จากกระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่เน้นการบริโภคผักผลไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนอาจเป็นเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะจากข้อมูลการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ ๑ เรื่อง ผักและผลไม้เพื่อความมั่นคงทางโภชนาการ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๗ พบว่า คนไทยบริโภคผักผลไม้น้อยลง โดยเพศชาย อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้ประมาณ ๒๖๘ กรัมต่อวัน ส่วนเพศหญิง อายุ ๑๕ ขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้ประมาณ ๒๘๓ กรัม ต่อวัน และมีการบริโภคผักผลไม้น้อยลงตามอายุ โดยในกลุ่มอายุ ๘๐ ปีขึ้นไปบริโภคน้อยที่สุดเพียง ๒๐๐ กรัม และถึงแม้ประเทศไทยจะมีความหลากหลายทั้งในด้านผักและผลไม้แต่กลับพบว่าคนไทย ๗๕% ทานผักผลไม้น้อยกว่า ๔๐๐ กรัม ต่อวัน โดยประเทศไทยมีผักที่บริโภคได้ถึง ๓๓๐ ชนิด รวมทั้งผักพื้นบ้านด้วย แต่คนไทยบริโภคผักอยู่เพียงแค่ ๗๐-๘๐% ของชนิดผักทั้งหมดเท่านั้น ยังมีผักอีกหลายชนิดที่คนไทยไม่ได้บริโภค ซึ่งสาเหตุหลักอาจมาจากการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้นของผู้คนจากอดีต วัฒนธรรมการบริโภคอาหารไทยซึ่งมีผักเป็นส่วนประกอบได้เปลี่ยนมาเป็นการบริโภคอาหารจานด่วนที่ไม่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร ก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพมากขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลในเรื่องของสารพิษตกค้างจากการเพาะปลูกว่าแท้จริงแล้วผักผลไม้เหล่านี้จะเกิดประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำอาจเกิดการสะสม และย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งจากการสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ของ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรู” ร่วมกับ “มูลนิธิชีววิถี” “ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเพื่อหาสารเคมีตกค้างในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ปี ๒๕๕๗ จาก ๕ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และยโสธร ๑๑๘ ตัวอย่าง พบว่าผักและผลไม้เกินครึ่งหนึ่งที่จำหน่ายอยู่ทั่วไป หรือคิดเป็น ๕๕.๙% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ โดยพบการตกค้างที่เกินมาตรฐาน MRL หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดในสินค้าเกษตรของไทยมากถึง ๔๖.๖% หากจำแนกตามประเภทแหล่งจำหน่ายพบว่า ผักผลไม้ที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากสุดคือ ผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองมาตรฐาน Q ซึ่งพบการตกค้างมากถึง ๘๗.๕% และเกินมาตรฐาน MRL ๖๒.๕% รองลงมาคือ ผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีก ส่วนแหล่งที่พบผักผลไม้เกินมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดกลับเป็นตลาดทั่วไป
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการบริโภคผักและผลไม้ใน ๑ วัน ไม่ควรน้อยกว่า ๔๐๐ กรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่จะให้ผลดีต่อสุขภาพ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ถึง ๕๐% ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ถึง ๓๐% ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ ๖% โรคมะเร็งทางเดินทางอาหาร กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ๑-๖% และยังช่วยลดน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า การบริโภคผักผลไม้ในสัดส่วนดังกล่าวจะช่วยให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ทั้งเบาหวานและความดันอีกด้วย
จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการตื่นตัวในการบริโภคพืชผักปลอดสารเคมีหรือผักอินทรีย์ (Organic vegetable) ซึ่งได้รับความสนใจและขยายตัวอย่างมากทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้ปริมาณความต้องการผลผลิตผักอินทรีย์คุณภาพมีอัตราสูงขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่ศักยภาพด้านการผลิต และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืชผักอินทรีย์ยังมีขีดจำกัด แนวทางการผลิตยังใช้วิธีการแบบเดิมโดยอาศัยทักษะภูมิปัญญาแบบชาวบ้านที่ไม่สามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในการผลิตได้ องค์ความรู้และเทคโนโลยีไม่เป็นองค์รวมและบูรณาการ และมีแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละองค์ประกอบและปัจจัยพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ เช่นความพร้อมของพื้นที่ปลูก สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืช ทั้งโรคพืช และแมลงศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อศักยภาพ และประสิทธิภาพด้านการผลิตของเกษตรกรรวมทั้งเกษตรกรยังขาดความรู้ในด้านการบริหาร และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการผลิตพืชผักอินทรีย์ที่มีตลาดจำเพาะ การส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชผักอินทรีย์ให้เข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม และเป็นธุรกิจ ระดับครัวเรือนและชุมชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกร ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการ จะต้องมีองค์ความรู้ และศาสตร์ต่างๆ ได้แก่ ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เกษตร (agricultural science) ศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์ (economy) และศาสตร์ด้านบริหารการจัดการธุรกิจ (business administration)ที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้ทั้งระบบการผลิต ทั้งที่เป็นหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่สามารถยืดหยุ่น และนำไปปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่ และทุกสถานการณ์
ผลการดำเนินงานในปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา บริษัท ไบโอ-อะกริ จำกัด ได้ดำเนินการบริหาร โครงการ สามพรานโมเดล การจัดการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรจากการผลิตสู่การตลาด ภายใต้ เกษตรอินทรีย์ บ้านแสนรักษ์ โดยนำนวัตกรรมระบบเกษตรอินทรีย์ ไอซีเอ็ม (ICM : I-Integrated C-Cropping M-Management) ได้แก่ การจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยี กระบวนการ ถ่ายทอด การปรุงดินปรับธาตุอาหาร การจัดการแหล่งน้ำ การจัดการระบบปลูกเขตกรรม การคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ การจัดการทุน การจัดการแรงงานตามความพอดี การจัดการศัตรูพืช อารักขาพืช เสริมสุขภาพพืช การจัดการราคาและตลาดเพื่อประกันราคาและความมั่นคงของอาชีพ การปฏิบัติแบบเกษตรประณีตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT) ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรต่างๆ ทำให้เกษตรกรเกิดการยอมรับและปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ โดยสมัครเป็นสมาชิกโครงการจำนวน ๓๕๐ ราย ทั้งจากภายในอำเภอสามพรานและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งทางศูนย์ได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาแก่กลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่องจนเกิดแหล่งผลิตพืชผักอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐานความปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) จำนวน ๓๐ ราย มาตรฐานOrganic Thailand จำนวน ๖๕ ราย และมาตรฐาน IFOAM จำนวน ๗ ราย นอกจากนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสร้างกลุ่มเครือข่ายระหว่างเกษตรกรแต่ละพื้นที่ ส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ลดรายจ่ายและอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร เพิ่มรายได้จากผลผลิตอินทรีย์ สามารถกระจายผลผลิตอินทรีย์สู่ผู้บริโภคทั้งระดับบุคคลและองค์กร โดยโครงการได้ทำการกระจายผลผลิตไปสู่ตลาดทั่วไป เช่น ตลาดสดในพื้นที่อำเภอสามพราน ร้านค้าหมู่บ้านในเขตจังหวัดนนทบุรี และผู้ค้ารายย่อยทั่วไป ซึ่งมีการจัดส่งพืชผักอินทรีย์ประมาณ ๒๕๐ กิโลกรัม/เดือน และตลาดโมเดิร์นเทรด เช่น บริษัท เอ็ม เค เรสโตรองต์ จำกัด จัดส่ง กล้วยหอมจำนวน ๒,๒๐๐ หวี/เดือน และผักใบเช่นกว้างตุ้ง ผักบุ้งและขึ้นฉ่าย เป็นต้น จำนวน ๑,๐๐๐ กิโลกรัม/วัน และจัดส่งผลผลิตอินทรีย์ให้แก่ร้าน เลม่อนฟาร์มจำนวนกว่า ๓๐,๐๐๐ แพ๊ค/เดือน อีกทั้ง ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกพืชผักอินทรีย์ให้กับโรงเรียนและส่วนราชการ รวมทั้งมีการรณรงค์การบริโภคพืชผักอินทรีย์แก่บุคลากรและข้าราชการตำรวจ ทหาร นักเรียน และกลุ่มผู้บริโภคในชุมชนให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คำนึงถึงสุขภาพและเลือกบริโภคผลผลิตพืชผักอินทรีย์มากขึ้น รวมถึงสร้างแบรนด์สินค้าภายใต้เกษตรอินทรีย์บ้านแสนรักษ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์สู่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า การติดตามและให้คำปรึกษาลงพื้นที่ในแปลงผลิตและการอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาตรฐานบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผลักดันให้เกิดพื้นที่การผลิตพืชผักอินทรีย์ และเพิ่มปริมาณผักผลไม้ที่ปลอดภัยเข้าสู่แหล่งบริโภคระดับต่างๆ อีกด้วย
