ในประเทศไทยมีพืชที่ชื่อบอนอยู่หลายชนิด เช่น บอนเขียว บอนส้ม และบอนสี เป็นต้น แต่หากเปรียบเทียบประโยชน์ด้านนำมาเป็นผักแล้ว บอนที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้นเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด แม้ว่าแนวโน้มของคนไทยสมัยใหม่จะรู้จักบอนน้อยลงก็ตาม แต่เชื่อว่าความเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คงจะทำให้บอนยังคงเป็นผักคู่คนไทยต่อไป
ชื่อทางพฤกษศาสตร์ Colocasia esculenta ( Linn. ) Schott
วงศ์ Araceae เช่นเดียวกับเผือก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก
ชื่ออื่นๆ ตุน, บอนเขียว, บอนจีน, บอนจีนดำ, บอนท่า, บอนน้ำ
ลักษณะ
บอนเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน ก้านใบยาวชูสูงขึ้นจากดิน ใบขนาดใหญ่คล้ายรูปหัวใจ หรือหัวลูกศร ก้านใบมีโครงสร้างโปร่งเบาคล้ายก้านใบผักตบ หากหักก้านใบจะมียางไหลออกมา ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่บนช่อดอกเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยงหุ้มช่อดอกเอาไว้
บอนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทยด้วย บอนจึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกันมายาวนาน จึงทำให้ชาวไทยนำบอนมาใช้ประโยชน์ได้หลายประการ รวมทั้งการใช้เป็นสำนวนไทยด้วย
ประโยชน์หลักของบอนที่ชาวไทยรู้จักดีที่สุดคือใช้เป็นผัก แต่บอนเป็นผักที่มีความพิเศษในตัวเอง เพราะต้องการความชำนาญในการปรุงอย่างถูกต้องจึงจะกินได้โดยไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากบอนมีคุณสม-บัติ( หรือโทษสมบัติ ) เด่นอย่างหนึ่งคือความคัน หากนำมาปรุงอาหารโดยปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่กินจะเกิดอาการคันปากคันคอ และผู้ปรุงอาหารจากบอนเองก็จะคันมือด้วย
ใบของบอนมีคุณสมบัติพิเศษ คือไม่เปียกน้ำ เพราะมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่บนผิว จึงนำมาใช้ประโยชน์ด้านห่อของได้ เช่น ใช้ห่อข้าวหมาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ตักน้ำดื่มยามไม่มีภาชนะ (เช่น แก้วน้ำ)
คุณสมบัติด้านสมุนไพรของบอนนั้นมีน้อยกว่าผักชนิดอื่น แต่มีหมอพื้นบ้านบางท้องถิ่น นำลำต้นใต้ดินของบอน ( หัว,เหง้า ) เป็นส่วนประกอบของยาพอกหัวฝีตะมอย
ความเป็นพิษ: ส่วนที่เป็นพิษ คือ น้ำยางและลำต้น ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน ต่อมาจะอักเสบบวมและพองเป็นตุ่มน้ำใสเมื่อสัมผัสน้ำยางหากเคี้ยวหรือรับประทานต้นสด จะเกิดอาการคันคออย่างรุนแรง เนื่องจากผลึกแคลเซียมออกซาเลท ทำให้เกิดน้ำลายมาก บวมบริเวณปาก ลิ้น เพดาน ใบหน้า พูดลำบาก อาการพิษรุนแรงคือพูดไม่ได้ ลิ้นหนัก คันปาก ลำคอบวมอักเสบรุนแรง
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน