บรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ปราชญ์ผู้ดูแลรักษาทะเล

2 มิถุนายน 2558 ปราชญ์ของแผ่นดิน 0

ท้องทะเลนี่ซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ อยากกินอะไรก็มีให้กิน แต่ถ้าจับไม่เป็น เพาะพันธุ์ไม่เป็น แล้วใครจะดูแลให้ซุปเปอร์มาเก็ตนี้ยังอยู่ต่อไป

ลุงมะโหนก หรือ นายบรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ ของเด็กๆ บ้านคลองเสาธง ตำบลบางปู อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พูดให้ฟังระหว่างเราออกเรือไปในทะเลอ่าวไทย เพื่อไปดูการวางซั้ง หรือ บ้านปลา ที่ชาวชุมชนดัดแปลงเอาเศษไม้ไผ่ที่ลอยมาติดฝั่งมาเจาะรู ร้อยเศษอวน แล้วถ่วงน้ำหนักด้านปลายด้วยก้อนหิน ก่อนจะทิ้งลงสู่ทะเลให้เป็นแท่งสร้างอาหาร

ไม้ไผ่จะทำหน้าที่เป็นแกนลอยอยู่กลางน้ำ คอยให้แพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารปลาตามธรรมชาติที่มีในน้ำ ลอยมาเกาะอยู่ตามเศษอวน เมื่อแพลงตอนสะสมอยู่มากๆ ปลาก็จะว่ายมาชุมนุมกันอยู่บริเวณนี้ ทิ้งไว้สักหนึ่งเดือน ชาวบ้านก็จะสามารถมาจับปลาตัวใหญ่ๆตามแนวซั้งได้สบายค่ะ เรียกได้ว่า เป็นการดัดแปลงเศษขยะที่มีอยู่ในชุมชนให้กลายเป็นแหล่งอาหารได้อย่างแยบยลเลยทีเดียว

ถึงกระนั้น แม้ที่นี่คือชุมชนชาวประมง แต่วิถีเหล่านี้กลับไม่ได้รีบความสนใจจากเด็กๆในชุมชนมากเท่ากับโลกแห่งเทคโนโลยี ทำให้นอกจากลุงมะโหนกจะเป็นชาวประมงมือฉมังแล้ว ลุงมะโหนกยังเป็นผู้คิดค้นโรงเรียนนอกกะลา ห้องเรียนชุมชนที่ผู้ใหญ่ทั้งในและนอกชุมชนมารวมตัวกันถ่ายทอดวิธีการใช้ชีวิตให้แก่ลูกหลานทั้งในและนอกชุมชน

โรงเรียนนอกกะลา ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนชาวประมงคลองเสาธงค่ะ ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นด้วยเศษวัสดุเหลือใช้อีกเช่นกัน ทั้งเศษไม้เก่า โต๊ะนักเรียน เรือเก่า แต่เมื่อสร้างขึ้นริมทะเล ก็ดูกลมกลืนสวยสะดุดตา ตัวอาคารตั้งขนานไปกับชายฝั่งให้รับแสงแดดจากทะเลอย่างไม่รุนแรงมาก หน้าต่างที่โล่งกว้างยังทำให้เด็กๆได้สัมผัสไอทะเลและลมทะเลได้อย่างเต็มปอด

