ลุงหม่อง ประสิทธิ์ เอี่ยมเชื้อ ชายผู้เสียสละ ละทิ้งทุกอย่างในชีวิตอาสาเข้ามาพิทักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูผืนป่าชายเลนของอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากพื้นที่ป่าเลนที่เตียนโล่ง เต็มไปด้วยซากบ่อกุ้งร้างและดินที่แห้งแตก ลุงหม่องเริ่มปลูกต้นไม้ทีละต้นและสร้างขนำเป็นที่พักอาศัย เพื่อเป็นยามเฝ้าป่าไม่ให้ใครมาบุกรุกและยังใช้เวลาทั้งหมดนั่งศึกษาวิจัย สังเกตพฤติกรรมของปูเปี้ยว สัตว์ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลน และหาวิธีการเพาะพันธุ์ปูเปี้ยวตามธรรมชาติ ผลของความเสียสละ ทุ่มเท ชุบชีวิตผืนป่าชายเลนอ่าวบ้านดอน ทำให้ทุกวันนี้ชาวประมงพื้นบ้านของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชีวิตที่ดีขึ้น ลืมตาอ้าปากได้ และนั่นก็คือความสุขของลุงหม่อ
“นักสู้ชาวบ้าน ผู้ทวงคืนทรัพย์ของแผ่นดิน เพื่อพลิกฟื้นวิถีประมงพื้นบ้าน แห่งอ่าวบ้านดอน”
จากประสบการณ์การทำงานเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งมาอย่างยาวนานกว่า 12 ปี และได้เริ่มทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมานานกว่า 7 ปี ของคุณประสิทธิ์ เชื้อเอี่ยม ที่เริ่มตั้งแต่การทำโครงการ ศึกษาแนวทางการจัดการป่าชายเลนเพื่อเพิ่มปริมาณปูเปี้ยวอย่างยั่งยืน บ้านท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.2548 ซึ่งพบว่าการดูแลป่าชายเลน และการกันพื้นที่ไว้บางส่วนสำหรับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปูเปี้ยวนั้น ก็ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณปูเปี้ยวได้อย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2550 จึงได้เคลื่อนงานต่อในโครงการ ประสานงานชุดเครือข่ายการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอน และองค์กรภาคี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานงาน เครือข่ายชุดโครงการวิจัย การจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ และประสานหน่วยงาน/องค์กรภาคีเข้ามาหนุนเสริม รวมถึงรวบรวมเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอน และสร้างการเรียนรู้ การทำงานแบบมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ การทำงานที่ผ่านมาทำให้ทรัพยากรสมบูรณ์ขึ้น มีเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน ซึ่งทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น ในด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
การทำงานได้ผลักดันให้ทุกคนเห็นว่า ปูเปี้ยว เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างหนึ่งของชาวประมงชายฝั่ง และเป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ร่วมกับป่าชายเลน ซึ่งถ้าไม่มีป่าชายเลน ทั้งปูเปี้ยว และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ในป่าชายเลนก็ไม่สามารถอยู่ได้ ในทางกลับกันคุณประสิทธิ์ เชื้อเอี่ยม ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าดูแลป่าชายเลนไม่ให้ถูกทำลาย และจับสัตว์น้ำอย่างถูกวิธี ก็จะมีสัตว์น้ำชนิดต่างๆ สมบูรณ์ขึ้น
อ่าวบ้านดอน อ่าวโค้งรูปพระจันทร์หงายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือสถานที่ในความทรงจำของลุงม็อง เขาเป็นลูกน้ำเค็ม และดำรงชีวิตอยู่กับท้องทะเลมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ลุงม็อง เล่าว่า สภาพของ อ่าวบ้านดอน เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น อุดมไปด้วยทรัพยกรธรรมชาติมากมาย และมีป่าชายเลน ที่เป็นสถานที่รวมตัวกันของสัตว์น้ำตัวเล็ก ตัวน้อย สร้างรายได้ เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มให้กับชาวบ้านอย่างเสมอมา
แต่แล้ววันหนึ่ง อ่าวบ้านดอน ซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ กลับต้องเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเรือประมงลำยักษ์กว่า 100 ลำ ปักหลักอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และใช้อวน แหตาถี่ ลากกุ้ง ปู ปลาตัวเล็กตัวน้อยไปจนเกลี้ยง จนในที่สุดสัตว์เหล่านี้ก็ร่อยหรอลง พร้อมกับรอยยิ้มของชาวบ้านที่จางหายไป และได้แต่มองตากันปริบ ๆ
“เมื่อก่อนเราจับเฉพาะสัตว์ใหญ่ ๆ แต่ไอ้พวกเรือใหญ่มันเอาทุกอย่าง ชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีกฎอะไรไปจับพวกมันได้ พวกเราก็หากินกันลำบาก เพราะเครื่องมือหาปลาไม่ทันสมัย มีแต่เครื่องมือพื้นบ้าน พอชาวบ้านจมไซ วางเบ็ด อวนรุนมันก็รุนไปหมด” ลุงม็อง เล่าถึงปัญหา
ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากมีเรื่อง แต่เป็นลุงม็องเอง ที่ไม่ยอมให้เรือประมงลำยักษ์เข้ามาเหิมเกริม เขาตัดสินใจหยิบปืนออกไปขู่เรือประมงลำใหญ่ เพื่อหวังให้นายทุนทำทุกอย่างให้ถูกต้อง แต่นั่นกลับทำให้ลุงม็องถูกหมายหัวเอาชีวิต สุดท้ายลุงม็อง จะต้องหนีออกจากบ้าน เพื่อเอาชีวิตรอด
ในปี พ.ศ. 2532 หรือคล้อยหลังไปอีก 4 ปี ลุงม็อง กลับมาที่อ่าวบ้านดอน บ้านของเขาอีกครั้ง ด้วยความแปลกใจที่ไม่พบเรือประมงลำใหญ่อีกแล้ว นั่นเพราะมีกฎหมายห้ามใช้อวนรุน อวนลาก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผืนป่าชายเลนกลับมามีชืวิตเหมือนดังเดิม เพราะนายทุนได้เข้าไปบุกรุกป่า เพื่อทำนากุ้ง ขุดบ่อกุ้ง หนำซ้ำพวกชาวบ้านยังถูกหลอกให้ช่วยกันถางป่า ก่อนที่ผืนดินเหล่านั้นจะตกไปอยู่ในมือนายทุน ขณะที่พวกชาวบ้านก็เหมือนน้ำท่วมปาก ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จนในที่สุดผืนที่ป่าชายเลนกว่าแสนไร่ เหลือแค่เพียงหมื่นไร่ ส่วนการทำบ่อกุ้งยังได้ถ่ายน้ำเสียจำนวนมากลงสู่ทะเลโดยไม่มีใครควบคุม
อ่าวบ้านดอนกำลังจะตายลง!!! พวกชาวบ้านเริ่มเดินทางออกไปหากินที่อื่น เพื่อประทังชีวิต วิถีชีวิตเดิม ๆ ของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปหมด แต่ยังเหลือ ลุงม็อง ที่ยังยืนยันว่าจะยืนหยัดอยู่ที่อ่าวบ้านดอนแห่งนี้
ลุงม็องกลายมาเป็นผู้นำชาวบ้านเดินขบวนเรียกร้องให้มีสหกรณ์นากุ้ง จนสุดท้ายชายวัย 53 ปีผู้นี้ก็ทำสำเร็จ แต่ลุงม็องก็เป็นหนี้จากการกู้เงินกว่า 600,000 บาท ซ้ำร้ายชาวบ้านต้องพบกับปัญหาน้ำเสียจากการขุดลอกคลองไหลลงบ่อกุ้ง สุดท้ายลุงม็องต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ และเมื่อมรสุมพัดผ่านไประลอกหนึ่ง ก็เหลือเพียงแค่ซากบ่อกุ้งร้าง บนแผ่นดินโล่งเตียนที่ดูราวกับว่าลมหายใจกำลังรวยริน
แต่คำว่า “ท้อ” ไม่เคยอยู่ในความคิดของ “ลุงม็อง” เขาเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วยการปลูกต้นไม้เองทีละต้น ๆ ในนากุ้งร้าง และคอยเฝ้าระวังคนที่จะเข้ามาลักลอบตัดต้นไม้ในกระท่อมหลังเล็ก ๆ ท่ามกลางความไม่พอใจของนายทุน ที่จ้างคนมาลอบยิงลุงม็องอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำลุงม็องกลัวแต่อย่างใด สุดท้ายป่าสีเขียวก็เกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจของลุงม็อง และคนนอกพื้นที่ที่มาช่วยเหลือกัน
“ตอนนั้นผมทำงานในป่าตลอด ถ้าเป็นพื้นที่หน้าทะเลก็จะปลูกต้นแสม ตามด้วยต้นโกงกาง หลัง ๆ ก็จะเป็นลำพู ลำแพน ปลูกกันหลายหมื่นไร่ ทั้งใน อ.ท่าฉาง อ.ดอนสัก ก็ปลูกไปเรื่อย ๆ ต่อกันถึง 5 ปี ปลูกแล้วก็ต้องดูแลรักษาให้มันโตทุกต้น แต่พอมันโตก็เริ่มมีคนมาลักตัดไปขาย ก็หมดไปอีก ปี 45 ผมก็เลยไปสร้างกระท่อมอยู่ในป่าชายเลนเสียเลย คอยเฝ้าไม่ให้มีคนมาขโมยต้นไม้” ลุงม็อง บอกอย่างภาคภูมิใจ
เมื่อได้สัมผัสกับป่าชายเลน ลุงม็อง ก็เริ่มเข้าใจว่า ชีวิตของป่าชายเลนจะกลับคืนมาได้นั้น สามารถวัดได้จาก “ปูเปี้ยว” หรือ “ปูแสม” สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน นั่นเพราะปูเปี้ยวจะทำหน้าที่เหมือนกับไส้เดือน คอยย่อยใบแสม ใบโกงกาง ที่ร่วงหล่นบนพื้นไม่ให้เน่าเสีย ทำให้จุลินทรีย์ในดินเอาไปใช้ได้เร็ว ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตของป่าชายเลนที่จะฟื้นคืนมาอีกครั้ง
