นายประยงค์ รณรงค์ ประกอบอาชีพหลักคือ ทำการเกษตร และเป็นเช่นเกษตรกรทั่วไปของประเทศที่มีฐานะยากจน หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่รับจ้างทำงานทุกอย่าง เช่น รับจ้างตัดไม้ และจากชีวิตที่ลำบากทำให้ได้เรียนรู้และได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่าง คน ระบบ การประกอบอาชีพ และด้วยเป็นคนที่นิสัยใฝ่เรียนรู้จึงทำให้เกิดความคิดริเริ่มพัฒนาตนเองเป็นปัญญาชนท้องถิ่นที่มีส่วนสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหากับชาวบ้าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยางพารา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาชาวสวนยางพารายังมีปัญหาความยากจนเหมือนกัยเกษตรกรในภาคการผลิต อื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากพ่อค้าที่รับซื้อผลผลิตไม่กี่ปี่ก็ร่ำรวย เพราะเกษตรกรทำเพียงขั้นตอนการผลิตที่มีความเสี่ยงผลผลิตขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลกความมั่นคงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถกำหนดอะไรได้
นายประยงค์ได้นำเสนอแนวคิด สรุปประสบการณ์ ทบมทวนปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อวิเคราะห์อนาคต ทำให้พบว่าปัญหาอยู่ที่จัดการเพราะเกษตรกรได้มอบการจัดการได้แก่ การกำหนดคุณภาพ การกำหนดน้ำหนัก กำหนดราคา ให้แก่พ่อค้าหรือผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด จึงทำให้เกิดปัญหามาตลอด จากข้อสรุปข้างต้น จึงทำให้ชาวสวนยางที่ชุมชนไม้เรียงกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งร่วมกันที่จะวงแผนสร้างแนวทางแก้ปัญหาให้กับตนเองตั้งแต่ระบบการผลิตการแปรรูป จัดการด้านการตลาด โดยการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง สร้างโรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นอบแห้ง และยางแผ่นรมควันตามความต้องการของตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการการทรัพยากรของชุมชนให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ลดขั้นตอนที่เป็นภาระและค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก แก้ไขปัญหาต่างๆ ในการประกอบอาชีพ ใช้องค์กรเป็นเครื่องมือในการจัดการเพื่อการพึ่งตนเอง พึ่งพาอาศัยกันในระบบเครือข่าย
ชุมชนไม้เรียงได้พัฒนาอาชีพการทำสวนยางพารา จนมีความก้วหน้าเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่พบว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะวิถีชีวิตของคนในชุมชนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหลายเรื่อง การแก้ปัญหาเรื่องยางอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาอื่นหมดไป ปัญหาหลายเรื่องเกิดจากคนในชุมชนขาดความรู้ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหา และพัฒนาสิ่งดี ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ การทำในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้จริง ปัญหาที่ตามมาคือความไม่สำเร็จ ความล้มเหลวทำให้เกิดเป็นหนี้เพิ่ม เกิดความท้อแท้ และหมดกำลังใจ นายประยงค์ จึงได้เป็นผู้นำจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม่เรียงขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2535 เพื่อศึกษาวิจัยปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆ ตลอดถึงสาเหตุ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จัดทำข้อมูลรายละเอียดใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีผลกระทบอยู่ในปัจจุบัน ศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงเน้นให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการรู้ เพราะต้องในสิ่งที่ต้องการจะทำ และทำในสิ่งที่ต้องการจะรู้เท่านั้นจึงจะสำเร็จ ศูนย์การศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง ได้จัดตั้งศูนย์ การเรียนรู้โดยการมีหลักสูตรหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน ด้วยการสร้างความร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงเป็นหลักฐาน ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
จากประสบการณ์ที่ชุมชนได้จัดทำแผนแม่บท การพัฒนายางพาราไทยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเพราะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในกลุ่มอาชีพการทำสวนยางซึ่งเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จึงมีความมั่นใจมากขึ้น แผนแม่บทชุมชนจึงเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่ทำให้คนในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้เรื่องตัวเอง เรียนรู้เรื่องผลกระทบจากภายนอก ผลของการเรียนรู้ได้ข้อสรุป นำข้อสรุปมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ได้แนวทางในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และได้แนวทางพัฒนาให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นใหม่ในเวลาเดียวกัน เริ่มต้นจากการค้นหาผู้นำที่ต้องได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านเป็นที่ปรึกษาของคนในชุมชนอย่างน้อยหมู่บ้านละ 5 คน มาเป็นคณะทำงาน จัดประชุมสัมมนาทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วขยายผลในหมู่บ้านของตนเอง