ธนาคารไข่กุ้ง เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

28 มีนาคม 2557 ภูมิปัญญา 0

กุ้งก้ามกราม เป็นสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด กุ้งก้ามกราม ที่จับได้จากแม่น้ำตามธรรมชาติ มีรสชาติน่ารับประทาน ทำให้ปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงต้องมาอาศัย การเพาะเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค แต่รสชาติและราคาของกุ้งก้ามกรามที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสู้กุ้งก้ามกราม ที่จับจากธรรมชาติไม่ได้ โดยเฉพาะจากแม่น้ำต่าง ๆ จึงเรียกกันติดปากของผู้บริโภคว่า กุ้งแม่น้ำ กุ้งก้ามกรามสามารถ อาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืดแต่มีวัฏจักรวงจรชีวิตที่น่าสนใจ คือต้องวางไข่ในน้ำกร่อยที่ความเค็มของน้ำอยู่ที่ 10 15 ppt บริเวณปากแม่น้ำ และเมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวและวิวัฒนาการเป็นลูกกุ้งคว่ำแล้วจะเคลื่อนตัวไปเจริญเติบโตในแหล่งน้ำจืดต่อไป

tanakarnkungpao

จากสภาพปัญหาความเสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และการทำการประมงโดยใช้เครื่องมือ ที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุทำให้ปริมาณกุ้งก้ามกรามตามธรรมชาติมีปริมาณลดลง การเพาะขยายพันธุ์ลูก กุ้งก้ามกรามมาปล่อยลง สู่แหล่งน้ำธรรมชาติเช่นแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำต่างๆ ต้นทุนในการผลิตลูกกุ้งค่อนข้างสูงและมีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการดำเนินการ ประกอบกับขณะนี้กรมประมง ได้จัดทำโครงการสำรวจแบ่งเขตการทำการประมงบริเวณปากแม่น้ำเพื่อบริหารจัดการ และส่งเสริมธุรกิจการประมง ใน 4 แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำตราด แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำตาปีโดยการ สำรวจแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ การควบคุมการทำการประมงด้วยเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรประมงให้อุดมสมบูรณ์และยั่งยืน และการจัดเก็บข้อมูล ด้านการประมงและคุณภาพน้ำ
จากการสำรวจพบว่าบริเวณปากแม่น้ำทั้ง 4 สาย มีการจับกุ้งก้ามกรามเป็นจำนวนมาก และกุ้งก้ามกราม ที่จับได้ส่วนหนึ่ง เป็นกุ้งที่มีไข่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ลักษณะไข่มีสีส้มแก่ถึงสีเทาเข้ม พร้อมที่จะวางไข่ ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตกุ้ง ที่จะมีโอกาส แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป จึงได้หารือกับชาวประมง พ่อค้า และองค์กรท้องถิ่น ถึงแนวทางที่จะให้กุ้งที่จับได้มีโอกาสวางไข่ก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์โดยการนำมารวบรวมไว้ในกระชัง บริเวณที่มีความเหมาะสมเพื่อให้กุ้งที่มีไข่แก่ได้สลัดไข่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

tanakarnkungnam

แม่กุ้งก้ามกราม 1 กิโลกรัม เมื่อเพาะพันธุ์โดยให้วางไข่ในธรรมชาติคาดว่าจะให้ผลผลิต ลูกกุ้งที่คว่ำประมาณ50,000 ตัว สำหรับโครงการนี้ดำเนินรวบรวมแม่กุ้งกระชังละ 30 กิโลกรัม จำนวน 20 กระชัง รวมทั้ง 4 แม่น้ำ ดังนั้นจะได้ผลผลผลิตลูกกุ้งก้ามกรามที่คว่ำจำนวน 30,000,000 ตัว

ครัวลุงยุทธ ของลุงยุทธเจ้าของโครงการ ธนาคารไข่กุ้ง ที่ทำมากว่า 5 ปี โดยเมื่อซื้อแม่กุ้งมา ลุงยุทธจะแยกไข่ออกมาอนุบาลจนแข็งแรงแล้วปล่อยกลับลงสู่แม่น้ำเพชรให้เจริญเติบโตต่อไป หวังให้แม่น้ำเพชรมีความอุดมสมบูรณ์ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่โครงการของลุงก็มีค่าใช้จ่าย ลุงยุทธก็เลยงัดฝีมือทำอาหารของชาวประมงตั้งแต่เกิดมาเปิดร้านอาหารอร่อยๆให้เราได้ชิมกัน

tanakarnkungjab

ลุงยุทธเล่าให้ฟังว่า ดั้งเดิมกุ้งก้ามกรามในแถบนั้นก็พอมีเพราะเป็นแถบน้ำกร่อย ก็เป็นไปตามระบบวงจรชีวิตของกุ้งก้ามกราม แต่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนจับประเภทเห็นแก่ได้ ใช้วิธีเอายาเบื่อโรย กุ้งตัวเล็กตัวน้อยก็ตายไปด้วย ที่เขาทำอย่างนั้นเพราะที่สมุทรสงครามมีที่รับซื้อกุ้งตาย ส่วนลุงยุทธรับซื้อกุ้งเป็นแล้วส่งพ่อค้า เพราะตลาดต้องการมากกว่า ได้ราคากว่า แต่จำนวนกุ้งก็ยังไม่มาก แต่บังเอิญได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมง ซึ่งมาวางแผนสร้างระบบขยายพันธุ์กุ้ง ก็ทำง่ายๆ เมื่อคนจับกุ้งก้ามกรามเอากุ้งมาส่ง ถ้าเป็นแม่กุ้งที่มีไข่พร้อมที่จะสลัดไข่ ก็จะอนุบาลไว้ ยิ่งได้มามากก็ยิ่งดี ตอนแรกเอาไปขังในกระชังหน้าบ้านลุงยุทธเอง แล้วให้มันสลัดออกไปเอง แต่มีปัญหาที่ตัวกระชังนานๆ เข้าตะไคร่น้ำมันเกาะกระชัง ไข่กุ้งมันออกไปไม่หมด ก็ปรับวิธีใหม่ เอาขึ้นเลี้ยงอยู่ในบ่อในบ้านเลย มันก็สลัดอยู่ในบ่อ พอน้ำในแม่น้ำขึ้น ก็เปิดท่อที่บ่อให้ไข่กุ้งไหลตามน้ำลงไปยังแม่น้ำเลย

