น้ำมันไพลทอดด้วยน้ำมันพืช

น้ำมันไพลทอดด้วยน้ำมันพืชเป็นวิธีของคนไทยโบราณที่ใช้เตรียมน้ำมันไพลเพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นน้ำมันถูนวด แก้ปวดกล้ามเนื้อ ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งได้มีการเตรียมเป็นเภสัชตำรับของโรงพยาบาล และเป็นหนึ่งในตำรับบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติปี 2554

น้ำมันไพลสูตรนี้เตรียมได้จากการนำไพลสดมาทอดกับน้ำมันพืชชนิดอิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดอิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์ม ไม่ควรใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัว (ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว) ได้แก่ น้ำมันงา น้ำมันมะกอก น้ำมันคำฝอย น้ำมันทานตะวัน หรือน้ำมันรำข้าว ทั้งนี้เพราะว่าน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวจะไม่ทนต่อความร้อน ทำให้พันธะคู่ในโมเลกุลเกิดการแตก และรวมตัวเป็นสาร โพลีเมอร์ เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหนืด นอกจากนี้จะทำให้เกิดควันได้ง่าย และน้ำมันเหม็นหืน น้ำมันพืชที่ใช้ในการทอดเป็นน้ำมันที่ประกอบด้วยกรดไขมัน (fatty acids) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสารประกอบทางเคมีที่มีขั้วน้อย เป็นตัวทำละลายที่ดีในการสกัดสารที่มีขั้วน้อยด้วย ฉะนั้นน้ำมันพืชก็สามารถจะสกัดน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วยสารประกอบที่มีขั้วน้อยและโมเลกุลเล็กได้ พร้อมทั้งสกัดสารประกอบที่มีขั้วน้อยแต่มีโมเลกุลใหญ่ได้ด้วย ซึ่งในไพลนอกจากประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังประกอบสารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives เป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่กว่าสารในน้ำมันหอมระเหย และเป็นสารที่ไม่ระเหย สรุปง่าย ๆ คือ น้ำมันไพลที่ได้จากการกลั่นจะเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสารโมเลกุลเล็กและระเหยได้ ส่วนน้ำมันที่ได้จากการทอดจะประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่และไม่ระเหย

nammunplaip nammunplaia

น้ำมันหอมระเหยและสารที่มีโมเลกุลใหญ่ (สารกลุ่ม arylbutanoids, curcuminoids, และ cyclohexene derivatives) เป็นกลุ่มสารที่มีผลการวิจัยพบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดในสัตว์ทดลอง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยากลุ่ม NSAIDs3,4-12 นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า ครีมไพลหรือไพลจีซาล (14% ของน้ำมันหอมระเหย) มีฤทธิ์ลดการอักเสบและการปวดของข้อเท้าแพลงในผู้ป่วยนักกีฬาที่บาดเจ็บข้อเท้าแพลงมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับยา หลอก13 และพบว่าครีมไพจีซาลได้ผลดีในการรักษาอาการปวดเมื่อยหลัง ไหล่ ต้นคอ เอว เข่า14 แต่ตำรับยาน้ำมันไพลที่ได้จากการทอดด้วยน้ำมันพืช หรือการสกัดด้วยตัวทำละลายที่ไม่มีขั้ว ยังไม่เคยมีการศึกษาทางคลินิกมาก่อน ซึ่งขณะนี้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาโครงการ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554 เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำลังศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมของตำรับยาครีมไพลสกัด ซึ่งเป็นการเลียนแบบวิธีการสกัดแบบภูมิปัญญา ซึ่งเป็นการสกัดสารหลาย ๆ ชนิด ไม่เพียงแต่น้ำมันหอมระเหยเท่านั้น และเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า

ประชาชนสามารถจะเตรียมน้ำมันไพลใช้เองได้ในครัวเรือน จึงขอแนะนำวิธีเตรียมตำรับน้ำมันไพลทอดสูตรโบราณซึ่งใส่เหง้าขมิ้นชันด้วย เพื่อเสริมฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวด ทั้งนี้เพราะขมิ้นชันประกอบด้วยสารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่ม curcuminoids ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดได้
สูตร

  1. หัวไพลสด 2 กิโลกรัม
  2. ขมิ้นชันสด 1/2 กิโลกรัม
  3. น้ำมันปาล์ม หรือ น้ำมันมะพร้าว 1 กิโลกรัม
  4. ดอกกานพลู 100 กรัม
  5. การบูร 100 กรัม

