กว่า 2 ทศวรรษแล้วที่ “พงศา ชูแนม” หนุ่มใหญ่ชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่บนถนนสายอนุรักษ์ โดยปัจจุบัน พงศา ชูแนม เป็นหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ ส่วนจัดการทรัพยากรต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ชีวิตการเป็นนักสู้ผู้พิทักษ์สายน้ำคนนี้ เริ่มต้นหลังจากที่ พงศา ชูแนม จบการศึกษาจากโรงเรียนป่าไม้จังหวัดแพร่ รุ่น 27 และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่สถาบันราชภัฎสุราษฎร์ธานี สาขาพัฒนาชุมชน ทำให้เขาเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ของธรรมชาติได้ดีขึ้น และตระหนักดีว่า ธรรมชาติจะยังคงอยู่ได้ด้วยชุมชน เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางสายอนุรักษ์ทันที ด้วยการสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในมือของเขาเอง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา พงศา ชูแนม ในบทบาทนักอนุรักษ์ ได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติ จนถึงปัจจุบันโครงการในความคิดริเริ่มของเขามีนับไม่ถ้วน รวมทั้งโครงการที่ช่วยพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตชาวบ้าน เด็กนักเรียน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ จัดอบรม ค้นคว้าวิจัย และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้บางครั้งเขาจะต้องต่อสู้กับกลุ่มมีอิทธิพลในท้องที่ หรือขัดแย้งกับข้าราชการท้องถิ่น จนเคยถูกจำคุก และถูกปล่อยตัวออกมาเพราะไม่มีความผิดมาแล้ว
ด้วยความทุ่มเททั้งกายและใจของ พงศา ชูแนม ทำให้เขาได้รับรางวัลจากองค์กรโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP เมื่อปี พ.ศ.2533 ซึ่งรางวัลนี้ก็ยิ่งทำให้ พงศา ชูแนม เดินหน้าโครงการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อต่อสู้กับผู้ที่หวังจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากธรรมชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่คิดไม่ซื่อ แอบลักลอบตัดไม้
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2541 เขาสามารถดำเนินคดีกับผู้ลักลอบบุกรุกทำลายป่าได้สูงเป็นประวัติศาสตร์ ได้ผู้ต้องหาถึง 57 คน และสามารถหยุดยั้งการทำลายป่าได้ระดับหนึ่ง จนทำให้ในปี พ.ศ.2542 พงศา ชูแนม ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านการอนุรักษ์ เป็นขวัญกำลังใจ
มรสุมชีวิตของ พงศา ชูแนม กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2543 เมื่อเจ้าหน้าที่ของหน่วยฯ ถูกจับกุมในข้อหาฆ่าคนตาย หลังจากเข้าไปจับกุมผู้บุกรุกป่า ซ้ำยังมีนักการเมืองใหญ่สร้างม็อบมาขับไล่หัวหน้าหน่วย ซึ่งก็คือตัวพงศาเอง ให้ออกไปจากพื้นที่ ครั้งนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่ เชิงตำหนิการทำงานของหน่วยงานนี้ออกไปทั่วประเทศ แต่ด้วยความที่ พงศา ชูแนม อยู่ในพื้นที่และช่วยเหลือชาวบ้านมานานนับสิบปี ทำให้เขาเป็นที่รักของชาวบ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขับไล่เจ้าหน้าที่ขึ้น ก็ทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นไม่ลังเลที่จะมารวมตัวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ จนทำให้กรมป่าไม้เห็นความดี และไว้วางใจ หน่วยงานของพงศา ชูแนม ต่อไป
แต่แม้ว่า พงศา ชูแนม จะกวาดล้างจับกุมผู้บุกรุกป่า ลักลอบตัดไม้ไปได้จำนวนมากเพียงใด กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังไม่หมดสิ้น ซ้ำยังพยายามกลับมาทำร้าย พงศา ชูแนม ด้วย ครั้งหนึ่งเขาถูกสั่งย้ายไปประจำการยังที่อื่น แต่ก็มีประชาชนและเครือข่ายนักอนุรักษ์กว่า 14,800 คน เข้าชื่อขอความเป็นธรรม ให้โยกย้าย พงศา ชูแนม กลับมาที่พะโต๊ะตามเดิม จนในที่สุดทุกอย่างประสบความสำเร็จ และผลจากครั้งนั้นยังทำให้แวดวงข้าราชการในจังหวัดชุมพรต้องสั่นสะเทือน เมื่อเกิดการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงทั้งจังหวัด
