โครงการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน

23 สิงหาคม 2558 ภูมิปัญญา 1

พืชผักเป็นพืชอาหารที่คนไทยนิยมนำมาใช้รับประทานกันมากเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูง แต่ค่านิยมในการบริโภคผักนั้น มักจะเลือกบริโภคผักที่สวยงามไม่มีร่องรอยการทำลายของหนอนและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้เกษตรกรที่ปลูกผักจะต้องใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงฉีดพ่นในปริมาณที่มาก เพื่อให้ได้ผักที่สวยงามตามความต้องการของตลาด เมื่อผู้ซื้อนำมาบริโภคแล้วอาจได้รับอันตรายจากสารพิษที่ตกค้างอยู่ในพืชผักนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวเกษตรกรจึงควรหันมา ทำการปลูกผักอินทรีย์ โดยนำเอาวิธีการทางชีวภาพหลากหลายวิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นการทดแทนการใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ผักใบมีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นประมาณ 1 เดือน หากเกษตรกรศึกษาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธีและจริงจังแล้วก็จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ทั้งผักอินทรีย์จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่สามารถจะทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมากมายและมั่นคงอีกด้วย

pagrongreanpag

ก่อนที่เกษตรกรจะตัดสินใจลงทุนปลูกผักในโรงเรือน เกษตรกรจะต้องศึกษาหาความรู้ ดูงาน และฝึกงานจากแหล่งผลิตที่ประสบความสำเร็จก่อน ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจถึงการจัดการเรื่องปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องและปฏิบัติเองได้ก่อน จึงค่อยตัดสินใจลงทุนได้ และจะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ลำดับความสำคัญของปัจจัยพื้นฐานในการเกษตรในการปลูกผักอินทรีย์ คือ

  1. ปุ๋ยอินทรีย์ : ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหัวใจของเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ด้วย
    จุลินทรีย์และมีคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์มาตรฐานกรมวิชาการเกษตร เท่านั้น จึงจะเป็นปุ๋ยที่
    มีประสิทธิภาพสูงสุด
  2. วัสดุเพาะกล้า วัสดุปลูกพิเศษ : มีความสำคัญรองลงมา ส่วนประกอบสำคัญของวัสดุเพาะกล้าและวัสดุปลูกคือปุ๋ยอินทรีย์ และวัสดุเพาะกล้า วัสดุปลูกพิเศษ ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน จะทำให้กระบวนการผลิตราบรื่นสมบูรณ์ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ประหยัดเวลา
    และสามารถทำผลผลิตได้หลายรอบต่อปี
  3. น้ำ: การปลูกผักต้องมีแหล่งน้ำที่สะอาดอย่างพอเพียงตลอดทั้งปี เพื่อที่จะสามารถทำการผลิต
    ผักได้ทั้งปี
  4. แสงแดด อุณหภูมิ อากาศ: การปลูกผักในโรงเรือน จะทำให้สามารถควบคุมแสงแดดและอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการปลูกผักแต่ละชนิดได้ดี
  5. เชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช: การปลูกผักในโรงเรือน เป็นการป้องกันและควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างเป็นรูปธรรม
  6. สายพันธุ์พืช : ในปัจจุบันเราสามารถเลือกซื้อหาเมล็ดพันธุ์ผักมาปลูกได้อย่างสะดวกสบายและมากมาย อีกทั้งยังมีคู่มือการปลูกผักแต่ละชนิดให้ศึกษาอีกด้วย เพียงแต่เราจัดการปัจจัย 5 ข้อแรกให้ได้ก่อน ก็จะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายอย่างแน่นอน

เนื่องจากในปัจจุบัน ศัตรูพืชผักนั้นมีมากมายต้องใช้สารเคมีช่วยในการควบคุมและป้องกันศัตรูพืช สิ่งนั้นเป็นทางเลือกของเกษตรกรที่นิยมทำกัน และผลที่ได้ตามมาคือสารเคมีตกค้างในพืชผักซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต

pagrongreanplang
การแก้ปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ระบบการปลูกผักในโรงเรือน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันแมลงจากภายนอก ง่ายต่อการดูแล และระบบนี้จะเป็นการปลูกผักอินทรีย์ทั้งหมด ไม่ได้ใช้สารเคมีเข้าช่วยแต่อย่างใด ต่อมาก็ได้พัฒนาเป็นระบบการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนทฤษฎีใหม่

ระบบการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือนทฤษฎีใหม่
คือการปลูกผักด้วยดินบนสแตนด์ในโรงเรือน เป็นระบบการผลิตผักอินทรีย์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สามารถแก้ไขปัญหาปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตร คือ
ปุ๋ย ดิน น้ำ แสงแดด อุณหภูมิ อากาศ เชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช และ สายพันธุ์พืชได้อย่างครบถ้วน ทำให้สามารถที่จะผลิตผักที่ปลอดภัยได้อย่างแท้จริง มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่สูง มีความสด สะอาด รสชาติหวานกรอบ และอายุการเก็บรักษาที่ยาวนาน รวมถึงระบบการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้มาตรฐานและระบบการขนส่งที่ทำให้ผักยังมีความสดสะอาดจนถึงมือผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนยี่ทางชีวภาพทางการเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก และเพื่อเป็นการพัฒนาไปสู่การเกษตรอินทรีย์ที่มั่นคงและยั่งยืนได้

ระบบการปลูกผักในโรงเรือนทฤษฎีใหม่
ประกอบด้วย

  1. โรงเรือน
  2. สแตนด์ ( Stand ) กระบะปลูก , แปลงปลูก
  3. ดินวัสดุปลูกพิเศษ วัสดุเพาะกล้า
  4. ปุ๋ยอินทรีย์
  5. แหล่งน้ำ ระบบน้ำ
  6. เมล็ดพันธุ์ผัก
  7. การเพาะกล้า การปลูกผัก
  8. การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช
  9. การเก็บเกี่ยวผลผลิต
  10. การขนส่ง

pagrongreantang

จุดเด่นของการปลูกผักบนสแตนด์ในโรงเรือน

  • เป็นกระบวนการผลิตผักที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างแท้จริง
  • ผลผลิตจะเป็นผักที่ปลอดภัย มีคุณภาพสูง มีความกรอบ รสชาติหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และสามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นาน
  • สามารถผลิตผักได้ทั้งปี
  • เป็นกระแสนิยมในเรื่องของอาหารปลอดภัย

ลักษณะโรงเรือน
เป็นโรงเรือนโครงเหล็ก หลังคามุงด้วยพลาสติกหนาใส ด้านข้างเป็นมุ้งไนลอน ขนาดโรงเรือนมาตรฐาน กว้าง 6 ม. ยาว 21 ม. สูง 2.5 ม.

pagrongreantic

ประเภทโรงเรือน
โรงเรือนมี 2 ประเภทคือ

  1. โรงเพาะกล้า
  2. โรงปลูกผัก
    2.1 โรงปลูกผักบนสแตนด์ ( Stand ) เช่น ผักประเภทผักสลัดทุกชนิด คะน้า กวางตุ้ง เป็นต้น
    2.2 โรงปลูกผักบนดิน เช่น มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำดอก เป็นต้น

ประโยชน์ของโรงเรือน

  • ป้องกันน้ำฝนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ใบผักฉีกขาดเสียหาย ความชื้นแฉะทำให้เกิดเชื้อราโรคราก
    เน่า โคนเน่าได้
  • ป้องกันฝนกรดซึ่งคล้ายน้ำโซดาตกลงมาเป็นสาเหตุทำให้ดินเป็นกรด (ค่า pH ต่ำ) เป็นที่มา
    ของเชื้อโรคพืชต่างๆ เช่น เชื้อราที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า
  • ป้องกันแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้าไปทำลายผักได้
  • การปลูกผักในโรงเรือนทำให้สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ย ปีละ 8 รอบ
  • สามารถควบคุมแสงแดดและอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อผักแต่ละชนิดได้ดี โดยการติดตั้งระบบน้ำ
    ระบบพ่นละอองน้ำเพื่อปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้เหมาะสมอยู่ที่ไม่เกิน 30องศาเซลเซียส

