ปลูกไผ่แซมสวนยาง

ไผ่เลี้ยงหวานเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และตลาดมีความต้องการจำนวนมาก แต่การผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งที่ไผ่เลี้ยงหวานเป็นพืชที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว
การปลูกไผ่เลี้ยงหวานถือว่าปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมากก็สามารถเจริญเติบโตได้ แต่การที่จะปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ควรจะมีการดูแลและจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้มีผลผลิตออกมาบริโภคและจำหน่ายอย่างต่อเนื่องสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรนอกเหนือจากการปลูกสร้างสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว

นายถนอม ชุมชาติ เจ้าของป่าไผ่ 5 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างในการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว จนมีทั้งรายได้หลัก รายได้รอง และรายได้เสริม พื้นที่ 25 ไร่ ถูกแบ่งเป็น สวนยางพารา 23 ไร่ แซมด้วยไผ่ตง 3 ไร่ ที่เหลือ 2ไร่ ปลูกป่าไผ่ เป็นร่องแนวยาว ระหว่างร่องก็จะปลูกต้นเตยหอม ต้นผักกูด ไปจนถึงพืชสมุนไพรชนิดต่าง เลี้ยงปลาดุก ปลานิล เลี้ยงหอย เลี้ยงผึ้ง คือจะปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก ในอนาคตจะขยายไปทั้งหมด 20 ไร่ คือใช้พื้นที่คุ้มค่าทุกตารางนิ้วเลยทีเดียว

paiyangyang

เจ้าของสวน กล่าวว่า ไผ่ที่ปลูกไว้มีทั้งหมด 16 สายพันธุ์ ได้แก่

  1. สายพันธุ์ศรีปราจีน เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่ายที่สุดในพื้นที่
  2. สายพันธุ์หม่าจู หรือไผ่จีน
  3. สายพันธุ์กิมซุง
  4. สายพันธุ์บงหวานเมืองเลย
  5. สายพันธุ์พะเยา
  6. สายพันธุ์สามฤดู
  7. สายพันธุ์เปาะช่อแฮ
  8. สายพันธุ์ลืมแล้ง(มีตลอดปี)
  9. สายพันธุ์เขียว
  10. สายพันธุ์ใต้หวัน
  11. สายพันธุ์เลี้ยงหวาน
  12. สายพันธุ์หลีจู
  13. สายพันธุ์ไผ่เงิน(ประเภทสวยงาม)
  14. สายพันธุ์ไผ่อินโด(ประเภทสวยงาม)
  15. สายพันธุ์ไผ่ฮ่องเต้(ประเภทสวยงาม)
  16. ไผ่น้ำเต้า (ประเภทสวยงาม)

ไผ่ตง สายพันธุ์หม่าจู ตอนนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่มีปัญหาคือดองไว้นานไม่ได้ มีอายุเพียง 15 วันเท่านั้น หากขายเป็นกิ่งก็จะขายในราคา 150-250 บาท/กิ่ง ซึ่งถือว่าราคาสูง สำหรับไผตงสายพันธุ์สวยงามก็มีราคาสูงถึง 3,000 บาทต่อต้น ในอนาคตจะขยายไผ่สายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้น

paiyangkla

เหตุผล ที่เลือกปลูกไผ่ เพราะไผ่ ให้ผลผลิตยาวนานและยั่งยืน ปลูกเพื่อศึกษาและวิจัยว่าพันธุ์ไหนให้ผลผลิตมากหรือน้อย และคัดมาเป็นพันธุ์ที่สามารถส่งเสริมให้กับชาวบ้านได้ปลูกด้วย ส่วนวิธีการปลูกนั้นไม่ยาก ไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ที่ดินตรงที่ปลูกนี้เดิมเคยเป็นที่นา ได้ทำการพลิกผืนดิน ยกร่องปลูกไผ่สายพันธุ์ปราจีนก่อน

โดยใช้วิธีขุดหลุมเอาปุ๋ยคอกรองหลุมเล็กน้อย ปลูกเอียง 45 องศา เพื่อกระตุ้นการแตกหน่อ และรดน้ำ หากในช่วงหน้าแล้งก็ทำเพิงกันแดดให้หน่อย ถ้าหน้าฝนก็ไม่ต้องกันแดด ผ่านไปประมาณ 15 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพเพิ่ม 7-8 เดือนผ่านไป ไผ่ก็จะแตกหน่อ จะเก็บไว้เป็นแม่ลำหรือนำไปรับประทานก็ได้ ส่วนใหญ่นิยมเก็บไว้เป็นแม่ลำ ประมาณ 5-6 หน่อ และแม่ลำนี้จะแตกหน่อเพิ่ม

