ฝายมีชีวิต บริหารจัดการน้ำโดยภูมิปัญญาชุมชน

10 พฤษภาคม 2559 ภูมิปัญญา 0

ฝายมีชีวิตเป็นกระบวนการบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำหลาก ปัญหาน้ำแล้ง ปัญหาน้ำใต้ดิน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ปัญหาสังคมการเมืองที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ(พลเมือง) โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานกับแนวคิดการจัดการตนเองของชุมชน กล่าวคือ ฝายมีชีวิตเป็นกระบวนการให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้ข้อมูลน้ำของชุมชน โดยชุมชน จนชุมชนสามารถจัดการน้ำของเขาได้เอง และสามารถกำหนดทิศทางของเขาเองได้ อีกทั้งมีแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีภาคีเครือข่ายภายนอกเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน

หลักการ 3 ประการของฝายมีชีวิต ประกอบด้วย

  1. ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน ถึงปัญหาที่ประสบอยู่ในขณะนี้และในอนาคต และทางออกที่ดีที่สุดของชุมชนต่อปัญหานั้น ๆ
  2. ต้องไม่เริ่มด้วยงบประมาณหรือโดยรัฐ แต่ให้เริ่มจากการสร้างความความร่วมมือ ร่วมใจของประชาชนเป็นสำคัญ
  3. ต้องมีกติกา หรือข้อตกลงร่วมกันของชุมชน ที่เรียกว่า “ธรรมนูญคลอง”

ข้อตกลงร่วมกันของฝายมีชีวิต

  1. ต้องเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชน (ระเบิดจากข้างใน)
  2. ต้องไม่เริ่มด้วยงบประมาณ แต่ให้เริ่มจากการสร้างความเข้าใจ สร้างปัญญา แล้วเงินตราจะมาเอง
  3. เข้าใจความหมายของระบบนิเวศในมุมมองของชาวบ้านว่าหมายถึง มึงกับกูอยู่ร่วมกันได้
  4. ไม่ใช้โครงสร้างแข็งที่เป็นสิ่งแปลกปลอมทางธรรมชาติ เช่น ปูน เหล็ก
  5. ใช้ระบบนิเวศของรากไทรเป็นตัวยึดโครงสร้างฝาย ซึ่งใช้โครงสร้างไม้ เช่น ไม้ไผ่ ไม้กระถิน เป็นต้น เป็นโครงสร้างพื้นฐานในช่วงแรก ใช้ขี้วัว ขุยมะพร้าวใส่กระสอบ เป็นอาหารของต้นไทร ใช้ทรายใส่กระสอบเป็นตัวยึดกั้นไม่ให้กระแสน้ำพัดพากระสอบขุยมะพร้าวและขี้วัว ต่อมาเมื่อรากไทรประสานกันทั้งสองฝั่งก็จะเกิดตัวฝายที่เป็นการประสานกันของรากต้นไม้ที่ยิ่งนานวันยิ่งแข็งแรง และเกิดวังบริเวณหน้าฝาย
  6. ตัวฝายเป็นตัวกั้นน้ำ ดินเป็นตัวเก็บน้ำ พืชทั้งสองฝั่งคลองเป็นตัวเก็บน้ำและให้น้ำ
  7. ต้องปลูกพืชที่รักษาตลิ่งทั้งสองฝั่ง
  8. ต้องมีกติกา/ข้อตกลงร่วมกันของชุมชน

faymeecheewitf faymeecheewitx

องค์ประกอบของฝายมีชีวิต(๑๐ ป)

  1. ประชาเข้าใจ
  2. ปราชญ์ชาวบ้าน
  3. ประชาชนในชุมชน
  4. ประชาชนนอกชุมชน
  5. ประชากินอิ่ม นอนอุ่น(ตู้เอ ที เอ็ม ของชุมชนกลับคืนมา)
  6. ประดิษฐ์กติกาชุมชน
  7. ประดิษฐ์ความรู้มือหนึ่ง
  8. ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน(ประชาธิปไตยทางตรง)
  9. ปูทางสู่สังคมเอื้ออาทร
  10. ประหยัดงบประมาณ

