ผักกาดน้ำ เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน จัดเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงต้น 30 – 50 ซม. มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในและเจ็บคอ แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แผลเรื้อรัง อาการคันจากการแพ้พืช
ผักกาดน้ำ (Plantago major L.) ;
ผักกาดน้ำ หญ้าเอ็นยืด (อีสาน เหนือ ไทยใหญ่) ชีแต่เช้า เซียแต้เช้า หมอน้อย ,ผักกาดน้ำ : ยาเอ็น ยากระดูก ยานิ่ว
ลักษณะ
ผักกาดน้ำ จัดเป็นพืชล้มลุกอายุยืนหลายปี ลำต้นอยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้นมีใบติดเวียนรอบต้นใกล้ดิน จึงทำให้มองดูเหมือนกับใบงอกขึ้นมาจากดิน ขอบใบค่อนข้างเรียบ ใบเป็นรูปไข่กว้างขนาด 5-10×2-5 ซม.หรือรูปกลม โคนใบเรียวแหลม ปลายป้านแหลมหนา คล้ายใบผักคะน้า ก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ มีเส้นใบวิ่งตามยาว 5 เส้น สีเขียวไม่เข้ม ช่อดอกเป็นแท่งยาว 10-20 ซม. ดอก มีขนาดเล็ก มีสีขาวอมเหลือง ไม่มีก้าน ออกเป็นช่อเล็กยาวติดตามก้านที่พุ่งจากดิน ผล มีลักษณะรูปไข่ เมื่อแก่จะแตกตามขวาง ภายในผลจะมีเมล็ดมาก เมล็ด มีขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ เมล็ดมีขนาดยาว 1-1.5 มม.พบเป็นวัชพืชทั่วไปตามทุ่งหญ้า สวน สนามหญ้าและแปลงปลูกพืชทั่วไปขยายพันธุ์โดยเมล็ดกระจายพันธุ์ทั่วโลกพบมากในภาคเหนือและภาค ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคม-มีนาคม
สรรพคุณของผักกาดน้ำ
ทั้งต้น มีรสหวานเย็น จึงมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว แก้กามโรค แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ดับพิษร้อน แก้ท้องร่วง ดับพิษฝี แก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น ตำพอกแผลที่หายยาก แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม
ส่วนประกอบ ในผักกาดน้ำจะมีสารที่เรียกว่า เออร์ริดอยส์ (iridoids) และสารออคิวบิน (aucubin) นอกจากนี้ยังมีสารตัวยาฟลาโวนอยด์ (flavonoids) หลายชนิด และสารขม
ส่วนที่ใช้ ใช้ทั้งใบและต้น
ใบ มีการทดลองใช้พบว่า สามารถใช้ขับนิ่วในไต โดยใช้ใบต้มกินกับน้ำ(ใบสด 30 กรัม กับน้ำ 1 ลิตร ต้มนาน 15 นาที กรองให้เหลือ 750 มิลลิลิตร) ดื่มวันละ 50 มิลลิลิตร หรือครั้งละครึ่งถ้วยกาแฟก่อนอาหารเช้า-เย็น ใช้เวลาระหว่าง 2- 6 เดือน จะสามารถขับปัสสาวะ แก้นิ่วได้ นอกจากนี้ยังใช้แก้ท้องร่วง ใบสด นำมาใช้ขยี้ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ลดอาการอักเสบ และตำพอกแผลเรื้อรัง
ทั้งต้น มีสรรพคุณใช้ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้กามโรค ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ดับพิษร้อน แก้ท้องร่วง ดับพิษฝี แก้ปัสสาวะแดงหรือขุ่น
ผักกาดน้ำมีคุณสมบัติทางยาคือ ใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในไต แก้ร้อนใน เจ็บคอ โดยต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ว่านกาบหอย กล้วยหอมดิบ รากบัวหลวง ดอกเก็กฮวย
