ปรง ต้นไม้โบราณ

ปรงจัดเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่เติบโต และมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสมัยไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่ยังเหลือพบให้เห็นอยู่ ทั้งนี้ ปรงนิยมนำมาปลูกสำหรับประดับตามสวนจัดแปลงหรือสวนสาธารณะต่างๆ เนื่องจาก ลำต้น และใบปรงมีความเป็นเอกลักษณะ ดูแปลกตา และมีความสวยงาม อีกทั้ง เป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ไม่จำเป็นต้องให้น้ำหรือปุ๋ยมากเหมือนไม้ประดับอื่นๆ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas circinalis L.
วงศ์ Cycadaceae
ชื่ออื่น ๆ กา กาเดาะ กูดหลวา แข่ดู่ ทอคลิ บอกะ มะพร้าวเต่าดอย มะพร้าวเต่าหลวง มะพร้าวสีดา มุ่งมาง

ลักษณะ
ไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาล มีรอยแผลใบที่ลำต้น มีเหง้าใต้ดิน ใบเป็นใบประกอบ รูปยาว แคบ ปลายใบแหลม ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกต้นกันอยู่ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีสปอร์จำนวนมากเรียงรอบแกนกลาง ดอกเพศเมียออกเป็นกาบระหว่างใบ มีไข่อ่อนติดทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 2-4 หน่วย เมล็ดกลมเมื่อแก่จัดสีแดงอมส้ม ประเทศไทยพบพืชสกุลปรง 5 ชนิดได้แก่
Cycas circinalis L ปรง
C. micholitzii Dyer var. simplicipinna Smitin มะพร้าวเต่า
C. pectinnata Thunb ปรงเขา
C. rumphii Miq ปรงทะเล มะพร้าวเต่าทะเล ปากู
C. siamensis Miq ปรงเหลี่ยม ปรงป่า ผักกูดบก ตาลปัตรฤาษี

  • ต้น เป็นต้นไม้เปลือกสีน้ำตาล มีรอยแผลใบที่ลำต้น มีเหง้ากึ่งใต้ดิน
  • ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงเวียนสลับหนาแน่นช่วงยอดหรือปลายกิ่ง ใบย่อยด้านล่างมักลดรูปเป็นหนามแหลม ใบย่อยรูปแถบ หนา จำนวนมาก เรียงสลับหรือเกือบตรงข้าม เส้นกลางใบนูนเด่นชัด ไม่มีเส้นแขนงใบย่อย มีเกล็ดหุ้มยอด (cataphyll)
  • ดอก แยกเพศต่างต้น ใบสร้างอับไมโครสปอร์ (microsporophyll) จำนวนมาก รูปลิ่ม ปลายมักแหลมคล้ายหนาม เรียงเวียนเป็นรูปโคน ตั้งขึ้นที่ยอดลำต้น เรียกว่า male cone หรือ pollen cone ใบสร้างอับเมกาสปอร์ (megasporophyll) ของเพศเมีย เรียงเป็นกลุ่มคล้ายใบกระจุกแบบกุหลาบซ้อน (rosette) ไม่เป็นรูปโคน แต่ละสปอร์โรฟิลมีก้าน ปลายก้านเป็นแฉกแบบขนนกรองรับออวุล ออวุลมี 1-5 เม็ด
  • เมล็ด ทรงกลมหรือรี ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อสดหนาด้านนอก ด้านในแข็งเป็นเนื้อไม้ ลักษณะคล้ายผลแบบเมล็ดเดียวแข็ง (drupe) ใบเลี้ยง 2 ใบ ติดกันที่โคน

การปลูก
เมล็ดของปรงจะงอกได้ช้ามาก ถึงแม้ว่าจะไม่มีการฟักตัวก็ตาม การทำให้เมล็ดปรงงอกได้เร็ว จึงต้องนำเมล็ดปรงมาปอก เอาเนื้อหุ้มเมล็ด ที่อยู่ชั้นนอกออกให้หมด แล้วจะพบเปลือกแข็งอีกชั้นหนึ่งที่เรียกว่า กะลาห่อหุ้มเมล็ดอยู่ จึงควรนำไปฝนจนกะลาทะลุหรือกะเทาะให้แตก เพื่อให้น้ำหรือความชื้นซึมเข้าไปในเมล็ด แล้วเมล็ดจะงอกได้เร็วขึ้น ถ้ามีการแกะกะลาออกให้หมดจะเหลือแต่ endosperm ก่อนนำไปเพาะ ควรนำไปแช่น้ำยาป้องกันเชื้อราเสียก่อน การเพาะโดยวิธีนี้จะได้ต้นอ่อน ที่มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงและต้นอ่อนมีขนาดสม่ำเสมอกัน
การดูแลรักษา: ต้องการดินปลูกที่ระบายน้ำดี ต้องการน้ำน้อย
การขยายพันธุ์: การแยกหน่อและการเพาะเมล็ด
แหล่งที่พบ: ขึ้นอยู่บนภูเขา ตามหน้าผาหรือเกาะอยู่กับโขดหิน

ประโยชน์ปรง

  • ปรงหลายชนิดจัดเป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมนำแกนอ่อนของปรงมาประกอบอาหาร ทั้งแกง ผัด และต้ม เพราะแกนลำต้นมีเนื้ออ่อน กรอบ และมีรสหวานเล็กน้อย
    2. หลายประเทศนำแกนลำต้นปรงมาทำแป้งสาคูสำหรับทำขนมหวานหรืออาหาร ด้วยการสับเปลือกนอกลำต้นออกให้เหลือเฉพาะแกนอ่อนด้านในสุด ก่อนนำมาล้างน้ำ นำไปหมักหรือต้มเพื่อกำจัดสารพิษ แล้วนำมาสับ ตากแห้ง และบดเป็นแป้ง นอกจากนั้น ยังนำส่วนอื่น อาทิ ราก และเมล็ดมาใช้ทำแป้งได้ด้วย โดยปรงที่นิยมนำมาทำแป้ง ได้แก่
    Cycas
    Macrozamia
    Zamia
    Encephalartos
  • ใบปรงเป็นใบประกอบแบบขนนกที่มีริ้วใบย่อยเรียวแหลม ดูแปลกตา และสวยงาม จึงนิยมใช้ประดับตกแต่งในงานพิธีต่างๆ
  • เมล็ดปรงนำมาสกัดน้ำมันสำหรับเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร
  • ปรงหลายชนิดเป็นที่อาศัยของด้วงงวงซึ่งเป็นระยะหนอนของแมลงชนิดหนึ่งที่ชอบเข้ากัดกินแกนลำต้น และยอดอ่อนของปรง ด้วงงวงนี้ให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในการนำมาประกอบอาหารที่ชาวเขานิยมเข้าไปหาด้วงงวงตามต้นปรงมาประกอบอาหารรับประทาน

ทั้งนี้ การนำปรงไปประกอบอาหาร และใช้ทำยาสมุนไพรจะต้องระมัดระวัง เพราะปรงบางชนิดมีพิษ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ดอกไม้ประดับ

แสดงความคิดเห็น