เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว คลองมหาสวัสดิ์ มีแต่ผักตบชวา และวัชพืช เกิดปัญหาน้ำเสียจากหมู่บ้านจัดสรร ขยะชุมชน สารเคมีจากภาคเกษตรกรรม และการขยายตัวของชุมชน เนื่องจากชุมชนมีอาชีพหลักคือ ทำเกษตร ดังนั้น น้ำเป็นปัจจัยหลักของชุมชน ชุมชนจึงเริ่มรวมตัว ขุดลอกผักตบชวา และวัชพืช โดยมีกิจกรรมร่วมกันปีละ ๓ ครั้ง ปล่อยปลาดุกอุย เพื่อจำกัดหอยเชอรี่ และ รณรงค์ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลลงคลอง ป้องกันปลาตาย รวมทั้งปลูกพืชพื้นเมืองหน้าบ้านในชุมชน เช่น ลำพู ชมพู่มะเหมี่ยว ฯลฯ
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งนี้ เกิดจากความเข้าใจของชุมชนที่เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับดิน น้ำ ลม ไฟ สมบัติสำคัญของชุมชน และจะต้องบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นกรอบคิดในการแก้ปัญหา จัดทำเป็นกรอบงานที่มีกระบวนการชัดเจน รวมถึงนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการน้ำในชุมชนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านศาลาดินแห่งนี้ ตั้งอยู่บนที่ดินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้กับเกษตรกรทำกิน จํานวน 1,009 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเป็นผู้ดูแลจัดรูปที่ดินให้กับเกษตรกรแปลงละ 20 ไร่ ที่ผ่านมาชุมชนดังกล่าวประสบปัญหาน้ำเน่าเสียจากสารเคมี การทิ้งขยะและน้ำเสียจากครัวเรือนสู่ลําคลอง และยังประสบกับปัญหาน้ำท่วมที่มีระยะเวลายาวนานเมื่อปี 2554 เนื่องจากลําคลองตื้นเขินและตัน ทําให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง ผลของน้ำเน่าเสียกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ชาวบ้านจึงร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพลำคลองโดย เริ่มต้นจากการพึ่งตนเอง ดำเนินการจากปัจจัยที่ชุมชนสามารถทำเองได้ เช่น ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ติดตั้งถังดักไขมันครัวเรือน ใช้จุลินทรีย์และอีเอ็มบอลปรับสภาพน้ำ และพัฒนากังหันเติมอากาศในน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังร่วมกับองค์การบริหารส่วนตําบลมหาสวัสดิ์ ขยายการขุดลอกคูคลองเพื่อให้ทุกคลองสามารถกลับมาสัญจรและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้เข้ามาเสริมด้านศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การใช้แผนที่และจีพีเอส เพื่อให้รู้จักพื้นที่ของตนเอง มีการวางแผนงานที่เชื่อมโยงกับพื้นที่จริงมีทั้งพื้นที่นาที่ปรับใช้รูปแบบการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชผักสวนครัวตามคันดิน ส่วนนาบัวที่นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับเจ้าของถึงวันละสองพันบาท ยังสามารถใช้เป็นแก้มลิงเก็บน้ำได้ทั้งในช่วงน้ำท่วมและน้ำแล้งอีกด้วย
ดร.สุเมธ บอกอีกว่า สิ่งที่สำคัญของการบริหารจัดการน้ำที่นี่ก็คือความเข้มแข็งของชุมชนและผู้นำท้องถิ่น เมื่อก้าวเข้ามาแล้วจะรู้ถึงความสามัคคีของชุมชน ซึ่งการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ฯ หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตนี้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นการเข้าไปสอนชุมชน แต่มุ่งเน้นให้ชุมชนสอนกันเองมากกว่าและทำให้ชุมชนอื่น ๆ เห็นว่าสามารถทำได้จริง เป็นตัวอย่างห้องเรียนของชีวิตจริง และจะผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายของการเรียนรู้ สามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในอนาคตได้อีกด้วย
ชุมชนบ้านศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ป้ายคำ : ศูนย์เรียนรู้