ผักตบชวา วัชพืชน้ำไม่ไร้ค่า

14 สิงหาคม 2556 ไม้น้ำ 0

ผักตบชวาเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปการกระจายพันธุ์ เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วไป มีดอก สีม่วงอ่อน คล้ายช่อดอกกล้วยไม้ และแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำทั่วไป

ชื่อสามัญ : Water hyacinth, Floating water hyacinth
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eichornia crassipes (Mart.) Solms
วงศ์ : Pontederiaceae
ชื่ออื่นๆ : ผักตบชวา บัวลอย ผักตบ ผักตบชะวา ผักตบป่อง ผักบ่ง ผักบอง ผักปอด ผักสวะ สวะ
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ไหล

พืชลอยน้ำ อายุหลายปี ลำต้นสั้น แตกใบเป็นกอ ใบเดี่ยว รูปไข่ หรือเกือบกลม โคนใบเว้าเข้าหาก้านใบ ก้านใบกลมอวบน้ำ ตรงกลางพองออก ภายในเป็นช่องอากาศคล้ายฟองน้ำช่วยให้ลอยน้ำได้ ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดที่ปลายยอด ดอกย่อย ๓ – ๒๕ ดอก มีกลีบรวม ๖ กลีบ กลีบบนสุดขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่น และมีแต้มสีเหลืองที่กลางกลีบ เกสรเพศผู้ ๖ อัน ผล แบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก แบ่งเป็น ๓ พู เมื่อแก่แตกกลางพู เมล็ดกลมขนาดเล็ก จำนวนมาก

paktopchawasawa

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ลำต้น สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีลำต้นสั้น รากแตกออกจากลำต้นบริเวณข้อ รากมักมีสีม่วงดำ ลำต้นมี 2 ชนิด คือลำต้นใต้ดินมีลักษณะสั้น ส่วนอีกชนิดคือลำต้นบนดิน จะชูเมื่อมีดอก ลักษณะกลมเรียวตั้งตรง ปลายสุดมีข้อให้กำเนิดใบและช่อดอก ยาวประมาณ 4 – 51 เซนติเมตร
  • ใบ ออกเป็นกลุ่มรอบลำต้น ใบกว้างใหญ่ มีรูปร่างค่อนข้างกลม ส่วนฐานใบเว้าเข้าหาก้านใบ มีหูใบ ส่วนของใบพองออก ภายในมีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ใบมี 2 ชนิด คือใบปรกติมีรูปร่างแบบรูปไข่ (ovate) รูปหัวใจ (cordate) กลมคล้ายใบบัว (orbicular) หรือรูปไต (reniform) ส่วนอีกชนิดเกิดบนช่อดอกเป็นใบขนาดเล็กรูปหัวใจ โคนก้านใบแผ่ออกเป็นกระเปาะหุ้มช่อดอก
  • ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด (spike) คือดอกย่อยเรียงอยู่บนแกนกลางอันเดียวไม่มีก้านดอกย่อย ช่อหนึ่งๆ มีดอกย่อยประมาณ 4-60 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ฐานกลีบดอกหลวมรวมกันเป็นรูปกรวย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกหลอมรวมกันเป็นมีสีม่วง ดอกย่อยเป็นสมบูรณ์เพศแบบ Zygomorphic โคนกลีบดอกเป็น tube ปลายกลีบแยกจากกันแต่เรียวซ้อนเหลี่ยมกัน สีม่วง กลีบตรงกลางขนาด 2.3 x 3.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบอื่นๆ ขนาด 1.2 x 3.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 6 อัน สั้น 3 อัน ยาวประมาณ 0.6 เซนติเมตร ส่วนเกสรตัวผู้ยาว 3 อัน มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ก้านเกสรตัวผู้มีขนตรงปลาย ขนพองกลม เกสรตัวเมีย มีรังไข่อยู่เหนือโคนกลีบ (superrior ovary) มี 3 ห้อง ไข่อ่อนยึดติดแกนรังไข่ (axile placentation) ก้านเกสรตัวเมียมีขนสั้นๆ ปลายขนพองกลม
    การพัฒนาของช่อดอกเกิดจากลำต้นโดยตรง ลำต้นเจริญชูสูงขึ้นตรงปลายมีแผ่นใบรูปหัวใจเล็กๆ มีกาบบางใสหุ้มรอบและมีกาบหนาหุ้มรอบส่วนนี้กับโคนก้านใกล้เคียง และบริเวณโคนก้านใบที่อยู่บนลำต้นนี้มีลักษณะป่องเล็กน้อย เป็นส่วนของกระเปาะที่เกิดของช่อดอก เมื่อช่อดอกเจริญ ลำต้น และก้านใบนี้ยืดยาวขึ้น ทำให้กาบใบที่หุ้มขาดออกจากกัน เมื่อช่อดอกเจริญมากขึ้นจะค่อยๆ แทงออกทำให้กระเปาะปริและดอกย่อยทยอยบานจากโคนช่อ ดอกย่อยแต่ละดอกบานเพียงวันเดียว และบานช่วงเช้าเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ พอตกเย็นดอกย่อยจะหุบกลีบดอกขดเป็นเกลียว ช่อดอกจะโค้งงอลงสู่พื้นน้ำและพัฒนาเป็นผลต่อไป
  • ผล แบบผลแห้งแตก (capsule) แบ่งเป็น 3 พู เมื่อแก่แตกกลางพู (loculicidal capsule) ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ฐานกลมขนาด 0.3 x 1.0 เซนติเมตร ปลายผลมีลักษณะแหลมยื่นออกมา
  • เมล็ด มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดกลมอยู่ภายในผล มีขนาด 0.25 x 1.17 มิลลิเมตร มีสันตามแนวยาวของเมล็ด 10-12 สัน
    การติดเมล็ดของผักตบชวาตามธรรมชาติมีเปอร์เซ็นต์ไม่สูงมากนักและปริมาณการติดเมล็ดตะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เช่น อินเดีย มีรายงานการติดเมล็ด 35 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่น 16-25 เปอร์เซ็นต์ ไทย 9 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีการช่วยผสมเกสรการติดเมล็ดจะสูงขึ้นคือประมาณ 20-91 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ผักตบชวานั้นๆ ขึ้นอยู่
    จำนวนเมล็ดผักตบชวาในธรรมชาตินั้นได้มีรายงานว่าในพื้นที่ 1ไร่ มีเมล็ดของผักตบชวาจมอยู่ในโคลน 18 ล้านเมล็ด และมีชีวิตอยู่ในดินได้นานถึง 15 ปี เมล็ดสามารถมีชีวิตอยู่ในช่วงอุณหภูมิระหว่าง -4 -40 เซลเซียส ปรกติเมล็ดงอกได้ในสภาพอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 22 เซนเซียส และอยู่ในสภาพที่มีแสง

