CSA (Community supported Agriculture) หรือ ระบบการตลาดที่ผู้บริโภคให้การสนับสนุนผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ คือหนึ่งในความพยายามเพื่อดำรงวิถีชีวิต แห่งการกินอยู่ ของผูคนในโลก ที่ตั้งคำถามต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นระบบที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค และใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม
เกิดขึ้นครั้งแรกในทศวรรษที่ 1960 ปรากฎการณ์สำคัญดังกล่าว เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ในยุโรปผู้บริโภคและเกษตรกรได้ร่วมกันจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเพื่อให้ฟาร์มสามารถมีค่าใช้จ่ายดูแลสิ่งแวดล้อมได้เต็มที่ ส่วนที่ญี่ปุ่น เกิดจากความกังวลว่าพื้นที่ทางเกษตรจะลดลง กลุ่มแม่บ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่ออุดหนุนเกษตรกรโดยตรง โดยมีชื่อโครงการว่า Teikei
CSA (Community Supported Agriculture) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า การเกษตรที่ชุมชนให้การสนับสนุน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับทั้งเกษตรกรที่ปลูกพืชผักอินทรีย์ และผู้ที่อยากบริโภคผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ เรียกว่าเป็นจุดพบกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยไม่ต้องมียี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือคนกลางที่ไม่เข้าใจในวิถีเกษตรอินทรีย์มามีเอี่ยวให้มากความ ระบบ CSA คือ การที่ผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผักอินทรีย์กับเกษตรกร ร่วมแบ่งรับความเสี่ยงในการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีผลผลิตที่ไม่แน่นอน โดยผู้บริโภคจะส่งเงินค่าผลผลิตให้แก่เกษตรกรเป็นรายปีหรือรายเดือน และอาจรับผักเป็นรายอาทิตย์ หรือแล้วแต่จะตกลงกัน ผลผลิตนั้นจะเป็นไปตามฤดูกาล ขึ้นกับว่าเกษตรกรจะปลูกพืชผักชนิดไหนได้ในช่วงนั้น ผู้บริโภคอาจไม่ได้เลือกสินค้าตามที่ตัวเองอยากกินได้ตลอด อาจฟังดูแปลกอยู่บ้างสำหรับผู้บริโภคบ้านเราที่เคยชินกับการได้เลือกซื้อ นั่นนี่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดสด แต่มันไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบหรอกค่ะ ถ้าเราจะไม่เอาแนวคิดของการซื้อขายในระบบทุนนิยมที่เคยชินมาเป็นฐานคิด เพราะว่า CSA นั้นเป็นระบบที่ผูกด้วยความสัมพันธ์อย่างแท้จริงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่ร่วมกันหาจุดลงตัวด้วยกันมากกว่า ใช่ว่าคุณผู้ซื้อที่ลงเงินก้อนไปก่อนนั้นจะเสียเปรียบหรือไม่ฉลาด ตัวเกษตรกรผู้ปลูกก็ต้องใช้ความพยายามในการปลูกผักดีๆ ให้คุณผู้ซื้อได้กินเช่นกัน
จุดเริ่มต้น CSA
จากปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการผลิต การบริการและการบริโภคในระบบอุตสาหกรรม ภายใต้ลัทธิทุนนิยม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม โดยที่ภาคการเกษตร ถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่เข้ามามีส่วนกำหนดและชี้นำนโยบาย ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียอิสรภาพ และอำนาจในการกำหนดรูปแบบการผลิต ในแบบวิถีของตนเอง สูญเสียการควบคุมพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจากการใช้ เครื่องจักรขนาดใหญ่ และจากการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต อาหารมีการปนเปื้อนสารพิษ การใช้พลังงานในการขนส่งอาหารมาจากที่ไกลๆ ปริมาณขยะที่ใช้บรรจุหีบห่อ เพื่อยืดอายุของอาหาร ที่ต้องนอนรอผู้ซื้อในชั้นวางสินค้า สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง และ ระบบความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน ความเคารพต่อธรรมชาติ และกฎของธรรมชาติ รวมถึงความเป็นธรรมในสังคม ล้วนถูกละเมิด ด้วยกลไกโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจแบบเงินเป็นใหญ่ ที่กระตุ้นให้คนบริโภคมากๆ ผ่านกลไกตลาด เพื่อหวังผลตอบแทนเดียวคือ กำไรสูงสุด
