ปลวก มีทั้งคุณและโทษ

30 พฤษภาคม 2558 สัตว์ 0

ปลวกเป็นแมลงที่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจมาก มีทั้งคุณและโทษ ในแง่ประโยชน์ ปลวกจัดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมป่าไม้ที่สำคัญมาก เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายในระบบนิเวศน์ โทษของปลวกนั้นเกิดขึ้น เพราะว่าปลวกเป็นแมลงที่ต้องการเซลลูโลสเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิต และโดยที่เซลลูโลสนั้นเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเนื้อไม้ ดังนั้นเราจึงพบปลวกเข้าทำความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่ไม้ หรือโครงสร้างไม้ภายในอาคารบ้านเรือน รวมถึงวัสดุข้าวของ เครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆที่ทำมาจากไม้และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบ โดยใช้จุลินทรีย์ที่อยู่อาศัยในลำใส้ของปลวก ย่อยสลายเศษเซลลูโลสเป็นอาหาร

ปลวก จัดเป็นแมลงสังคมชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในอันดับ Isoptera มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสลับซับซ้อน แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ มีรูปร่างและหน้าที่ต่างกันชัดเจนคือ วรรณะปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหารและสร้างรัง วรรณะทหาร ป้องกันศัตรูที่เข้ามารบกวนประชากรในรัง และวรรณะสืบพันธุ์ ทำหน้าที่สืบพันธุ์วางไข่
แม้ว่าปลวกบางชนิดจะเป็นศัตรูที่สามารถทำลายความเสียหายให้แก่ไม้ ต้นไม้ หรือผลิตผลที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบได้ แต่ในทางนิเวศวิทยาแล้ว ปลวกกว่า 80% จัดเป็นแมลงที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้มาก โดยปลวกจัดเป็นผู้ย่อยสลายในป่าธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันกับเชื้อราและแบคทีเรีย พบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของขยะธรรมชาติ เช่น ซากพืช เศษไม้ ใบไม้ ท่อนไม้ หรือต้นไม้ที่หักล้มร่วงหล่นทับถมกันอยู่ในป่า ปลวกจะทำหน้าที่ ช่วยในการย่อยสลายให้ผุพังและเปลี่ยนแปลงไปเป็นฮิวมัสหรือินทรีย์วัตถุภายในดิน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนอย่างรวดเร็วของธาตุอาหารในดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินในป่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้

plougrung
ในขบวนการย่อยสลายของปลวกจะอาศัยจุลินทรีย์พวกโปรโตซัว หรือแบคทีเรียที่อยู่ภายในกระเพาะส่วนหลังในการผลิตน้ำย่อย (enzyme) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารพิษบางอย่างที่สลายตัวยากในสภาพแวดล้อมได้ นอกจากนี้ปลวกยังมีความสามารถใช้แบคทีเรียในกระเพาะจับธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างเป็นกรดอะมิโนและสร้างโปรตีนให้ตัวมันเองได้อีกด้วย ปลวกจึงมีบทบาทเกี่ยวพันเป็นห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อนอยู่ในระบบนิเวศ และมีการถ่ายเทพลังงานกัน ก่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิตของมวลชีวภาพ การทำลายหรือขุดรังปลวก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของป่าธรรมชาติไปเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม สวนป่า หรือพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ล้วนก่อให้เกิดความผิดปกติขึ้น ในขบวนการของระบบนิเวศ อัตราการย่อยสลายจะมีส่วนลดลง มีผลต่อปริมาณอินทรีย์วัตถุและปริมาณของธาตุอาหารในดินลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวมวลในระบบนิเวศที่ลำต่ำลงไป ดังนั้นปลวกจึงเป็นทรัพยากรแมลงที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ในฐานะเป็นตัวจักรสำคัญในการเป็นผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ

ในประเทศไทยมีปลวกแพร่กระจายอยู่มากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบชนิด แต่มีเพียงสิบกว่าชนิดเท่านั้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์ ปลวกที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประเทศไทย คือ ปลวกใต้ดินพันธุ์เอเชียน ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Asian Subterranean Termite ปลวกพันธุ์นี้สร้างรังที่ใต้ดิน ชอบความชึ้นสูง ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบอากาศถ่ายเท ปลวกใต้ดินจัดเป็นปลวกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน คิดเป็นมูลค่าปีละหลายร้อยล้านบาท การเข้าทำลายของปลวกชนิดนี้จะเริ่มขึ้นจากปลวกที่อาศัยอยู่ใต้พื้นดิน ทำท่อทางเดินดินทะลุขึ้นมา ตามรอยแตกแยกของพื้นคอนกรีต หรือรอยต่อเชื่อมระหว่างผนัง เสา หรือคานคอดิน เพื่อเข้าไปทำลายโครงสร้างไม้ต่างๆภายในอาคาร เช่น เสา และคานไม้ พื้นปาร์เก้ ฝ้าเพดาน ไม้วงกบ ประตู และหน้าต่าง เป็นต้น

plougloog

ในการดำรงชีวิตของปลวกใต้ดิน นอกจากอาหารแล้ว ความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของปลวกอีกประการหนึ่ง ข้อมูลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของปลวกนี้ ช่วยให้สามารถวางแผนและวางแนวทางในการป้องกันและกำจัดปลวกประเภทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิธีดำเนินการหลายวิธี เช่น การทำให้พื้นดินภายใต้อาคารเป็นพิษ การทำแนวป้องกันใต้อาคารที่ปลวกใต้ดินไม่สามารถเจาะผ่านได้ หรือการทำให้เนื้อไม้เป็นพิษทำให้ปลวกใช้เป็นอาหารไม่ได้ การดำเนินการมีทั้งการใช้สารเคมีและไม่ใช้สารเคมี ซึ่งขั้นตอนในการป้องกันกำจัดปลวกนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองเพื่อช่วยลดความเสียหาย และช่วยยืดอายุการใช้ประโยชน์ไม่ให้คงทนถาวรยิ่งขึ้น

ลักษณะทั่วไปทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของปลวก
ปลวกเป็นแมลงที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคม มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ภายในรัง โดยทั่วไปมีนิสัยไม่ชอบแสงสว่าง ชอบที่มืด และอับชื้น มีจุดเริ่มต้นที่ปลวกขยายพันธุ์ คือแมลงเม่า ในช่วงพิธีการจับคู่ขยายพันธ์ ทุกปีในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล หลังจากที่ฝูงแมลงเม่าบินเข้าสู่แสงไฟได้สักพัก ปีกจะล้าและฉีกจึงต้องร่อนลงสู่พื้นดินและสละปีกทิ้ง แล้วตัวผู้จะเดินตามกลิ่นของตัวเมีย มุดลงสู่ซอกโพรง เมื่อผสมพันธุ์แล้วแมลงเม่าคู่นี้ก็จะเป็นพญาปลวกและนางพญาปลวก นางพญาปลวกเปรียบเสมือนเครื่องจักรออกไข่ตลอด 24 ชั่วโมง ไข่ปลวกจะได้รับการดูแลอย่างดีและจะเจริญเติบโตขึ้นเป็นปลวกตัวอ่อน ปลวกตัวอ่อนในรุ่นต้นๆ จะเจริญเป็นปลวกงานทั้งหมด เพื่อหาอาหารมาเลี้ยงนางพญาปลวก จนเมื่อปลวกรังนั้นเจริญขึ้นสมบูรณ์แล้ว จึงมีการแบ่งเป็นปลวกวรรณะอื่นๆต่อไป คือ

1. วรรณะกรรมกรหรือปลวกงาน (Worker) เป็นปลวกตัวเล็กสีขาวนวลไม่มีปีก ไม่มีเพศ ไม่มีตา ใช้หนวดเป็นอวัยวะรับความรู้สึกคลำทาง ทำหน้าที่เกือบทุกอย่างภายในรัง เช่น หาอาหารมาป้อนราชินี ราชา ตัวอ่อนและปลวกทหาร ซึ่งปลวกวรรณะอื่นๆเหล่านี้ไม่หาอาหารกินเอง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สร้างรัง ทำความสะอาดรัง ดูแลไข่ เพาะเลี้ยงเชื้อราและซ่อมแซมรังที่ถูกทำลายรวมทั้งสร้างทางเดินไปหาอาหาร ซึ่งจำนวนของปลวกงานมีมากกว่า 90% ของประชากรภายในรัง

plougfon

2. วรรณะทหาร (Soldier) เป็นปลวกที่มีหัวโต สีเข้ม และแข็งแรง มีลักษณะเด่นคือกรามขนาดใหญ่ ซึ่งดัดแปลงไปเป็นอวัยวะคล้ายคีมที่มีปลายแหลมคม เพื่อใช้ในการต่อสู้กับศัตรูที่มารบกวนสมาชิกภายในรัง ไม่มีปีก ไม่มีตา ไม่มีเพศ บางชนิดจะดัดแปลงส่วนหัวให้ยื่นยาวออกไปเป็นงวง เพื่อกลั่นสารเหนียวปล่อยหรือพ่นไปติดตัวศัตรู ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้หรืออาจทำให้ตายได้

plougtahan

3. วรรณะสืบพันธุ์สำรอง (Alate Nymph) เป็นส่วนสำรองหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับนางพญาปลวก หรือพญาปลวก ปลวกสำรองก็จะถูกพัฒนาให้เจริญขึ้นทำหน้าที่แทนได้อย่างต่อเนื่องสืบไป ปลวกจะรอให้ถึงเวลา อุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสม ก็จะบินออกจากรังเป็นแมลงเม่าทำหน้าที่บินออกไปสร้างรังใหม่ เพื่อเริ่มวงจรชีวิตของรังปลวกใหม่อีกรุ่นหนึ่ง

plougrungs

4. ราชาและราชินีปลวก (King & Queen) ทำหน้าที่ขยายพันธุ์ วางไข่ในรัง
plougpaya

วงจรชีวิต
เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤดูกาลเหมาะสม ส่วนใหญ่มักเป็นช่วงหลังฝนตก ปีละประมาณ 2-3 ครั้ง โดยแมลงเม่าเพศผู้และเพศเมีย (Alate or winged reproductive male or female) บินออกจากรังในช่วงเวลาพลบค่ำเพื่อมาเล่นไฟจับคู่ผสมพันธุ์กัน สำหรับปลวกใต้ดินที่เข้าทำลายอาคารบ้านเรือนมักจะบินออกจากรัง เวลาประมาณ 18:30 19:30 น. จากนั้น จึงสลัดปีกทิ้งไป แล้วเจาะลงไปสร้างรังในดินในบริเวณที่มีแหล่งอาหารและความชื้น หลังจากปรับสภาพดินเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ประมาณ 2-3 วัน จึงเริ่มวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆและจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจถึงวันละหลายพันฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน (Larva) และเจริญเติบโตโดยมีการลอกคราบจนเป็นตัวเต็มวัย ไข่รุ่นแรกจะฟักออกมาเป็นปลวกไม่มีปีก และเป็นหมัน สารเคมีที่เรียกว่าฟีโรโมนหรือสารที่ผลิตออกมาจากทวารหนักของราชินีเพื่อให้ตัวอ่อนกิน จะเป็นตัวกำหนดให้ตัวอ่อนพัฒนาไปเป็นปลวกวรรณะต่างๆ เช่น ปลวกงาน (Worker) ปลวกทหาร (Soldier) โดยบางส่วนของตัวอ่อนจะเจริญไปเป็นปลวกที่มีปีกสั้นไม่สมบูรณ์อยู่ในรังในช่วงระยะเจริญพันธุ์ (Nymphs) เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเจริญไปเป็นแมลงเม่า ซึ่งมีปีกยาวสมบูรณ์เต็มที่บินออกไปผสมพันธุ์ต่อไป ตัวอ่อนบางส่วนจะเจริญเติบโตไปเป็นปลวกวรรณะสืบพันธุ์รอง (Supplementary Queen and King) ซึ่งจะทำหน้าที่ผสมพันธุ์ และออกไข่เพิ่มจำนวนประชากร ในกรณีที่ราชา (King) หรือราชินี (Queen) ของรังถูกทำลายไป

plougcycle

ปลวกจัดเป็นแมลงสังคมที่มีชีวิตความเป็นอยู่สลับซับซ้อน แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ ซึ่งมีรูปร่างและหน้าที่แตกต่างกันชัดเจน โดยวรรณะกรรมกรหรือปลวกงาน ทำหน้าที่หาอาหาร และสร้างรัง วรรณะทหารทำหน้าที่ป้องกันศัตรูที่เข้ามารบกวนประชากรภายในรัง และวรรณะสืบพันธุ์ หรือในบางช่วงของวงจรชีวิตเรียงว่าแมลงเม่านั้น จะทำหน้าที่สืบพันธุ์และวางไข่
จากความแตกต่างของสภาพทางชีววิทยา นิเวศวิทยา และชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงอุปนิสัยในการสร้างรัง และการกินอาหารของปลวกแต่ละชนิด สามารถจำแนกปลวกได้เป็น ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. แบ่งตามประเภทของอาหาร และอุปนิสัยในการสร้างรัง สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้

  • 1.1 ปลวกกินเนื้อไม้ พบได้ทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน ชนิดสร้างรังขนาดเล็กอยู่บนดิน หรือบนต้นไม้ ซึ่งจัดเป็นปลวกใต้ดิน และบางชนิดอาศัยอยู่กินภายในเนื้อไม้ ที่เรียกว่าปลวกไม้แห้งหรือปลวกไม้เปียก
  • 1.2 ปลวกเพาะเลี้ยงเชื้อรา จะกินอาหารทั้งเนื้อไม้ เศษไม้ ใบไม้ และเชื้อราที่เพาะเลี้ยงไว้ภายในรัง พบทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน และสร้างรังขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่บนดิน
  • 1.3 ปลวกกินดิน และอินทรีย์วัตถุ พบได้ทั้งชนิดที่สร้างรังอยู่ใต้พื้นดิน และสร้างรังขนาดเล็กอยู่บนพื้นดิน
  • 1.4 ปลวกกินไลเคน ส่วนใหญ่พบสร้างรังบนดินบริเวณโคนต้นไม้

2. แบ่งตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
ในกระบวนการกิน และการย่อยอาหาร ปลวกจะไม่สามารถผลิตน้ำย่อย หรือเอนไซม์ ออกมาย่อยอาหารได้เอง แต่จะต้องพึ่งพาจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยร่วมอยู่ภายในระบบทางเดินอาหารของปลวก เช่น protozoa, bacteria หรือเชื้อรา ให้ผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น cellulase และ lignocellulase ออกมาย่อย cellulose หรือ lignin ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในอาหารที่ปลวกกินเข้าไปให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือสารประกอบในรูปที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ เราสามารถแบ่งประเภทปลวกตามชนิดของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

  • 2.1 ปลวกชั้นต่ำ ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินเนื้อไม้เป็นอาหาร จะอาศัย protozoa ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารช่วยในการผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยอาหาร สำหรับในประเทศไทยพบทั้งหมด 3 วงศ์ (family) คือ Kalotermididae, Termospsidae และ Rhinotermitidae
  • 2.2 ปลวกชั้นสูง ส่วนใหญ่เป็นปลวกชนิดที่กินดิน ซากอินทรีย์วัตถุ ไลเคน รวมถึงพวกที่กินเศษไม้ ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้เป็นอาหาร จะมีวิวัฒนาการที่สูงขึ้น เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาพนิเวศที่แห้งแล้งหรือขาดอาหารได้ดี โดยอาศัยจุลินทรีย์จำพวก bacteria หรือเชื้อราภายในระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยอาหารให้กับปลวก ซึ่ง bacteria บางชนิด จะมีความสามารถในการจับธาตุไนโตรเจนจากอากาศ มาสร้างเป็นกรดอะมิโนที่ปลวกสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ และบางชนิดมีความสามารถผลิตเอนไซม์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายพิษบางอย่างที่สลายตัวได้ยากในสภาพแวดล้อม ในประเทศไทยพบปลวกชั้นสูงนี้อยู่ในวงศ์ Termitidae

plougdin

นิเวศวิทยา
สภาพความเป็นอยู่หรือสภาพทางนิเวศวิทยา รวมถึงอุปนิสัยในการกินอาหารของปลวก แตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดและประเภทของปลวก ซึ่งสามารถจำแนกอย่างกว้างๆเป็น 2 ประเภท โดยใช้แหล่งที่อยู่อาศัยเป็นหลักได้ ดังนี้

1. ปลวกที่อาศัยอยู่ในไม้
ปลวกชนิดนี้ตลอดชีวิตจะอาศัยและกินอยู่ภายในเนื้อไม้ โดยไม่มีการสร้างทางเดินมาติดต่อกับพื้นดินเลย ลักษณะโดยทั่วไปที่บ่งชี้ว่ามีปลวกในกลุ่มนี้เข้ามาทำลายไม้คือ วัสดุแข็งเป็นเม็ดกลมรี อยู่ภายในเนื้อไม้ที่ถูกกินเป็นโพรง หรืออาจร่วงหล่นออกมาภายนอกตามรูที่ผิวไม้ เราอาจแบ่งปลวกประเภทนี้เป็นกลุ่มย่อยลงไปอีกตามลักษณะความชื้นของไม้ที่ปลวกเข้าทำลาย ดังนี้

  • 1.1) ปลวกไม้แห้ง (Dry-wood Termites): ปลวกชนิดนี้อาศัยอยู่ในไม้ที่แห้ง หรือไม้ที่มีอายุการใช้งานมานานและมีความชื้นต่ำ โดยปกติมักจะไม่ค่อยเห็นตัวปลวกชนิดนี้อยู่นอกชิ้นไม้ แต่จะพบวัสดุแข็งรูปกลมรีก้อนเล็กๆกองอยู่บนพื้นบริเวณโคนเสา ฝาผนัง หรือโครงสร้างไม้ที่ถูกทำลาย โดยทั่วไปปลวกชนิดนี้จะทำลายไม้เฉพาะในชิ้นไม้โดยเหลือผิวไม้ด้านนอกเป็นฟิล์มบางๆไว้ ทำให้มองดูภายนอกเหมือนไม้ยังอยู่ในสภาพดี
  • 1.2) ปลวกไม้เปียก (Damp-wood Termites): ปลวกชนิดนี้มักอาศัยและกินอยู่ในเนื้อไม้ของไม้ยืนต้น หรือไม้ล้มตายที่มีความชื้นสูง

2. ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน
ปลวกประเภทนี้จะอาศัยอยู่ในดิน แล้วออกไปหาอาหารที่อยู่ตามพื้นดินหรือเหนือพื้นดินขึ้นไป โดยส่วนใหญ่จะทำท่อทางเดินดินห่อหุ้มตัว เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นและหลบซ่อนตัวจากศัตรูที่จะมารบกวน จำแนกเป็น 3 พวก คือ

  • 2.1) ปลวกใต้ดิน (Subterranean Termites): เป็นปลวกที่อาศัยและทำรังอยู่ใต้ดิน เช่น ปลวกในสกุล Coptotermes, Microtermes, Ancistrotermes และ Hypotermes เป็นต้น
  • 2.2) ปลวกที่อยู่ตามจอมปลวก (Mound-building Termites): เป็นปลวกที่สร้างรังขนาดกลางถึงขนาดใหญ่อยู่บนพื้นดิน เช่น ปลวกในสกุล Globitermes, Odontotermes และ Macrotermes เป็นต้น
  • 2.3) ปลวกที่อยู่ตามรังขนาดเล็ก (Carton-nest building Termites): เป็นปลวกที่สร้างรังขนาดเล็กอยู่บนดินหรือเหนือพื้นดิน เช่น ตามกิ่งไม้ ต้นไม้ เสาไฟฟ้า หรือโครงสร้างอื่นๆภายในอาคาร เช่น ปลวกในสกุล Microcerotermes, Termes, Dicuspiditermes, Nasutitermes และ Hospitalitermes เป็นต้น

