ปะการังเทียม (Artificial Reefs) หรือ แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อดัดแปลงสภาพพื้นทะเล ด้วยการเลียนแบบจากธรรมชาติที่สังเกตเห็นว่า สัตว์น้ำชอบอาศัยอยู่ใกล้วัสดุที่จมตัวตามพื้นท้องทะเลเช่นกองหินใต้น้ำ หรือซากเรือจม โดยการนำวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนักมากสามารถทานกระแสน้ำได้ และค่าใช้จ่ายไม่แพง นำไปจัดวางที่พื้นทะเล เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย ปะการังเทียมจึงเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นที่กำบัง และแหล่งอาศัย รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสืบพันธุ์ ของสัตว์น้ำ เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ ช่วยเสริมมาตรการควบคุมและบริหารจัดการ ทรัพยากรประมง
การสร้างแนวปะการังเทียมได้มีมานานแล้วในหลายประเทศ โดยเริ่มขึ้นจากแนวคิดริเริ่มของชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 ซึ่งชาวประมงสังเกตเห็นว่าในบริเวณที่มีซากเรือหรือซากต้นไม้ทับถมกันอยู่ใต้น้ำนั้นมีปริมาณสัตว์น้ำอยู่มาก ทำให้ผลผลิตทางการประมงสูงขึ้นด้วย การสร้างปะการังเทียมจึงเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2338 โดยชาวประมงได้ทดลองสร้างโครงไม้ขนาดใหญ่และนำกิ่งไม้เล็กๆ มาผูกติดไว้ ถ่วงน้ำหนักด้วยถุงทราย แล้วนำไปทิ้งในทะเลที่ระดับความลึกประมาณ 38 เมตร พบว่าปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จากบริเวณรอบๆ โครงไม้นี้มีปริมาณมากกว่าในบริเวณที่มีเรืออับปาง จึงทำให้มีการนำเอาโครงสร้างเหล่านี้ไปทิ้งในทะเลมากขึ้น วิวัฒนาการของวัสดุที่ใช้สร้างปะการังเทียม มีตั้งแต่วัสดุง่ายๆ หาได้จากธรรมชาติ เช่น ท่อนไม้ ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว เปลือกหอย และก้อนหิน เป็นต้น และวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ได้แก่ รถยนต์เก่า เรือที่ปลดระวาง ตู้รถไฟ ยางรถยนต์ คอนกรีตจากการก่อสร้าง เช่น ท่อระบายน้ำ เศษคอนกรีตจากอาคารที่ถูกทำลาย ถนนและสะพาน ตลอดจนวัสดุคอนกรีตรูปทรงต่างๆ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น รูปแบบที่เรียกว่า Reef Ball และแท่งคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Reef Ball Foundation ขึ้นมาเพื่อการทำกิจการด้านปะการังเทียม โดยดำเนินการในรูปของธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูทรัพยากรใต้ทะเล โดยปะการังเทียมแบบ Reef ball มีโครงสร้างแบบกลมกลวง และมีช่องให้ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ได้เข้ามาอยู่อาศัย โดยมีขนาดแตกต่างกันไปหลายขนาด ซึ่งจากการศึกษาความซับซ้อนภายในโครงสร้างของปะการังเทียมที่มีรูปร่างแบบ Reef ball ที่มีผลต่อปลาที่เข้ามาอาศัยอยู่โดย Sherman et al. (2002) พบว่าความซับซ้อนของโครงสร้างปะการังเทียมจะมีผลต่อการดึงดูดชนิดและขนาดของปลาที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้การจัดวางปะการังเทียมยังเป็นการเพิ่มพื้นผิวสำหรับการปลูกปะการังได้อีกด้วย
รูปทรงของปะการังเทียมมีปลายประเภทแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ วัสดุที่นิยมใช้จัดวางเป็นปะการังเทียมในปัจจุบัน คือ วัสดุที่ทำจากคอนกรีต เนื่องจากมีความทนทาน อายุการใช้งานนาน มีน้ำหนักมาก มีการเคลื่อนตัวจากตำแหน่งน้อย ส่งผลกระทบเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลน้อย และเป็นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดใหญ่ในลักษณะของสายใยอาหาร (food web) ซึ่งในปัจจุบันคอนกรีตที่นำมาจัดวางเป็นปะการังเทียมมีหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาด
ปัจจัยหนึ่งในการออกแบบวัสดุสำหรับจัดวางเป็นปะการังเทียม คือ ต้องให้มีช่องว่างหรือรู เพื่อให้น้ำสามารถไหลเข้าออกได้สะดวก และส่งเสริมให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัยภายในช่องว่างได้ (Szedlmayer, 1994)รูปแบบและรูปทรงของวัสดุที่ใช้ในการทำปะการังเทียมแต่ละประเทศจึงมีการออกแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งวัสดุแต่ละรูปแบบก็จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. ปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติด และเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง
ปะการังเทียมสำหรับสิ่งมีชีวิตเกาะติดจำพวก ปะการัง สาหร่าย หอยนางรม สัตว์หน้าดินที่ยึดเกาะกับวัสดุต่างๆ หรือตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่หน้าตัดแบนราบ หรือมีพื้นที่ว่างสำหรับการยึดเกาะ และมีส่วนโครงสร้างที่ซับซ้อนอยู่บ้าง เช่น มีลักษณะที่เป็นซอกเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนั้น ซึ่งปะการังเทียมที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะและเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการังมีด้วยกันหลายแบบ
2. ปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของปลา
ลักษณะของปะการังเทียมที่สร้างเพื่อดึงดูดฝูงปลามักนิยมสร้างให้มีโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น สร้างให้มีรูกลวงอยู่ตรงกลางของตัวปะการังเทียม เนื่องจากพวกปลาสามารถเข้าไปอยู่อาศัย หรือใช้เป็นที่หลบ-ภัยจากผู้ล่าในบริเวณนั้นได้ (Lam, 2003) ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมของปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณปะการังเทียมของ Ogawa (1997) ได้สรุปว่าปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณปะการังเทียม สามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ 1) ปลาที่เข้าอาศัยตั้งแต่บริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ได้แก่ กลุ่มปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน และโลมา โดยมักจะพบอยู่ห่างจากกองวัสดุที่ใช้ล่อปลา 2) ปลาที่เข้าอยู่อาศัยบริเวณพื้นทะเลใกล้กองวัสดุ ได้แก่ กลุ่มปลาหมูสี ปลากะพง ปลาลิ้นหมา 3) ปลาที่เข้าอาศัยอยู่เป็นประจำ ได้แก่ กลุ่มปลา Cabezon ปลา Rock trout ปลาไหลทะเล ปลาบู่ และปลากระบี่ เป็นต้นโดยมักพบอยู่ใกล้กับกองวัสดุ (Ogawa, 1997 อ้างโดย พูนสิน และคณะ, 2531)
3. ปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยว
การจัดวางปะการังเทียมนอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการประมงแล้ว ในบางบริเวณแนวปะการัง ยังให้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เนื่องจากเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง เช่น เรือจม เครื่องบินจม หรือแม้แต่การสร้างสถาปัตยกรรมใต้น้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าในบริเวณที่มีปะการังเทียมวางอยู่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง และเมื่อปะการังที่ลงเกาะเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้น ก็จะทำให้มีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอาศัยมากขึ้นและเกิดความสวยงามไม่แพ้แนวปะการังธรรมชาติ
การจัดวางปะการังเทียมในประเทศเกิดขึ้น เนื่องมาจากสภาวะทรัพยากรประมงเริ่มเสื่อมโทรมลง ซึ่งมีผลมาจากการพัฒนาเครื่องมือทําการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนําเครื่องมืออวนลากเข้ามาทําการประมงในเขตทะเลไทยเมื่อปี พ.ศ.2503 ทําให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์หน้าดินถูกจับขึ้นมามากจนเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ แต่การสร้างปะการังเทียมนั้น สําหรับประเทศไทยแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นสิ่งที่ชาวประมงเคยทํามาตั้งแต่อดีตและยังดําเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกๆ นั้นปะการังเทียมจะทํามาจากวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ทางมะพร้าว ไม้ไผ่ กิ่งไม้ เป็นต้นมาผูกให้ลอยอยู่ในระดับกลางน้ำ โดยมีทุนถ่วงอยู่ด้านล่าง ที่ชาวประมงเรียกกันว่า ซั้ง (สมพร, 2537) ในยุคต่อมาจึงมีการคิดค้นนําเอาวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น ปลอกบ่อ ท่อ-คอนกรีตเสริมเหล็ก ยางรถยนต์เก่ามาประกอบกันเป็นปะการังเทียมรูปแบบต่างๆ (สุนันทา, 2550) การใช้วัสดุที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตซึ่งหล่อเป็นแบบพีระมิด และแบบแท่งสี่เหลี่ยมโปร่งขนาดต่างๆ ตลอดจนวัสดุเหลือใช้อื่นๆ เช่น ตู้รถไฟ รถยนต์ และตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น (สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ไม่ปรากฏปีพิมพ์)
