ผักตระกูลผักกาดมีอยู่หลายชนิด ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่คนไทย ก็มี ผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกาดหัว ซึ่งในจำนวนผักกาดเขียวก็ยังมีการแบ่งเป็น ผักกาดเขียวใหญ่ชนิดก้านแบนและก้านกลม ผักกาดเขียวเล็ก ผักกาดเขียวปลี (ตีนหมี) ผักกาดขาวเล็ก ผักกาดขาวปลี เป็นต้น และในบรรดาผักกาดขาวหลาย ๆ พันธุ์ ดูเหมือนว่าผักกาดขาวปลีจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกันมาก เพราะมีลักษณะสีดอกขาวสะอาด กรอบหวาน ใช้กินได้ทั้งสด-สุก และแปรรูป
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica rapa var. pekinensis ( Lour ) Oisson
ชื่อวงศ์ : BRASSICACEAE
ผักกาดขาวปลี (Brassica compestris ssp. pekinensis) เป็น ผักฤดูหนาว (cool-season vegetable) อยู่ในตระกูล Cruciferac อุณหภูมิ ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและการห่อปลีอยู่ในช่วง 15-20 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ จะไม่มีการห่อปลี หรือห่อน้อยและคุณภาพไม่ดีคือปลีหลวม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชสองปี แต่มีการปลูกแบบพืชปีเดียว ลำต้นสูง 20-50 เซนติเมตร เมื่อออกดอกสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีระบบรากแก้ว มีรากแขนงแผ่กระจายจำนวนมาก ขณะมีการเติบโตใบเรียงซ้อนกันเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบ ใบที่อยู่ภายในอัดเรียงกันเป็นปลีทรงกรวยหรือทรงค่อนข้างกลม โดยมีการเรียงใบแบบสลับออกมาจากข้อของลำต้น ใบยาว 20-90 เซนติเมตร กว้าง 15-35 เซนติเมตร รูปร่างของใบเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาของการเจริญเติบโต ใบที่อยู่รอบนอกของปลีมีรูปไข่ผอมรี ก้านใบเป็นปีกแผ่ยื่นออกไปทางด้านข้าง ใบสีเขียวเข้ม ใบที่เรียงซ้อนกันในปลีมีสีเขียวปนขาว แผ่นใบกว้างเกือบกลม ใบที่รองรับช่อดอกเป็นรูปหอกมีขนาดเล็ก ก้านใบแผ่กว้าง ช่อดอกมีการเจริญออกไปทางปลายช่อเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ประกอบด้วยช่อแขนงที่เป็นช่อดอกแบบกระจะจำนวนมาก ช่อดอกยาว 20-60 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบยาว 0.5 เซนติเมตรสีเขียวปนเหลือง กลีบดอกสีเหลืองสดจำนวน 4 กลีบ ยาว 1 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน เกสรเพศเมีย 2 อัน มีรังไข่เชื่อมติดกัน ผลแตกแบบผักกาด ยาว 7 เซนติเมตร กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ส่วนปลายผลอ้วนสั้น มี 10-25 เมล็ด เมล็ดกลมจนถึงรูปไข่ สีเทาดำจนถึงสีน้ำตาลแดง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร
การใช้ประโยชน์
นำมารับประทานเป็นผักสดกับอาหารรสจัดชนิดต่างๆ หรือนำมาผัด ต้ม นึ่ง ซึ่งใช้เวลาในการปรุงน้อย เนื่องจากใบของผักชนิดนี้อ่อนนุ่มและเหี่ยวง่าย อาจใช้ส่วนของก้านใบที่นุ่มหนามาเคี่ยวในซุปหรือสตูชนิดต่างๆ ถ้ามีผักสดปริมาณมากแล้วบริโภคไม่ทัน อาจนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดหรืออบให้แห้ง หรือนำมาดองในน้ำเกลือ สำหรับประกอบอาหารรับประทานในภายหลัง มีการแช่แข็งและแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปเพื่อส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ
คุณค่าทางอาหาร
