ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง

3 มิถุนายน 2557 ดิน 0

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธี วิศวกรรม แม่โจ้ 1 นี้มีหลักการทำงานที่ง่ายมาก วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์เท่านั้น วิธีการทำก็คือ นำเศษพืช 3 ส่วนกับมูลสัตว์ 1 ส่วน โดยปริมาตรมาผสมคลุกเคล้าให้ทั่วถึงรดน้ำให้มีความชื้น แล้วขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร มีความยาวของกองไม่จำกัดขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี

กองปุ๋ยที่สูง 1.5 เมตร จะทำให้สามารถเก็บกักความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายของจุลินทรีย์ เอาไว้ในกองปุ๋ย ซึ่งความร้อนนี้นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับ จุลินทรีย์ชนิดชอบความร้อนสูงที่มีในมูลสัตว์แล้ว เมื่อความร้อนนี้ลอยตัวขึ้นจะทำให้ภายในกองปุ๋ยเกิดเป็นสุญญากาศแล้วจะ ชักนำเอาอากาศภายนอกที่เย็นกว่าไหลเข้าไปภายในกองปุ๋ย อากาศภายนอกที่ไหลหมุนเวียนเข้ากองปุ๋ยนี้ช่วยทำให้เกิดสภาวะการย่อยสลายของ จุลินทรีย์แบบใช้อากาศที่ไม่ทำให้เกิดกลิ่นหรือน้ำเสียใด ๆ

…หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดทั้ง 30 วัน หากกองปุ๋ยแห้งเกินไปกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์จะหยุดชะงักลง และหากกองปุ๋ยเปียกโชกมากเกินไปจุลินทรีย์ก็จะชะงักกิจกรรมอีก เนื่องจากน้ำที่ห่อหุ้มล้อมรอบจุลินทรีย์จะทำให้อากาศไม่สามารถเข้าถึง จุลินทรีย์ได้…

วิธีการดูแลความชื้นของกองปุ๋ยให้เหมาะสมมี 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่หนึ่ง ให้รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยทุกเช้า (ถ้าฝนตกก็ให้งดขั้นตอนนี้) และ ขั้นตอนที่สอง ให้คอยตรวจสอบความชื้นภายในกองปุ๋ยโดยการล้วงมือเข้าไปจับดูเนื้อปุ๋ยดู ถ้าพบว่าวัสดุเริ่มแห้งก็ให้ใช้ ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไป ควรแทงรูและเติมน้ำเช่นนี้รอบกองปุ๋ยระยะห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งอาจต้องทำขั้นตอนที่สองนี้ทุก 7-10 วันถ้าจำเป็น เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรูไว้เสียเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกอง ปุ๋ย

puimakmaejoyao

การเติมความชื้นเข้าไปในกองปุ๋ยขั้น ตอนที่สองนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องมี การเติมน้ำเข้าไปในกองปุ๋ย ทั้งนี้เพราะน้ำฝน ไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ ซึ่งเป็น คุณสมบัติเฉพาะของปุ๋ยอินทรีย์ที่จะอุ้มน้ำและ ไม่ยอมให้น้ำส่วนเกินไหลซึมลงไปด้วยแรงโน้ม ถ่วงของโลก จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคการแทง กองปุ๋ยดังกล่าวเพื่อรักษาระดับความชื้นภายใน กองปุ๋ยให้เหมาะสมอยู่เสมอ ดังนั้น จึงอาจ กล่าวได้ว่าเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้วยวิธี วิศวกรรมแม่โจ้ 1 นี้ในฤดูฝนได้ด้วย เพราะฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้

เศษพืชที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ได้แก่ เศษพืชที่เหลือจากการเกษตรกรรมทุกชนิด เช่น ฟางข้าว ซังและเปลือกข้าวโพด เป็นต้น รวมทั้งผักตบชวา เศษผักจากตลาด และเศษใบไม้ทั้งแห้งและสด ส่วนมูลสัตว์สามารถนำมาใช้ได้ทั้งมูลโค มูลไก่ มูลช้าง และมูลสุกร โดยไม่มีผลต่อคุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้