paktopchawako
paktopchawadok

การขยายพันธุ์ สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือการสืบพันธุ์ไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) โดยการแตกไหล (stolon) และการสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ (sexual reproduction) โดยใช้เมล็ด แต่การขยายพันธ์ส่วนใหญ่จะงอกไหลออกมาจากต้นแม่

paktopchawaton

การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์
ผักตบชวาเป็นพืชพื้นเมืองของทวีอเมริกาใต้ เข้าใจว่ามีการกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล แม้ว่าในปัจจุบันผักตบชวาจะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่เอกสารทางพฤกศาสตร์ไม่ได้เคยมีบันทึกเรื่องผักตบชวาเลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2367 เมื่อนักพฤกษศาสตร์และนายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Karl von Martius ได้ไปพบเข้าในขณะที่ทำการสำรวจพันธุ์พืชในบราซิล ในประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ผักตบชวาไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ให้แก่วงการต่างๆ เลย ทั้งนี้ก็เพราะว่าในถิ่นกำเนิดของมัน มีศัตรูธรรมชาติเช่น แมลง โรค และศัตรูอื่นๆ คอยควบคุมการระบาดอยู่แล้ว แต่เมื่อถูกนำไปจากถิ่นกำเนิดซึ่งปราศจากศัตรูธรรมชาติ ผักตบชวาจึงเจริญเติบโตออย่างรวดเร็วและถึงขั้นทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ ประวัติการแพร่กระจายของผักตบชวา จากถิ่นเดิมในอเมริกาใต้ไปยังส่วนต่างๆ ของโลก ในชั่วระยะเวลาไม่ถึง 100 ปีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

เท่าที่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ผักตบชวาได้ถูกนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น นำไปแสดงในงานนิทรรศการฝ้าย (Cotton State Exposition) ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริการเมื่อปี พ.ศ. 2427 โดยการไปเก็บมาจากแม่น้ำโอริโนโกในประเทศเวนีซูเอลาในทวีปอเมริกาใต้ แล้วแจกเป็นของที่ละลึกแก่บุคคลสำคัญที่มาเที่ยวชมคนละต้น หลังจากงานนั้น 11 ปี แม่น้ำเซ็นต์จอห์น ในรัฐฟลอริดาซึ่งอยู่ห่างจากเมืองนิวออร์ลีนส์ไปทางใต้ถึง 600 ไมล์ เกิดมีแพผักตบชวายาวถึง 100 ไมล์ และคลุมบริเวณห่างจากฝั่งไป 200 ฟุต แพผักตบชวาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของโรงเลื่อย เพราะซุงไม่สามารถจะลอยเข้าไปยังโรงเลื่อยได้ จนในที่สุด รัฐฟลอริดาได้ร้องเรียงไปยังรัฐสภาเพื่อขอความช่วยเหลือในด้านการป้องกันกำจัดผักตบชวา

ในปี พ.ศ. 2424 ชาวดัทซ์ที่ปกครองประเทศอินโดนีเซียได้นำผักตบชวา ซึ่งขณะนั้นมีปลูกกันเฉพาะในสวนพฤกษชาติในหลายประเทศในทวีปยุโรป เข้ามายังประเทศอินโดนีเซีย เพราะผักตบชวามีดอกสีฟ้าเป็นช่อตั้งสวยงามคล้ายคลึงกับดอก hyacinth ซึ่งเป็นไปประดับของประเทศในเขตอบอุ่น คำว่า water hyacinth อันเป็นชื่อสามัญภาษาอังกฤษของผักตบชวาก็ถือกำเนิดมาจากคำนี้เอง เมื่อแรกนำเข้าก็ได้ปลูกเลี้ยงไว้อย่างดีในสวนพฤกษชาติที่เมืองโบกอร์ แต่ต่อจากนั้นไม่นาน ก็แพร่กระจายไปตามลำน้ำต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ในปี พ.ศ. 2444 ได้มีการนำผักตบชวาจากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาปลูกในวังสระประทุม เพราะเห็นว่าดอกผักตบชวาสวยงามสามารถใช้ประดับสระน้ำได้ดี แต่ภายหลังเกิดน้ำท่วมวังสระปทุม ผักตบชวาหลุดลอยออกไปสู่ลำคลองภายนอก แล้วเริ่มระบาดไปตามที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว จนถึงปี พ.ศ. 2456 จึงได้มีพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวาออกมา

ภาครัฐบาลและเอกชน หาวิธีการกำจัดผักตบชวาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ไม่ค่อยได้ผลนัก จึงได้หาแนวทางในการนำผักตบชวามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็สมารถนำมาใช้ได้หลายลักษณะ เช่น เป็นอาหารสัตว์ ใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟาง เพาะชำต้นไม้ ใช้ผลิตก๊าชชีวภาพ ใช้ผลิตปุ๋ยจำหน่ายได้ทั้งตลาดท้องถิ่น ตลาดกลาง หรือแม้แต่ตลาดต่างประเทศ ทำให้สามารถเปลี่ยนวัชพืชที่ไม่มีคุณค่าให้เป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างการกระจายรายได้สู่ประชาชนในชนบทเป็นอย่างดี และเป็นการช่วยลดมลภาวะทางน้ำอีกทางหนึ่งด้วย ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวานับว่าเป็นการสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ เนื่องจากใช้วัสดุส่วนใหญ่จากธรรมชาติ ประกอบด้วยงานหัตถกรรมจักสาน ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยมานับตั้งแต่โบราณกาล คนไทยรู้จักการประดิษฐ์เครื่องจักสานนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหลายชนิด เช่น กระจาด กระบุง ตะกร้า เป็นต้น และได้สืบทอดงานฝีมือสู่ลูกหลานเรื่อยมา ดังนั้น การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาจึงเป็นที่ไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับคนไทยแบบหยาบๆ

ผักตบชวา 1 ต้น สามารถให้เมล็ดได้ถึง 5,000 เมล็ด เมล็ดผักตบชวาเมื่ออยู่ในแหล่งน้ำจะมีชีวิตได้นานถึง 15 ปี ผักตบชวาสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการแตกหน่อ ผักตบชวา 2 ต้น สามารถแตกใบและเจริญเติบโตเป็นต้นได้ถึง 30 ต้น ภายในเวลา 20 วัน หรือเพิ่มน้ำหนักขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 10 วัน สามารถขยายตัวครอบคลุมผิวน้ำได้อัตราร้อยละ 8 ต่อวัน ถ้าเริ่มปล่อยผักตบชวาในแหล่งน้ำเพียง 10 ต้นจะสามารถแพร่กระจายเพิ่มปริมาณเป็น 1 ล้านต้น ภายในระยะเวลา 1 ปี ผักตบชวาได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางโดยเฉพาะในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากการเกิดมลภาวะจากการเกษตรกรรม น้ำเสียจากชุมชนและอุตสาหกรรม ตลอดจนน้ำทิ้งจากบ่อปลา และฟาร์มสุกร ทำให้ในน้ำมีธาตุอาหารพืชสูง ทำให้ผักตบชวาเติบโตและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าเฉพาะในบริเวณน้ำท่าจีนจะมีผักตบชวาไหลลงสู่อ่าวไทย คิดเป็นน้ำหนักสดประมาณวันละ 2,000 ตัน ผลกระทบจากการแพร่กระจายของผักตบชวาในแหล่งน้ำและแม่น้ำต่างๆ ทำให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  1. ด้านการชลประทาน ผักตบชวาทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้ผลตามเป้าหมาย เนื่องจากทำให้อัตราการไหลของน้ำลดลงประมาณ 40% ขัดขวางการระบายน้ำของประตูน้ำ ทำให้เกิดการตื้นเขินของแหล่งน้ำต้องขุดลอกบ่อย และประการสำคัญคือ ผักตบชวาทำให้การระเหยน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีผักตบชวาปกคลุมถึง 3 – 5 เท่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ผักตบชวาสามารถระเหยน้ำได้สูงถึง 0.35 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าคิดเป็นพื้นที่ทั่วประเทศ จะสูญเสียประมาณละ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
  2. ด้านการผลิตไฟฟ้า ผักตบชวาจะลดอายุการใช้งานของเขื่อน เนื่องจากการตกตะกอนทำให้ตื้นเขิน นอกจากนี้ยังทำให้ปริมาณน้ำลดลง เนื่องจากการระเหยน้ำของผักตบชวามากกว่าปกติสูงถึง 3 – 5 เท่า ดังกล่าวมาแล้ว

การใช้ประโยชน์จากผักตบชวา มีวิธีการต่างๆ เช่น

paktopchawahang paktopchawatang
paktopchawasan

  1. การทำสิ่งประดิษฐ์ ใช้ทำเป็นของใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เปลญวน เครื่องจักสานนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับงานหัตถกรรม เช่น รองเท้าแตะ ตระกร้าใส่เสื้อผ้า ถาดรองผลไม้ ถาดรองแก้วน้ำ กล่องใส่กระดาษทิชชู ฯลฯ
  2. ด้านปศุสัตว์ ใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบผักตบชวาใช้นำมา เลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เนื่องจากมีคุณค่าทางสารอาหาร พบว่าใบผักตบชวาเมื่อนำมาตากแห้งมีโปรตีนประมาณร้อยละ 14-20 ไขมันร้อยละ 1-2.5 กากหรือเยื่อใยประมาณร้อยละ17-19 คุณค่าทาง สารอาหารจะผันแปรตามความอ่อนแก่ของใบผักตบชวาใบอ่อนจะมี คุณค่าทางอาหารสูงกว่าใบแก่ และขึ้นอยู่กับสัดส่วนของก้านและใบ โดยทั่วไปส่วนของใบจะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าก้านใบ
  3. ด้านการเกษตร นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก สำหรับการปลูกพวกพืชผักอื่นๆ คลุมต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ให้เกิดความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผักตบชวามีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี ทำเป็นวัสดุปรับปรุงดิน ใช้ในการเพาะเห็ดโดยนำผักตบชวาขึ้นมาจากน้ำปล่อยทิ้งเอาไว้ประมาณชั่วโมงเศษๆ ใช้มีดสับเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-10 ซม. ทั้งส่วนราก ลำต้นและใบ แล้วจึงนำไปเพาะเห็ดฟางได้เหมือนกับการเพาะโดยใช้ฟางข้าว
  4. ด้านอาหาร ดอกอ่อนและก้าน ใบอ่อน กินเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้ม
  5. ด้านสมุนไพร ใช้แก้พิษภายในร่างกาย และขับลม ใช้ทาหรือพอกแก้แผลอักเสบ
  6. ด้านการบำบัดน้ำเสีย ใช้ผักตบชวากรองน้ำเสีย เพราะผักตบชวามีคุณสมบัติทำหน้าที่เป็นตัวกรอง ซึ่งเรียกว่า เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ คือ การนำผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่มีอยู่มาก มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก และสารพิษจากแหล่งน้ำเน่าเสีย และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหมั่นนำผักตบชวาออกจากบึงทุกๆ 10 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผักตบชวามีการเจริญพันธุ์จนบดบังแสงแดดที่จะส่องลงไปในบึง สถานที่แรกในประเทศไทยที่ใช้การบำบัดด้วยวิธีนี้คือ “บึงมักกะสัน” ซึ่งเป็นโครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้หลักการบำบัดน้ำเสียตามแนวทฤษฎีการพัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา
  7. ด้านพลังงาน โดยใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้ผักตบชวาเป็นตัวเชื่อมประสานในการทำแท่งเชื้อเพลิงจากฟางข้าวและแกลบ

paktopchawapui

paktopchawatan

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้น้ำ

แสดงความคิดเห็น