ใบผักกาดขาวปลีในส่วนที่สามารถรับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 95 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม เส้นใย 0.5 กรัม แคลเซียม 49 มิลลิกรัม เหล็ก 0.7 มิลลิกรัม วิตามินเอ 0.9 มิลลิกรัม วิตามินซี 38 มิลลิกรัม พลังงาน 65 กิโลจูลต่อ 100 กรัม เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 3 กรัม มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบ 35-40 เปอร์เซ็นต์
สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม
ผักกาดขาวปลีเป็นผักที่มีอายุปีเดียว สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ปลูกได้ดีที่สุดในช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์ ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะประมาณ 6-6.8 อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-20 องศาเซลเซียส และควรได้รับแสงแดดตลอดวัน
พันธุ์
พันธุ์ผักกาดขาวปลีแบ่งตามลักษณะของปลีได้เป็น 3 พวกใหญ่ ๆ คือ
- พันธุ์ปลียาว มีลักษณะทรงสูง รูปไข่ ได้แก่ พันธุ์มิชิลีหรือผักกาดหางหงส์, ผักกาดโสภณ, ผักกาดขาวปลีฝรั่ง
- พันธุ์ปลีกลม ลักษณะทรงสั้นกว่า อ้วนกลมกว่า เช่น พันธุ์ซาลาเดียไฮบริด, พันธุ์ทรงบิคคอล ไพรด์ ไอบริด ฯลฯ มักเป็นพันธุ์เบาอายุสั้น
- พันธุ์ปลีหลวม หรือไม่ห่อปลี ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นเมืองของเอเซีย พวกนี้มักไม่ห่อปลี ปลูกได้แม้อากาศไม่หนาวฝนตกชุก ได้แก่ พันธุ์ผักกาดขาวใหญ่ (อายุ 45 วัน) ผักกาดขาวธรรมดา (อายุ 40 วัน) ความอร่อยน่ากินและเก็บรักษาได้นานสู้ผักกาดขาวพวกเข้าปลีไม่ได้ ทำให้ปริมาณในปัจจุบันลดลง
การเตรียมดิน
- แปลงเพาะกล้า ควรไถดินให้ดี ตากไว้ 5-7 วัน หลังจากนั้นก็คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มากพรวนย่อยดิน ให้ละเอียด โดยเฉพาะ ผิวหน้าดินเพื่อป้องกัน มิให้เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กตกในดินลึกเกินไปเมื่อปลูกโดยใช้วิธีหว่าน
- แปลงปลูก ผักกาดขาวปลีสามารถปลูกได้ในดินทั่วไป แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือดินร่วนในดินเหนียวก็สามารถปลูกได้แต่ต้องทำให้ดินสามารถ ระบายน้ำได้ดี โดยการไถ หรือขุดดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตรและตากดินให้แห้ง ประมาณ 7-10 วัน จึงทำการย่อยพรวนให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอก ลงคลุกเคล้า ถ้าเป็นดินเปรียวหรือดินเค็ม ควรใส่ปูนขาวอัตราประมาณ 40 ก.ก./ ไร่
ถ้าดินเป็นดินทรายควรใส่ปุ๋ยคอกให้มากขึ้น อัตราที่ใช้ประมาณ 2 ปี๊บ/1 ตารางเมตรหรือถ้าใช้ปุ๋ยขี้เป็ด, ไก่, หมู ก็ลดปริมาณการใส่ลงมาเหลือตารางเมตรละ 1 ปี๊บก็พอควรคลุกเคล้า ให้เข้ากัน
การปลูก
การปลูกผักกาดขาวปลี มีวิธีการปลูกได้ 2 วิธี โดยจะเลือกใช้วิธีใดก็แล้วแต่ความสะดวก และความเหมาะสม ดังนี้
- ปลูกแบบหว่านโดยตรง โดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายทั้งแปลง ซึ่งการปลูกวิธีนี้เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ที่มีราคา ไม่แพงและโดยเฉพาะในท้องที่ภาคกลางที่ยกแปลงกว้างมีร่องน้ำ การหว่านควรหว่านให้เมล็ด กระจายสม่ำเสมอ โดยทั่วไปจะผสมพวกทราย หรือเมล็ดผักที่เสื่อมคุณภาพแล้ว มีขนาดพอ ๆ กันลงไปด้วยเพื่อให้กระจายสม่ำเสมอดียิ่งขึ้น ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหว่านทับลงไปหนาประ มาณ 0.5-1.0 เซนติเมตรเพื่อช่วยรักษาความชื้น เสร็จแล้วคลุมฟางแห้งสะอาดอีกชั้นหนึ่ง ราด น้ำด้วยบัวละเอียดให้ทั่วแปลง หลังจากต้นกล้างอกและมีใบจริง 1-2 ใบ เริ่มถอนแยกเพื่อจัดระยะปลูกให้ได้ระยะระหว่าง ต้นและระหว่างแถวประมาณ 50×50 เซนติเมตร