การจัดสร้างปะการังเทียมในประเทศไทย ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นการทดลองสร้างที่ จังหวัดระยอง เรียกว่า มีนนิเวศน์ โดยเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่ายในบริเวณนั้นและมีราคาถูก เช่น ยางรถยนต์ หิน ไม้ และแท่งคอนกรีตรูปทรงกลม นํามาประกอบรวมเข้าด้วยกัน จํานวน 9 รูปแบบตามหลัก และวิธีการที่ได้ศึกษาจากเอกสารรายงานทางวิชาการของต่างประเทศ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง สัตวน้ำเศรษฐกิจหลายชนิดทั้งปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และจําพวกสัตวน้ำอื่นๆ เข้ามาอาศัยเป็นจํานวนมาก และมีจํานวนไม่น้อยกว่าในแนวปะการังธรรมชาติ ซึ่งปริมาณสัตวน้ำแต่ละชนิดที่เข้ามาอยู่อาศัย จะขึ้นอยู่กับรูปแบบวัสดุและการจัดวาง ต่อมาการจัดสร้างปะการังเทียมจึงถูกบรรจุไว้ในโครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่งและมีการทดลองสร้างเรื่อยมาในหลายพื้นที่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
การวางโครงสร้างแท่งคอนกรีตเพื่อเพิ่มพื้นผิวในการลงเกาะให้แก่ ปะการังแท้ เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่เกี่ยวกับการวางปะการังเทียมที่อาจจะช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง ดังนั้นจึงเกิดโครงการฟื้นฟูแนวปะการังที่เกาะไม้ท่อนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนอกเหนือจากจุดประสงค์เพื่อการเป็นเพียงแหล่งอาศัยให้กับสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเสริมโครงสร้างที่มีความมั่นคงเพื่อเร่งให้มีการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังและทำให้แนวปะการังมีการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นอีกด้วย (Thongtham and Chansang, 1999)
วัสดุและรูปแบบของแนวปะการังเทียมที่วางในประเทศไทยตั้งแต่จนถึงปัจจุบันมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ เช่น ในจังหวัดระยองปะการังเทียมที่ใช้ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2521-2530 มีความหลากหลายของวัสดุที่นำมาสร้าง คือ ยางรถยนต์ แท่งคอนกรีตบล๊อกสี่เหลี่ยม ปลอกบ่อ ท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก หิน และไม้ (สันติ, 2531) ต่อมาในปี พ.ศ.2526 มีการใช้วัสดุที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตที่หล่อเป็นแท่งสี่เหลี่ยมโปร่ง และแบบปิรามิด จัดวางปะการังเทียมบริเวณหน้าสถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา (NICA) (Parnichsook et. al.,1985) ในจังหวัดสตูล พ.ศ.2528-2529 มีการนำท่อมาวางเป็นปะการังเทียมบริเวณหน้าหมู่บ้านชาวประมงจังหวัดสตูล (Awaiwanon and Poonyanudech, 1988) และการใช้แท่งคอนกรีตหล่อที่เรียกว่า Reef ball มาสร้างปะการังเทียม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต
การวางปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบันนี้ มีการใช้วัสดุที่แตกต่างกัน เช่น แท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยม ตู้รถไฟเก่า ท่อซีเมนต์ และมีการดำเนินการจัดวางในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบการจัดวางที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านจำนวน การจัดเรียงตัว ลักษณะพื้นท้องทะเล ระดับความลึก ซึ่งผลของจำนวนวัสดุ ขนาดและชนิดของวัสดุ ตลอดจนลักษณะการจัดวาง และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อประชาคมสัตว์ทะเลที่เข้ามาอยู่อาศัยในแหล่งอาศัยเหล่านี้ ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนมากนัก แต่อย่างไรก็ตามผลจากการวางปะการังเทียมทั้ง 2 ฝั่งทะเล พบว่าโดยภาพรวมแล้วมีผลทําให้สัตวน้ำเศรษฐกิจหลายชนิดเพิ่มจํานวนขึ้น ซึ่งต่อมาจึงมีการจัดสร้างปะการังเทียมเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่
รูปแบบการจัดวางปะการังเทียมในประเทศไทย มีหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ ซึ่งในการจัดวางจะต้องมีการพิจารณาเลือกพื้นที่ ต้องคํานึงถึงระบบนิเวศทางทะเลเป็นหลัก โดยวัตถุประสงค์และรูปแบบการจัดวางปะการังเทียม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
ประโยชน์ของประการังเทียม มีในหลายด้าน สามารถสรุปได้ดังนี้
หน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ดำเนินการเกี่ยวกับขยะในทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วย
สำนักงานใหญ่
สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ตั้ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม. 10210 เบอร์โทรศัพท์ 0 2141 1341 http://www.dmcr.go.th/omcrc/
สำนักงานของศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่
ที่มา
– ศูนย์สารสนเทศ กองแผนงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
– ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (Eastern Marine Fisheries Research and Development Center)
ป้ายคำ : ภูมิปัญญา