เดิมบ้านเราทำนา 100 ไร่ ที่ดินของตัวเอง 20 ไร่ ที่เหลือเช่าเขา แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอจ่ายค่าเช่าและหนี้สิน เราเลยคืนที่เขา ทำแค่ 20 ไร่ ยึดตามทฤษฎีของในหลวง ปลูกข้าว ปลูกพืชผักที่ให้ผลผลิตเร็ว เช่น ตะไคร้ ข่า มะเขือ พริก เลยมีของกินในบ้าน ลดเรื่องการใช้จ่ายที่ต้องไปซื้อเขากิน พอเรามีกินในบ้าน ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น นี่เป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่วางไว้ให้ปวงชนชาวไทย คือ พอกิน พอใช้ พออยู่
นายบุญล้อม เต้าแก้ว เกษตรกรชาว ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี เล่าถึงชีวิตที่ผ่านมา จากเกษตรกรที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจากเกษตรเคมี สู่การมีชีวิตที่ลืมตาอ้าปากได้ด้วยเกษตรอินทรีย์ และทำตามกำลังที่มี ตามปรัชญาของพ่อหลวง จากชีวิตครอบครัวที่เกือบล่มสลาย จนตอนนี้นับว่าประสบความสำเร็จในอาชีพ เพราะพื้นที่ของเขาได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหนองโน เป็นแบบอย่างให้กับชุมชนรอบข้างได้มาศึกษา
บุญล้อมก็คงเหมือน ๆ กับคนทั่วไปที่ต้องการมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี จึงขวนขวายเช่าที่ดินมาทำนาเพิ่ม เพราะคิดว่าทำมา เงินก็คงมากตามไปด้วย ปุ๋ยเคมี สารบำรุงดินต่าง ๆ จึงถูกซื้อมาใส่นาเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเงินที่ได้มา ไม่เพียงพอกับหนี้ ธ.ก.ส.และหนี้นอกระบบ ที่กู้มาลงทุน ยิ่งปีไหนฝนแล้ง หนี้ก็เพิ่มพูน จนเมื่อปี 2535 พ่อของบุญล้อมได้ไปดูโครงการทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศไทย ที่ วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำไว้เป็นแปลงสาธิตให้เกษตรกรเข้าไปศึกษาดูงาน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ การขุดหนองน้ำ นาข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และทำที่อยู่อาศัย จึงได้นำทฤษฎีของพระองค์มาใช้กับที่ดิน 20 ไร่ของครอบครัว
เรากลับปรับเปลี่ยนพื้นที่ 20 ไร่ของเราตามที่พระเจ้าอยู่หัววางไว้ แต่ยังคงไว้ 4 ส่วนตามทฤษฎีของพระองค์ท่าน คือต้องมีน้ำในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ก็เลยขุดหนองน้ำ และยังมีแปลงนาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยเรา และท่านยังบอกอีกว่าให้ปลูกของกิน ของใช้ ก็คือ ป่า 3
อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เลยมาปลูกพืชผักสวนครัวคือสิ่งที่เรากินใช้ในชีวิตประจำวัน และเลี้ยงปศุสัตว์ สร้างที่อยู่อาศัย ปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ พอพักพิงได้ และใช้พื้นที่ก่อเกิดประโยชน์มากที่สุด
ช่วงแรกยังใช้ปุ๋ยเคมีบ้างเพราะยังไม่มีความรู้ แต่วันหนึ่งมาประสบปัญหากับครอบครัวตัวเอง คือ ละอองสารเคมีจากแปลงข้าง ๆ ปลิวมาถูกเห็ดฟางที่ปลูกไว้ ทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งหมด ทั้งที่กำลังจะเก็บขาย รายได้กำลังจะเข้าครอบครัว แต่สารเคมีทำให้ครอบครัวเกือบล่มสลาย ครอบครัวของบุญล้อมจึงตั้งปณิธานว่า ต่อจากนี้จะไม่เอาสารเคมีเข้าบ้าน จากนั้นก็เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง โดยไปอบรมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่มาบเอื้อง กับ อ.ยักษ์- ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร เรียนรู้เรื่องการทำน้ำหมัก สมุนไพรขับไล่แมลง และฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อจะเร่งการเจริญเติบโตของพืช งดปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงโดยสิ้นเชิง หมักน้ำหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ใช้ที่ดินที่มีอยู่เป็นแปลงทดสอบและสาธิต และนำน้ำนมดิบที่เหลือทิ้งจากโรงงานมาต่อยอดทำปุ๋ยหมักเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช ปรับเป็นสูตรต่าง ๆ เรียนรู้ลองผิดลองถูก จนปัจจุบันสามารถนำความรู้มาฝึกอบรมเรื่องการทำปุ๋ยหมักจากน้ำนม ให้เกษตรกรที่สนใจได้ ปัจจุบันที่ดินของเขาได้กลายเป็น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อม ศรีรินทร์ มีประชาชนและหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานทุกวัน
ตอนนี้เราปลูกข้าวแค่ 4 ไร่ก็เพียงพอกับการกินอยู่ของครอบครัว สีข้าวกินเอง แกลบ รำข้าวเอาไว้เลี้ยงเป็ดไก่ และทำปุ๋ยหมัก พืชผักนอกจากปลูกไว้ทานเองในครอบครัวก็นำไปขาย นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแปลงเป็นบันได 9 ขั้น รายได้หลักมาจากการขายพืชผัก เหลือจากกิน เก็บ ก็มาขายและแบ่งปัน และขายน้ำหมักที่มาจากน้ำนมเหลือใช้ บุญล้อมกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
