ผักหนาม หรือชื่อท้องถิ่น กะลี จะพบได้ตามแหล่งธรรมชาติในทุกภาคของไทย มีสรรพคุณทางยา อย่างยอดอ่อน ใบอ่อน นำมาต้มจิ้มน้ำพริก ขณะที่ลำต้นนำมาตากแห้ง แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้คัน เป็นต้น ผักหนาม ยอดอ่อนและใบอ่อนรับประทานเป็นผัก โดยนำมาลวก หรือต้มกับกะทิ หรือทำผักดอง กินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกง แกงส้ม แกงไตปลา หรือผัด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lasia spinosa (L.) Thwaites.
ชื่อวงศ์ : Araceae
ชื่ออื่นๆ : กะลี (มลายู, นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ผักหนาม เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อย ทอดขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น มีหนามแหลมตามลำต้น ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ชอบความชื้นมาก แสงแดดเต็มวัน
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ลำต้น, ราก, ใบ, เหง้า, ทั้งต้น
สรรพคุณตามตำรายาไทย :
ลำต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัดเหือด และไข้ออกผื่น สุกใส ดำแดง และใช้ถอนพิษ
ใบ แก้ปวดท้อง แก้ไอ
ราก ต้มน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ แก้เจ็บคอ
รากและใบ ใช้ขับเสมหะ
เหง้า เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัด เหือด สุกใส ดำแดง และโรคผิวหนัง
ทั้งต้น แก้ปัสสาวะพิการ
การปรุงอาหาร
ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน นำมาทำให้สุกโดย ลวก นึ่ง ต้ม หรือนำมาดองรับประทานเป็นผัก ร่วมกับน้ำพริก และนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม แกงไตปลา ผัด
ผักหนาม รสจืด ผักหนามดอง รสเปรี้ยว
ข้อควรระวัง
ผักหนามใบและก้านใบสด มีสารไฮไดรไซยาไนต์ (hydrocyanic acid) ซึ่งเป็นพิษจะต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนจึงรับประทานได้
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน