ธรรมธุรกิจ จากศาสตร์พระราชา สู่ชาวนาธรรมชาติ

14 เมษายน 2558 ศาสตร์พระราชา 1

“เราปลูกข้าวธรรมชาติ ลดต้นทุนได้ ก็ได้เปรียบอยู่แล้ว จะไปขายแพงอีกทำไม เราไม่ได้มองข้าวว่าเป็นสินค้าที่จะมาแลกเอาเงิน แต่ข้าวเป็นการแบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์”

พิเชษฐ์ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีศิริภิญโญ จ.ฉะเชิงเทรา ต้นคิดโครงการ ‘ธรรมธุรกิจ’ ผู้มีความคิดที่จะช่วยเหลือชาวนามาตั้งแต่ปี 2551 กระทั่งได้พบกับอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี และโจน จันได เจ้าของสวนเกษตรอินทรีย์ พันพรรณ จ.เชียงใหม่ พร้อมกัน เขาก็เลยนำเสนออาจารย์ยักษ์ว่า องค์ความรู้ของศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของอาจารย์ทั้งสองท่านนั้น สามารถมาบูรณาการ เติมเต็มในการช่วยเหลือชาวนาให้พึ่งตนเองและยั่งยืนได้จริง

และนั่นคือที่มาของศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นในภาคปฏิบัติที่เขาได้เริ่มทำมาหนึ่งปีเศษแล้ว

“ศาสตร์ทั้งสอง สามารถไปช่วยเหลือในเรื่ององค์ความรู้ในการทำนาธรรมชาติ หลังจากเลิกทำนาเคมี ทำให้ต้นทุนลดลง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ผมทำโครงการนี้มาตอนนี้ครบหนึ่งปี สองรอบการผลิต กิจกรรมที่ทำตั้งแต่เริ่มก็คือ เรานำชาวนาที่เชียงใหม่ ลำพูนไปอบรมที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง แล้วกลับขึ้นไปทดลองปลูกเลย โดยใช้พื้นที่เพียงแค่ไร่เดียว ต่อหนึ่งคน”

พิเชษฐ์เล่าต่อมาอีกว่า ผลก็คือ นาที่ปลูกด้วยสารเคมี ได้ประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ แต่นาธรรมชาติได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

เป้าหมายของเราคือ เราใช้คำว่า ข้าวธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้ไปขอการรับรองว่าเป็นข้าวอินทรีย์ หรือข้าวใดๆ ทั้งสิ้น แต่โดยหลักการปลูก เราไม่ได้ใช้สารเคมีเลย แต่วิธีการของเราก็คือ ‘ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้ทันที หลังจากเลิกทำนาเคมี เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ยั่งยืน’

thamturakittong thamturakitpa

ชาวนาที่ปลูกข้าวตรงนี้ เข้าโครงการจำนำข้าวของรัฐ หรือไม่ อย่างไร

“วันแรกที่เราทำโครงการ ชาวนายังเอาข้าวไปจำนำรัฐอยู่เลย เกี่ยวข้าวเสร็จก็ยังไปจำนำของรัฐอยู่ ตอนปลายปี 2556 เพราะเขารับซื้อ แพงที่สุดในตลาดตอนนั้น โครงการก็เลยต้องซื้อข้าวเปลือกแข่งกันแล้วเพื่อที่เราจะมาทำการตลาดของเราบ้าง เราก็ต้องซื้อแพงกว่ารัฐ ปรากฏว่ารัฐรับซื้ออยู่หมื่นหก เราก็ไปรับซื้อมาหมื่นแปด”

“แต่เมื่อรอบนาปรัง ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ไม่มีรัฐมาซื้อแพงแล้ว เราก็ซื้อในราคาตลาดเท่าเดิม แล้วราคาในตลาดก็ร่วงลงไปเรื่อยๆ เรากำหนดราคาข้าวสารที่เราขายได้ สรุปแล้ว เราซื้อข้าวเปลือกชาวนาอยู่ที่ตันละหมื่น แต่ข้าวเหนียว ล่วงลงไปเหลือ 8,000 บาท เราเลยซื้อถูกกว่า ตลาด”

thamturakitkaw thamturakitsoog

การซื้อถูกกว่าตลาด สำหรับนักธุรกิจทั่วไปอาจได้กำไรมากขึ้น แต่สำหรับ ธรรมธุรกิจ ของพิเชษฐ์ ไม่ใช่

