ผักแพว ผักไผ่

10 มีนาคม 2559 พืชผัก 0

ผักแพวนิยมกินเป็นผักแกล้มอาหารรสจัดทุกชนิด ถือเป็นผักชนิดสำคัญของอาหารอีสาน อาหารเหนือและอาหารเวียดนาม ผักแพวมีรสชาติเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม มีรสร้อนแรง กินมากๆ จะรู้สึกว่ามีรสปร่าในปาก นิยมนำไปคลุกเป็นเครื่องปรุงสด อาหารประเภทลาบ โดยเฉพาะก้อยกุ้งสด (กุ้งฝอย กุ้งน้ำจืด) นอกจากนี้ยังใส่แกงประเภทปลารสจัดเพื่อตัดกลิ่นคาวปลา นำมาใส่ปรุงรสอาหารประเภทหอยขม ทางภาคเหนือนิยมนำมาใส่ต้มยำ โดยเฉพาะลาบ นอกจากนั้น ผักแพวเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติทางยาสมุนไพร มีรสเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณในการขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีฟอสฟอรัสสูง มีวิตามินเอสูงมาก นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมและวิตามินซีอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygonum odoratum Lour.
ชื่อพ้อง Persicaria odorata (Lour.) Sojak
ชื่อวงศ์ Polygonaceae
ชื่ออื่นๆ ผักแพว (อีสาน) พริกม้า (โคราช) ผักไผ่ (เหนือ) หอมจันทร์ (อยุธยา) จันทน์โฉม จันทน์แดง

ลักษณะ
ผักไผ่หรือที่หลายคนเรียกผักแพว ผักไผ่เป็นไม้ล้มลุก เป็นทั้งผักจิ้มน้ำพริก และยังมีประโยชน์ต่อร่างกายคือยอดมีสรรพคุณเป็นยาขับลมในกระเพาะและช่วยให้เจริญอาหาร ที่มีความสูงประมาณ 20-35 ซม. ลำต้นตั้งตรง มีข้อเห็นชัดเจนเป็นระยะ ๆ บริเวณข้อมักจะมีรากออกมาหากทอดไปตามพื้นดินก็สามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ง่าย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบสลับรูปร่างใบเป็นรูปหอกแกมรูปไข่ขอบใบเรียบ ปลายไปแหลม ก้านใบสั้น ใบกว้าง 2.6-3 ซม. ยาว 5.5-8 ซม. มีหูใบลักษณะเป็นปลอกหุ้มรอบลำต้นบริเวณเหนือข้อดอกสีขาวออกเป็นช่อแบบ raceme ที่ปลาย ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เกสรตัวผู้มี 5 อัน เรียงตัวอยู่รอบ ๆ เกสรตัวเมีย รังไข่แบบ inferior ovary

papaw pagpawdok pagpawyod pagpawton

ประโยชน์ทางยา
ใบ มีรสเผ็ดร้อน ใช้รักษาโรคตับแข็ง แก้ลม-ขับลมในกระเพาะ ช่วยเจริญอาหาร หรือนำใบมาตำให้ละเอียดทาแก้ตุ่ม ผื่นคัน โรคกลากเกลื้อน รักษาโรคหวัด รวมทั้งรักษาโรคตัวจี๊ด แต่ต้องรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน
ราก ใช้แก้ริดสีดวง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อกระดูก รักษาหืด ไอ แก้เจ็บท้อง ท้องเฟ้อ
ดอกขับ ใช้เหงื่อ รักษาโรคปอด แก้เจ็บท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

ประโยชน์ทางอาหาร
ยอดอ่อน และใบอ่อน นิยมรับประทานเป็นผักสด หรือเป็นเครื่องปรุงรสอาหารพื้นบ้าน หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น ลาบ ส้า หลู้เลือด ก้อย (กุ้งสด) อาหารจำพวกยำชนิดต่างๆ เช่น ยำผัก ยำเห็ดฟาง ยำเห็ดโคน ยำจิ้นไก่ ยำไก่ใส่หัวปลี ยำกบ ยำปลา เป็นต้น
ผักไผ่มีกลิ่นหอมฉุน จึงมักใช้เป็นเครื่องปรุงรสหรือช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่นใส่กับลาบ แกง ส่วนชาวใต้มักซอยใส่ในข้าวยำ โดยซอยตามขวางเป็นชิ้นเล็ก ๆ อาจใส่เป็นผักสดหรือต้มให้สุกก่อนก็ได้

pagpawkla

การเก็บรักษา
หากต้องการเก็บรักษาผักไผ่ไว้ได้นานๆ นำผักไผ่ไปผึ่งลมให้แห้งแล้วเก็บผักไผ่ใส่ถุงพลาสติกปิดให้สนิท เก็บใส่กล่องพลาสติกปิดฝาให้มิดชิดเก็บเข้าตู้เย็นช่องใส่ผักได้

ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ด ปักชำ ชอบความชื้น แสงแดดเต็มวัน

pagpaws

ที่มา
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด พืชผัก

แสดงความคิดเห็น