การจำแนกปลวกและลักษณะสำคัญ
ปลวกถูกจำแนกเป็น 7 วงศ์ (family) ด้วยกันคือ

  1. Family Mastotemitidae กลุ่มนี้มีปลวกชนิดเดียวคือ Mastotermes darwiniensis ซึ่งพบที่บริเวณป่าที่ไม่มีฝนทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย เหนือเส้น Tropic of Capricorn เป็นปลวกที่มีขนาดใหญ่มาก วรรณะทหารของปลวกชนิดนี้มีความยาวมากกว่า 2 เซนติเมตร
  2. Family Hodotermitidae เป็นปลวกที่ถูกจัดเข้าในกลุ่มโบราณของพวกหากินบนผิวหน้าดิน กินหญ้าเป็นอาหาร เป็นพวกที่พบอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า Savannah จนถึงทุ่งหญ้าที่แห้งแล้งต่างๆ ส่วนใหญ่จะไม่สร้างจอมปลวกเป็นที่อาศัย
  3. Family Termopsidae ปลวกทุกชนิดในวงศ์นี้สร้างรังและกินอาหารในท่อนไม้ผุ เป็นปลวกที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของสายวิวัฒนาการ จัดเป็นปลวกโบราณอีกกลุ่มหนึ่ง มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในแถบเอเชีย
  4. Family Kalotermitidae ปลวกในวงศ์นี้หมายถึงปลวกไม้แห้ง และรวมไปถึงปลวกไม้ชื้น มีการพัฒนามาจากวงศ์ Mastotermitidae
  5. Family Rhinotermitidae ปลวกในวงศ์นี้ทั้งหมดเป็นปลวกกินเนื้อไม้ และมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางตลอดทั้งบริเวณเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรและในเขตหนาว เป็นปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดิน ปลวกในสกุล Coptotermes และ Reticulitermes เป็นปลวกที่เป็นศัตรูสำคัญในทวีปเอเชีย อเมริกา และยุโรป
  6. Family Serritermitidae ปลวกในวงศ์นี้ พบมีปลวก Serritermes serrifer จากประเทศบราซิลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ปลวกวงศ์นี้มีกรามที่ผิดปกติทั้งในวรรณะสืบพันธุ์และวรรณะทหาร
  7. Family Termitidae ปลวกในวงศ์นี้จัดเป็นปลวกวงศ์ที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยปลวกประมาณสามในสี่ของปลวกทั้งหมดที่พบอยู่ในโลกขณะนี้

ลักษณะทางชีววิทยาและวงจรชีวิตของปลวก
ลักษณะทางชีววิทยา
ปลวกเป็นแมลงที่มีลักษณะความเป็นอยู่แบบสังคม มีการแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็นวรรณะต่างๆ กัน รูปร่างลักษณะของปลวกในแต่ละวรรณะไม่เหมือนกัน ในระบบสังคมของปลวกต่างชนิดกัน จะมีการดำรงชีวิตที่ต่างกันออกไป และเป็นพื้นฐานของลักษณะทางชีววิทยา นิเวศวิทยา และวงจรชีวิตของปลวกแต่ละชนิดนั้นๆ

plougkin
วรรณะต่างๆ ของปลวก
โดยทั่วไปปลวกในแต่ละรังจะประกอบด้วยสมาชิก 3 วรรณะใหญ่คือ วรรณะทหาร วรรณะกรรมกร และวรรณะสืบพันธุ์ ที่ 3 วรรณะ อาศัยอยู่ร่วมกันภายในรัง ซึ่งมีการจัดระบบอย่างดี ทุกวรรณะมีหน้าที่ในการดำรงชีวิตเฉพาะของตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องและเกื้อกูลกับหน้าที่ของวรรณะอื่นๆ ในการดำรงชีวิตและการพัฒนาของประชากรในรังทั้งหมด
ในการควบคุมวิถีชีวิตและการทำงานของปลวกแต่ละวรรณะ ถูกกำหนดในหลายสาเหตุด้วยกัน การแลกเปลี่ยนสารเคมีระหว่างปลวกแต่ละตัวภายในรังเดียวกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยควบคุมหน้าที่ต่างๆ ภายในรังให้ดำเนินไปตามภาระหน้าที่ของแต่ละวรรณะ ตามระบบของสังคมในปลวกแต่ละรัง