“โดยระบบ ในโครงการ ธรรมธุรกิจ เราเอาคน 5 คนที่เกี่ยวข้องกับการปลูก จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ มารู้จักกัน มาเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน มาลงขันทำธุรกิจด้วยกัน โดยทุกคนจะต้องผ่านการอบรมก่อน แล้วก็มาลงขันซื้อหุ้นบริษัททำข้าวธรรมชาติได้ ตอนนี้มีประมาณ 500 คน เป็นเม็ดเงินก็ประมาณ 2 ล้านกว่าบาทแล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ต้องผ่านการอบรมของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติก่อน”

คำว่า ชาวนาธรรมชาติ เราไม่ได้บอกว่า เราจะไปส่งเสริมให้ชาวนาปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือปลูกข้าวอย่างเดียว ตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ชาวนาจะมีชีวิตที่มั่งคั่งและยั่งยืนได้จริง จะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ ตามที่อาจารย์ยักษ์สอนก็คือ จะต้องมี ‘โคก หนอง นา โมเดล’ เป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น จะต้องเดินขึ้นบันไดเก้าขั้นสู่ความพอเพียงให้ได้ นี่คือเป้าหมายจริงๆ ของโครงการ เราไม่ได้เป็นบริษัทจัดตั้ง รวบรวมเงินมาไปซื้อ ส่งเสริมชาวนาให้ปลูกข้าว แล้วเอาเงินกำไรมาแบ่งกัน ไม่ใช่ อย่างนั้นเป็นการทำธุรกิจทั่วๆ ไป ไม่ใช่ ‘ธรรมธุรกิจ’

เพราะฉะนั้นราคาที่เราจะซื้อและขาย จะต้องเป็นธรรมทั้งคนปลูกและคนกิน ข้าวของเรา ที่เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่ไม่ได้ใช้สารเคมี เรากำหนดราคาเป็นธรรมกับคนปลูก และเป็นธรรมกับคนกินด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เป้าหมายของเรา จะขายข้าวธรรมชาติให้เท่ากับราคาข้าวเคมีเลย คือ ราคาตลาดข้าวเคมีเท่าไหร่ เราปลูกข้าวธรรมชาติ ลดต้นทุนได้ เราก็ได้เปรียบอยู่แล้ว เราจะไปขายแพงอีกทำไม เพราะข้าวเป็นการแบ่งปันให้กับคนกินมากกว่า เราไม่ได้มองข้าวว่าเป็นสินค้าที่จะมาแลกเอาเงิน เพราะชาวนาที่ผ่านการอบรมจะเข้าใจทันทีว่า ชีวิตเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้าว แต่จะต้องมีโคก มีหนอง มีนา เพื่อจะให้ชีวิตพอเพียง พออยู่ พอกิน พอใช้ พออาศัยได้ เพราะฉะนั้น ข้าวเป็นการแบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์ ได้กินอาหารที่ไม่ใช่สารเคมี

“แต่ชาวนาปัจจุบัน ตรงกันข้าม ปลูกข้าวเพื่อเอาข้าว แล้วเอาข้าวแลกเงิน มาซื้อกิน แต่โครงการเราไม่ได้คิดแบบนั้น แต่เราคิดจากศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะข้าว คือ แม่โพสพ ที่ไม่เพียงให้เราเติบโตเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ความ เมตตา ความกรุณา ความเกื้อกูลกันของชีวิตต่อชีวิตกันด้วย”

ดังนั้น สูตรของ ‘ธรรมธุรกิจ’ คือ เลี้ยงดิน แล้วให้ดินเลี้ยงพืช ก็คือการบำรุงดินนั่นเอง พิเชษฐ์อธิบายว่า เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ พืชทุกชนิด หาอาหารด้วยราก ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ รากก็จะยาว ตรงข้ามกับปุ๋ยเคมี ที่ใส่สารอาหารยิงตรงไปยังรากเลย รากก็จะสั้น “เหมือนเลี้ยงลูกเลย เลี้ยงลูกขี้เกียจกับเลี้ยงลูกตามธรรมชาติ ถ้าเลี้ยงแบบธรรมชาติ เขาจะหากินเองได้ แต่ถ้าเลี้ยงแบบเคมีคือป้อนให้ทุกอย่างเลย ต้นไม้เองก็ไม่แข็งแรง ลูกก็โตแบบไม่แข็งแรง เพราะหากินเองไม่เป็น ”

นั่นคือหนทางของ ธรรมธุรกิจ ที่นำไปสู่ความยั่งยืนด้วยกันตั้งแต่คนต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ

ธรรมธุรกิจจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราจะมองข้ามคนกลางน้ำไม่ได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้นคิดที่จะทำให้ธรรมธุรกิจตลอดสายเกิดความเป็นธรรม

