ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

5 ธันวาคม 2558 ศาสตร์พระราชา 1

ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด คือ การพัฒนาและช่วยเหลือราษฎรนั้น ทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เองหาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขโดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก

การประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่วิถีชีวิตแบบพอเพียง นำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน และสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติเองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อโลกด้วย ดังกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า

…ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว…

การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริในเรื่องประหยัดเรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุดของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

จากการศึกษาแนวทางความประพฤติของประชาชน ในพื้นที่ห่างไกลที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างสำเร็จ จนทำให้มี ฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงและสามารถยึดอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำสวนยางพาราและสวนลองกองเป็นแนวทางในการหาเลี้ยงชีพ พบว่า การปลูกฝังนิสัยแห่งการประหยัด ให้ใช้จ่ายอย่างไม่ฟุ่มเฟือย นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจเพื่อการดำเนินชีวิตที่มั่นคง โดยควรดำเนินการควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการออม ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว พร้อมถ่ายทอดและส่งเสริมให้เพื่อนบ้านรู้จักการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งช่วยให้ชีวิตมีความมั่นคงในปัจจุบันด้วย

นอกจากการเพิ่มรายได้ จากอาชีพทำนา ทำสวนแล้ว ผู้ประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงควรมุ่งลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยปลูกไม้ผล หรือพืชหมุนเวียนและปลูกพืชผัก สวนครัว เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงปลา และดำเนินชีวิตอย่างประหยัด โดยนำผลผลิตที่เป็นส่วนเกินจาก การบริโภคในครอบครัวไปขายใน ตลาดชุมชนและต้องทำบัญชี ครัวเรือน รู้จักออมและปรึกษาหารือกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อวางแผนการลงทุนในแต่ละปีอย่างรอบคอบ การดำเนินชีวิตด้วยวิธีนี้ จะทำให้มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา
ตามรอยพระยุคลบาท ครูแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (๒๕๕๖). สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น