ผกากรอง ดอกไม้ประดับสีสันสวยงาม

6 กรกฏาคม 2558 ไม้ดอกไม้ประดับ 0

ผกากรอง เป็นไม้ ดอกไม้ประดับที่มีสีสันสวยงาม นักภูมิสถาปัตย์ นิยมนำไปตกแต่งสถานที่เพราะ สีสันอันหลากหลายที่เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับผู้พบเห็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติ เด่นของไม่ดอกชนิดนี้ และในขณะเดียวกันผกากรองก็ยังถูกจัดว่าเป็นวัชพืชร้าย แรงที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่หาวิธีกำจัดให้สิ้นได้โดยยาก ทั้งยังมี สารพิษร้ายแรงที่หากสัตว์ประเภทแพะและแกะกินเข้าไปในปริมาณมาก ก็จะทำให้ตาย ได้ทันที

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camara L.
วงศ์ Verbenaceae
ชื่ออื่น ๆ ก้ามกุ้ง เบญจมาศป่า ขะจาย ตาปู มะจาย คำขี้ไก่ ดอกไม้จีน เป็งละมาศ สาบแร้ง ยี่สุ่น สามสิบ หญ้าสาบแร้ง Cloth of gold, Hedge flower

pakagongdoks

ลักษณะของพืช
ผกากรองเป็นไม้พุ่มที่พบทั่วไปในบ้านเรา เป็นพืชคลุมดิน ลำต้นเป็นพุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย แตกกิ่งทอดเลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร ใบจะมีสีเขียวเข้ม ใบรูปไข่ขอบใบจักเล็กน้อย ผิวใบจะมีขนอยู่ ทำให้รู้สึกสาก ๆ เมื่อจับต้อง ผกากรองนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ โดยอาจปลูกเป็นแถวหรืออาจปลูกเป็นกลุ่มให้เกิดเป็นพุ่มก็ได้

  • ดอก มีลักษณะสีสันที่สวยงามมาก มีหลายสีตั้งแต่เหลือง ขาว ส้ม ชมพู ม่วงอมชมพู หรือมีสองสีในช่อดอกเดียวกัน มีกลิ่นฉุน ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง ช่อละ 20-25 ดอก ดอกย่อยรูปกรวย โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 4 แฉก ทยอยบานจากด้านนอกเข้าไปด้านในช่อดอก ช่อดอกบานเต็มที่กว้าง 3-4 เซนติเมตร
  • ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร ปลายใบมนกึ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบจักซี่ฟัน ผิวใบด้านบนสีเขียวเช้ม หนา มีขนสั้นสากมือ
  • ผล (Fruit) ผลสดมีเนื้อ ทรงกลม สีเขียว เมื่อแก่สีม่วงดำ มีเมล็ดจำนวนมาก

pakagongton pakagongbai pakagongmed pakagongdok

สรรพคุณ
ใบ – รสขม เย็น ใช้แก้บวม ขับลม แก้แผลผื่นคันเกิดจากชื้น หิด
ดอก – รสชุ่ม จืด เย็น ใช้แก้อักเสบ ห้ามเลือด แก้วัณโรค อาเจียนเป็นเลือด แก้ปวดท้องอาเจียน แก้ผื่นคันที่เกิดจากชื้น และรอยฟกช้ำที่เกิดจากการกระทบกระแทก
ราก – แก้หวัด ปวดศีรษะ ไข้สูง ปวดฟัน คางทูม ฟกช้ำที่เกิดจากการกระทบกระแทก
วิธีและปริมาณที่ใช้
ใบสด – 15-30 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ตำพอกหรือคั้นเอาน้ำผสมเหล้าทา หรือต้มน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
ดอกแห้ง – 6-10 กรัม ต้มน้ำดื่ม
รากสด – 15-30 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มน้ำอมบ้วนปาก แก้ปวดฟัน

ผกากรอง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑-๒ เมตร มีกิ่งก้านสาขารอบๆ ลำต้นหลักมาก ทำให้ทรงพุ่มค่อนข้างกลม มีใบดกหนา ลำต้นและกิ่งก้านมีขนปกคลุม ใบรูปไข่ขอบใบจักปลายใบแหลมสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เมื่อลูบรู้สึกระคายมือ ใบดกออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ดอกออกตามปลายกิ่ง เป็นช่อมีดอกเล็กๆ หลายดอกบนก้านช่อเดียวกัน คล้ายดอกเข็ม ขนาดช่อดอกกว้าง ๓-๕ เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกหลายสิบดอก ดอกผกากรองมีหลายสี เช่น ขาวล้วน (ผกากรอง) เหลืองล้วน (ผกากรองเหลือง) แดงล้วน (ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง) นอกจากนั้นยังมีสีม่วงอ่อน สีแสด สีชมพู และหลายสีในช่อดอกเดียวกัน ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์เกิดสีผสมใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ ขนาดดอก (ช่อดอก) ก็โตขึ้นด้วย

pakagongs

ผกากรองออกดอกได้ตลอดทั้งปี หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คือ อยู่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดพอเพียง ผกากรองชอบสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดีมากกว่าชุ่มชื้นหรือดินเหนียว จึงเป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนทานมาก สามารถขึ้นและขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพธรรมชาติ จึงพบเห็นเสมอในป่าละเมาะที่ค่อนข้างโปร่งและแห้งแล้ง ทำให้หลายคนเข้าใจว่าผกากรองเป็นพืชป่าดั้งเดิมของไทย และหลายแห่งถือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ตามหลักฐานที่บันทึกเอาไว้ปรากฏว่า ผกากรองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาแพร่ขยายไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก ไม่มีหลักฐานว่าผกากรองเข้ามาประเทศไทยเมื่อใด สันนิษฐานว่าคงเข้ามาในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง (ไม่เกิน ๒๐๐ ปี) เพราะ ไม่พบปรากฏชื่อผกากรองในวรรณคดีไทยยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลย หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ ก็ไม่มีชื่อผกากรองเช่นเดียวกัน แสดงว่า เมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักผกากรอง

เนื่องจากผกากรองแพร่ขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง (โดยเมล็ด) จึงแพร่ขยายไปตามภาคต่างๆ ได้ทั่วไป จึงมีชื่อท้องถิ่นต่างกัน เช่น ผกากรอง ก้ามกุ้ง สาบแร้ง เบญจมาศป่า (ภาคกลาง) สามสิบ (จันทบุรี) เบ็งละมาศ หญ้าสาบแร้ง (ภาคเหนือ) ขี้กา (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น ภาษาอังกฤษเรียก Hedge Flower ปัจจุบันมีผกากรองถูกนำมาปลูกอีกชนิดหนึ่ง คือ ผกากรองเลื้อยชื่อภาษาอังกฤษ คือ Weeping Lantana ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Lantana sellowiana Link. & otto. มีลักษณะเดียวกับผกากรอง แต่เลื้อยไปตามพื้น นิยมปลูกใส่กระถางแขวนให้เถาห้อยลงมาเป็นไม้ประดับ

pakagongkla pakagong

ประโยชน์ของผกากรอง
ใบของผกากรอง มีคุณสมบัติห้ามเลือดและรักษาแผลสดได้ จึงใช้ตำหรือขยี้ให้ช้ำใส่บาดแผลสด (พอก) พบว่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย ในเกาะชวาของอินโดนีเซีย หมอพื้นบ้านใช้ผกากรองปรุงเป็นยารักษาโรคไขข้ออักเสบ (รูมาติส) ใบผกากรองมีกลิ่นฉุนจึงนำมาใช้เป็นสมุนไพรขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ ผกากรองมีดอกดกเป็นช่อตลอดปี จึงเป็นแหล่งอาหารของแมลงต่างๆ เช่น ผีเสื้อและผึ้ง

pakagongmung

ประโยชน์ด้านหลักของผกากรอง คือ ต้นใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากผกากรองเลื้อยที่เหมาะสำหรับปลูกในกระถางแขวนแล้ว ผกากรอง (ต้น) เหมาะสำหรับปลูกตามแนวรั้ว (ตามชื่อในภาษาอังกฤษ) หรือเป็นกลุ่มประดับสถานที่กลางแจ้ง เพราะให้ดอกมีสีสันสดใสได้ตลอดปี ดูแลง่าย ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและโรคแมลงดีมาก ปัจจุบันผกากรองมีสีสันของดอกหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงนำมาปลูกประดับสถานที่ หรือปลูกในกระถางได้มากขึ้นด้วย

