การปลูกข้าวต้นเดียว System of Rice Intensification (SRI: เอส อาร์ ไอ) เป็นวิธีการจากมาดากัสการ์ ศรีลังกา กัมพูชา สู่การทดลองครั้งสำคัญบนผืนนาไทย การปักเดี่ยว ซึ่งประหยัดเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ต้นข้าวแสดงศักยภาพเต็มที่ใน การแตกกอและออกรวง
เทคนิคการปลูกข้าวต้นเดี่ยวโดยใช้แหนแดงและปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในการปลูกข้าวต้นเดี่ยว
การปลูกข้าวในระบบประณีต (System of Rice Intensification; SRI) คือ การจัดการพืช การจัดการดิน และการจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งการผลิตข้าวในระบบของ มทส. เป็นการประยุกต์และปรับปรุงมาจากวิธีการผลิตข้าวในระบบ SRI ของ Dr.Norman Uphoff และคณะ จึงเน้นเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่ แหนแดง ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยให้พื้นที่ปลูกข้าวมีน้ำขัง ประมาณ 2-5 ซ.ม. เพื่อให้สามารถเลี้ยงแหนแดงได้
แหนแดง (Azolla) เป็นพืชน้ำเล็ก ๆ พวกเฟิร์นพบเจริญเติบโตอยู่บนผิวน้ำในที่มีน้ำขังในเขตร้อนและอบอุ่น มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ
ความเหมาะสมของแหนแดงในการใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว
– แหนแดงสามารถเจริญเติบโตและขยายปริมาณได้รวดเร็ว
– สามารถเลี้ยงแหนแดงได้ให้เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีไนโตรเจนต่ำ
– แหนแดงมีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่สูง (3-5%)
– แหนแดงสลายตัวได้รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาสั้นในการผลิตปุ๋ยให้กับข้าว
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (Bioorganic Fertilizer) หมายถึง ปุ๋ยที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพพร้อมๆกัน และนำมาผสมกันในขั้นตอนสุดท้าย กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพในระบบนี้จะต่างจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั่วๆไป เนื่องจากการผลิตปุ๋ยในระบบนี้จะใช้อุณหภูมิในระหว่างกระบวนการหมักสูงมาก จนสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อก่อโรคทั้งในคน สัตว์ และพืช ตลอดจนเมล็ดวัชพืชที่ติดมากับมูลสัตว์
ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพนั้น ได้ทำการคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ซึ่งได้แก่ Plant Growth Promoting Rhizobacteria (PGPR) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนและผลิตออกซินได้ นอกจากปุ๋ยชีวภาพในกลุ่ม PGPR แล้วยังได้นำเชื้อราปฏิปักษ์ ไตรโคเคอร์มา (Trichoderma harzianum) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ และยับยั้งการทำลายเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าในพืชใส่ลงไปในปุ๋ยดังกล่าวด้วย
ขั้นตอนการผลิตข้าวโดยการใช้แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ในระบบการปลูกข้าวต้นเดี่ยวแบบประณีต
1. การเพาะกล้าสำหรับการผลิตข้าวในระบบ SRI
จากผลการทดลองในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีขั้นตอนและวิธีการในการเพาะกล้าดังต่อไปนี้
1. ใช้กระบะพลาสติกที่มีรูขนาดเล็กบรรจุด้วยขี้เถ้าแกลบที่เปียกชื้นจากการรดน้ำให้อยู่ตัว จากนั้นทำการเกลี่ยหน้าให้เรียบ (สามารถเพาะในแปลงขนาดเล็กได้)
2.โรยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่น้ำ 12 ช.ม. และห่อผ้า 1-2 คืน จนเมล็ดเริ่มมีรากงอก (เช่นเดียวกับการแช่เมล็ดสำหรับตกกล้า) โดยทำการโรยเมล็ดข้าวให้สม่ำเสมอ
3. โรยขี้เถ้าแกลบกลบบางๆ หนาประมาณ 1 ซม. ทำการรดน้ำให้ชุ่ม
4. วางกระบะกล้าไว้ในที่ร่ม เช่นในโรงเรือนเพาะชำ ใต้หลังคา หรือที่มีลมพัดผ่านได้ เมื่ออายุต้นกล้าได้ 5 วัน ให้นำออกตากแดดและเมื่ออายุได้ 8 วัน สามารถนำไปปลูก ในแปลงปลูกได้ ไม่ควรให้อายุกล้าเกิน 15 วัน เพราะรากกล้าจะยาวมากเกินไป การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะทำให้สามารถถอนกล้าไปปลูกได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก สามารถยำไปได้ทั้งกระบะและวางไว้ใกล้ๆ กลับแปลงปลูก ทำให้ไม่เสียเวลาในการถอน และเคลื่อนย้าย แต่ถ้าเพาะในแปลงเพาะกล้าให้หว่านเมล็ดบางๆ
5. พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กก.