หลักการของฝายมีชีวิต

  1. หลักการฟื้นฟูชุมชน
  2. หลักการสร้างแรงบันดาลใจ
  3. หลักการค้นหาศักยภาพของคนในชุมชน
  4. หลักการใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชน
  5. หลักความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมมะ(ธรรมชาติ)
  6. หลักการสร้างจิตวิญญาณประชาธิปไตย
  7. หลักการกระจายอำนาจ
  8. หลักการตีเหล็กในขณะที่ร้อน
  9. หลักการการสร้างความรู้มือหนึ่ง

รูปแบบของฝายมีชีวิต มีหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ภูมิปัญญาของแต่ละที่ แต่ส่วนใหญ่มีองค์ประกอบดังนี้

  1. บันไดนิเวศน์ซึ่งทำเป็นขั้นบันไดทั้งหน้าและหลังตัวฝายเพื่อช่วยในการเก็บและระบายน้ำ
  2. หูช้างและข้าวเหนียวปิ้ง เป็นโครงสร้างที่ยึดระหว่างตลิ่งเดิมกับตัวฝายให้เกิดความแข็งแรง
  3. ตัวฝายกั้นน้ำส่วนมากใช้ไม้ใผ่ผูกด้วยเชือกและใช้กระสอบทรายวางเรียง
  4. ต้นไม้บนหูช้างโดยใช้ไม้ชนิดที่มีรากยึดดินได้ดี เช่นต้นไทร ประโยชน์ของฝายมีชีวิต มีมากมาย

faymeecheewits

ฝายมีชีวิตประกอบด้วย

  1. ตัวฝาย กว้างยาวตามขนาดของสายน้ำ ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 1.5 เช่น กว้าง 6 ม. จะใช้ความยาว 9 เมตร สูงประมาณ 1.5 เมตร
  2. หูช้าง จะอยู่สองฝั่งสายน้ำ ยาวกว่าตัวฝาย ข้างละประมาณหนึ่งเท่าตัว รวมเหนือและใต้ฝาย ทำมุมประมาณ 45 องศา กับตัวฝาย เพื่อบังคับน้ำให้ไหลข้ามตัวฝาย
  3. เหนียวปิ้งเป็นตัวคุ้มครองหูช้างเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายเหนียวปิ้ง
  4. ขั้นบันได มีทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ความสูงขั้นละ 30 ซ.ม. กว้างประมาณ 50-80 ซ.ม. บันไดหน้ามีประโยชน์คือ ลดแรงกระแทกของน้ำที่มากระทบตัวฝาย และช่วยให้ทรายและตะกอนสามารถขึ้นบันไดข้ามฝายได้ ทำให้ทุกฝายมีชีวิต ไม่มีตะกอนทับถมหน้าฝาย บันใดหลังช่วยให้สัตว์น้ำต่างๆ ข้ามไปมาได้ เป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

faymeecheewitbab

ในการสร้างฝายมีชีวิตนั้น เมื่อโครงสร้างไม้ไผ่ทั้งหมดสร้างเสร็จแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการวางกระสอบทราย โดยทั่วไปแล้วจะวางกระสอบทรายที่ละชั้นทั่วทั้งตัวฝาย แล้วยาแนวด้วยทราย แล้วจึงวางชั้นบนต่อกันขึ้นมา เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมในภายหลัง แต่บางฝายอาจมีเทคนิคแตกต่างกันไปบ้าง ฝายส่วนใหญ่น้ำจะยกระดับข้ามกระสอบทรายตลอดเวลา เว้นไว้แต่บางพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย น้ำอาจข้ามสันฝายช้าหน่อย เพราะฉะนั้นหน้าฝายระดับน้ำจะสูงขึ้นตามความสูงของชั้นกระสอบทราย