pakagongpoo

ผกากรองทนทานต่อการตัดแต่งหรือดัดทรง ทนต่อความแห้งแล้ง ดินเลว จึงเหมาะสำหรับปลูกในกระถางทำไม้ดัด หรือไม้แคระ (บอนไซ) นอกจากนั้นยังเปลี่ยนยอด (เสียบยอด) ได้ง่าย จึงนิยมทำไม้ดัดหรือไม้แคระกระถางที่มีรูปทรงต่างๆ ในกระถาง ที่มีดอกสีต่างๆ มากมายในต้นเดียวกัน หากผู้อ่านมีโอกาสผ่านไปตามถนนสายสุพรรณบุรี-ชัยนาท ช่วงผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช จะสังเกตเห็น ๒ ข้างทาง มีร้านขายต้นไม้ดัดกระถาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผกากรองสารพัดสี รองลงมา คือ โมกใบด่าง ผกากรองซึ่งเป็นไม้ดัดกระถางเหล่านี้ ชาวบ้านแถบนั้นพัฒนาขึ้นมาจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะในป่าละเมาะแล้งบริเวณภูเขาของอำเภอเดิมบางนางบวช มีเบญจมาศป่า (ผกากรองที่ขึ้นเอง) อยู่มาก ชาวบ้านจะขุดผกากรองจากป่า ที่ผ่านความแห้งแล้งมาหลายปี จนมีทั้งก้านแข็งแกร่งและค่อนข้างแกร็นมาเปลี่ยนยอดเป็นผกากรองสีต่างๆ จนได้ไม้ดัดกึ่งไม้แคระที่มีรูปทรงและสีสันงดงาม แข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย ดูแลง่าย ออกดอกตลอดปี และราคาไม่แพง หากผู้อ่านผ่านไปทางนั้นอีกครั้งต่อไป อย่าลืมแวะชมและซื้อหาผกากรองกลับไปประดับบ้านของท่านบ้าง ขอเพียงสถานที่ซึ่งมีแสงแดดพอเพียงเท่านั้น ผกากรองก็จะมีดอกอันงดงามให้ท่านได้ชื่นชมตลอดปีติดต่อกันไปหลายๆ ปี

pakagongsuan pakagongpoom

ส่วนที่เป็นพิษ ผล และใบ
สารพิษที่พบ สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ lantadene A หรือ rehmannic acid, lantadene B และ lantadene C
อาการพิษ – ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากผกากรองมักไม่แสดงอาการพิษทันที แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง อาการพิษที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (lethargy) ขาดออกซิเจน หายใจช้าและลำบาก รูม่านตาขยาย (mydriasis) กลัวแสง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน โคม่า และการตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด

  • – อาการพิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ มีพิษกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ทดลองที่กินใบผกากรอง คือ ซึม ไม่อยากอาหาร ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หลังจากนี้ 1-2 วัน จะพบอาการเหลือง และขาดน้ำตามเนื้อเยื่อเมือก กล้ามเนื้ออักเสบ ตาอักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ทำให้กล้ามเนื้ออักเสบที่เรียกว่า pink nose เจ็บ อาการอักเสบนี้อาจลุกลามไปถึงโพรงจมูก ตา ปาก เกิดเป็นแผลบวม ปลายจมูกแข็ง หนังตาบวม หูหนาและแตก คันหน้าจนสัตว์เลี้ยงถูบ่อยทำให้เป็นแผลหรือตาบอดได้ โดยมากได้รับพิษประมาณ 1-4 อาทิตย์ อาจตายได้ เนื่องจากไตล้มเหลว ปัสสาวะไม่หยุด อดอาหาร ขาดน้ำ ไม่มีการขับถ่าย มีปริมาณ billirubin สูงในเลือด จึงเหลือง เอนไซม์จากตับสูง แสดงว่ามีการอักเสบของตับ เมื่อชันสูตรซากสัตว์ก็พบว่า มีอาการดีซ่าน ตับบวม ถุงน้ำดีโต เนื่องจากผนังบวม ไตเหลือง บวม ฉ่ำน้ำ และลำไส้ใหญ่ไม่เคลื่อนไหว
  • พิษเรื้อรังในสัตว์ที่เกิดขึ้นตามมา นอกจากทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดดของผิวหนังแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผิวหนังบริเวณปากหรือจมูก หู คอ ไหล่ ขา และส่วนอื่น ๆ อาจเป็นสีเหลือง บวม แข็ง แตก และเจ็บ ผิวหนังลอกและเปิด อาจเกิดการอักเสบไปจนถึงเยื่อบุผิวเมือกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาการเยื่อบุตาอักเสบอาจพบเห็นเป็นบางครั้งในระยะที่ได้รับพิษเฉียบพลัน และอาจมีผลกระทบต่อผิวหนัง เยื่อบุรอบ ๆ ตา และที่ตาด้วย
    ตัวอย่างผู้ป่วย – ผู้ป่วยอายุ 50 ปี เกิดผิวหนังอักเสบเนื่องจากใช้ใบผกากรองแห้งทาผิว ใบผกากรองมีลักษณะหยาบและสาก จึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้เมื่อสัมผัส
  • เด็กผู้หญิงอายุปีครึ่ง น้ำหนัก 35 ปอนด์ กินผลผกากรองสีเขียว ไม่ทราบปริมาณ ภายหลังการรับประทาน 6 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่สามารถยืนได้ เริ่มอาเจียน และหมดสติ เด็กถูกส่งตัวเข้าห้องพยาบาลทันที ได้รับรายงานว่า เด็กมีอาการขาดออกซิเจน หายใจลึก โคม่า และรูม่านตาขยายขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (pinpoint pupil) ไม่ตอบสนองต่อแสง รักษาโดยฉีด adrenal steroid เข้าทางกล้ามเนื้อ ฉีด epinephrine 1:1000 เข้าใต้ผิวหนัง ให้ออกซิเจน และรักษาตามอาการ เด็กหยุดหายใจภายหลังรับประทานผล ได้ประมาณ 8.5 ชั่วโมง ผลการชันสูตรศพ พบว่ามีเลือดคั่งที่ปอดและที่ไตเล็กน้อย มีชิ้นส่วนของผลผกากรองสีเขียวจำนวนมากในลำไส้เล็ก สาเหตุการตายเนื่องมาจาก pulmonary edema และ neurocirculatory collapse เด็กผู้หญิงอายุ 4 ปี น้ำหนัก 32 ปอนด์ ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินภายหลังรับประทานผลผกากรองสีเขียวไปแล้ว 3.5 ชั่วโมง มีอาการในขณะที่มาถึง คือ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจลึก ช้า รูม่านตาขยาย กลัวแสง และอาเจียน ทำการล้างท้องและให้ความช่วยเหลือต่อไปอีก 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นเด็กสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ เด็กชายอายุ 3 ปี น้ำหนัก 27 ปอนด์ ถูกนำส่งศูนย์ฉุกเฉินประมาณ 5 ชั่วโมงภายหลังทานผลผกากรองสีเขียวของผกากรอง เด็กมีอาการอาเจียน ท้องเสีย ซึ่งในอุจจาระมีผลสีเขียวปนอยู่ หายใจไม่สะดวก ขาดออกซิเจน การตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด รูม่านตาขยาย และไม่มีแรง ทำการล้างท้องเด็กและฉีด adrenal steroid เข้าทางกล้ามเนื้อ ให้ออกซิเจน และให้ความช่วยเหลือโดยทั่วไป อาการพิษคงอยู่ประมาณ 56 ชั่วโมง และออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 5 ภายหลังการเข้ารักษาตัว
  • มีรายงานการเกิดพิษและการศึกษาพิษของผกากรองในสัตว์ต่าง ๆ เช่น แกะ แพะ วัว ควาย และสัตว์ทดลองประเภทอื่น ๆ เพราะในต่างประเทศผกากรองจัดว่าเป็นวัชพืชที่เป็นปัญหาต่อการเลี้ยงสัตว์ มีบ่อยครั้งที่สัตว์กินแล้ว ทำให้เกิดบาดเจ็บล้มตาย เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงต้องศึกษาวิธีการแก้พิษ และรักษา
    การรักษา – การรักษาอาการพิษในคน หากรับประทานไปไม่เกิน 30 นาที ให้รับประทาน น้ำเชื่อม ipecac เพื่ออาเจียนเอาเศษชิ้นส่วนของพืชออกไป ผู้ใหญ่รับประทาน 2 ช้อนโต๊ะ เด็กอายุ 1-12 ปี รับประทาน 1 ช้อนโต๊ะ หากไม่ได้ผลให้ทำการล้างท้อง ยกเว้นในเด็กที่ได้รับพิษเกินกว่า 3 ชั่วโมง อาจล้างท้องไม่ได้ผล จึงควรให้ยา corticosteroids, adrenaline ให้ออกซิเจน และรักษาตามอาการ
  • การรักษาอาการพิษในสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงที่สงสัยว่าได้รับพิษจากผกากรอง ฤทธิ์ของผกากรองภายหลังการกินเข้าไป จะไปทำให้กระเพาะของสัตว์หยุดการเคลื่อนไหว จึงเป็นสาเหตุให้สารพิษเหลืออยู่ในกระเพาะและดูดซึมอย่างต่อเนื่อง การแก้พิษโดยป้องกันไม่ให้พิษมีการดูดซึมเพิ่มขึ้นไปอีก โดยให้ผงถ่าน (activated charcoal) ในปริมาณสูงร่วมกับสารละลายอิเลกโตรไลท์เพื่อไปกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของกระเพาะ และทำให้ของเหลวกลับเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ควรรักษาอาการแพ้แสงแดดของผิวหนังด้วย มีรายงานการทดลองใช้เบนโทไนต์ (bentonite) รักษาอาการพิษแทนผงถ่าน พบว่าสัตว์ทดลองมีอาการดีขึ้นช้ากว่ากลุ่มที่ให้ผงถ่าน 3 วัน แต่ราคาของสารเบนโทไนต์ถูกกว่าผงถ่าน จึงถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการพิษในสัตว์เลี้ยงวัว

ที่มา
– นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 295 พฤศจิกายน 2547
– นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
– นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญสุข. สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2542.
– นันทวัน บุณยะประภัศร (บรรณาธิการ). จุลสารโครงการศูนย์ข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล 2530;5(1):30-3.
– พรพิศ ศิลขวุธท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ฝ่ายความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุ กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2537.
– ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ดอกไม้ประดับ

แสดงความคิดเห็น