ผักกาดหอม ผักสลัดรสชาติเยี่ยม

18 ตุลาคม 2558 พืชผัก 0

ผักกาดหอม หรือ ผักสลัด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบยุโรป และเอเชีย ถือเป็นผักที่นิยมรับประทานมากทั้งในประเทศ และส่งจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะการรับประทานสดในรูปของผักสลัด ยำ และอาหารประเภทแกงจืดหรือต้มยำ

ผักกาดหอมหรือเรียกสั้นๆว่า ผักกาด รวมถึงผักสลัด ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งของพันธุ์ผักกาด เป็นผักสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีลักษณะหน้าดินหลวม และลึก ระบายน้ำดี ไม่ชอบดินเหนียว และหน้าดินแน่น ชอบอากาศเย็นจึงมักปลูกในช่วงปลายฝนถึงฤดูหนาว เช่น ชนิดหอมห่อ แต่บางชนิดสามารถปลูกได้ทุกฤดู ซึ่งทนต่ออากาศร้อนได้ดี เช่น ชนิดใบ และชนิดต้น

ผักกาดหอม เป็นผักที่ใช้บริโภคส่วนใบ เจัดอยู่ในจำพวกผักสลัดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นิยมบริโภคกันแพร่หลายที่สุดในบรรดาผักสลัดด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ นิยมรับประทานสดและนำมาประกอบอาหารหลายชนิด คนไทยนิยมใช้ผักกาดหอมกินแกล้มอาหารจำพวกยำต่างๆ สาคูหมู หรือข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ประโยชน์ของผักกาดหอมนอกจากจะใช้กินเป็นผักสดที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังจัดเป็น อาหารทางตา กล่าวคือ สามารถนำมาตกแต่งประดับจานอาหารให้มีสีสันสวยงามน่าทานมากขี้น ความต้องการผักกาดหอมมีอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงนับได้ว่าผักกาดหอมเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ นับวันจะทวีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

paggadhomsa

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lactuca sativa
ชื่อสามัญ Lettuce
วงศ์ Asteraceae
ชื่ออื่นๆ ผักสลัด ผักกาดยี พังฉ้าย

ลักษณะ

  • ราก รากของผักกาดหอมเป็นระบบรากแก้ว มีรากแก้วที่แข็งแรงอวบอ้วน และเจริญอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อปลูกในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นเพียงพอ รากแก้วสามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้ถึง 5 ฟุต หรือมากกว่าแต่รากแก้วจะเสียหายในขณะที่ย้ายปลูก ดังนั้นรากที่เหลือจะเป็นรากแขนง ซึ่งแผ่กระจายอยู่ใต้ผิวดินประมาณ 1-2 ฟุต โดยปริมาณของรากจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหนาแน่น ไม่ค่อยแพร่กว้างออกไปมากนัก อย่างไรก็ตามการย้ายปลูกนั้นมีผลดีในการช่วยให้ผักกาดหอมประเภทหัวห่อหัวได้ดีขึ้น
  • ลำต้น ลำต้นของผักกาดหอมในระยะแรกมักจะมองไม่ค่อยเห็น เนื่องจากใบมักจะปกคลุมไว้ จะเห็นชัดก็ต่อเมื่อระยะแทงช่อดอก ลักษณะลำต้นผักกาดหอมจะตั้งตรง สูงชะลูดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ลำต้นมีลักษณะอวบอ้วน ถ้าปลูกในที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น แต่ละข้อจะเป็นที่เกิดของใบ
  • ใบ ใบแตกออกมาจากลำต้นโดยรอบ สีใบมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวปนเหลือง จนถึงสีเขียวแก่ บางพันธุ์มีสีแดงหรือน้ำตาลปนอยู่ ทำให้มีสีแดง บรอนซ์ หรือน้ำตาลปนเขียว พันธุ์ที่ห่อเป็นหัวจะมีใบหนา เนื้อใบอ่อนนุ่ม ใบจะห่อหัวอัดกันแน่นคล้ายกะหล่ำปลี ใบที่ห่ออยู่ข้างในจะเป็นมัน บางชนิดมีใบม้วนงอเปราะมีเส้นใบเห็นได้ชัด ขอบใบมีลักษณะเป็นหยัก ขนาดและรูปร่างของใบผักกาดหอมจะแตกต่างกันตามชนิด
  • ดอกและช่อดอก ดอกผักกาดหอมมีลักษณะเป็นช่อแบบที่เรียกว่า Panicle ประกอบด้วยกลุ่มของดอกที่อยู่เป็นกระจุกตรงยอด แต่ละกระจุกประกอบด้วยดอกย่อย 15-25 ดอกหรือมากกว่า ก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 2 ฟุต ช่อดอกอันแรกจะเกิดที่ยอดอ่อน จากนั้นจะเกิดช่อดอกข้างตรงมุมใบขึ้นภายหลัง ช่อดอกที่เกิดจากส่วนยอดโดยตรงจะมีอายุมากที่สุด ส่วนช่อดอกอื่นๆ จะมีอายุรองลงมา ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีเหลือง ตรงโคนเชื่อมติดกัน รังไข่มี 1 ห้อง เกสรตัวเมียมี 1 อัน มีลักษณะเป็น 2 แฉก เกสรตัวผู้ 5 อัน รวมกันเป็นยอดยาวห่อหุ้มก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้
  • เมล็ด เมล็ดผักกาดหอมเป็นชนิดเมล็ดเดียว (achene) ซึ่งเจริญมาจากรังไข่อันเดียว เมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง เปลือกเมล็ดจะไม่แตกเมื่อเมล็ดแห้งเมล็ดของผักกาดหอมมีลักษณะแบนยาว หัวท้ายแหลมเป็นรูปหอก มีเส้นเล็กๆ ลาดยาวไปตามด้านยาวของเมล็ดที่ผิวเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีสีเทาปนครีมความยาวของเมล็ดประมาณ 4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร

paggadhomplang

สรรพคุณทางยา
ผักกาดหอมมีแอนติออกซิแดนท์หลายชนิด ช่วยในการป้องกันและต่อต้านมะเร็งได้

ผักกาดหอมที่นิยมปลูก แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

  1. ผักกาดหอมห่อ
    เป็นผักกาดหอมที่มีลักษณะใบเรียงตัวกันหลายใบ ซ้อนกันแน่น ปลายใบหุบลงห่อห่มกันเป็นชั้นๆจนมีลักษณะเป็นหัว ใบด้านในมีสีเหลืองอ่อน ใบด้านนอกมีสีเขียวถึงเขียวแก่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
    ชนิดหัวห่อแน่น ใบค่อนข้างบาง มองเห็นเส้นใบ กรอบ และเปราะง่าย ใบจะเรียงตัวห่อซ้อนทับกันจนเป็นหัวคล้ายกะหล่ำปลี แต่ต่างกันที่สี และลักษณะใบเท่านั้น นิยมนำมารับประทานสด และทำผักกาดดอง เป็นต้น
    ชนิดหัวห่อหลวม เป็นชนิดที่พบได้มากในตลาดค้าผัก แบ่งออกเป็นผักกาดหอมห่อหลวมทั่วไป และห่อหลวมแบบยาว ซึ่งจะต่างกันที่แบบห่อยาวจะมีรูปทรงกลม และเรียวยาวกว่า ลักษณะของผักกาดหอมห่อหลวม ใบจะอ่อนนุ่ม ไม่กรอบ ผิวใบมัน และหนากว่าผักกาดหอมห่อแน่น และลักษณะการห่อหัวจะหลวม ไม่อัดกันแน่น
  2. ผักกาดหอมใบ
    เป็นผักกาดหอมที่นิยมปลูก และรับประทานมากไม่แพ้ผักกาดหอมแบบหัวห่อหลวม บางครั้งมักเรียกว่า ผักสลัด ซึ่งนิยมนำมารับประทานสด หรือนำมาประกอบอาหารประเภทสลัด ยำ และต้มแกง ผักกาดชนิดนี้มีลักษณะใบใหญ่กว้าง ขอบใบหยิกไปมา ไม่ห่อเป็นหัว ใบแผ่กางออกเป็นทรงพุ่มเล็ก สีของใบมีทั้งสีเขียว สีม่วงหรือสีน้ำตาล สามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน และทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี ปัจจุบันนิยมปลูกมากในระบบไร้ดินหรือผักไฮโดรโปรนิกส์
  3. ผักกาดหอมต้น
    เป็นชนิดของผักกาดที่นิยมปลูกมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีลักษณะใบสีเขียวถึงเขียวแก่ ก้านใบ และใบอวบ ก้านใบยาว แตกใบออกจากลำต้นเรียงซ้อนกันแบห่างๆจนถึงส่วนยอด ซึ่งทำให้มีลักษณะกลายเป็นลำต้นสูง ผักกาดชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์มากกว่าผักกาดชนิดอื่น ได้แก่ ผักกาดกวางตุ้งหรือผักกวางตุ้ง ผักกาดดอก ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ เป็นต้น

paggadhoms paggadhomhidro paggadhomton

คุณค่าทางอาหาร
ผักกาดหอม 100 กรัม ให้พลังงาน 24.00 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย โปรตีน 2 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม แคลเซียม 16 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 173.17 ไมโครกรัม เส้นใย 1.80 กรัม วิตามินบี1 0.06 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.18 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 9.00 มิลลิกรัม

ประโยชน์
ให้วิตามินซี เบต้าแคโรทีน โฟเลท และธาตุเหล็ก ช่วยป้อง กันโรคโลติตจาง โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน

การเตรียมดิน ปลูกผักสลัด/ผักกาดหอม

  • ตรวจสภาพของดินวัดความเป็นกรด – ด่างของดิน ซึ่งระดับที่เหมาะสมคือ pH 6 – 6.5
  • ไถดะปรับพื้นที่ให้เรียบและโปร่ง จากนั้นให้ไถซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ดินละเอียดขึ้น
  • ตากดินไว้ 7 วัน เพื่อกำจัดโรคพืชและแมลง
  • ขุด,ถอน,และกำจัดพืชที่ไม่ต้องการออก
  • หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดิน 100 – 200 กก./ไร่
  • ยกแปลงขนาด 1.20 x 40 เมตร ยกร่องสูง 50 เซนติเมตร
  • หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1-2 ตัน/ไร่เพื่อเพื่อความร่วนซุยและไถพรวนอีกครั้งหนึ่ง
  • คราดกลบปุ๋ย และ ปรับหน้าแปลงให้เรียบ
  • คลุมด้วยฟางข้าวแห้งเพื่อรักษาความชื้น 1 แปลงใช้ประมาณ 3 ก้อน
  • พื้นที่ 1 ไร่ ทำแปลงขนาด 1.2 x 40 เมตร ได้ 20 – 25 แปลง

paggadhomtonkla

การดูแลรักษา
กำจัดวัชพืช : กำจัดวัชพืช โดยการถอนหญ้าด้วยมือ 1-2 ครั้ง

การให้น้ำ : ไม่แนะนำให้ใช้ระบบฝนเทียมแต่จะใช้แรงงานคนเดินฉีดสายยางตามแปลงเพราะน้ำจากสายยางจะสามารถชะล้างไข่ของแมลงศัตรูพืชที่ติดอยู่ที่ใบลงไปบนดินได้ จากนั้นจุลินทรีย์ในดินกจะย่อยกินไข่แมลงศัตรูพืชเหล่านี้ **นอกจากนี้ผู้ปลูกจะได้ถือโอกาสตรวจแปลงไปในตัวหากมีความผิดปกติก็จะพบเห็นได้ทันที

  • หน้าหนาว รดน้ำวันละ 1 ครั้ง เวลา 6.00 – 7.00 น. ก่อนแดดออก เพราะจะช่วยชะล้างน้ำค้างตอนเช้า ซึ่งน้ำค้างมีฤทธิ์เป็นกรดสามารถทำให้เกิดโรคราน้ำค้างได้ จะเน้นในช่วงหน้าหนาวและหน้ามรสุม
  • หน้าร้อน รดน้ำวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศร้อนมาก ให้รดน้ำตอนบ่าย เวลาประมาณ 14.00 น. เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในแปลง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อต้นพืช
  • หน้าฝน ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ ถ้าฝนตกมากเกินไปจะทำให้ดินแน่นพืชจะขาดอากาศหายใจ จะต้องใช้ตะขอคุ้ยดินรอบต้นเพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ

paggadhombai

การใส่ปุ๋ย :
– ใช้ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยน้ำอินทรีย์ อัตรา 30-50 ซีซี.(3-5 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ตั้งแต่เริ่มปลูก (ฉีดช่วงเช้าจะดีที่สุด)

paggadhomdin

โรคและแมลง :
– โดยส่วนใหญ่แล้ว ความเสียหายของผักกาดขาวที่เกิดจากโรคและแมลงเข้าทำลายจะมีไม่เกิน 10 % จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการผลิตผักกาดหอมแบบปลอดสารพิษ
– เมื่อพบโรคและแมลงเข้าทำลายผักกาดหอม จะใช้วแรงงานคนกำจัด โดยการเด็ดใบหรือถอนต้นทิ้งนอกพื้นที่ปลูก เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

สายพันธุ์และอายุการเก็บเกี่ยว

  • เรดโอ๊ค อายุเก็บเกี่ยว 45-50 วัน
  • สลัดแก้ว อายุเก็บเกี่ยว 70 วัน
  • เรดลีฟ อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน
  • บัตเตอร์เฮด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน
  • คอส อายุเก็บเกี่ยว 55 วัน
  • กรีนโอ๊ค อายุเก็บเกี่ยว 40 วัน

paggadhombaispaggadhomhidro

การเก็บเกี่ยว :

  • ใช้มีดตัดโคนต้นของผัก ตัดใบแก่ออก แล้วจัดวางในตะกร้า ระวังอย่าให้ผักช้ำ
  • เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ควรพักแปลงทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน และ ทำการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะปลูกผักในครั้งต่อไป

paggadhomtons

แหล่งอ้างอิง :
คุณฝ่อ พรหมนิพล เกษตรกรผู้มีอาชีพปลูกผักสลัดขาย ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น