tanakarnkungbo

ทำอย่างนั้นมา 4-5 ปีแล้ว ก็ได้ผลดี ปัจจุบันมีกุ้งก้ามกรามเกิดในแม่น้ำเพชรบุรีมากขึ้น แต่มันจะไม่ว่ายทวนน้ำขึ้นไป เพราะเมื่อเลยวัดเขาตะเคราไป พื้นท้องน้ำแม่น้ำเพชรบุรีจะเป็นทราย ไม่มีแหล่งอาหาร กุ้งจึงอุดมสมบูรณ์อยู่แถบวัดเขาตะเครากับวัดเกาะแก้วนี่เอง นอกจากจะมีน้ำจืดจากเขื่อนแก่งกระจานลงมามาก กุ้งก็จะไปแถวปากน้ำบางตะบูน เมื่อปริมาณกุ้งมากขึ้น ชาวบ้านที่มีอาชีพจับกุ้งทั้งการทอดแหหรือตกกุ้งนั้นก็มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน ดีมาก อยู่ในขั้น 400-500 บาทต่อวัน เนื่องจากรายได้ดีผลพลอยได้คือพวกเขายังช่วยสอดส่องระวังคนเบื่อกุ้งอีกด้วย ไม่ยอมให้ใครมาทุบหม้อข้าวตัวเอง

ลุงยุทธเองเกิดมีความคิดว่า เมื่อมีกุ้งถูกส่งออกไปสู่ตลาดเป็นทอดๆ แต่กว่าจะถึงคนกิน ราคากุ้งก็เพิ่มขึ้นหลายเท่า ก็น่าจะให้คนมากินกุ้งถึงแหล่งเลยในราคาที่ถูกกว่า แล้วพอดีแม่บ้านก็พอมีฝีมือเรื่องอาหารอยู่ด้วย ก็ทำศาลาโล่งๆ มุงด้วยใบจาก พื้นเรียบๆ เอาไว้เป็นที่ให้คนมากินกุ้งนั่งกิน ปรากฏว่ามีคนรู้ไปกินแล้วชอบก็บอกต่อๆ กัน จากปากต่อปาก ส่วนใหญ่จะนัดกันไปกันเป็นกลุ่ม ไปกินกุ้งอย่างเดียว ส่วนใหญ่ย่าง และต้มยำบ้าง พล่ากุ้งบ้าง พอเสร็จมีลมพัดหลังอาหารก็นอนกลิ้งอยู่บนศาลานั่นเอง บ่ายๆ กลับ วันเสาร์ อาทิตย์ อากาศดีๆ คนโทร.ไปนัดกันพอสมควร ที่ต้องโทร.ไปก่อนนั้น เพื่อที่จะได้เตรียมกุ้งไว้ ไม่ส่งพ่อค้า

tanakarnkungs

ธนาคารกุ้งนี่คือความสำเร็จของธนาคารกุ้ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีอย่างนี้หลายๆ ที่จะได้เพิ่มปริมาณกุ้งธรรมชาติ เพราะแม่กุ้งแต่ละตัวนั้นมีไข่เป็นแสนๆ ฟอง โดยหวังขั้นต่ำสุดว่ารอดแค่ 10% จะได้กุ้งเป็นพันๆ ตัวแล้ว แล้วเมื่อมันมีอายุได้ 2 เดือน ขนาด 10 กว่าตัวต่อกิโล กิโลละ 200-300 บาท มันจะมีมูลค่าเพิ่มขนาดไหน ถึงอยากให้มีโครงการธนาคารกุ้งเยอะๆ ครับ

อีกอย่างหนึ่ง ผมอยากให้คนไปกินกุ้งเมื่ออิ่มปรีเปรมแล้ว ขอให้มีวิญญาณช่วยกันปกป้องแหล่งธรรมชาติด้วยจะถือว่ากินอย่างคุ้มค่า ไปเที่ยวที่ไหนช่วยกระจายความคิดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย จะได้มีสัตว์น้ำดีๆ กินไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานครับ

tanakarnkungtang

สำหรับโทรศัพท์บ้านลุงยุทธ 08-1941-5260 และทางไปนั้น ไปถนนพระราม 2 เลย จ.สมุทรสงคราม และข้ามแม่น้ำแม่กลองไปแล้ว เข้าถนนไปวัดเขายี่สาร เลียบไปทางบางตะบูน ถึงบ้านแหลม แล้วไปเส้นที่ไปเพชรบุรี พักเดียวจะถึงทางเข้าวัดเขาตะเครา ถึงวัดเขาตะเคราแล้วมีทางแยกไปวัดเกาะแก้ว ถ้านัดกันดีแล้ว ลุงยุทธจะมารับที่นั่น

ที่มา ส่วนบริหารจัดการประมงน้ำจืด สำนักบริหารจัดการด้านการประมง กรมประมง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น