ผักแว่นเป็นเฟินน้ำชนิดหนึ่ง มีอายุหลายปี พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเป็นเหง้าเถาเลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำหรือโคลนเลน พบเห็นได้ทั่วไปตามริมน้ำหรือพื้นดินที่มีน้ำขังแฉะ สามารถนำมากินเป็นผักสด มีคุณค่าทางอาหาร และยังมีสรรพคุณทางยา
ชื่อสามัญไทย : ผักแว่น
วงศ์ : MARSILEACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Marsilea crenata Prel.
ชื่อสามัญ : Water Clover.
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ : ผักลิ้นปี่ (ใต้) หนูเต๊าะ (กระเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ผักแว่น จัดเป็นเฟินน้ำ ลำต้น ค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ลำต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลักษณะเป็นเหง้าเถาเลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำ โคลนเลน ใบ เป็นใบประกอบมีใบย่อยทั้งสี่ใบรูปกรวยปลายมนเป็นรูปลิ่มคล้ายพัด ซึ่งแต่ละไปจะมีเส้นใบแบบ cichotomous คล้ายบัวแฉก ขนาดใบกว้าง 0.6-1.5 ซม. ยาว 0.8-1.9 ซม. โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หรือหยักเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ หรือหยักเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ ไม่มีขน ออกจากตรงกลางตำแหน่งเดียวกัน ใบทั้งหมดรวมกันเป็นลักษณะกลม ก้านใบยาว 4.5-15 ซม. ใบย่อยไม่มีก้านใบ มี sporocarps เป็นก้อนแข็ง ๆ สีดำ รูปขนาน หรือรูปรีคล้ายเมล็ดถั่วเขียว ออกที่โคนก้านใบขณะอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ
ผักแว่นมีลักษณะจำแนกออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
ตำนาน ความเชื่อพื้นบ้านและการนำไปใช้ในพิธีกรรมของชาวเหนือ
ชาวเหนือมีความเชื่อว่าหญิงมีครรภ์ (แม่มาน) ห้ามกินผักแว่น เพราะผักแว่นมีลักษณะเป็นเถาเครือจะทำให้ไปพันคอเด็กเชื่อว่าทำให้คลอดลูกยากหรือปวดท้องก่อนคลอดนาน เปรียบเสมือนรากผักแว่นที่ยึดติดกับโคลน
ผักแว่นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผักก๋ำแหวน เนื่องจากรากคล้ายแหวน มักแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่ายกลางทุ่งนาจนเต็มเป็นผืนใหญ่ แต่ถ้าใช้เท้าเหยียบย่ำก็จะเน่าตายได้ง่าย
การปลูกและขยายพันธุ์
ผักแว่นมักพบขึ้นทั่วไปในบริเวณที่ดินชื้นแฉะหรือในน้ำหรือตามห้วย หนอง คลอง บึง และทุ่งนาที่มีน้ำขังทั่วไป รากของผักแว่นสามารถเกาะติด เจริญอยู่บนพื้นดินหรือเจริญอยู่ในน้ำได้ การขยายพันธ์โดยนำเถาที่มีรากติดอยู่ไปปลูก หรือใช้สปอร์ก็ได้
ประโยชน์
ใช้เป็นยาภายนอก รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียด คั้นเอาน้ำทาบริเวณแผล สารที่ออกฤทธิ์คือ กรด Madecassic, Asiatic acid และ Asiaticoside acid ซึ่งช่วยสมานแผล เร่งการสร้างเนื้อเยื่อ ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ[2]
น้ำต้มใบสด : รสจืดเย็นฝาดหวานเล็กน้อย สมานแผลในปากและลำคอ ดื่มระงับอาการร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย
ในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ผักแว่นมักนำมากินเป็นผักสดกับน้ำพริก หรือเป็นเครื่องเคียงกับอาหารชนิดต่าง ๆ โดยสามารถนำมากินสดได้ทั้ง ใบอ่อน ก้านใบ และยอดอ่อน หรือนำมาปรุงเป็นอาหารรูปแบบอื่น ๆ เช่น แกงผักแว่น ผัดเผ็ดหมูผักแว่น
ในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในเมืองสุราบายา มักนำผักแว่นเสิร์ฟพร้อมกับมันเทศและเพเซล (Pecel) ซึ่งเป็นซอสเผ็ดทำจากถั่วลิสงของอินโดนีเซีย[3]
ชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) ใช้ผักแว่นทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม เพื่อแก้เจ็บคอ แก้เสียงแหบ
ประโยชน์ทางยา
สรรพคุณทางสมุนไพร
ทั้งต้น รสจืดเย็นฝาดหวานเล็กน้อย สมานแผลในปากและลำคอ ระงับร้อน แก้ไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ดับพิษ แก้ดีพิการ
ประสบการณ์พื้นบ้าน
หอมเมืองล้านนา ใช้ทั้งต้นนำมาตำรวมกับน้ำพริกปู๋แก้โรคเก๊าท์ แต่ถ้าเป็นมะเร็งไม่ควรรับประทาน
ยอดและใบอ่อน ใช้รักษาโรคตาอักเสบ โรคต้อกระจก
ถ้าหากมีอาการปวดศีรษะ วิเวียนศีรษะ หรือเชื้อราขึ้นสมอง ให้เอาใบผักหนอก ผักแคบ และใบผักข้าว นำมาโขลกผสมข้าวเจ้านิด ๆ แล้วนำมาพอกศีรษะจะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้
ประโยชน์ทางอาหาร
ยอดอ่อนและเถาอ่อนรับประทานเป็นผักสอ ออกมากในช่วงฤดูฝน
ผักแว่นเป็นผักที่คนไทยทุกภาครู้จักและรับประทานเป็นผัก ผักแว่นเป็นผักที่ออกมากในช่วงลงนาปลูกข้าวราวเดือนสิงหาคม กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ผักแว่นจะมีรสชาติอร่อยเนื่องจากใบไม่แก่เกินไป
น้ำพริกผักจิ้ม
ผักแว่นรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลา น้ำพริกกบ/เขียด น้ำพริกกุ้งฝอย น้ำพริกไข่ต้ม น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกปู๋ น้ำพริกจิ๊นหมู
อาหารอื่น ๆ
ใบอ่อนของผักแว่น เมื่อต้มแล้วจะนิ่ม ชาวเหนือมักนิยมปรุงให้เด็กและคนเฒ่ารับประทาน หรืออาจนำผักแว่นเจี๋ยวใส่ไข่ หรือเนื้อหมู ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า เจี๋ยวผักแว่น
นอกจากนี้ ยังนำมาแก๋งผักแว่น ยำผักแว่น แก๋งส้ม แก๋งใส่ปู๋ ผักแว่นยังใช้เป็นผักสดแกล้มกับส้มตำ ลาบ ก้อย หรือปรุงเป็นแกงจืดของภาคใต้ ใบอ่อนนำมาแกงร่วมกับหอมแดง กะปิ กระเทียม
คุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ
ผักแว่น 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 15 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน