ป่าเปียก ป้องกันไฟป่า

25 มีนาคม 2557 ศาสตร์พระราชา 0

ทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ด้วยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนกอนันต์ของน้ำเป็นยิ่งนัก ทรงคำนึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้น จะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ หากรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดำริ ป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธีที่ทรงคิดค้นขึ้นจากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือยามที่เกิดไปไหม้ป่าขึ้นคราใดผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะ คำนึงถึงการแก้ปัญหาด้วยการระดมสรรพกำลังกันดับไฟป่าให้มอดดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางในการป้องกันไฟป่าในระยะยาวนั้นยังดูเลือนลาง
ในการวางระบบอย่างจริงจัง พระราชดำริป่าเปียกจึงเป็นพระราชดำริหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริทำการศึกษาทดลองจนได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

วิธีการสร้าง ป่าเปียก

วิธีการแรก : ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลองนี้

วิธีที่สอง : สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน

วิธีที่สาม : โดยการปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้ งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นหากป่าขาดความชุ่มชื้น

pahpeagnaw

วิธีที่สี่ : โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือที่เรียกว่า Check Dam ขึ้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บ กักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น ป่าเปียก

pahpeagfay

วิธีที่ห้า : โดยการสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่า บนพื้นที่สูงในรูป ภูเขาป่า ให้กลายเป็น ป่าเปียก ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย

pahpeagnam

วิธีที่หก : ปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้ มากกว่าพืชอื่น ทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก

pahpeagkloy

แนวพระราชดำริป่าเปียก จึงนับเป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลา ไฟป่าจึงเกิดได้ยากการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลดี

ในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้บนภูเขาในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ซึ่งเป็นภูเขาโดดๆ มิใช่เทือกเขา ขาดแหล่งน้ำในพื้นที่ด้านบนภูเขา การปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่โดยปลูกกระจายให้เต็มพื้นที่ของภูเขาเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากเนื่องจากขาดความชุ่มชื้น ซึ่งเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากมีพระราชดำริ ให้สร้างฝายชะลอความชุมชื้นตามร่องน้ำบนภูเขา เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในสองฝั่งของร่องน้ำแล้ว ยังมีพระราชดำริให้ปลูกป่าด้วยระบบ ป่าเปียก หรือ ภูเขาป่า ความตอนหนึ่งว่า ……การปลูกป่าบนภูเขาต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ควรดำเนินการโดยวิธีที่เรียกว่า ป่าเปียก หรืออาจเรียกว่า ภูเขาป่า ก็ได้ แต่ในปัจจุบันฝนตกน้อย จึงจำเป็นต้องจัดสร้างระบบส่งน้ำด้วยวิธีสูบน้ำขึ้นไปพักในบ่อพักน้ำบนภูเขา แล้วทำระบบกระจายน้ำช่วยการปลูกป่าแบบกึ่งถาวร คือประมาณ ๓-๔ ปี เมื่อไม้โตพอสมควรก็จะมีความชุ่มชื้นและจะช่วยดูดความชื้นจากธรรมชาติด้วย จากนั้นจึงย้ายระบบส่งน้ำดังกล่าวไปช่วยพื้นที่ใหม่ต่อไปอีก……. ซึ่งในครั้งแรกได้เริ่มดำเนินการตามพระราชดำริ ในพื้นที่ของเขาเสวยกะปิ โดยได้จัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำจากระบบชลประทานของระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำส่งขึ้นไปบนเขาเสวยกะปิในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะสามารถส่งน้ำขึ้นไปได้ และได้สร้างบ่อพักน้ำไว้ ณ จุดที่สามารถส่งน้ำขึ้นไปถึงพร้อมกับสร้างระบบท่อให้น้ำไหลลงมาทางด้านล่างพร้อมกับติดตั้งหัวจ่ายน้ำแบบสปริงเกอร์ เป็นระบบกระจายน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ที่ต้องการ จากนั้นในระยะเริ่มแรกได้ทำการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดรอบบ่อพักน้ำโดยเลือกต้นไม้ที่มีเมล็ด จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาประคับประคองให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโต เมื่อมีเมล็ด เมล็ดจะร่วงหล่นลงมาด้านล่าง เมล็ดใดที่ร่วงหล่นลงมาในที่ที่เหมาะสมกับต้นไม้ชนิดนั้นๆ ก็จะงอกขึ้นและเจริญเติบโตได้เอง ต้นไม้ใหม่ที่งอกขึ้นเองด้วยวิธีการนี้จะมีความแข็งแรงและมีอัตราความอยู่รอดสูงเนื่องจากการที่ขึ้นเองในที่ที่เหมาะสม ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิธีการใช้ธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ

ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า ..พื้นที่บริเวณเขาเสวยกะปิการปลูกป่าด้วยน้ำชลประทาน ซึ่งดำเนินการอยู่แล้วได้ผลดีนั้นให้ดำเนินการสืบต่อไปพยายามปลูกบนที่สูงกว่าเดิม และใช้น้ำชลประทานที่สูบขึ้นไปในระดับประมาณ 150 เมตร แล้วค่อย ๆ ปล่อยลงมาเลี้ยงป่าที่จะปลูกเพิ่มขึ้นบริเวณเขาเสวยกะปิช่วงบน… ดังนั้นระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจึงถูนำมาใช้ควบคู่กับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่เดิมเพื่อให้ส่งน้ำได้ในระดับที่สูงขึ้นและจัดทำบ่อพักน้ำพร้อมวางระบบท่อเพื่อกระจายน้ำในพื้นที่ตอนบนทำให้สามารถฟื้นฟูป่าในพื้นที่ตอนบนของเขาเสวยกะปิได้ ซึ่งจากความสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ด้วยระบบ ป่าเปียก หรือ ภูเขาป่า บริเวณเขาเสวยกะปิ ระบบดังกล่าวจึงได้ขยายออกไปทำการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่บริเวณเขารังแร้งและเขาบ่อขิง โดยได้ทำการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และระบบท่อจ่ายน้ำในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๕๔๒ และ พ.ศ.๒๕๔๖ ตามลำดับ ซึ่งผลจาการดำเนินการทำให้พื้นที่ป่าบริเวณภูเขาทั้งสามแห่งกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ระบบ ป่าเปียก หรือ ภูเขาป่า ดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จนถึงปัจจุบัน

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น