ประเด็นที่สอบถามคือ ถ้ามีน้ำป่าไหลหลากมา น้ำจะปะทะทำให้ฝายพังไปได้หรือไม่
ความแรงของน้ำป่านั้น จะแรงมากถ้าในสายน้ำนั้นเป็นคลองแห้ง ความเร็วของน้ำและมวลน้ำจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถ้ามีอะไรขวางกั้นน้ำนั้นจะปะทะและยกระดับขึ้นทันที นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สะพานหรือถนนพัง แต่ในฝายมีชีวิตนั้น หน้าฝายจะมีน้ำเอ่อขึ้นไปประมาณ 1 หรือ 2 ก.ม. เมื่อปริมาณน้ำก้อนใหญ่นั้นมาเจอกับน้ำเก่า ก็จะผสมเข้าด้วยกัน ความรุนแรงก็จะลดลงแล้วค่อยๆเอ่อสูงขึ้น อย่างช้าๆ ความเร็วของกระแสน้ำก็จะลดลง ทำให้ข้ามตัวฝาย โดยไม่ทำให้ฝายเสียหายแต่อย่างใด หรือถ้ามีก็เพียงเล็กน้อย เราก็ค่อยมาบำรุงรักษากันใหม่ เป็นการเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน

ประโยชน์ของฝายมีชีวิต

  1. ในช่วงหน้าน้ำหลาก ฝายมีชีวิตชะลอ กักเก็บน้ำ ไม่ให้ปริมาณน้ำไปท่วมในพื้นที่เกษตรและชุมชนเมือง แต่ในขณะเดียวกันปริมาณน้ำของฝายมีชีวิตจะซึมไปช่วยให้ระบบนิเวศในพื้นที่มีความชุ่มชื้นตลอดเวลา
  2. ในช่วงหน้าแล้ง ฝายมีชีวิตจะช่วยระบายน้ำออกมาให้ชาวเมือง ชาวบ้านได้ใช้ตลอดช่วงหน้าแล้ง เช่น ฝายมีชีวิตบ้านนบเตียน ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๑ ตัวสามารถเก็บกักน้ำในคลองได้ ๖๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือ ๔๐,๐๐๐ แท้งก์ โดยประมาณถ้ารวมปริมาณน้ำที่อยู่ในดินตามพื้นที่ที่น้ำเอ่อไปในคลองประมาณ ๒ กิโลเมตร และซึมไปในดินทั้งสองฝั่งข้างละ ๒ กิโลเมตร ความสูงของน้ำที่ถูกยกระดับขึ้นมา ๑.๕๐ เมตร ก็จะได้ปริมาณน้ำประมาณ ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร(น้ำที่อยู่ในดินจะมีปริมาณ ๑ ใน ๔ ส่วน)
  3. ปัจจุบันน้ำใต้ดินลดปริมาณลงอย่างมาก เพราะเรามักแก้ปัญหาโดยเมื่อมีน้ำมากก็ผันน้ำลงสู่ทะเลให้เร็ว จนน้ำไม่สามารถซึมผ่านลงใต้ดิน ปัญหานี้ฝายมีชีวิตสามรถช่วยได้เพระสามารถกักน้ำทำให้น้ำมีเวลาซึมลงสู่ใต้ดิน
  4. ฝายมีชีวิตไม่ตัดวงจรทางระบบนิเวศทั้งสัตว์ พืช น้ำ โดยเฉพาะตะกอนทรายสามารถไหลข้ามผ่านไปได้ทางบันไดหน้าหลังของฝายมีชีวิตเพื่อไปหล่อเลี้ยงชายหาด รวมตลอดจนถึงสัตว์น้ำทุกชนิด โดยเฉพาะปลาสามารถขึ้นลงวางไข่ได้ตามธรรมชาติ
  5. ฝายมีชีวิตสามารถสร้างวังน้ำตามธรรมชาติที่หายไปจากการขุดลอก ทำให้วิถีชีวิตริมคลองกลับคืนมา เช่น ปลา นก ต้นไม้ แต่แรกกลับคืนมา
  6. ฝายมีชีวิตสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน
  7. ฝายมีชีวิตสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เมื่อเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจของประเทศก็เข้มแข็ง

ที่มา
http://worldwaterlife.com/
http://www.dailynews.co.th/article/392594

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น