วิธีการตัดก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ถ้าตัดไม่เป็น ปีต่อไปก็จะไม่มีหน่อให้เห็น บางคนตัดจนถึงโคน คือตัดตาที่จะเป็นหน่อ จึงทำให้ไม่มีหน่อในปีต่อไป วิธีการตัดที่ถูกต้องคือ นับจากโคนโดยนับจากกาบที่ 4 ซึ่งจะมีตาออกมาข้างละ 3 ตา วิธีการไว้แม่ลำคือ เลือกลำที่โผล่มาจากดินซึ่งจะมีความแข็งแรงกว่า ไผ่จะไม่ล้ม หากเราเลือกไผ่ที่ได้จากกิ่งมาเป็นแม่ลำก็จะไม่แข็งแรง วิธีการดูแลรักษาก็ง่าย ใส่ปุ๋ยคอก ตามด้วยปุ๋ยน้ำซึ่งได้จากการหมักปลา วิธีการผลิตไผ่ให้ได้ราคา ในช่วงหน้าแล้ง ก็สามารถทำได้

paiyangnor

โดยปกติไผ่จะแตกหน่อในช่วงหน้าฝน จะออกพร้อมกันหมดเลย แต่ถ้าเราผลิตไผ่ให้ออกนอกฤดูก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มราคาหน่อไม้ โดยช่วงปลายฝนควรใส่ปุ๋ยให้เต็มที่ใช้ปุ๋ยคอกบางครั้งก็ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเสริมบ้างเล็กน้อย เมื่อใส่ปุ๋ยเต็มที่ก็ทิ้งช่วงให้แล้งผ่านไปประมาณ 10-15 วัน หลังจากนั้นก็รดน้ำให้ได้ 200 ลิตรต่อ 1 กอ ให้มันรู้สึกเหมือนฝนตกหนัก เป็นทฤษฎีเหมือนแกล้ง จากนั้นนับไป45 วัน หน่อไม้ก็จะแตกหน่อ ซึ่งตรงกับช่วงหน้าแล้วพอดี เกษตรกรก็จะได้หน่อไม้ราคาดี

ไผ่ สร้างรายได้ตั้งแต่หน่อไม้ ไผ่ 150 กอ สร้างรายได้เฉลี่ย 4 หมื่นบาทต่อปี กิ่งไผ่สามารถตอนเพื่อนำไปขยายพันธุ์ นำไปใส่ถุงเลี้ยงให้รากเดินเต็มถุง ขายได้ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์โดยพันธ์หม่าจู อยู่ที่ราคากิ่งละ 150 -250บาท พันธุ์ไผ่หวานและศรีปราจีน อยู่ที่ราคา 30-50 บาท ก็ลดบ้างแถมบ้าง สำหรับลำไผ่ก็จะขายในราคาลำละ 15-25 บาท ส่วนใบที่ร่วงหล่นก็มีประโยชน์ในการแปรสภาพเป็นปุ๋ย

ทั้งนี้ ตลาดในประเทศมาเลเซียให้ความสนใจหาซื้อ ชาวประมงที่ออกเรือไปนาน 1-2 เดือน ก็จะมาสั่งซื้อเก็บไว้เป็นเสบียงประกอบอาหาร เพราะหน่อไม้ไม่ต้องแช่น้ำแข็งแต่ปัญหาคือขณะนี้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกอย่างของการแปรรูปคือ นำลำไผ่มาเหลาทำเป็นไม้เสียบลูกชิ้น ไม้เสียบไก่ เหลาทำกรงนก ตอนนี้คนปลูกไผ่มีน้อยมาก ไผ่กำลังจะสูญพันธุ์แล้วเพราะเกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน

สวนไผ่ อาบู R-boo Bamboo Farm
สวนยาง เป็นตัวอย่างผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำที่ชัดเจนมาก เพราะโดยส่วนมากชาวสวนยางปลูกยางอย่างเดียวเท่านั้น!มีน้อยรายมากที่จะทำสวนยางแบบผสมผสาน
ที่สวนไผ่อาบูผมมุ่งเน้น การปลูกพืชที่หลากหลาย! เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้!

paiyangya paiyangs

การปลูกไผ่แซมในสวนยาง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมทำเพื่อเสริมรายได้ และ ทำแล้วได้ผลดีด้วย!
ทำไมจึงต้องปลูกไผ่แซมในสวนยาง