ลุงม็องตัดสินใจอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ปูเปี้ยวทันที โดยใช้การเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ และยังชักชวนคนในพื้นที่มาร่วมด้วยช่วยกัน แต่ทว่าก็มีเพียงไม่กี่คนที่สนใจ และอีกหลาย ๆ เสียงที่หาว่าลุงม็องเสียสติและบ้าไปแล้ว ที่ต้องไปนอนในกระท่อมกลางป่าอยู่คนเดียว เพื่อเฝ้าไม่ให้ใครมาลอบจับปูเหล่านี้
สุดท้ายความพยายามของ ลุงม็อง ก็เกิดเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะปัจจุบันนี้ พื้นที่โล่งเตียน ดูไร้ชีวิต กลับกลายเป็นสถานที่รวบรวมสรรพสิ่งมากมาย มีผืนป่านับพันไร่ มีปูเปี้ยวเติบโตขยายพันธุ์ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นแหล่งรายได้ของชาวบ้าน ที่เริ่มเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดรอยยิ้ม และ เสียงหัวเราะ ของชาวบ้านก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเช่นเดียวกับสภาพผืนป่าอันเขียวขจี
ความพยายามของลุงม็อง และชาวบ้าน ได้ส่งผลให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เล็งเห็นและเข้ามาสนับสนุน ก่อนจะจัดตั้งเป็น “โครงการศึกษาแนวทางการจัดการป่าชายเลน เพื่อเพิ่มเป็นปริมาณปูเปี้ยวอย่างยั่งยืน ชุมชนคลองท่าปูน อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี” โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และในที่สุดโครงการนี้ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยดีเด่นประจำปี พ.ศ.2549 อีกด้วย
แต่ลุงม็องก็ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เขายังทดลองเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ ทั้งหอย ปูเปี้ยว แล้วเอาความรู้ไปขยายต่อ และมีความหวังที่จะขยายไปรอบ ๆ อ่าวบ้านดอน เพื่อให้เกิดพลังของชาวบ้านมาช่วยปกป้องดูแลสมบัติชิ้นนี้ โดยลุงม็องเชื่อว่า หากรอบอ่าวบ้านดอนสามารถรวมกลุ่มกันได้สัก 30 กลุ่ม มีพื้นที่ต่อกันหมดทุกกลุ่ม เมื่อถึงวันนั้นชาวบ้านที่นี่ก็จะรอดจากนายทุน
“ผมอยากจะฟื้นฟูอาชีพชาวประมงพื้นบ้านให้มันยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน อยากให้มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ผมไม่ได้หวังอะไรมาก ได้แค่ 70% ของเดิมผมก็พอใจแล้ว” ลุงม็องบอกถึงความใฝ่ฝันของตัวเอง
แม้ความสำเร็จในการพลิกฟื้นผืนป่าของอ่าวบ้านดอน จะเป็นไปด้วยดี แต่กว่าที่ลุงม็องจะจับมือชาวบ้านฝ่าฝันมาถึงจุดนี้ได้ ลุงม็องต้องแลกมากับชีวิตครอบครัวที่แตกสลาย เมื่อลุงม็องตัดสินใจทิ้งภรรยาที่กำลังท้องแก่ และลูกเล็กอีก 2 คน ในวันที่ภรรยาของเขายื่นคำขาดให้ลุงม็องต้องเลือกระหว่าง “ครอบครัว” และ “ปูเปี้ยว” ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่า สิ่งที่ลุงม็องเลือกคืออะไร
“เรามีลูกกันแล้ว ยังไงก็พอเลี้ยงดูกันไปได้ แต่การอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปูอยู่ในช่วงเริ่มต้น ถ้าผมไม่ทำต่อคงไม่มีใครทำ ในอนาคตลูกหลานจะไม่มีปลา ไม่มีอาชีพ” ลุงม็อง ให้เหตุผลสนับสนุนคำตอบของเขา
แม้สภาพผืนป่าอ่าวบ้านดอนจะได้รับการฟื้นฟูแล้ว แต่ทว่าในเบื้องลึกของจิตใจชายวัย 53 ปีคนนี้ บาดแผลนี้ยังคงเป็นแผลลึกที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 8 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังคงเฝ้ารอการเยียวยาจากครอบครัวอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
เครือข่ายอนุรักษ์ชุมชนบ้านปากคลองคันธุลี
กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อเพิ่มปริมาณปูเปี้ยว
7 หมู่ 7 ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี 84110
ที่มา : http://www.tvburabha.com