อุปกรณ์

  • ชามแก้ว
  • กระชอน
  • ผ้าขาวบาง
  • ขวดแก้ว ขนาด 8 ซีซี พร้อมฝาปิดแบบลูกกลิ้ง
  • กระบอกฉีดยาพลาสติก

วิธีทำ

  1. หั่นไพลสด และขมิ้นชันสดให้เป็นชิ้นบางๆ
  2. เทน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว ลงกระทะยกตั้งไฟ พอน้ำมันร้อนปานกลาง เอาไพลและขมิ้นชันลงทอดในน้ำมัน(เหมือนทอดกล้วยแขก) ทอดจนไพลและขมิ้นชัน กรอบ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แล้วน้ำมันเป็นสีเหลืองใส (ระวังไหม้) ช้อนเอาชิ้นไพลและขมิ้นชันออก
  3. ตำกานพลูให้ป่น นำลงทอดในน้ำมันต่อและลดไฟให้เหลือไฟอ่อนๆเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันที่อยู่ในกานพลูระเหยไป ทอดประมาณ 5 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง
  4. พอน้ำมันอุ่นๆผสมการบูรลงในน้ำมัน แล้วเทลงในภาชนะที่สามารถปิดฝาได้สนิทป้องกันการระเหยได้ แล้วเทลงบรรจุขวดเล็กปิดฝาให้แน่นเพื่อนำไปใช้ต่อไป

สรรพคุณและวิธีใช้

  1. แก้แผลช้ำ ทาน้ำมันเพียงบางๆ วันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น (ก่อนทาน้ำมันควรทำความสะอาดแผลทุกครั้ง)
  2. แก้เคล็ด-ช้ำบวม ทาน้ำมันให้ทั่วบริเวณที่มีอาการ ใช้ ฝ่ามือนวดเบาๆ พอรู้สึกเจ็บหลายๆครั้ง วันหนึ่งควรทา น้ำมันสัก ๓-๔ ครั้ง
  3. แก้ข้อบวมและเหน็บชา ควรทาน้ำมันให้โชกแล้วใช้ ขวดใส่น้ำร้อนห่อด้วยผ้าประคบบริเวณที่มีอาการวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการปวด ชา

nammunplai

ข้อควรรู้

  • น้ำมันไพลใช้ได้ดีในแผลที่พึ่งเป็นใหม่ๆ ถ้าเป็นมานานจนแผลมีหนองหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง จะได้ผลช้ามาก
  • แผลที่ไม่ช้ำ เช่น แผลมีดบาด ใช้ยานี้จะได้ผลช้า
  • เมื่อใช้ยานี้ใหม่ๆ อาจมีอาการคัน แต่เมื่อใช้นานไปจะหายเอง และเวลาทายาแล้วไม่ต้องใช้ผ้าพันแผล เพราะจะทำให้แผลเน่า หายยาก
  • แพทย์ไทยแผนโบราณเชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวมีรสมัน ช่วยบำรุงไข้ข้อ กระดูก เส้นเอ็น ช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ จึงช่วยพาเอายาซึมเข้าไปด้วย ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ในส่วนที่อยู่ลึกลงไปในผิวหนังและเนื่องจากน้ำมันมะพร้าวแห้งช้า จึงไม่ต้องทาบ่อยๆ แต่น้ำมันมะพร้าวมีข้อเสียคือ เหนียวเหนอะทำให้เปื้อนพื้น เปื้อนเสื้อผ้า เวลาเปื้อนแล้วล้างออกยาก อีกทั้งมีกลิ่นเหม็นหืน
  • การบูรใช้เป็นสารกันบูด เพราะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ ทำให้ยาไม่เสีย
  • ดอกกานพูลมีน้ำมันซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ระงับปวด และแก้เคล็ดขัดยอกได้ดีขึ้

nammunplaitam

ที่มา
นิตยสารเกษตรธรรมชาติฉบับที่11/2555
มูลนิธิสุขภาพไทย
คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2554. กรุงเทพฯ
ศศิธร วสุวัต และคณะ. การวิจัยและพัฒนายารักษาอาการอักเสบชนิดใหม่ของไพล Zingiber cassumunar Roxb. การประชุมวิชาการเรื่องการพัฒนาเภสัชภัณฑ์จากสมุนไพรใช้ภายนอก. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 7-8 พ.ค. 2535.

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ของใช้ในชีวิตประจำวัน

แสดงความคิดเห็น