ผักขะแยงชอบดินที่มีน้ำชุ่ม สามารถปลูกได้ที่ ๆ มีน้ำขังตลอดปี ผักขะแยง เป็นผักที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ฤดูกาลเกี่ยวข้าว ชาวบ้านชอบนำมาประกอบอาหาร อยากกินก็ไปเก็บเอาจากท้องนามาปรุงรสชาดอาหารเช่น อ่อม ต้มไก่ จะใช้ผักขะแยงลงในหม้อ ทำให้อาหารมีกลิ่นหอม แต่บางคนบอกว่ามีกลิ่นเหม็น แม้เพียงได้กลิ่นก็จะอาเจียน
ชื่อ ผักแขยง
ชื่ออื่นๆ กะออม กะแยง(ตะวันออกเฉียงเหนือ) กะแยงแดง(อุบลราชธานี) ผักพา(เหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila geoffrayi Bonati.
ชื่อวงศ์ Scorphulariaceae
ผักขะแยง เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว เป็นผักที่ขึ้นเอง ตามคันนา ขึ้นในฤดูทำนา เริ่มจากฝนลงครั้งแรก ขยายพันธุ์แบบไหลไปตามราก เกิดและแตกต้นออกเป็นกอ ขนาดเล็กประมาณ ๓๐-๔๐ ซม. ลำต้นสีเขียว กลวงเห็นปล้องชัดเจน ลำต้นทั้งต้นจะมีกลิ่นหอมหรือกลิ่นฉุนรุนแรง ใบเป็น ใบเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ตรงกันหรืออาจมี ๓ ใบ ออกอยู่รอบ ๆ ข้อรูปใบหรือรูปขอบขนาน หรือรูปหอกใบยาว ๑.๕-๕ ซม. กว้าง ๑-๒ ซม. ไม่มีก้านใบฐานใบจะหุ้มลำต้นเอาไว้ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ด้านบนของใบมีต่อมเล็ก ๆ มากมาย ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตรงซอกใบ หรือออกเป็นช่อกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวมีขน กลีบดอกสีแดง สีชมพูอ่อน หรือสีม่วง กินได้ตลอดลำต้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ผักขะแยงก็เริ่มโรยรา และหายลงใต้ดินในที่สุด รอวันฝน ลงอีกครั้งในพรรษาหน้า
ผักขะแยงชอบดินดำน้ำชุ่ม ดังนั้นจึงสามารถนำผักขะแยงมาปลูกได้ ที่ ๆ มีน้ำขังตลอดปี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูง 10-35 เซนติเมตร ลำต้นเรียวยาว ตั้งตรง กลมกลวง อวบน้ำ มีขนหนาแน่น ทั้งต้นมีกลิ่นหอมฉุน เผ็ดร้อน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ทุกข้อ ตลอดลำต้น รูปขอบขนานแกมใบหอก รูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 3-10 มิลลิเมตร ยาว 1-3 เซนติเมตร ขอบใบหยักมนแกมฟันเลื่อย ปลายใบแหลม โคนใบห่อติดลำต้น ไม่มีก้านใบ ดอกช่อกระจะออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ออกพร้อมกันทั้งต้น ดอกย่อย 2-10 ดอก ดอกเป็นรูปหลอดเล็กๆคล้ายถ้วย รูปกรวย ยาว 0.5 นิ้ว ปลายบานเล็กน้อย แยกออกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกสีม่วง ผิวด้านนอกเรียบ ผิวด้านในตอนล่างของกลีบดอกมีขน ผลแห้งแตกได้ รูปกระสวย เมล็ดรูปร่างกลมรี สีน้ำตาลดำ ขนาดเล็กมาก ชอบขึ้นบริเวณที่มีน้ำขังเล็กน้อย เป็นวัชพืชในนาข้าว
ส่วนประโยชน์ทางอาหาร ใช้รับประทานทั้งลำต้น ยอดอ่อนและใบอ่อน โดยรับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับ แจ่ว ป่น ส้มตำ ลาบ ก้อยและซุบหน่อไม้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่น แกงหน่อไม้ ต้มส้ม แกงอ่อมต่างๆ เช่น อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมปลา อ่อมเนื้อวัว อ่อมหอย เป็นต้น หากท่านใดที่อ่านแล้วคิดอยากจะลิ้มลองรสของผักแขยง เมื่อท่านไปเดินตลาดก็ลองหาซื้อมารับประทานดูนะคะ เพราะผักชนิดนี้มีกลิ่นฉุนแมลงไม่ชอบ จึงปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงค่ะ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่นิยมบริโภคผักพื้นบ้าน.
สรรพคุณ
ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใช้ ทั้งต้น เป็นยาขับน้ำนม ขับลม และเป็นยาระบายท้อง น้ำคั้นจากต้นใช้แก้ไข้(นำต้นสด 15-30 กรัม มาต้มน้ำกิน) แก้คัน ฝี และกลาก แก้อาการบวม เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้พิษงู ให้นำต้นสด ประมาณ 15 กรัม ตำให้ละเอียด ผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด 30 กรัม นำไปผสมกับน้ำส้มปริมาณพอควร คั้นแล้วทานน้ำส่วนกากพอกรอบๆแผล อย่าพอกบนแผล ทั้งต้นแห้ง ที่เก็บไว้นาน 1 ปี ต้มน้ำดื่ม แก้พิษเบื่อเมา
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน
ที่เสียมเรียบเขาใส่ในขะแมร์ซุ๊ปครับ หรือสุกี่ขะแมร์นั้นเอง เป็นผักชนิดหนึ่งไปเลย.. อร่อยครับ