พิเชษฐ์ โตนิติวงศ์ ต้นคิดธรรมธุรกิจ โมเดล อธิบายว่า เพราะเราไม่ใช่องค์กรไม่แสวงหากำไร ทำธุรกิจ ก็หากำไร ทำธุรกิจ มีหลักคิดคล้ายๆ กับปฏิปทาของครูบาอาจารย์ พระป่า พระกรรมฐาน

“ถามว่า พระกรรมฐานท่านใช้เงินไหม ใช้ แต่ท่านไม่ได้จับเงิน และจิตท่านไม่ติดกับเงิน เราก็ใช้กุศโลบายของท่านเหมือนกัน เราก็หาเงิน ใช้เงิน เราไม่ได้ติดอยู่กับมัน และไม่ได้หากำไรสูงสุด เราหาความเป็นธรรมว่ามันอยู่ตรงไหน ดูต้นทุนของคนปลูกอยู่ที่เท่าไหร่ คนกลางน้ำควรได้เท่าไหร่ คนปลายน้ำมีความสามารถในการจ่ายเท่าไหร่ในสินค้าประเภทนั้นๆ คนที่ทำกิจการอยู่กลางน้ำก็ต้องมีธรรม ถ้าไม่มีธรรม ก็จะเป็นการเอาเปรียบ ที่สังคมไทยเรียกว่า พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ เราก็ต้องมาตีแผ่ให้ดูว่าทั้งระบบนั้นทุกคนได้ประโยชน์อย่างไร และเกื้อกูลกันได้อย่างไร ลองเข้าไปศึกษาดูได้ที่เว็บไซต์ ธรรมธุรกิจ http://thamturakit.co.th/ ได้เลยครับ”

เหตุที่มาสนใจทำงานด้านนี้

“ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมไปบวชเรียนกับพระป่า พระกรรมฐาน หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก ที่วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี บวชตามประเพณี ไม่อยากสึก อยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน พอรู้ว่าจะต้องสึก ก็มาคิดกับตัวเองว่า ในเมื่อเรารู้ว่า ตายแล้วต้องกลับมาเกิดอีก ถ้ายังไม่หมดกิเลส ชาตินี้ ชีวิตที่เราเหลืออยู่ เมื่อสึกออกไปแล้วจะไปทำอะไร

thamturakitna

คำว่า ‘ธรรมธุรกิจ’ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ผมบวช ผมได้คำตอบกับตัวเองว่า ชีวิตที่เหลืออยู่ก็ให้ธรรม ไปนำธุรกิจซะ เพื่อให้เหลือชาติที่ต้องกลับมาเกิดน้อยที่สุด เป็นความคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น พอลาสิกขาออกมาก็ทำธุรกิจโดยปกติ แต่เราก็ยึดหลักธรรมในการทำธุรกิจมาโดยตลอด แต่บุญทำกรรมแต่ง เราเคยไปช่วยเหลือชาวนาเมื่อปี 2551 ในโครงการของรัฐบาล วันนี้ผมมีฐานะเกือบล้มละลาย เพราะว่าได้สำรองเงินจ่ายให้รัฐบาล ไปก่อน 120 กว่าล้านบาท จนบัดนี้ยังไม่ได้คืน เป็นคดีความกันอยู่ เพราะผมฟ้อง

thamturakitstep

กระทั่งปี 2556 ที่ผ่านมา ผมเจอพี่โจน จันได กับอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่เชียงใหม่พร้อมกัน กับเจตนาที่เราต้องการช่วยเหลือชาวนา แล้วก็มาเจอองค์ความรู้ของอาจารย์ทั้งสองท่าน ทำให้เราตอบคำถามว่า นี่แหละ จะยั่งยืนจริงๆ เราเป็นนักธุรกิจ เราช่วยแต่ด้านการตลาด มันไม่ยั่งยืนหรอก เพราะว่า ชาวนา เขาพึ่งพาตนเองยังไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถยั่งยืนได้ พอมาเจออาจารย์ทั้งสองท่าน เหมือนเติมเต็มพอดี”

เลขที่ 11 ซอย 6 เสรี 8 ถ. พระรามเก้า 60
แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ 10250
โทรศัพท์ : 02-718-2544
โทรสาร : 02-718-2545
http://thamturakit.co.th/
อีเมล : sawasdee@thamturakit.com

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

1 ความคิดเห็น

  1. นิคกี้ มุกนนท์
    บันทึก สิงหาคม 26, 2558 ใน 12:52

    ขอขอบคุณสำหรับการแบ่งปันความรู้ค่ะ ดีมากๆ เลยค่ะ ขออนุญาตแชร์ต่อนะคะ

แสดงความคิดเห็น