ผักกาดน้ำขึ้นอยู่ในที่ชุ่มชื้นทั่วๆ ไป พบได้ในหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เอเชีย เรียกว่าเกือบหมดทั้งโลก ยกเว้นในเขตหนาวเท่านั้นกระมังที่ไม่มีผักกาดน้ำ ในเมืองไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค คนในแถบภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือหลายพื้นที่กินผักกาดน้ำเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ผักกาดน้ำอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี และโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย เป็นยาระบายอ่อนๆ โดยจะกินช่อดอกอ่อนๆ ใบอ่อนๆ (ต้องรีบเก็บตอนที่เป็นใบอ่อนจริงๆ เพราะใบผักกาดน้ำแก่เร็ว) แต่ในระยะหลังๆ ไม่ค่อยพบผักกาดน้ำในธรรมชาติบ่อยนัก ส่วนคนที่รู้จักกินผักกาดน้ำเป็นผักก็มีจำนวนน้อยลงมาก วัฒนธรรมการกินผักกาดน้ำเป็นผักนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั้งโลกที่มีเจ้าต้นผักกาดน้ำขึ้นอยู่ มีทั้งกินเป็นผักสดๆ และนำไปปรุงสุก นอกจากกินเป็นผักแล้ว ยังใช้ผักกาดน้ำในการรักษาโรคหลายชนิดกันอย่างกว้างขวางมายาวนานนับพันปี ถือเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงชนิดหนึ่ง และได้รับการยอมรับในการใช้เป็นสมุนไพรในเภสัชตำรับของเยอรมัน(German Commission E) สำหรับรักษาอาการไอและหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ และใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบ แทบจะกล่าวได้ว่าผักกาดน้ำเป็นสมุนไพรที่มีการนำไปใช้และศึกษาวิจัยกันมากที่สุดชนิดหนึ่ง แต่ผักกาดน้ำก็เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ผักหญ้าสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ไม่มีหน่วยงานไหนมาส่งเสริมสนับสนุนให้คนใช้กันมากนัก ผักกาดน้ำจึงนับวันแต่จะหายไปไม่ว่าจะใช้เป็นผักหรือใช้เป็นยาก็ตาม
หญ้าเอ็นยืดหรือผักกาดน้ำมีชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major Linn. อยู่ในตระกูล F.PLANTAGINACEAE อุดมไปด้วย เบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี และโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถกำจัดพิษ และเป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักกันดีในเอเชีย พบขึ้นเองตามที่ลุ่มบนดอย หรือบริเวณสวนหลังบ้านที่ชุ่มชื้นอาจพบเป็นต้นเล็กๆ หรือใหญ่ ขึ้นกับความสมบูรณ์ แหล่งที่มีพืชชนิดนี้แสดงถึงบริเวณที่มีความชื้น มีน้ำชุ่ม เป็นพรรณพืชล้มลุกขนาดเล็ก โคนต้นจะอยู่ติดดิน เป็นพืชที่มีอายุหลายปี ลำต้นจะสูงไม่เกิน ๑ ฟุต มีใบงอกขึ้นมาจากดิน ก้านใบยาว ใบรูปกลมรี เส้นใบมีห้าเส้น ปลายใบแหลม ดอกเล็กๆ ไม่มีก้านดอก ออกเป็นช่อเล็กยาวพุ่งมาจากดิน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
หญ้าเอ็นยืดมีสรรพคุณในการรักษาเอ็น อาการปวดตึงที่คอ หลัง เอว แขน ขา การหกล้มฟกช้ำ ข้อเท้าแพลง จนเดินเขยกหรือเดินไม่ได้ รวมไปถึงการรักษาอาการกระดูกหัก กระดูกแตกดังนั้นเวลาหกล้มข้อเท้าแพลงจะนำหญ้าเอ็นยืดมาทุบๆ ให้น้ำออกแล้วพอกบริเวณที่ข้อเท้าแพลงนั้น จะทำให้เส้นเอ็นคลายตัวบรรเทาความเจ็บปวดลงได้
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน