขึ้น

bankkokabaurmob

ธนาคารโค-กระบือในหมู่บ้านที่มีการบริหารและการจัดการโครงการที่ดี ก็จะเกิดผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้น ลูกโค-กระบือที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นของธนาคารโค-กระบือ ได้นำไปหมุนเวียนให้บริการแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป การดำเนินงานในลักษณะนี้ ทำให้โครงการธนาคารโค-กระบือ เกิดผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เกษตรกรได้รับบริการอย่างทั่วถึง โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

…ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ
โดยมีบัญชี ควบคุม ดูแล รักษา แจกจ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและ กระบือ เป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็น เครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้นความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไก เสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้งาน
ธนาคารโคและกระบือ พอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนกับธนาคาร
ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคหรือกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวมใครจะสมทบธนาคารโคกระบือ ก็ไม่จำเป็นต้องนำโคหรือกระบือไปมอบให้อาจบริจาคในรูปของเงิน…

พระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ณ บริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อวันพืชมงคล 14 พฤษภาคม 2523 เกี่ยวกับโครงการธนาคารโคและกระบือตามพระราชดำริ

ปัจจุบัน ธนาคารโค-กระบือ ตามพระราชดำริ มีวิธีการให้บริการแก่เกษตรกรในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้คือ

  1. การให้เช่าซื้อผ่อนส่งระยะเวลายาว เกษตรกรที่ยากจนที่ใคร่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของโค-กระบือของตนเอง ทางธนาคารฯ จะจัดหาโค-กระบือ มาจำหน่ายให้ในราคาถูก โดยเกษตรกรจะต้องผ่อนส่งใช่เงินคืนให้แก่ธนาคารฯ โดยการผ่อนส่งในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งผู้ซื้อจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันหรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้ เป็นผู้ค้ำประกันการผ่อนชำระดังกล่าว
  2. การให้เช่าเพื่อใช้งาน เกษตรกรที่ไม่มีโค-กระบือ ใช้งานของตนเอง อาจจะติดต่อขอเช่าโค-กระบือ จากธนาคารฯ ไปใช้งานได้โดยทางธนาคารฯ จะพิจารณาให้เช่าในราคาถูก แต่ผู้เช่าจะต้องมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารโค-กระบือ นี้
  3. การให้ยืมเพื่อทำการผลิตพันธุ์ เกษตรกรที่ยากจน หากต้องการจะยืมโค-กระบือ เพศเมีย จากธนาคารฯ ไปใช้เลี้ยงเพื่อผลิตลูกโค-กระบือ ก็อาจติดต่อขอยืมโค-กระบือจากธนาคารฯ ได้โดยผู้ยืมจะต้องแบ่งลูกโค-กระบือ ที่คลอดออกมาคนละครึ่งกับธนาคารฯ โดยลูกตัวที่ ๑, ๓, ๕ ฯลฯ จะเป็นของธนาคารฯ ส่วนลูกตัวที่ ๒, ๔, ๖ ฯลฯ จะเป็นของเกษตรกร ทั้งนี้ ผู้ยืมจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้ที่เชื่อถือได้ค้ำประกันไว้กับธนาคาร
  4. การยืมใช้งาน เกษตรกรหรือทหารผ่านศึกที่ยากจน ไม่สามารถจะช่วยตนเองได้จริง ๆ อาจติดต่อขอรับความช่วยเหลือขอยืมโค-กระบือ ไปใช้งานได้ โดยธนาคารฯ จะได้จัดเจ้าหน้าที่ไปพิจารณา ให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษเป็นราย ๆ ไป

รายละเอียดกิจกรรม

  1. สร้างฟาร์มต้นแบบโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้และสาธิตการเลี้ยงโคตามโมเดลการผลิตโคและการใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร จำนวน 100 ฟาร์ม ในพื้นที่ดำเนินการ 20 จังหวัด (จังหวัดละ 5 ฟาร์ม)
  2. เชิญปศุสัตว์สัตว์จังหวัดที่เกี่ยวข้องหารือรายละเอียดโครงการเพื่อรับทราบแนวทาง และพิจารณาคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย
  3. จังหวัดพื้นที่เป้าหมายพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรต้องได้รับการรับรองจากท้องถิ่น สถานที่ตั้งฟาร์มต้นแบบต้องมีการคมนาคมสะดวก มีแรงงานเพียงพอ และมีความสามารถในการเลี้ยงสัตว์
  4. ธคก. / คณะทำงานฯ ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางและเงื่อนไขการดำเนินโครงการให้เกษตรกรรับทราบ
  5. สร้างฟาร์มต้นแบบการผลิตโคและการใช้ประโยชน์อย่างครบวงจรตามแบบที่กำหนด ประกอบด้วย แปลงหญ้าขนาดไม่น้อยกว่า 1 ไร่ คอกโคขนาด 32 ตารางเมตร (บ่อแก๊สขนาดเล็ก 1 บ่อ หากเกษตรกรประสงค์เพิ่มเติมเอง โดย สอส.เป็นผู้ให้คำแนะนำ)
  6. สนับสนุนโคของโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จำนวน 5 ตัวต่อฟาร์ม โดยทำสัญญายืมเพื่อการผลิตตามระเบียบของ ธคก. (แม่โคท้อง)
  7. สอส.ให้ความรู้ด้านการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และสนับสนุนท่อนพันธุ์ โดยเน้นพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1
  8. สสส.ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรที่เป็นจุดเรียนรู้ โดยเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ตั้งแต่การจัดการแปลงหญ้า การเลี้ยงโคแบบยืนโรง และการใช้มูลโคทำแก๊สชีวภาพใช้ปรุงอาหารในครัวเรือน รวมทั้งนำแก๊สมาใช้ประโยชน์ในการจัดการแปลงหญ้า
  9. สทป.ให้บริการผสมเทียม / สพพ.พิจารณาสนับสนุนพ่อพันธุ์
  10. สคบ.ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพสัตว์
  11. กพก.เก็บข้อมูลและประเมินผลการดำเนินการ
  12. ขยายผลไปยังฟาร์มเครือข่าย จำนวน 5 ฟาร์ม จากฟาร์มต้นแบบ 1 ฟาร์ม ในเวลา 6 เดือน
  13. ธกค. สนับสนุนแม่โคท้อง แก่ฟาร์มขยาย 5 ตัว/ฟาร์ม โดยฟาร์มขยายจะต้องมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับฟาร์มต้นแบบรองรับ (เกษตรกรสร้างโดยงบประมาณของตนเอง) และมีแปลงหญ้า 1 ไร่ (โดยกรมฯสนับสนุนท่อนพันธุ์)

bankkokabaurkog bankkokabaurs

โมเดลการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตโคและการใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

  1. มีคอกและบริเวณที่โคอยู่สบายได้มาตรฐาน เป็นเอกลักษณ์ของคอกโคโครงการธนาคารโค – กระบือ
  2. เลี้ยงโคเพศเมียท้อง อย่างน้อย 5 ตัว
  3. ตัดหญ้าให้โคกิน ไม่นำโคไปผูกล่ามหรือปล่อยหากินนอกคอก
  4. มีแปลงหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 อย่างน้อย 1 ไร่
  5. ได้มูลโคใส่บ่อแก๊สทุกวันหรือขายมูลโคได้ทุกวัน (มีหรือไม่ก็ได้)

กองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมปศุสัตว์
ที่อยู่ 69/1 ชั้น 1 ตึกชัยวิจิตรพาหนการ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400
โทร.0-2653-4444 ต่อ3371-3 โทรสาร 0-2653-4930
E-mail: drasa@dld.go.th

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น