พ่อประคอง มนต์กระโทก (ลุงประคอง พันธุ์ปลา) ทุกข์คนอีสานอยู่ที่ท้อง แต่เชื่อเถิดไม่ว่าเขาจะไปหากินอยู่ที่ไหน วิญญาณเขาอยู่อีสาน แล้วสักวันหนึ่งเขาจะกลับมา ถ้าหากเขายังไม่สูญเสียแผ่นดินที่เคยฝังรก
พ่อประคอง มนต์กระโทก ได้รับการยกย่องให้เป็นคนดีศรีสังคม ในปี ๒๕๓๙ จากงานที่เริ่มสร้างหลักฐานบนผืนดินที่ตำบลพลับพลา หลังที่ทางราชการได้สร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง ชาวบ้านเริ่มตื่นตัวและเตรียมการทำนาปรังให้ได้ปีละหลายครั้ง คิดขุดโคกขยายที่นาปลูกข้าว แต่พ่อประคองคิดสวนทางกับเพื่อนบ้าน โดยมองว่าเมื่อคนมีข้าวกิน ต้องกินข้าวกับกับข้าว และกับข้าวที่สำคัญคือ ปลา จึงขุดบ่อและทดลองเลี้ยงปลา ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จนเจ้าหน้าที่ประมงเห็นว่ามีความตั้งใจจริง จึงสนับสนุนให้เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลา ที่สถานีประมงจังหวัดนครราชสีมา พ่อประคองจึงเริ่มเพาะพันธุ์ปลาจำหน่ายให้กับสมาชิก และชาวบ้านที่สนใจ
พ่อประคอง มนต์กระโทก อยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๙ หมู่ ๔ ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เกิดเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๑ อาชีพเกษตร จากเดิมที่เคยรับจ้างในฐานทัพทหารอเมริกันต้องย้ายไปประจำการจังหวัดต่าง ๆ ทำให้เริ่มคิดและตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตที่ต้องการ จนนำมาสู่ความคิดจากประสบการณ์ของชีวิตเพื่ออธิบายปัญหาการอพยพเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ มาสู่คำตอบที่ว่า “…ทุกข์คนอีสานอยู่ที่ท้อง แต่เชื่อเถิดไม่ว่าเขาจะไปหากินอยู่ที่ไหน วิญญาณเขาอยู่อีสาน แล้วสักวันหนึ่งเขาจะกลับมา ถ้าหากเขายังไม่สูญเสียแผ่นดินที่เคยฝังรก
ความสนใจหาความรู้ให้กับตนเองตลอดเวลา ทำให้พ่อประคองสะสมประสบการณ์จากการเรียนรู้ การสังเกต ทดลอง สามารถจัดความสัมพันธ์ของต้นไม้ ดิน ออกมาเป็นชุดความรู้การเลี้ยงปลา อาทิ ผืนดินที่มีต้นจิก ต้นจาน สามารถเลี้ยงปลาได้ดี เนื้อปลาอร่อย ผืนดินที่มีต้นยาง ต้นตะแบก ขึ้นอยู่มากก็เลี้ยงปลาได้ แต่เนื้อปลาไม่อร่อย ซึ่งความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติเหล่านี้เป็นความรู้จากการทดลอง และรวบรวมข้อมูล พ่อประคองได้ทดลองดักน้ำจากคลองส่งน้ำลำพระเพลิง ใส่ขวดมีสลากบอกวันเดือนปีที่เก็บน้ำ เพื่อทดลองดูว่าน้ำมีตะกอนมากน้อยขนาดไหน หรือมีหินปูนหรือไม่ เพราะสังเกตดูพบว่าป่าเหนือเขื่อนลำพระเพลิงร่อยหรอทุกที พอฝนตกลงมาก็ชะเอาหน้าดินมาด้วย แล้วเขื่อนก็เริ่มจะควบคุมคุณภาพน้ำปริมาณน้ำไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาวแน่นอน การเฝ้าระวังสังเกตสิ่งที่เป็นไป พ่อประคองได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และยินดีที่จะให้บ้านเป็นที่เรียนรู้ของเกษตรกรผู้สนใจ พ่อประคองเชื่อว่าการที่เกษตรกรมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันบ้างจะทำให้แนวคิดแตกฉานขึ้น แล้วการที่เปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกร ต้องปรับเปลี่ยนทำความเข้าใจกับแนวคิดของเขาก่อนจึงจะได้ผล พ่อประคองมีความคิดว่าเกษตรกรบ้านเรายังขาดความพยายามอยู่ ๒ เรื่องคือ ขาดความพยายามในการเรียนรู้และขาดความพยายามในการค้นคว้าทดลอง แต่กลับชอบที่จะเลียนแบบ มักนำความรู้ที่สำเร็จรูปของคนอื่นไปใช้เลยจึงทำให้ไม่เกิดสิ่งใหม่ ๆ และมักจะผิดพลาดเพราะไม่ได้ประยุกต์ความรู้ให้เหมาะสมกับตนเอง
พ่อประคองใช้หลักธรรมะและการพึ่งตนเองในอาชีพเกษตรกร ทำไร่นาสวนผสม (พ่อประคองเรียกว่า ไร่นาผสมผสาน เพราะมีพืชผัก และสัตว์หลากหลายชนิดผสมปนเปกัน) ทุกอาชีพจะมีวิถีปฏิบัติเฉพาะตัว อาชีพเกษตรกรรมนั้นในสายตาคนนอกอาจจะดูต่ำต้อย แต่พ่อประคองบอกว่าเป็นอาชีพที่ได้บุญกุศลที่สุด เพราะเป็นผู้สร้างอาหาร เลี้ยงสรรพสัตว์โดยเฉพาะมวลมนุษย์ ถ้าเรารู้จักตัวเองแผ่ส่วนกุศลไปให้เขาบ้างเมื่อเราถูกโกง หรือเอาเปรียบจากการขาย เราก็สบายใจ เกษตรกรต้องเข้าใจวิถีปฏิบัติ “…เป็นเกษตรกร ต้องพยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุดในด้านปัจจัย ๔ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เมื่อเรามีปัจจัย ๔ ครบความเดือดร้อน ความทุกข์ทั้งปวงก็ลดไปได้ ในระดับหนึ่ง จากนั้นต้องมีชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ รู้จักประเมินตน ต้องมีความเพียรพยายาม ทดลอง เรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้นี้ถือว่าเป็นหัวใจ คือเราต้องผสมผสานให้ลงตัว ระหว่างความเป็นอยู่แบบเก่ากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนำคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นตัวกำหนดแนวทางดำรงชีพ และเมื่อนั้นเราก็จะถึงที่สุดแล้ว ซึ่งความสุข…”
ป้ายคำ : ปราชญ์