บุญล้อมบอกว่า เขาวางแนวทางการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพ่อหลวงและยึดเป็นแบบอย่างเสมอมา พระองค์ท่านทำงานหนักโดยไม่หยุด เพราะอยากให้พสกนิกรของท่านอยู่อย่างพอเพียงและสุขสบาย เราพยายามสานต่อพระปณิธานของท่าน แม้จะเป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง แต่มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำงานตรงนี้ให้ก่อเกิดประโยชน์ได้มากที่สุด จะสานต่อจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนงานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เผยแพร่องค์ความรู้ ช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ และเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้านให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีความเป็นอยู่ที่มั่นคงสมบูรณ์ สำหรับเขาได้วางรากฐานครอบครัวไว้มั่นคงแล้ว เขาจึงพร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือทุกคน ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเดินตามรอยในหลวง
การทำงานตรงนี้ และต้องออกไปช่วยเหลือคนอื่น ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย แต่เมื่อนึกถึงในหลวง ท่านเหนื่อยยากกว่าเราหลายร้อยล้านเท่า ที่ต้องดูแลพสกนิกรทั้งประเทศ ความเหนื่อยของผมถือว่านิดเดียว ผมทำงานโดยยึดหลักคำสอนในหลวงใส่ใจเสมอ ถ้าเหนื่อยและท้อให้นึกถึงท่านก็จะมีแรงผลักดันต่อไป
บุญล้อม ยังเป็นเกษตรกรกำลังสำคัญอีกคน ที่เข้าร่วมในโครงการสร้าง ป่าสักโมเดล ที่จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำตามแนวทางศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จะถ่ายทอดแนวพระราชดำริและเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชให้เกริกเกียรติและเดินตามรอยพระราชาสู่การมีชีวิตพอเพียงอย่างยั่งยืน
บุญล้อม เต้าแก้ว เกษตรกรตัวอย่างจากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองโน จ.สระบุรี ซึ่งเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เมื่อ 10 ปีก่อน จากติดลบเป็นหนี้เป็นสินกว่า 2 แสนบาท ปัจจุบันใช้หนี้หมดและมีรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่า 500 บาท มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 6 แสนบาท เขาบอกว่า สำหรับเกษตรกรแล้วน้ำคือต้นทางของชีวิต เมื่อบริหารจัดการน้ำได้ ชีวิตก็อยู่ได้
น้ำมา เราก็ไปอยู่บนโคก เราก็รอด ถ้าน้ำไม่มี เราก็ไปเอาน้ำจากหนองมาใช้ เราก็รอด เราอยู่รอดด้วยตัวของเราเอง โครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ ทำให้เกษตรกรกักเก็บน้ำและบริหารน้ำไว้ใช้เอง ไม่ต้องรอชลประทานเพียงอย่างเดียว
มากกว่าหนึ่งปีขณะที่รัฐบาลประกาศภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ และให้เกษตรกรชะลอการทำนาออกไปก่อน ชาวนาส่วนใหญ่ตั้งตารอฝนและน้ำจากชลประทาน…… แต่สำหรับบ้านพี่บุญล้อม กำลังทำเทือก* และจะเริ่มดำนาเร็วๆ นี้ คือบทพิสูจน์ หลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน ที่บ้านพี่บุญล้อม เต้าแก้ว ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี พร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมีปรับใช้ในที่ทำกินของตัวเองกว่า 20 ไร่ และแน่นอน..พี่บุญล้อมมี หลุมขนมครก กักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรได้อย่างพอเพียง และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่สามารถสร้างสมดุลย์ให้กับระบบนิเวศน์ในพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์มีรายได้ครัวเรือนมากกว่า 3,000 บาทต่อวัน มาเรียนรู้ หลุมขนมครกในแบบของคุณ และร่วมเป็นหนึ่งในแสนหลุมขนมครก หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน เดินหน้าต่อ ปฏิบัติบูชา
บุญล้อม เต้าแก้ว ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี : ศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งปรับปรุงพื้นที่เพิ่มเติมด้วยการทำโคก และขุดคลองไส้ไก่เพิ่มจากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อยู่แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัย พิบัติ และขยายผลสู่โมเดลการฟื้นฟูเยาวชนกลุ่มพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียง (บุญล้อมทำเศรษฐกิจพอเพียงมา 20 ปี โดยรุ่นพ่อคือบุญลือ ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยวันละ 3,000 บาท โดยผลผลิตจากพื้นที่ 20 ไร่) บุญล้อมขยายผลไปอีกกว่า 20 รายในพื้นที่โดยการอบรมให้ความรู้และติดตามขยายผล
หลุมขนมครกคือทุกรูปแบบของการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ของตัวเองเพื่อการอุปโภค บริโภคในพื้นที่ของตัวเอง ได้แก่ หนอง คลองไส้ไก่ และการยกคันนาหัวสูง ซึ่งต้องสร้างสมดุลของระบบนิเวศให้มีความสามารถในการกักเก็บน้ำ ด้วยการทำโคก-หนอง-นา และปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง
บุญล้อม เต้าแก้ว-จากผู้ขอสู่การเป็นผู้ให้ เพราะศาสตร์ของพระราชาที่ทำให้ครอบครัวของเขาอยู่รอดและปลดหนี้ได้ วันนี้เขาจึงมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ลำบากให้กลับมาสู่วิถีพอเพียง
ป้ายคำ : ปราชญ์