อายุการใช้งาน

  • โครงเหล็ก 10 -20 ปี
  • มุ้งตาข่าย 5 ปี
  • พลาสติกหลังคา 5 ปี

ตัวอย่าง โรงเรือน

pagrongreanklaongpagrongreansa pagrongreanka

วัสดุปลูกพิเศษ และวัสดุเพาะกล้า
วัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกผักที่ยั่งยืน การเตรียมวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าที่ได้มาตรฐานเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการปลูกผักที่ดี และประกอบกับการดูแลที่ดีอีกก็จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งนี้เกษตรกรจะสามารถจัดการและบริหารเวลาการปลูกผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะต้นกล้าโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรงตามกำหนดเวลา และเมื่อลงแปลงปลูกแล้วผักก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วสามารถเก็บเกี่ยวได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
ฉะนั้นถ้าเกษตรกรสามารถเตรียมวัสดุปลูกและวัสดุเพาะที่ได้มาตรฐานได้แล้ว ปัญหาและอุปสรรคก็จะมีน้อยมากเท่ากับกับว่าประสบความสำเร็จไปแล้วกว่า 80%

pagrongreanklas

วัสดุปลูกพิเศษ
คุณสมบัติของวัสดุปลูกที่เหมาะสำหรับการปลูกผักมีดังนี้

  • มีโครงสร้างดี มีลักษณะร่วนซุย มีการระบายน้ำและอากาศดี
  • มีความสามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารพืชสูง
  • มีสภาพความเป็นกรด-ด่าง (ค่า pH) อยู่ระหว่าง 5.5 – 7
  • มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช อีกทั้งอินทรียวัตถุ
  • มีความสะอาดปราศจากเชื้อโรคพืชและวัชพืช
  • มีจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ ช่วยในการเปลี่ยนรูปธาตุอาหารพืช การควบคุมค่าpH
    ของวัสดุปลูก และที่สำคัญควบคุมเชื้อโรคพืช

วัสดุเพาะกล้า
คุณสมบัติของวัสดุเพระกล้า

  • มีลักษณะเนื้อละเอียด ร่วนซุย มีการระบายน้ำและอากาศดี
  • มีความสามารถดูดซับน้ำได้ดี
  • มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารพืชครบและฮอร์โมนพืช
  • มีสภาพความเป็นกรด-ด่าง (ค่า pH) อยู่ระหว่าง 5.5 – 7
  • มีความสะอาดปราศจากเชื้อโรคพืชและวัชพืช
  • มีค่า EC ไม่เกิน 10 เดซิซีเมน/เมตร
  • มีจุลินทรีย์ธรรมชาติ

pagrongreandinpagrongreanwa pagrongreans pagrongreankla

การให้น้ำในแปลง
โดยติดตั้งระบบให้น้ำที่มีวาวล์เปิด-ปิดน้ำอยู่ติดด้านหัวแปลงแล้วต่อสายยางเข้าไปในโรงเรือนปล่อยให้น้ำไหลอาบน้ำเข้าไปในแปลง แทนการลากสายยางเดินรดน้ำไปตามต้นผักทีละต้นการให้น้ำ 2 ครั้ง/วัน เช้า-เย็น หรือให้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาความชื้นของดินในโรงเรือน ถ้าชื้นมากควรเว้นระยะการให้น้ำออกไป วิธีการให้น้ำแบบนี้ช่วยป้องกันเชื้อราเข้ารบกวนบนใบผัก เพราะใบผักจะไม่เปียกน้ำ ขณะที่บริเวณรากของผักจะชุ่มชื้นแทน รวมทั้งรูปแบบการให้น้ำแบบนี้จะให้น้ำแบบสลับร่องในแปลงปลูก เพื่อคนงานจะได้เข้าไปทำงานได้โดยไม่เหยียบย่ำแปลงขณะที่แปลงแฉะ ช่วยป้องกันไม่ให้โครงสร้างของดินเสียหาย

pagrongreannam

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

1 ความคิดเห็น

  1. นายประจวบ ใสดี
    บันทึก มีนาคม 30, 2021 ใน 16:12

    สนใจนำโครงการนี้มาใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ในโรงเรียน ถ้า เป็นโรงเรือนโครงเหล็ก หลังคามุงด้วยพลาสติกหนาใส ด้านข้างเป็นมุ้งไนลอน ขนาดโรงเรือนมาตรฐาน กว้าง 6 ม. ยาว 21 ม. สูง 2.5 ม แบบนี้ต้องใช้งบประมาณเท่าไร ครับ

แสดงความคิดเห็น