พร้อมกับจัดทำข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ทิศทางที่จำนำไปสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา และการพัฒนาร่วมกัน เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลักภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แผนแม่บทชุมชนใช้เป็นแนวทางการพัฒนา และสามารถนำไปใช้ได้หลายระดับ เช่น ในระดับครอบครัวก็ให้แต่ละครอบครัวได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผน เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ตรงตามความต้องการของแต่ละครอบครัว แต่ถ้าหากกิจกรรมใดที่ต้องร่วมกันทำก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างองค์กรขึ้นมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกัน เพราะองค์กรของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดยชุมชนเป็นเครื่องมือที่ดีที่ใช้แก้ปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่แต่ละครอบครัวจะแก้ได้ซึ่งการจัดตั้งองค์กรเป็นองค์กรที่เหมาะสมกับกิจกรรมนั้นๆ และต้องจัดตั้งขึ้นตามความต้องการของชุมชน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งจากภายนอกเพื่อรองรับกิจกรรม หรือรองรับงบประมาณ พอหมดงบประมาณกิจกรรมก็ต้องยกเลิกไป องค์กรก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
จากการจัดทำแผนแม่บทชุมชน ซึ่งต้องจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมทุกด้านพบว่า เกษตรกรในชนบทเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรมากมาย ที่เรียกว่าทุนของชุมชน ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคำว่า “ทุน หมายถึง เงินเท่านั้น แท้ที่จริงชุมชนมีทุนที่ไม่ใช่เงิน แต่มีคุณค่ามากกว่าเงิน เช่น ทุนที่เป็นทรัพยากร ผลผลิต ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางภูมิปัญญา และทุนทางสังคมอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของชุมชน แต่ปรากฎว่าชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดส่วนที่สำคัญคือ “ความรู้ในการจัดการทุน จึงทำให้คนภายนอกชุมชนเป็นผู้เข้ามาจัดการทุนของชุมชน ผลประโยชน์ก้อนใหญ่จึงตกอยู่กับคนภายนอกชุมชน คนในชุมชนหรือเกษตรกรเลยเป็นเพียงเครื่องมือทางธุรกิจตลอดมา
วิสาหกิจชุมชน จะเป็นเครื่องมือของชุมชนที่จะใช้จัดการทุนของชุมชนโดยชุมชนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหา เพื่อการพึ่งพาอาศัยกันสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร กับองค์กรของชุมชนอย่างสร้งสรรค์และอย่าเป็นธรรม จัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนให้ผู้ที่สนใจต้องการทำในระบบวิสาหกิจชุมชน เรียนรู้การจัดองค์กร สร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน การคิดต้นทุน การวิเคราะห์สถานการณ์ การวิเคราะห์ตลาด การใช้ข้อมูลการใช้ประสบการณ์เสริมด้วยวิชาการ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงของกิจกรรม ความอยู่รอดของชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรหรือทุนทางสังคมอื่นๆ ร่วมมือกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการจัดการ ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายสัมพันธ์กัน ไม่ว่าชุมชนชนบท หรือ ชุมชนเมืองต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งกันคนละอย่า การสร้างระบบให้เกิดความร่วมมือได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรม จะสามารถพึ่งตนเองได้ พึ่งพาอาศัยกันได้และอยู่รอดได้ทุกสถานการณ์
นอกจากการจัดระบบภายในชุมชนแล้ว นายประยงค์ รณรงค์ ยังได้มีบทบาทต่อการสร้างธุรกิจร่วมกันของเครือข่ายยมนา (ยาง ไม้ผล นาข้าว) ตามแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นระบบการพึ่งพาอาศัยกันทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชน และทั้งในอาชีพเดียวกัน และต่างอาชีพ จากเดิมที่เป็นการแลกเปลี่ยนข้าวของซึ่งกันและกัน ได้พัฒนาความร่วมมือกันเป็นธุรกิจชุมชนในรูปของการจัดตั้งบริษัท และจากการเป็นผู้นำชุมชนที่มีประสบการณ์ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้เกิดความร่วมมือเชื่อถือได้จากหลายฝ่ายในการทำพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่างๆ จนทำให้นายประยงค์ รณรงค์ ได้เข้ามามีบทบาทในองค์กรที่สนับสนุนการพัฒนาชุมชนต่างๆ มากมาย เช่น คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้ นายประยงค์ รณรงค์ ยังมีส่วนร่วมในการผลักดันเชิงนโยบายที่สำคัญที่เห็นได้ชัด คือการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายางพาราไทย และพระราชบัญญัติวิสาหกิจชุมชน และจากฐานของกิจกรรมนายประยงค์ รณรงค์ได้ดำเนินการและมีส่วนผลักดัน ทำให้องค์กรหรือสถาบันต่างๆ ได้มอบรางวัลให้กับนายประยงค์ รณรงค์ มากมาย โดยในปี 2547 มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มอบรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน ให้แก่นายประยงค์ รณรงค์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับการยอมรับจากคนนครศรีธรรมราชและชุมชนทั่วประเทศว่าเป็น “ผู้นำ ทางปัญญา ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และค้นหาทางออก เพื่อให้พึ่งพาตนเอง ไม่ใช่นั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือใคร
ป้ายคำ : ปราชญ์