การเพาะเห็ดนั้น นอกจากไว้รับประทานในครอบครัวเป็นอาหารสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้มากมายแล้ว ยังเป็นการพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่งด้วย และยังเป็นช่องทางในการทำธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปเห็ดได้เป็นอย่างดี และเมื่อรู้แล้ว ก็ควรช่วยกันเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ดและการทำธุรกิจเห็ดให้แพร่หลายยิ่งขึ้นด้วย ตามที่ครูบุญเลิศ ไทยทัตกุล ได้บอกไว้ว่า “ความรู้ยิ่งให้ ยิ่งได้กลับคืนมา ยิ่งใหญ่กว่าเสมอ”
อาหารจานเห็ด คนทั่วไปอาจทำเพียงนำเห็ดมาต้ม ผัด แกง หรือทอด แต่ครูบุญเลิศ มองต่อยอดออกไปอีกไกลทีเดียว มองเห็นขนมจีนน้ำยาจากเห็ดนานาชนิด ข้าวเกรียบเห็ด แหนมเห็ด เยลลี่เห็ด เฉาก๊วยเห็ด คุกกี้เห็ด และอื่น ๆ อีกมากมาย
อาชีพเพาะเห็ดขายไปได้สวยในประเทศไทย
เห็ดที่สามารถเพาะได้ในไทย มีอยู่หลายชนิด เช่น เห็ดหอม เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดลินหจือ เห็ดภูฏาน เห็ดยานางิ เห็ดเป๋าฮื้อ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ครูบุญเลิศ บอกว่า “อาชีพเพาะเห็ดขายยังไปได้สวยในประเทศไทย เพราะคนไทยชอบกินเห็ดกันมาก เป็นอาหารสุขภาพที่สำคัญ ผลผลิตเห็ดในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประเทศไทยเรายังสั่งซื้อเห็ดจากจีนมากมาย จึงเป็นโอกาสทองของธุรกิจเห็ดเลยก็ว่าได้
ผมรับประกันว่า ทุกภูมิภาคในประเทศไทย สามารถเพาะเห็ดได้หมด ภูมิอากาศแถบภาคเหนือเหมาะกับเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดตระกูลนางรม เห็นขอนขาว เห็ดยานางิ ภาคใต้เหมาะกับเห็ดเมืองร้อน ส่วนภาคอีสานจะโชคดี เพราะเหมาะกับการเพาะเห็ดทุกชนิด”
ไม่เพียงรู้ใจเห็ดเท่านั้น แต่ครูบุญเลิศยังรู้ใจคนกินเห็ด รู้ใจคนซื้อเห็ด แถมยังรู้ใจตลาดเห็ดอีกด้วย
ปัจจุบัน การเพาะเห็ดเป็นเรื่องง่ายใกล้ตัว เพราะมีการผลิตก้อนเห็ดสำเร็จที่บรรจุเชื้อเห็ดพร้อมปลูก เพียงนำก้อนเห็ดที่เชื้อเดินเต็มก้อนแล้ว มาวางเรียงกันไว้ในที่ปิดมิดชิดอย่าให้โดนแดด รดน้ำเช้า-เย็น ทุกวันไม่ถึงเดือนดอกเห็ดก็จะออกมาให้เก็บกินได้ เรื่อยไปนาน ๓-๔ เดือน
การเพาะเห็ด มี ๔ ขั้นตอน
๑. การผลิตเชื้อวุ้น
๒. การผลิตเชื้อข้าวฟ่าง
๓. การผลิตก้อนเชื้อเห็ด
๔. การผลิตดอกเห็ด
แต่ขั้นตอนที่ ๑ – ๓ ต้องใช้อุปกรณ์และความรู้ ซึ่งต้องลงทุนมาก ไม่เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นใหม่ ๆ โดยเฉพาะการผลิตเชื้อวุ้นและข้าวฟ่างมีขั้นตอนมาก ต้องอาศัยความชำนาญและความละเอียดสูง
โดยทั่วไปแล้ว จะแนะนำให้ข้ามมาทำขั้นตอนที่ ๔ คือเปิดดอกเห็ด เพราะมีผู้ผลิตก้อนเห็ดที่เส้นใย เจริญเต็มก้อนจำหน่าย สามารถสั่งซื้อได้ราคาก้อนละ ๘ – ๑๐ บาท
การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
การเปิดดอกเห็ด
หลังจากเรียงก้อนเห็ดซ้อนสลับกัน ให้ดึงจุกสำลีออกจากปากถุงเห็ด ใช้ด้ามช้อนแคะเมล็ดข้าวบริเวณ ปากถุงออกให้หมด ห้ามรดน้ำจนกว่าเห็ดจะเริ่มออกดอกจึงเริ่มรดน้ำได้
การดูแล
๑. รดน้ำวันละ ๒ ครั้ง ใช้กระบอกฉีดเป็นฝอย หรือผักบัว ห้ามฉีดเข้าไปในปากถุงเห็ด
๒. ฉีด EM ผสมน้ำ ๑:๑๐๐๐ วันละ ๑ ครั้ง เช้าหรือบ่ายก็ได้
การเก็บดอกเห็ด
๑. ควรเก็บดอกตอนเช้า ๆ เลือกเก็บเฉพาะดอกที่บานเต้มที่
๒. วิธีการเก็บให้จับบริเวณโคนเห็ดดึงเข้าหาตัวคนเก็บ แล้วโยกไปมา เพื่อให้หลุดมาทั้งช่อ
๓. อย่าให้โคนเห็ดตกค้างที่ปากถุง ควรทำความสะอาดปากถุง ใช้โคนช้อนแคะเศษที่ค้างออก จะได้ ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค
๔. ดอกเห็ดจะเริ่มออกอีกครั้ง ประมาณ ๑๔ – ๒๐ วัน
๕. เชื้อเห็ดจะมีอายุประมาณ ๓ – ๕ เดือน ให้ทยอยเก็บถ้อนเก่าออกทิ้ง
สำหรับเด็กนักเรียน หรือผู้ที่ไม่มีสถานที่ อาจทดลองเพาะในห้องน้ำ หรือในภาชนะที่ไม่ได้ใช้แล้ว เช่น โอ่งหรือลังไม้ โดยใช้ผ้าปิดปากโอ่งป้องกันแสง ระวังอย่าให้แมลง ยุง และมดมารบกวน
ป้ายคำ : ปราชญ์