- การปลูกแบบเป็นแถวหรือหยอดเป็นหลุม หยอดให้เมล็ดเป็นแถวบนแปลงปลูก โดยให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 50 เซนติเมตร ลึกประ มาณ 0.5-10.0 เซนติเมตร หรือทำเป็นหลุมตื้น ๆ หยอดเมล็ดลงประมาณ 3-5 เมล็ด กลบดินหนา 0.5 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 2 ใบให้ทำการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น และถอนแยกครั้งสุดท้ายอายุไม่ควรเกิน 30 วัน
การเพาะและการย้ายกล้า
- ให้หว่านเมล็ดให้ทั่วพื้นแปลงแล้วกลบด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหนา 0.5-1.0 เซนติเมตร
- หรืออาจหยอดเมล็ดเป็นแถวห่างกันแถวละ 5-10 เซนติเมตร ลึก 0.5-1 เซนติเมตรลึก 0.5-1เซนติเมตร เมล็ดควรโรยให้ห่างกันพอสมควร แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้ว แล้วรดน้ำให้ทั่วแปลงโดยใช้บัวละเอียด คลุมแปลงด้วยหญ้าแห้ง หรือฟางสะอาด ๆ บาง ๆ ช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินและป้องกันการกระแทกของน้ำต่อต้นกล้าที่ยังเล็กอยู่ การย้ายกล้าควรย้ายตอนบ่าย ๆ ถึงเย็นหรือช่วงที่อากาศมืดครึ้มย้ายปลูกเมื่อมีอายุ 30-35 วัน
การปฏิบัติดูแลรักษา
- การใส่ปุ๋ย เนื่องจากผักกาดขาวปลีเป็นผักกินใบ ควรให้ปุ๋ยอัตราประมาณ 80-150 กก./ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นจำนวนครึ่งหนึ่งโดย ใส่ตอนปลูกครั้งที่สองใส่เมื่อผักกาดอายุ 20 วัน โดยโรยข้างต้น แล้วรดน้ำ สำหรับพวกพันธุ์ปลียาว และปลีกลมแน่น ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรีย หรือแอมโมเนียไนเตรทในอัตรา 20-30 ก.ก./ไร่ เมื่อกล้าอายุได้ 30-40 วัน โดยการหว่านหรือโรยข้างต้นก็ได้ แล้วรดน้ำตาม ทันทีระวังอย่าให้ปุ๋ยค้างที่ใบ เพราะทำให้ใบไหม้
- การให้น้ำ ผักกาดขาวปลีต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตตลอดฤดูปลูก ดังนั้น ควรให้น้ำอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในระยะเข้าปลี
- การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ควรปฏิบัติหลังการย้ายกล้า 2 สัปดาห์ พร้อมกับใส่ปุ๋ยและทำการพรวนประมาณ 2-3 ครั้ง
โรคแมลงศัตรูที่สำคัญในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต
- ระยะกล้า 18-21 วัน ช่วงนี้ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน
- ระยะย้ายปลูก-ตั้งตัว 21-28 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบจุด, ด้วงหมัดผัก, หนอนกระทู้ดำ, หนอนใยผัก, หนอนคืบ, หนอนกระทู้,
- ระยะเข้าหัว 28-55 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, หนอนใยผัก, หนอนคืบ, หนอนกระทู้,
- ระยะโตเต็มที่ 55-56 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, หนอนใยผัก, หนอนคืบ, หนอนกระทู้,
การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดขาวปลีไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะพันธุ์
- พันธุ์ที่เข้าปลีไม่แน่น อายุที่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 40-50 วัน หลังจากหว่านเมล็ด โดยเลือกเก็บเกี่ยวต้นเริ่มแก่เต็มที่ได้ขนาด (ในท้องถิ่นทางภาคกลาง)
- พันธุ์ที่เข้าปลียาว หรือปลีกลมแน่น อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-80 วัน หลังจากหยอดเมล็ดที่เก็บเกี่ยวได้ โดยเก็บขณะปลีห่อแน่นเต็มที่ก่อนที่ปลีจะเริ่มคลายตัวหลวมออก (ในท้องถิ่นภาคเหนือ) การตัดใช้มีดคมตัดที่โคนต้น ตัดแต่งใบที่เป็นโรคถูกแมลงทำลายออกบ้างพอสมควร แต่ไม่มากนัก ควรเหลือใบนอก ๆ ไว้สัก 2-3 ใบ เพื่อป้องกันการกระทบกระแทกในระ หว่างการขนส่ง