หลังจากที่วัตถุดิบอยู่ในกองปุ๋ยแบบ วิศวกรรมแม่โจ้ 1 ได้ครบ 30 วัน ก็จะมีความสูงเหลือเพียง 1 เมตร โดยไม่มีการพลิก กลับกองหรือเติมอากาศใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากนั้นกองทิ้งไว้เฉย ๆ ให้แห้ง หรือนำไปเกลี่ยผึ่งแดดให้แห้งอีกประมาณ 7 วันเพื่อให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยสงบตัว เมื่อแห้งดีแล้วก็สามารถนำ ไปใช้ได้อย่างมั่นใจว่าจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจะไม่ไปรบกวนการเจริญเติบโตของ ต้นพืช

puimakmaejonam

การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง จากเกษตรฯ แม่โจ้

ในวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบกองแถวยาวไม่พลิกกลับกองของแม่โจ้ มีขั้นตอนวิธีทำดังนี้

  1. นำฟาง 4 เข่ง วางหนา 10 ซม.บนพื้น ฐานกว้าง 2.5 ม. โรยทับด้วยขี้วัว 1 เข่ง (เพื่อให้เป็นสัดส่วน 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร – ถ้าเป็นใบไม้ใช้ 3 ต่อ 1) แล้วรดน้ำ ถ้าต้องการปุ๋ยหมัก 1 ตันก็ต่อความยาวให้ได้ 4 เมตร
  2. ทำชั้นที่สองซ้ำข้างต้น รดน้ำ … ทำชั้นไปเรื่อย ๆ โดยให้กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงรวม 1.5 ม. ปกติก็จะมีจำนวน 15 – 20 ชั้น … การทำเป็นชั้นบาง ๆ ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ในมูลสัตว์สามารถออกมาย่อยสลายเศษพืชได้ทั่วถึง ที่สำคัญ … ห้ามเหยียบ
  3. ถ้าต้องการปุ๋ยหมัก 1 ตันก็ให้ต่อกองปุ๋ยจนยาว 4 ม. ด้วยขั้นตอนที่ 1 และ 2 … กองปุ๋ยยาว 4 เมตรจะใช้ขี้วัว 30 กระสอบ ถ้าขี้วัวกระสอบละ 25 บาทก็จะเป็นต้นทุนในการทำปุ๋ย 30 x 25 = 750 บาทต่อตัน …. แต่ถ้าไม่ทำเองแล้วไปซื้อของคนอื่นอาจต้องจ่ายถึง 5,000 – 7,000 บาทต่อตันเชียวครับ
  4. ภายในเวลา 2 เดือนให้ดูแลน้ำอย่างปราณีต ได้แก่ รดน้ำวันละครั้ง ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำไหลนองออกมา แล้วทุก 10 วันก็ให้เอาไม้เจาะกองปุ๋ยถึงพื้นดิน ระยะห่างรู 40 ซม.รอบกอง กรอกน้ำลงไปในปริมาณที่ทำให้ภายในกองปุ๋ยชื้นพอดี ๆ ไม่มีน้ำไหลนองออกมามาก เสร็จแล้วปิดรู ….. สรุป : รดน้ำวันละครั้ง แล้วทุก 10 วันเจาะกองปุ๋ยเติมน้ำ ปิดรู (เจาะรวม 5 ครั้ง)
  5. พอครบสองเดือน กองปุ๋ยก็จะยุบเหลือแค่ 1 เมตร กระบวนการก็จะยุติโดยไม่ต้องพลิกกองเลย ทิ้งให้แห้งเพื่อให้จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยสงบตัว ไม่เป็นอันตรายต่อพืช แห้งแล้วค่อยเอาไปใช้หรือเก็บใส่กระสอบ

การเจาะกองปุ๋ยเพื่อให้น้ำแก่ภายในกองปุ๋ยเป็นสิ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ละเลย ส่งผลให้เศษพืชไม่ถูกย่อยสลายเพราะแห้งเกินไป แถมคิดว่าการรดน้ำประจำวันจะทำให้มีน้ำไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ วัสดุเช่นนี้จะชอบยึดน้ำไว้ที่ตัวมันเองและจะไม่ยอมให้น้ำไหลซึมลงด้านล่างตามแรงโน้มถ่วง (คล้ายกับกองฟางที่ตากฝนในนา ซึ่งภายในจะแห้งสนิท จะไม่เคยเป็นปุ๋ยเลยไม่ว่าจะทิ้งไว้กี่ปี) ทางวิชาการเรียกว่ามีคุณสมบัติของ Field Capacity ครับ สามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมจากกูเกิ้ลได้

puimakmaejoteera puimakmaejoteeras

การดูแลน้ำอย่างปราณีตแลกกับการต้องพลิกกลับกอง ผมคิดว่าคุ้มครับผม

จะทำยาว 4 ม.หรือ 400 ม. ก็เสร็จในสองเดือนเหมือนกัน เอาไปทำปุ๋ยขายก็ได้ เป็นโรงปุ๋ยที่ไม่ต้องมีพื้นหรือหลังคา

ข้อห้ามของการทำปุ๋ยวิธีนี้คือห้ามขึ้นเหยียบ ห้ามเอาผ้าคลุม เพราะจะทำให้อากาศไหลเวียนเข้าไปในกองปุ๋ยไม่ได้ … ห้ามทำชั้นเศษพืชหนาเกินไปเพราะจุลินทรีย์จะเข้าไปย่อยสลายไม่ได้

กองปุ๋ยวิธีนี้จะมีความร้อนจัดใน 5 วันแรก ชนิดที่ว่ามีไอร้อนลอยอ้อยอิ่งออกมาเลยเชียว ไอร้อนนี้เป็นตัวชี้ให้เห็นว่ามีอากาศร้อนลอยออกจากกองปุ๋ย ซึ่งส่งผลให้อากาศเย็นกว่าที่อยู่ด้านนอกไหลเวียนเข้าไปแทนที่ จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจึงได้รับออกซิเจนไว้ใช้ในกิจกรรมการย่อยสลายโดยที่เราไม่ต้องพลิกกลับกองเลย
ม.แม่โจ้มีฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ วิศวกรรมแม่โจ้ 1 สำหรับให้ผู้ที่สนใจเข้าชมการสาธิตได้ทุกวันเวลาราชการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ติดต่อได้ที่ ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร โทร. 0-5387-5563.

Exif_JPEG_PICTURE

การทำปุ๋ยหมักวิธีของแม่โจ้ที่ไม่ต้องพลิกกลับกองนั้น มีข้อดีคือไม่ต้องพลิกกลับกอง ลดการใช้แรงงาน ทำในนาในสวนก็ได้ ลดการขนย้าย ได้ปุ๋ยหมักปริมาณมาก ๆ ไม่ต้องใช้สารอะไร มีแต่ขี้วัวกับเศษพืช ทำบนดิน ไม่ต้องมีหลังคา ลดการเผาฟางหรือใบไม้

กระบวนการในกองปุ๋ยจะไปสกัดเอาคาร์บอนในเศษพืชออกไปให้จุลินทรีย์ใช้เป็นสารอาหาร เหลือตกค้างเหล่าจุลธาตุ (โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก ทองแดง สังกะสี คลอรีน แมงกานีส) ธาตุอาหารรอง (แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์) และธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม) เอาไว้ในปุ๋ยหมัก ให้เราได้นำไปให้ต้นพืชใช้ เป็นการหมุนเวียนแร่ธาตุโดยไม่ต้องไปซื้อหา

แล้วจุลธาตุ ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารหลักมาจากไหน .. ก็มาจากการที่รากพืชดูดซับขึ้นมาจากดิน เอามาสะสมไว้ในใบ ในต้น เพื่อสร้างดอก เมล็ด ผล ให้เราได้ทาน ได้เก็บเกี่ยว … ดังนั้น หากเราเผาเศษพืชทิ้งไป ก็เท่ากับเผาทำลายธาตุอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ทิ้งไปด้วย

puimakmaejoc

แต่การทำกองปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองก็มีขั้นตอนและหลักการบางประการที่ผิดพลาดไม่ได้ ยอมไม่ได้ เพราะหากผิดขั้นตอนไป การย่อยสลายก็จะไม่สมบูรณ์ ได้ปุ๋ยหมักคุณภาพต่ำ และใช้เวลานาน … มาดูว่าข้อผิดพลาดอะไรบ้างที่จารย์ลุงมักพบจากประสบการณ์ที่ไปช่วยเพื่อน ๆ เกษตรกรทำปุ๋ยหมัก