  • วรรณะทหาร (soldier) เป็นปลวกที่มีหน้าที่ในการป้องกันประชากรในวรรณะอื่นๆ จากศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย โดยทั่วไปจะเป็นพวกที่มีขนาดใหญ่กว่าปลวกวรรณะอื่นๆ มีหัวโตสีน้ำตาล กรามใหญ่ ยาและแข็งแรง ใช้ในการต่อสู้กับศัตรู ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นมดชนิดต่างๆ ปลวกบางชนิดไม่มีกราม แต่จะมีต่อมหรือท่ออยู่ที่ส่วนหัวซึ่งจะเป็นทางออกของสารเคมีซึ่งเป็นสารเหนียวๆ เพื่อใช้ต่อสู้กับศัตรูแทนกราม
  • วรรณะกรรมกร (worker) เป็นปลวกที่พบจำนวนมากที่สุดภายในจอมปลวกแต่ละรัง มีหน้าที่หลายประการ เช่น เลี้ยงตัวอ่อน หาอาหาร สร้างและซ่อมแซมรัง ปลวกกรรมกรหรือบางครั้งเรียกว่าปลวกงานที่มีอายุต่างกัน จะมีขนาดและหน้าที่ในการดำเนินงานที่ต่างกันออกไป ปลวกกรรมกรเป็นปลวกที่ไม่มีปีก มีผนังลำตัวบางสีอ่อน เป็นวรรณะที่เราจะพบเห็นมากที่สุดเมื่อสำรวจพบการทำลายของปลวก เนื่องจากเป็นวรรณะเดียวที่ทำหน้าที่ในการทำลายไม้หรือวัสดุต่างๆ
  • วรรณะสืบพันธุ์ (reproductive) ประกอบด้วยปลวกที่มีรูปร่างลักษณะต่างกันไป ตามช่วงระยะเวลาของการดำเนินชีวิต เช่น
    – แมลงเม่า เป็นปลวกวรรณะสืบพันธุ์ที่มีปีก ส่วนใหญ่ปีกจะมีขนาดยาวเป็นสองเท่าของลำตัว สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองไปจนถึงสีดำ เมื่อดินฟ้าอากาศเหมาะสม แมลงเมาจะบินออกจากรังไปผสมพันธุ์กัน และเริ่มสร้างรังใหม่
    – นางพญา และราชา เป็นแมลงเม่าที่ผสมพันธุ์กันแล้วสลัดปีก และสร้างรังอยู่ในดินหรือในไม้ ถ้าเป็นปลวกไม้แห้ง สำหรับนางพญาหรือราชินีปลวก เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ส่วนท้องจะขยายใหญ่เพื่อใช้เป็นอวัยวะที่ใช้เป็นที่เก็บไข่ซึ่งมีอยู่มากมายนับล้านฟอง เพื่อรอจังหวะที่จะวางไข่ต่อไป
    – วรรณะสืบพันธุ์รอง เป็นปลวกที่พบในรังที่นางพญาหรือราชามีประสิทธิภาพในการผลิตไข่ลดลง อายุขัยของปลวกวรรณะนี้จะสั้นกว่านางพญาหรือราชา และมีประสิทธิภาพในการวางไข่ต่ำกว่าด้วย

plougmangmao

การควบคุมการเกิดของปลวกวรรณะต่างๆ นั้น สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของนางพญา ซึ่งจะผลิตสารเคมีหรือฮอร์โมนชนิดต่างๆ ออกมาทางรูขับถ่าย แล้วปลวกกรรมกรจะมาเลียสารนี้ แล้วเลียต่อๆ กันไปจนทั่วรัง รูปร่างลักษณะรวมทั้งการทำงานของปลวกที่ได้รับสารเคมีจากนางพญา ก็จะถูกควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการในการพัฒนาการดำรงชีวิตของปลวกในแต่ละรัง