การพยายามกู้วิกฤตระบบ เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ และความเป็นธรรมต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งคน สัตว์ และธรรมชาติ ตลอดจนการเคารพในกฎของธรรมชาติ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณการใช้พลังงานในการผลิตอาหารที่ต้องนำส่งมาจากที่ไกลๆ และการกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วยการผลิตอาหารในระบบที่เป็นมิตรต่อคน และสิ่งแวดล้อม เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ได้ก่อเกิดการพัฒนาแนวความคิด และรูปแบบในระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกัน ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย การก่อกำเนิดแนวความคิดนี้ ทำให้เกิดกระแสของกลุ่มผู้บริโภค ที่ตื่นตัว หันไปให้การสนับสนุนการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในแถบอเมริกาเหนือ ใช้คำว่า Community Supported Agriculture ส่วนในญี่ปุ่น เรียกระบบนี้ว่าteikei ซึ่งทั้งสองรูปแบบ ต่างมีความเหมือนกันคือ เป็นความพยายามที่จะร่วมมือกันของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่มาจับมือกัน เพื่อผลิตอาหารที่ดี ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในประเทศไทย ประมาณ ปี พ.ศ. 2542 สวนดวงตะวัน ที่ดำเนินงานโดย นายดิสทัศ โรจนลักษณ์ เป็นผู้จัดการฟาร์ม รับเอาแนวคิดนี้มาจากอเมริกา และญี่ปุ่น โดยมีหน่วยงานอาสาสมัครญี่ปุ่น (JVC) เข้ามาร่วมก่อตั้งและพัฒนาระบบ CSA นี้ เป็นครั้งแรกอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้แนวคิด ที่ว่า ผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาร่วมมือกัน อุ้มชูระบบเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคเป็นผู้ลงทุนด้านตัวเงิน ผู้ผลิต หรือเกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินและปัจจัยการผลิต โดยเกษตรกรต้องคำนวณต้นทุนและค่าใช้ ต่างๆ รวมไปถึงเงินยังชีพตลอดฤดูกาลผลิต ให้ออกมาเป็นเงินที่สามารถเฉลี่ยได้ว่าผู้บริโภคจะร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงิน เท่าไหร่ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้มาทั้งหมด ก็นำมาแบ่งปันกัน ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก หรือผลไม้ที่มีอยู่ในฟาร์ม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 หน่วยอาสาสมัครแคนาดา มีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม โดยให้ความสนใจกับการนำระบบ CSA Community Supported Agriculture มาใช้ ซึ่งในปัจจุบัน มีเกษตรกรรายย่อยที่ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตมาเป็นเกษตรอินทรีย์และอยู่ได้ ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอาหารที่ดี และมีส่วนสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ก่อให้เกิดความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเกิดวิกฤตอยู่ในขณะนี้ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบ CSA ในสังคมไทยขึ้น โดยรับอาสาสมัคร ที่เป็นคนไทยมารับผิดชอบโครงการ โครงการผักประสานใจ ผู้ผลิต เพื่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจาก นางระวีวรรณ ศรีทอง ซึ่งเคยเป็นอาสาสมัครแคนาดา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2546 ได้เริ่มนำแนวความคิด CSA มาทดลองทำภายใต้ชื่อ โครงการผักประสานใจผู้ผลิตเพื่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อต้องการทดลองหารูปแบบการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ผลิต เริ่มต้นจากฟาร์มของตนเองโดยความร่วมมือกับผู้บริโภคที่มีความสนใจเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม จาก สมาชิก 10 รายในปีแรก ขยับมาเป็น 20 รายในปีที่ 2 ประกอบกับการที่สวนดวงตะวันปิดตัวลงจึงมีสมาชิกบางส่วนโอนมาเป็นสมาชิกกับ โครงการนี้ต่อ