2. การถอนกล้า และการขนย้ายต้นกล้า
– ควรทำการย้ายปลูกกล้าที่อายุประมาณ 8-15 วัน และยังคงให้เมล็ดข้าวติดอยู่
– ในกรณีเพาะในถาดสามารถยกถาดไปยังแปลงปลูกได้เลย
– กรณีเพาะกล้าในแปลงควรทำการถอนทีละน้อยย้ายปลูกทันที
– ถอนต้นกล้าเบาๆตรงโคนต้น ใช้เครื่องมือเล็กๆ เช่น เกรียง หรือเสียม ขุดให้ลึกถึงใต้ราก ควรระวังอย่าให้ต้นกล้าหลุดออกจากเมล็ดพันธุ์ และให้มีดินเกาะรากไว้บ้าง
-ระหว่างการย้ายกล้าต้องทำอย่างเบามือ ไม่ควรทิ้งกล้าไว้กลางแดดและรีบนำกล้าไปปักดำทันที (ภายใน 15-30 นาที)
– ควรทำการปักดำกล้าที่ถอนให้แล้วเสร็จภายในเวลาครึ่งชั่วโมง
– ไม่ควรล้างรากหรือให้รากกล้าแห้งก่อนทำการปักดำ
3. การเตรียมแปลงปลูก และการปลูกข้าวต้นเดี่ยว
1. ปล่อยน้ำเข้าแปลงทิ้งไว้ 1 คืน ทำการหว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพตามปริมาณที่ต้องการ
2. ใช้รถไถเดินตามตีดินให้เป็นโคลน โดยให้ระดับน้ำลึก 3-5 ซ.ม.
3. ทำการหว่านแหนแดง ประมาณ 1 กก./พื้นที่ 10 ตร.ม. ทิ้งไว้ 7-10 วัน
4. หลังจาก 7-10 วัน ให้ไถกลบแหนแดงลงแปลงปลูกและทำให้ดินมีลักษณะเป็นโคลน
5.นำเครื่องมือ ซึ่งทำจากท่อ PVC ลากขนานไปกับคันนาให้เป็นส้นตรงในแนวเดียวกันให้เต็มพื้นที่แปลงปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
6. นำข้างที่เพาะไว้ในกระบะเพาะ มาปลูกตรงรอยตัดของสี่เหลี่ยม โดยใช้นิ้วกรีดดินในแนวราบลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร
ต้นข้าวจะต้องตั้งฉากกับแนวราก เป็นรูปตัว L (L-shape) และหลังจากการทำการปักดำ 1-2 วัน ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงปลูกในระดับน้ำลึกประมาณ 2 ซ.ม. และทำการปล่อยแหนแดงให้ทั่วแปลงในอัตรา 10% ของพื้นที่
4. การดูแลรักษาแหนแดง และระดับน้ำในแปลงปลูก
– ทำการหว่านแหนแดงเพิ่มหลังจากการปักดำ 1-2 (หลังการใส่น้ำในแปลงข้าว)
– ควรให้ระดับสูงประมาณ 2 ซ.ม.ในครั้งแรก เพื่อป้องกันวัชพืชและการเพิ่มกระจายตัวของแหนแดงจากนั้นให้รักษาระดับน้ำไว้ประมาณ 5 ซ.ม.
– หว่านปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน
5.การปักดำ
นำต้นกล้ามาปักดำอย่างเบามือ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับโคนราก แล้วนำไปปักให้รากอยู่ในแนวนอนลึกประมาณ 1 เซนติเมตร
ปักดำกล้าทีละต้น ให้มีความห่างของระยะต้นไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตรเท่าๆกัน จนเหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ควรปักดำในระยะห่าง 30 x 30 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดเล็ก หรือ 40 x 40 เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดใหญ่)
6. การจัดการน้ำ
1. การปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตในดินที่แห้งสลับเปียกทำให้ข้าวสามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง และรากของต้นข้าวสามารถงอกยาวออกเพื่อหาอาหาร
2. การปล่อยให้มีน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ซากพืชเน่าเปื่อย และก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปลดปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น
3. การปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตในน้ำท่วมขัง ทำให้รากต้นข้าวต้องสร้างถุงลมเล็กๆ เพื่อดูดออกซิเจนจากผิวดินทำให้การส่งอาหารไปสู่หน่อและใบถูกรบกวน รากข้าวจะหายใจลำบาก
7.การกำจัดวัชพืช
ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ครั้งที่ 1 เมื่ออายุข้าว 10 วัน
ครั้งที่ 2 เมื่ออายุข้าว 25-30 วัน
ครั้งที่ 3 เมื่ออายุข้าว 50-60 วัน
ทั้งนี้การกำจัดวัชพืช สามารถใช้เครื่องมือทุ่นแรง ทางที่เหมาะสมและดีที่สุดจึงเป็นการถอนด้วยมือนั่นเอง
นอกจากนี้การจัดน้ำเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ หรือเอาฟางคลุมแปลงจะช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี
สำหรับการกำจัดศัตรูของข้าว เช่น ปู หอยเชอรรี่
ทำได้โดยการเลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว แต่เมื่อข้าวออกรวงจะต้องห้ามเป็ดเข้านาโดยเด็ดข้าว หรือทำน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น 1-2 ครั้งก็เพียงพอ
สำหรับวิธีการป้องกันนก
ทำได้โดยการขึงเชือกเทปล้อมรอบแปลงนา เมื่อลมพัดจะทำให้เกิดเสียงดัง แล้วนกจะไม่มารบกวน
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวนาในญี่ปุ่น และมาดากัสการ์ใช้กัน เรียกว่า คราดหมุน ซึ่งในขณะที่ไถทับวัชพืช จะเป็นการพรวนดินไปในตัว ช่วยเพิ่มอากาศในดิน ส่วนซากวัชพืชจะกลายเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นข้าวอย่างดี แต่เมื่อทดลองไถพรวนใช้กับดินทางภาคอีสาน นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากดินเป็นดินทราย
เหตุใด ปลูกข้าวต้นเดียวจึงได้ผลผลิตดีกว่า
1. การใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียว
2. ต้นกล้าที่มีอายุ 8-12 วัน หรือมีใบเล็กๆสองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก
3. การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น
4. การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว
5. การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ข้าวแตกกอใหญ่
สรุปข้อดีของการปลูกข้าวต้นเดี่ยวร่วมกับแหนแดงและปุยอินทรีย์ชีวภาพ
1. ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย
2. สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี โดยการใช้แหนแดงแทน
3. สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
4. เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะจุลินทรีย์กกลุ่มส่งเสริมการเจริญเติบโต
5. ประหยัดน้ำ
6. กำจัดวัชพืชและข้าวปนได้ง่าย
7. อายุการเก็บเกี่ยวเร็วกว่าปกติ 10-15 วัน
8.จำนวนการแตกกอสงกว่าปกติ 2-3 เท่า
9.เปอร์เซ็นต์การสูญเสียจากข้าวลีบน้อยกว่าวิธีการผลิตแบบปกติ
10. ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 50-70%
ป้ายคำ : นาข้าวอินทรีย์, เกษตรอินทรีย์