ประโยชน์ที่ได้รับจากปลวก
ช่วยย่อสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆได้แก่ เศษไม้ ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ และส่วนต่างๆ ของพืชที่หักร่วงหล่อนหรือล้มตายทับถมอยู่ในป่า แล้วเปลี่ยนให้กลายสภาพเป็นฮิวมัสในดิน เป็นกำเนิดของขบวนการหมุนเวียนของธาตุอาหารจากพืชไปสู่ดิน ทำไห้ดินอุดมสมบูรณ์ซึ่งจะส่งผลให้พรรณพืชทุกระดับในป่าธรรมชาติเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี
มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ คือ นอกจากจะช่วยให้พืชในป่าเจริญเติบโตดี เป็นอาหารของสัตว์ป่าแล้ว ตัวปลวกเองยังเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนของสัตว์ขนาดเล็กหลายชนิด เช่น ไก่ นก กบ คางคก และสัตว์เลื่อยคลานต่างๆ ซึ่งจะเป็นอาหารของสัตว์ใหญ่ต่อไปเป็นทอดๆ เป็นแหล่งผลิตโปรตีนที่สำคัญของมนุษย์โดยปลวกบางชนิดสามารถสร้างเห็ดโคน ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะ และมีราคาแพง สามารถเพิ่มรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรทั้งนี้โดนมีเชื้อราที่อยู่ร่วมกันภายในรังปลวกหลายชนิดช่วยในการผลิต จุลินทรีย์อาศัยอยู่ในทางเดินอาหารปลวกซึ่งสามารถผลิตเอนไซม์บางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรมหรือใช้ในการแก้ไข และควบคุมมลภาวะสิ่งแวดล้อมในอนาคตต่อไป เช่น การย่อยสลายสารกำจัด ศัตรูพืชที่มีฤทธิ์ตกค้างนานหรือการกำจัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ploughed

วิธีการควบคุมปลวก
ปลวกโดยส่วนมากจะมีช่องทางการเข้าทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่หลายช่องทาง อาทิเช่น ตามรอยแตกร้าวของพื้นคอนกรีต บันไดหรือรอยต่อระหว่างพื้นคอนกรีตและผนังอาคาร ตามท่อประปา ท่อน้ำทิ้ง และตามปล่องท่อสายไฟ หลักการป้องกันและกำจัดปลวกนั้น มีวิธีการและขั้นตอนในการดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. การใช้ศัตรูธรรมชาติ (Pathogenic Agents) เช่น การใช้เชื้อรา แบคทีเรีย และไส้เดือนฝอย เป็นต้น
  2. การป้องกันโดยใช้สารเคมี การใช้สารเคมีกำจัดปลวก (Termiticides) เป็นการกำจัดโดยการฉีดพ่นหรืออัดสารกำจัดปลวกไปในพื้นดิน เช่น ใช้เหยื่อ (Bait) ใช้สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ และกลุ่มอื่นๆ
  3. การป้องกันโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น การใช้แผ่นโลหะ โลหะผิวลื่น การใช้เศษหินบด เศษแก้วบด การใช้ไม้ที่มีความทนทานตามธรรมชาติ
  4. การควบคุมโดยใช้เหยื่อ (Bait) เป็นการที่ทำให้ปลวกตายอย่างต่อเนื่อง เช่น สารควบคุมการเจริญเติบโต (Insect growth regulator) หรือการใช้สารเคมีที่ออกฤทธิ์ช้าที่มีคุณบัติพิเศษดึงดูดให้ปลวกเข้ามากิน
  5. การใช้กับดักแสงไฟ (Light Tray) ดึงดูดหรือขับไล่แมลงเม่า เพื่อลดปริมาณที่จะผสมพันธุ์และสร้างรังปลวกใหม่

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น