ก่อนหน้านั้น นางระวีวรรณ เคยมีประสบการณ์ในด้านการส่งเสริมการตลาดให้กับชมรมผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ สุพรรณบุรีซึงผลิตพืชผักอินทรีย์จำหน่ายเป็นหลักมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 โดยทำการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจำหน่ายผลผลิตผ่านตัวแทนบริษัท จำหน่ายให้กับร้านค้าปลีก จำหน่ายตรงให้โรงเรียน รวมไปถึงการส่งออกไปต่างประเทศ เป็นต้น ถึงแม้จะมีการส่งตรงไปที่โรงเรียนบ้าง แต่ปัญหาที่พบคือปริมาณการรับซื้อไม่มากพอกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าขนส่ง ประกอบกับเวลาเกิดภัยธรรมชาติฝนตกหนัก หรือฝนแล้ง พืชผักมักเกิดความเสียหายได้ง่าย เกษตรกรยังคงเป็นผู้รับภาระความเสี่ยง และความเสียหายนี้แต่เพียงลำพัง รวมถึงวิธีการจำหน่าย เกษตรกรลงทุนเป็นเงินสด แต่เวลาจำหน่ายกลับได้รับเป็นเงินเชื่อ สรุปบทเรียนได้ว่า ถึงแม้เกษตรกรจะทำการผลิตภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์ และมีมาตรฐานมารับรองผลิตผลของตนก็ตาม เกษตรกรก็ยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ผู้ซื้ออยู่ดี เพราะถึงอย่างไร การจำหน่ายยังอยู่ภายใต้กลไกการค้าที่เป็นกระแสหลัก เกษตรกรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เสียไป และต้องฟื้นฟูกลับคืนมา และค่าใช้จ่ายต่างๆที่เป็นการยังชีพตามความจำเป็น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต
ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2548 นางระวีวรรณ จึงได้ถ่ายโอน สมาชิกโครงการผักประสานใจฯ ให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดำเนินการต่อ เพราะจากประสบการณ์ที่ทดลองทำมาก่อน 2 ปี ทำให้มองเห็นว่า ระบบ CSA นี้ สามารถช่วยเหลือ และสนับสนุนให้เกษตรกรยังคงดำรงวิถีชีวิตอยู่ในภาคเกษตรกรรมได้อย่างแท้จริง
หลักการและแนวคิด
โครงการผักประสานใจฯ ยังคงยึด แนวคิดและหลักการไม่แตกต่างไปจาก ระบบ CSA ที่ทำกันในต่างประเทศแต่ประการใด หลักการสำคัญได้แก่
รูปแบบและการจัดการ
ด้วยเหตุที่กลุ่มเกษตรกรที่ทำการผลิตภายใต้ชื่อ โครงการผักประสานใจ ผู้ผลิต เพื่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม นั้น เป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ค่อยได้ จึงจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียง จึงเป็นเรื่องง่ายที่นำระบบ CSA นี้ เข้าไปใช้
ในเบื้องต้น ทางโครงการฯยังคงรับทำหน้าที่ในด้านเอกสาร การจดบันทึก ข้อมูลต่างๆ ให้ รวมทั้งการควบคุมปริมาณการวางแผนการผลิต การควบคุมดูแลคุณภาพ การจัดส่ง ตลอดจนการประสานงานกับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก ต่อมาเมื่อกลุ่มเริ่มทำการผลิตมาได้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีการพัฒนา และเรียนรู้ ที่จะบริหารจัดการเอง เท่าที่จะสามารถทำได้ อาทิเช่น การจดบันทึกปริมาณผักที่เกษตรกรแต่ละรายผลิต และนำมาส่งให้กลุ่ม การประชุมวางแผนการผลิต การจดบันทึกรายรับ-จ่าย ของกลุ่ม การทำบัญชีรับ-ส่งผักของกลุ่ม การทำข้อมูลบันทึกการส่งผักให้สมาชิกในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้มีการ บริหารในระบบกลุ่ม คือมีการหักเงินรายได้ เป็นเงินออม ฝากไว้ทีกลุ่มเพื่อไว้สำหรับใช้หนี้ และเป็นเงินทุนสำรองให้กับครอบครัว โดยทางโครงการจะจัดทำเป็นบัญชีรายรับให้กับเกษตรกรแต่ละราย และสรุปเป็นรายเดือน และแจ้งให้แก่เกษตรกรได้รับทราบ ซึ่งในรอบปี 2551 เกษตรกร มีเงินออมรวมกันทั้งกลุ่มเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 121,470 บาท จากจำนวนเกษตรกรทั้งสิ้น 8 ครอบครัว และเป็นเงินรายได้ที่ได้จากการผลิตผักส่งให้แก่สมาชิกในรอบปี 2551 อีกเป็นจำนวนเงิน 485,880.บาท เฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้ตกคนละ 60,735. บาทต่อปี
ทุกวันนี้ เกษตรกรสามารถที่จะประชุมวางแผนการผลิตกันเอง มีระบบตรวจสอบคุณภาพ การคัดคุณภาพ และมีการบรรจุหีบห่อที่เน้นการลดปริมาณขยะ มีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาห่อผัก และการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจดบันทึกทำบัญชีของกลุ่มได้เอง ซึ่งเป็นการทำควบคู่ไปกับทางโครงการเพื่อเป็นการตรวจเช็ค ความถูกต้อง ในการรับ-จ่ายเงินระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับโครางการ มีการประสานงานระหว่างพี่เลี้ยงหรือผู้ประสานงานกับกลุ่มเกษตรกร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มเกษตรกรเองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่อีกมาก อาทิเช่น การเดินทางเข้าเมืองเพื่อไป เบิกจ่ายเงิน ด้วยเพราะชุมชนเกษตรกรอยู่ห่างไกลเมืองมาก และไม่ค่อยปลอดภัยที่จะถือเงินจำนวนมาก ด้วยเกรงว่าหากเกิดความผิดพลาดมาจะรับผิดชอบไม่ไหว จึงยังคงให้ทางโครงการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ให้กับทางกลุ่มอยู่ รวมทั้งการติดต่อประสานงานกับสมาชิกในโครงการฯ ด้วยเพราะระบบการสื่อสารในชุมชนยังไม่ดี ติดต่อยาก จึงไม่สะดวกที่จะประสานโดยตรงไปยังสมาชิก
ในทางด้านสมาชิกที่เป็นผู้บริโภค จากจุดเริ่มต้นของโครงการ ปีที่ 1 มีสมาชิกเพียง 10 ราย มาในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 80 ราย ซึ่งทางโครงการได้มีการคำนวณเงินทุนที่ครอบคลุม ค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าขนส่ง อยู่ ที่จำนวนสมาชิกที่เป็นผู้บริโภค ไม่น้อยกว่า 100 ราย โดยมีกำลังการผลิตภายในกลุ่มสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตจำนวน 10 ครอบครัว อยู่ที่ สัปดาห์ละ 300 ถึง 350 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ โดยคิดเฉลี่ยในอัตราการส่งผักให้กับสมาชิกที่เป็นผู้บริโภค ในสัปดาห์ละ 3 กิโลกรัม ในราคา 250 ต่อสัปดาห์ ซึ่งในที่นี้ แบ่งเป็น ค่าผัก กก.ละ 50 บาท ค่าขนส่ง 60 บาทต่อครั้ง และ 40 บาทต่อชุด เป็นค่าบริหารจัดการโครงการ ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าว เป็นความตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ ทางโครงการยังมี การทำจดหมายข่าว เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต กับสมาชิกที่เป็นผู้บริโภค ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคได้รับรู้ สภาพความเคลื่อนไหวในพื้นที่ของเกษตรกร รวมทั้งให้ข้อมูลด้านการบริโภค การให้ความรู้แนะนำพืชผักที่สมาชิกไม่คุ้นเคย เพื่อนำไปประกอบอาหาร ซึ่งผู้บริโภคต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเป็นอย่างมาก ต้องบริโภคพืชผักตามฤดูกาลมากขึ้น คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในขณะที่ตนเองบริโภค
ปัญหาและอุปสรรค
สรุปบทเรียน
ปัจจุบันนี้ กลุ่มเกษตรกรต่างปลดภาระหนี้สินกันหมดทุกครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกครอบครัว เริ่มสร้างบ้านเรือนที่มีความมั่นคงถาวร ที่จะให้ครอบครัวของตนเองได้อยู่อย่างอบอุ่นและมีความสุข มีการส่งผ่านความคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ไปยังบุตรหลาน และเยาวชนในชุมชน ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงความคิด และรู้สึกได้ว่า สุขภาพของตนเองเปลี่ยนไป แข็งแรงขึ้น ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถรับประทานพืชผัก ได้หลากหลายขึ้น พัฒนาทักษะการทำอาหารได้หลากหลาย เกิดความภาคภูมิใจ ที่ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคง และ เวลาที่สมาชิกมาเยี่ยมฟาร์ม รู้สึกเหมือนมาเยี่ยมญาติ มีความรู้สึกใกล้ชิดและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ในแต่ละปี ถึงแม้จะมีสมาชิกบอกยกเลิกประมาณ 5-10 ราย แต่จะมีสมาชิกที่เข้ามาใหม่ 10-20 ราย ทุกปี สำหรับสมาชิกที่เข้ามาใหม่ มีความเข้าใจหลักการมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน กิจกรรมต่างๆ ที่ทางโครงการฯได้จัดไว้ ได้แก่ การได้มาเยี่ยมฟาร์ม การได้มาประชุมพบปะหารือถึงปัญหาต่างๆ และนำสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน การที่ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า CSA ก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และมั่นใจต่อระบบการผลิตอาหารที่ดี โดยไม่ต้องการการรับรองจากมาตรฐานใดๆ ซึ่งระบบตลาดทั่วไปไม่มี
การเกษตรที่ดีที่สนับสนุนโดยชุมชน หรือ CSA จึงเป็นแนวความคิด ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรายย่อยในบ้านเราได้เป็นอย่างดี เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ ตลอดจน ครอบครัว เป็นสุข ส่วนผู้บริโภคเองก็ได้รับอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ไร้กังวล และท้ายที่สุด ชุมชน สังคม และโลกของเรา ต่างก็ได้รับการฟื้นฟู ดูแล รักษาและปกป้อง โดยระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ เพื่ออนาคตที่ดีของคนรุ่นต่อไป
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน, สวนผักคนเมือง