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืนในการดำเนินงาน ในปี ๒๕๕๘-๒๕๖๐บริษัท ไบโอ-อะกริ ในฐานะผู้เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ ด้วยโครงการนวัตกรรมระบบ ICM สำหรับการผลิตพืชอินทรีย์ จึงได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และเพิ่มการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ระดับท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่กลุ่มเครือข่าย ที่สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเกษตรอินทรีย์บ้านแสนรักษ์ อาทิ ผู้นำท้องถิ่น สำนักงานเกษตร สำนักงานสาธารณะสุข สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาสังคม สหกรณ์การเกษตร ฯลฯ ดำเนินโครงการ การจัดการแหล่งผลิตผักผลไม้สู่การบริโภคที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน เป็นการขยายพื้นที่การดำเนินงาน ภายใต้ เกษตรอินทรีย์ บ้านแสนรักษ์ พัฒนาศักยภาพพื้นที่ของการผลิตพืชอาหาร(เกษตรอินทรีย์) ให้ครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดนครปฐม นอกจากนี้ยังหวังที่จะขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.นนทบุรี และในพื้นที่กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรให้กับเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดการผลิตพืชอินทรีย์อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์เกษตร ซึ่งเกษตรกรทั้ง ๓๕๐รายเดิมและเครือข่ายเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะนักศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับ เกษตรอินทรีย์ บ้านแสนรักษ์ มีความประสงค์ที่จะนำองค์ความรู้ระบบการผลิตพืชด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ไอซีเอ็ม และกระบวนการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรต้นแบบมาดำเนินการเพื่อให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคใน จ.นครปฐมและพื้นที่ตามภูมิลำเนาของเครือข่ายเกษตรกรอื่นๆ ทั้ง ๔ ภาคที่จะเพิ่มขึ้นในปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐ อีกทั้ง จะจัดทำคู่มือสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนเปิดร้านหรือสร้างแหล่งจำหน่ายผลผลิตผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ/ปลอดภัย โดยมีร้านจำหน่ายต้นแบบให้ศึกษาเรียนรู้ และ นำไปสู่การขยายผลเพิ่มปริมาณแหล่งจำหน่ายได้ในอนาคต โดยรูปแบบการดำเนินการของโครงการฯ สามารถนำไปปรับใช้เป็นต้นแบบขยายผลให้กับเกษตรกรท้องที่อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ ในลักษณะกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต สร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางการตลาดเกิดการกระจายผลผลิตของพืชผักอินทรีย์ไปสู่การบริโภค รวมทั้งปรับพฤติกรรมการบริโภคพืชผักผลไม้ให้ได้ตามมาตรฐาน โดยการเพิ่มปริมาณพืชผักอินทรีย์ในท้องตลาดให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย สร้างสุขภาพที่ดีในทุกกลุ่มวัย
วัตถุประสงค์
วิสัยทัศน์ (Vision)
สร้างพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมการผลิตพืชอินทรีย์ ICM และการจัดการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร จากแปลงผลิตสู่ร้านจำหน่ายอาหารปลอดภัย (From Farm To Table)
พันธกิจ (Mission)
บ้านแสนรักษ์
โครงการ การจัดการแหล่งผลิตผักผลไม้สู่การบริโภคที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน
(From Farm To Table)
หมู่บ้านศรีจันทร์ เลขที่ 55/114 หมู่ที่ 2
ต.ท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110
โทรศัพท์/โทรสาร : 034-321131
มือถือ : 081-626-5628 (คุณตุ๋ม)
www.baansanrak-organics.com
อีเมล์ : baansanrakorganics@gmail.com
ป้ายคำ : เกษตรอินทรีย์