  1. ห้ามขี้เกียจดูแลน้ำกองปุ๋ย เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้งลง จุลินทรีย์จะมีชีวิตทำงานให้เราไม่ได้ การย่อยสลายจะยุติ
  2. อย่านึกว่าการรดน้ำกองปุ๋ยจากภายนอกจะทำให้น้ำซึมลงไปข้างในได้ทั่วถึง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะน้ำจะไม่มีวันซึมลงไปลึกถึงข้างล่างได้ครับ
  3. ห้ามทำกองปุ๋ยหมักในหลุม หรือทำในคอกซีเมนต์บล็อค เพราะจะทำให้อากาศเข้าทางด้านข้างไม่ได้ และเกิดการเน่าเหม็นที่บริเวณใต้กองปุ๋ยเพราะมีน้ำขัง
  4. ห้ามระบายความร้อนในกองปุ๋ย เพราะความร้อนช่วยให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้มีการไหลเวียนของอากาศเข้ากองปุ๋ย ทำให้เราลดแรงงานในการพลิกกองปุ๋ยได้
  5. ห้ามทำกองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนและน้ำที่ละลายแร่ธาตุออกมาจะทำให้ต้นไม้ตายได้ ควรทำนอกทรงพุ่ม
  6. ห้ามทำเป็นกองรูปสี่เหลี่ยม เพราะจะเกิดการลัดวงจรของอากาศที่ไหลเข้ากองปุ๋ย อากาศจะเข้าไปถึงตรงกลางกองปุ๋ยไม่ได้ ทำให้การย่อยสลายช้าลง
  7. ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ย เพราะจะทำให้แน่นจนอากาศเข้ากองปุ๋ยไม่ได้
  8. ห้ามวางเศษพืชหนาเกินไป จารย์ลุงกำหนดให้เศษพืชหนาได้ไม่เกิน 10 ซม. เพราะถ้าหนาเกินไปจุลินทรีย์จะเดินทางเข้าไปย่อยสลายไม่ได้
  9. ห้ามเอาผ้าคลุม หรือเอาดินปกคลุมข้างบน เพราะจะไปขัดขวางการไหลของอากาศ
  10. ห้ามแคร์สายตาของเพื่อนบ้าน เพราะเขาพวกนั้นเป็นพวก “ดวงตายังไม่เห็นธรรม” เขาพวกนั้นยังรังเกียจการลงมือทำการเพาะปลูกอย่างปราณีต ที่เป็นเหตุเป็นผล แต่รักที่จะเสียเงินมาก ๆ ซื้อปุ๋ยนาโน ปุ๋ยมหัศจรรย์ ปุ๋ยสารพัดกรด ฯลฯ และ … เผาฟาง และเชื้อไหมครับ พอได้ปุ๋ยหมักใส่กระสอบเสร็จ เขาพวกนั้นก็จะมาขอแบ่งซื้อ
  11. จะใส่สารเร่งจุลินทรีย์ หรือ พด.1 เพิ่มก็ได้ แต่การย่อยสลายจะไม่เสร็จเร็วขึ้นครับ เพราะจุลินทรีย์จะรักษาระดับปริมาณของมันในกองปุ๋ยครับ … การที่วิธีทำง่าย ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าปุ๋ยหมักไม่มีคุณภาพนะจ๊ะ
  12. น้ำหมักชีวภาพหาได้เป็นพระเอกในทุกเรื่องไม่ สำหรับกองปุ๋ยแบบใหม่นี้เป็นการย่อยสลายแบบใช้ออกซิเจนที่ไม่เคยส่งกลิ่น แต่ถ้าเอาน้ำหมักชีวภาพมาใส่ จุลินทรีย์ในน้ำหมักเป็นแบบไม่ใช้ออกซิเจนเมื่อเอามาใส่ในกองปุ๋ยที่มีออกซิเจนจุลินทรีย์ในน้ำหมักก็เลยไปไม่ถูก ช่วยอะไรไม่ได้ แถมยังทำให้กองปุ๋ยมีกลิ่นอีกต่างหาก .. ถ้าจะใส่อยากแนะนำให้ใส่ตอนจะใส่กระสอบครับ ก่อนนำไปใช้

puimakmaejoch puimakmaejomer

ที่มา http://www.facebook.com/teera.maejo.9

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ดิน

แสดงความคิดเห็น