barnjerdsoon

ทุกๆสุดสัปดาห์ เสียงสรวลเสเฮฮา ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ครื้นเครงกลมเกลียว จบแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือการเรียน ลุงมะโหนก เล่าว่า ที่นี่มีหลักสูตรการเรียนการสอน 7 หลักสูตร ทั้งวิชาชุมชน วิชาท้องถิ่น วิชาประมงพื้นบ้าน วิชานิเวศหาดโคลน วิชาอนุรักษ์ธรรมชาติ วิชาเชื่อมโยงเครือข่ายจากทั่วประเทศ และวิชาสัตว์ทะเลหายาก ที่จะทำให้เด็กๆรู้จักความสำคัญและความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันของกลไกธรรมชาติและการรู้จักหาอยู่หากินได้ด้วยตัวเองโดยปลอดภัยทั้งแก่ตัวเราและสภาพแวดล้อม เช่น แมงดาแบบไหนที่กินได้หรือกินไม่ได้ โดยลุงมะโหนกยังยกตัวอย่างกรณีข่าวที่เด็กกินแมงดาที่พ่อแม่หามาให้แต่เสียชีวิต มาอธิบายพร้อมตัวอย่างแมงดาเจ้าปัญหาให้เด็กๆได้รู้แบบชัดๆ

นอกจากสรรพสิ่งจากท้องทะเล ที่โรงงเรียนนอกกะลา ยังจัดพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นจุดเรียนรู้อีกหลายอย่าง หลังห้องเรียนจะมีคุณป้าในชุมชนมาอธิบายเรื่องการทำขนมครก โดยเป็นการนำข้าวที่เกินการบริโภคมาดัดแปลงสร้างรายได้ หรือแม้แต่การสอนให้เด็กๆจุดไฟย่างอาหารได้ด้วยตัวเอง โดยมีพี่ๆในชุมชนนำหมูมาเป็นวัตถุดิบให้เด็กๆได้หมัก ย่าง และรับประทานกันเดี๋ยวนั้น เรียกได้ว่า ทั้งได้เรียนรู้ สนุกสนาน อิ่มท้องแบบภูมิใจไม่ใช่น้อยเลย

barnjerd

เสร็จจากเรียนทฤษฎีแล้ว ลุงมะโหนกยังพาเด็กๆนั่งเรือออกไปสอนภาคปฏิบัติ ทั้งสำรวจป่าชายเลน รวมถึงแหล่งอนุบาทสัตว์ทะเลชายฝั่ง เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนและนักเรียนจากนอกพื้นที่ที่เข้ามาเรียนได้มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงห่วงแหนทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่ตลอดไป

อย่างที่บอกท่าผู้อ่านไปว่า ที่นี่คือการเรียนรู้วิถีชีวิตและการเอาตัวรอดดังนั้นเด็กๆจะต้องหาอาหารในทะเลได้ด้วยตัวเอง ที่อ่าวไทยแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องปลาทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ปลาทู กุ้ง หอย ปู ใครอยากกินอะไรมีให้เลือกหมด เมื่อจับได้ก็นำกลับมาทำเป็นอาหารรับประทานกัน ที่เหลือใครอยากนำกลับบ้าน ชาวชุมชนก็ยินดีค่ะ

หลายต่อหลายครั้งที่เด็กๆที่ผ่านการเรียนมักจะกลับมาใหม่ โดยพาผู้ปกครองมาเป็นนักเรียนหน้าใหม่ เมื่อถามเหตุผล เด็กๆบอกว่า นี่คือชีวิตที่หาไม่ได้ในพื้นที่อาศัยปัจจุบันของงพวกเขา ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ปกครองได้มาซึบซับบรรยากาศแห่งความสุขแบบนี้ด้วยกัน

เรื่องราวการเรียนรู้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้น ทั้งการเรียนการสอนที่เต็มไปด้วยบุคลากรในชุมชน ที่พัก น้ำมันเรือ อาหารที่นำมารับประทานกัน กลับเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ชาวชุมชนบอกกับเราว่า

ทะเล คือ ทรัพย์สมบัติส่วนร่วม ที่ใครก็สามารถมาแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ร่วมกันได้ เราไม่ควรตีค่าราคาอาหารในรูปแบบของเงินทอง หากแต่จะต้องมีจิตสำนึกรักและหวงแหนที่จะอยู่คู่ดูแลรักษาทะเลอย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้ที่จะทำให้ท้องทะเลอยู่กับเราต่อไปได้จนถึงชั่วลูกชั่วหลาน

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น