  • ไผ่เป็นพืชเสริมรายได้ที่ให้ผลผลิตเร็ว หากได้รับการดูแลเอาใจใส่ดี ประมาณ 8 เดือนไผ่ก็เริ่มแทงหน่อ
  • ไผ่ และ ต้นยางพารา เป็นพืชที่มีระบบรากลึกตื้นต่างกัน! ดูดกินธาตุอาหารในระดับความลึกต่างกัน! จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดการแย่งอาหาร
  • ไผ่เป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน จึง มีช่องทางให้เราต่อยอดเป็นอาชีพได้หลากหลาย
  • ไผ่เป็นพืชที่ทน ไม่ตายง่ายๆ แม้จะดูแลแบบตามมีตามเกิด

paiyangton

ข้อดี!ของการปลูกไผ่ในสวนยาง

  • ช่วยเพิ่มช่องทางในการเสริมรายได้ให้แก่เจ้าของสวน เช่น การขายหน่อไม้ การขายลำไผ่สำหรับใช้สอย การเผาถ่านไม้ไผ่ การทำข้าวหลาม และการทำต้นพันธุ์เพื่อจำหน่าย เป็นต้น
  • ไผ่เป็นพืชที่ดูดซับน้ำได้ดี ดินบริเวณโคนกอไผ่จึงเป็นเสมือน ถังเก็บน้ำ! ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งสวน
  • ดินขุยไผ่ (ดินโคนกอไผ่) ได้ชื่อว่าเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเติบโต และ การให้ผลผลิตของต้นยาง
  • กอไผ่เป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อราชนิดดีเชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราที่ช่วยลดการเกิดปัญหารากเร่าโคนเน่าที่ต้นยาง
  • การปลูกไผ่จะช่วยให้สวนร่มรื่น และ ใบไผ่จะช่วยพลางแสงทำให้หญ้าไม่โต ช่วยประหยัดค่าตัดหญ้า
  • ไผ่ปลูกได้กับทุกสภาพดิน และยังเป็นพืชที่ช่วยปรับปรุงดินได้ดีมาก! ที่สำคัญ คือ ไผ่เป็นพืชที่โตเร็ว!
  • รากของไผ่มีลักษณะเป็นตะแกรง จะคลุมที่ผิวดิน ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินได้ดี
  • ด้วยข้อดีที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้แปลงยางที่ปลูกไผ่เป็นพืชแซม ให้ผลผลิตสูงกว่าแปลงยางทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์
  • สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราสามารถพัฒนาสวนไผ่ในสวนยาง ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ และ เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตรได้

paiyangs paiyangsuan

ข้อเสีย!ของการปลูกไผ่แซมในสวนยาง

  • ไผ่เป็นพืชที่คายน้ำในเวลากลางคืน หากเราปลูกไผ่แบบปล่อยปะละเลยไม่สางแต่งกอ จะทำให้สวนยางคลึ้มชื้น ทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกับต้นยางได้ง่าย
  • กิ่งไผ่ที่เกิดจากการสางแต่งกอ หากขาดการดูแล สวนจะดูเกะกะไปหมด เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่ก่องกิ่งไผ่
  • หากปล่อยให้กอไผ่มีขนาดใหญ่ กอไผ่จะเป็นที่อยู่อาศัยของงูแต่ส่วนมากไม่มีโอกาสที่ไผ่จะกอใหญ่ เพราะเจ้าของสวนตัดหน่อขายหมด
  • หากปลูกไผ่แล้วไม่มีการตัดยอดไผ่ ปล่อยให้ไผ่พุ่งสูงเลยความสูงของต้นยาง ไผ่จะบังแสง อาจทำให้ผลผลิตลดลงผู้ปลูกต้องคอยคุมความสูงของลำไผ่ให้อยู่ต่ำกว่าต้นยาง
  • หากปลูกแล้วปล่อยปะละเลย ไม่ดูแล ปล่อยให้ไผ่โตจนทำให้ต้นยางไม่โตตามเกณฑ์ ก็อาจจะถูกตัดงบสนับสนุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้

paiyangya

ข้อมูลควรรู้ในการปลูกไผ่แซมในสวนยาง

  • จำนวนต้นพันธุ์ที่ใช้ หากผู้ปลูกปลูกไผ่ระยะห่างระหว่างกอ 3 เมตร ก็ให้นับจำนวนต้นยางเป็นเกณฑ์ หากปลูกระยะห่าง 6 เมตร ก็ให้เอาจำนวนต้นยาง หารด้วยสอง จะได้เป็นจำนวนต้นพันธุ์ที่ต้องใช้โดยประมาณ
    ทั้งนี้ ผมแนะนำให้ปลูกที่ระยะห่าง 3 เมตร เพื่อให้ไผ่คลุมเต็มพื้นที่
    แต่หากผู้ปลูกมีโครงการปลูกพืชอื่นแซมเพิ่มอีก เช่น ไม่เศรษฐกิจ ตะเคียน ยางนา มะฮอกกานี เทพทาโร
    ให้ปลูกไผ่ที่ระยะห่าง 6 เมตร เพื่อจะได้มีพื้นที่นำไม้เศรษฐกิจมาใส่แซมได้อีก
  • การเตรียมต้นพันธุ์พันธุ์ไผ่ที่เหมาะกับการปลูกแซมในสวนยาง คือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด เช่น ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่ตงศรีปราจีน ไผ่กิมซุง ไผ่หม่าจู ไผ่ซางหม่น เป็นต้น
    หากเจ้าของไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลมาก ผมแนะนำให้ปลูกไผ่ตงลืมแล้ง เพราะมีความทนทานสูง
  • ราคาต้นพันธุ์ไผ่ (ตงลืมแล้ง) โดยทั่วไปจำหน่ายกันอยู่ที่ราคา ต้นละ 50 บาท
    หากปลูกที่ระยะห่าง 3 เมตร คิดที่ 76 ต้นต่อไร่ เท่ากับ 3,800 บาทต่อไร่
    หากปลูกที่ระยะห่าง 6 เมตร คิดที่ 38 ต้นต่อไร่ เท่ากับ 1,900 บาทต่อไร่
  • ควรเตรียมมูลไก่ไว้รองก้นหลุม โดนคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อไร่ ประมาณ 200-300 บาทต่อไร่ หากไม่มี หรือ หาซื้อยาก ให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมี หรือ ปุ๋ยอินทรีย์แทนได้!
    ค่าจ้างปลูก หากเราไม่ปลูกเอง ก็สามารถจ้างปลูกที่ราคา ต้นละ 8-10 บาท ตามเหมาะสม ขนาดหลุม 1x1x1 ฟุต
    ค่าจัดการหากจะวางระบบน้ำ ประมาณการคร่าวๆ อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ต่อ ไร่ ไม่รวมต่นทุนในการขุดแหล่งน้ำ และ ไม่รวมปั๊มน้ำ ทั้งนี้อยู่ที่วัสดุที่ใช้ในการทำระบบน้ำ
    การจัดการปุ๋ย หากปลูกไผ่แบบดูแลอย่างดีมีระบบน้ำ เพื่อต้องการให้ไผ่ออกหน่อเต็มที่ ควรเติมขี้ไก่ ทุกๆ 1 เดือน และ ให้ปุ๋ยเพิ่ม ทุก 3-4 เดือน ค่าใช้จ่ายทั้งขี้ไก่และ ปุ๋ยประมาณ 1,500 บาทต่อไร่ต่อปี
    การดูแลจัดการสวนไผ่ในสวนยาง สวนไผ่ในสวนยาง 5 ไร่ ไผ่ 250 300 กอ กำลังพอเหมาะกับการทำงานของชาวสวนยาง 1 คน (ดูแลแบบสบายๆ งานไม่หนัก!ผมเอาจากที่ผมทำเป็นเกณฑ์)
    มาดูเรื่องการตลาด!และการให้ผลผลิต!
  • หากปลูกเพียงเพื่อเป็นรายได้เสริม ให้เน้นตลาดในชุมชนเป็นหลัก
  • แต่ถ้าปลูกแบบจริงๆ จังๆ มีระบบน้ำ ปลูกเพื่อการค้า ให้ติดต่อกับพ่อค้าผักตามตลาดนัด ตลาดสด
    ราคาขายหน่อไม้ ถ้าเป็นช่วงฤดูที่หน่อไม้ป่าออกสู่ตลาด ขายราคา กิโลกรัมละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงนอกฤดู ขายกันอยู่ราคา 30-50 บาทต่อกิโลกรัม

paiyanglam

ระยะเวลาการคืนทุน!

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตอบยากมาก!เพราะอยู่ที่ตัวเจ้าของสวนเป็นหลัก!
หากปลูกเพื่อหวังเพียงเสริมรายได้ ลงทุนไม่สูง มีเค่ค่าต้นพันธุ์ กับ ค่าปุ๋ย ค่าขี้ไก่ ก็คืนทุนเร็ว!
หากปลูกแบบ เพื่อการค้า ระยะเวลาการคืนทุนก็นานกว่า!

แต่ความสำคัญของการคืนทุน!มันอยู่ที่ความเอาใจใส่ และ ความตั้งใจในการจัดการมากกว่า! หากมีการวางแผน มีระบบการจัดการ และ การทำตลาดที่ดี 3-6 เดือนหลังการให้ผลผลิตก็สามารถคืนทุน!
อย่างเช่นของผม ปลูกไผ่แซมในสวนยาง 5 ไร่! ผมคืนทุนตั้งแต่ 3 เดือนแรกของการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั่นเพราะผมทำเองทั้งหมด ต้นทุนต่ำ และ ผมมีการตลาดที่ดี! ทั้งการจำหน่ายหน่อไม้ และ การจำหน่ายต้นพันธุ์
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์ กับ ผู้ที่สนใจจะปลูกไผ่เป็นพืชแซม เพื่อเสริมรายได้ในสวนยาง!

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด วิชาเกษตรพึ่งตน

แสดงความคิดเห็น