ด้วยบทบาทของ พงศา ชูแนม ที่ไม่ได้เป็นเพียงนักอนุรักษ์ต้นน้ำ แต่ยังมีแนวคิดปลูกต้นไม้ในใจคน จัดทำโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อให้คนช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนา “คน” บุคลากรสำคัญของชาติ ทำให้หลายหน่วยงานเห็นความดี และหัวใจที่ทุ่มเทของเขา จนได้รับรางวัลพระราชทานผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังได้รับเลือกเป็นบุคคลหนึ่งในโครงการ “ค้นฅนดี ของรายการ “คนค้นฅน” ประจำปี พ.ศ.2550 รวมทั้งยังรับรางวัลอีกมากมาย ที่เป็นสัญลักษณ์ตอบแนความดีของผู้ชายคนนี้
เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาป่าไม้แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้นายพงศาได้รับรางวัลผู้นำการประชาสัมพันธ์เพื่อการหยุดยั้งการทำลายป่าในท้องที่อำเภอพะโต๊ะ จาก UNDP
โครงการ คนอยู่-ป่ายัง : องค์รวมของการพัฒนาป่า-พัฒนาคน
โครงการ คนอยู่-ป่ายัง ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2536 โดยหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะครอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำหลังสวน 73,900 ไร่ มีชุมชนที่อาศัยในเขตป่า 12 หมู่บ้าน ในระยะแรกมีหมู่บ้านเป้าหมาย 2 หมู่บ้าน คือ บ้านคลองเรือ และบ้านหลักเหล็ก
สาเหตุหลักของการบุกรุกทำลายป่าของชาวบ้านมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ภาระหนี้สินกับนายทุนในพื้นที่ นอกจากนั้น ชาวบ้านยังมีปัญหาไร้ที่ทำกิน จากการได้คลุกคลีกับชาวบ้าน ทำให้นายพงศาทราบถึงปัญหาเหล่านี้และเกิดแนวคิดว่า การแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรและการแย่งชิงทรัพยากรไม่อาจสัมฤทธิ์ผล หากมิได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย
นายพงศาเข้าไปสำรวจข้อมูลร่วมกับชุมชนและจัดตั้งองค์กรชาวบ้าน ในรูปของคณะกรรมการโครงการคนอยู่-ป่ายัง ปัจจุบันประกอบด้วยหมู่บ้านหลักเหล็ก คลองเรือ หลางตาง ห้วยค้อ มีการกำหนดกฎกติกาชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญหมู่บ้าน
การดำเนินกิจกรรมต่างๆของโครงการฯ ต้องผ่านคณะกรรมการโครงการฯ ทุกครั้งมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง เพื่อให้กฎกติกาชุมชนที่ร่างขึ้นก่อให้เกิดความสมดุลแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับดิน น้ำ ป่า ผ่านกิจกรรมต่างๆได้แก่
เกษตร 4 ชั้น นายพงศาเสนอทางเลือกให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต จากการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน ประกอบด้วยพืชชั้นบน ปลูกไม้ เช่น สะตอ หมาก มะพร้าว ไม้ใช้สอยต่างๆ พืชชั้นกลาง ปลูกไม้ผล เช่น มังคุด ลางสาด ลองกอง เงาะ จำปาดะ ทุเรียน พืชชั้นล่าง ปลูกกาแฟ ผักเหลียง พริก มะเขือและต่อมาได้เพิ่มอีกชั้นหนึ่ง คือพืชชั้นใต้ดิน ปลูกพืชมีหัว เช่น ข่า ตะไคร้ มัน กลอย เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มตลอดปี ลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมี โดยจัดทำแปลงสาธิตไว้ที่หน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ และที่โรงเรียนต้นน้ำหลางตาง ก่อ
ให้เกิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงพร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
การใช้ประโยชน์จากที่ดินในหมู่บ้าน กำหนดมาตรการให้ยึดปฏิบัติตามกฎกติกาของชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมาจากการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน หากมีหลักการคล้ายคลึงกัน เช่น ห้ามครอบครองที่ดินเกิน 50 ไร่ มิฉะนั้นจะถูกยึดคืน, ห้ามมิให้มีการซื้อ-ขายที่ดินให้คนภายนอก ยกเว้นญาติทางสายเลือดห้ามตัดไม้ใช้สอย, ห้ามนำไม้ใช้สอยออกจากหมู่บ้านอย่างเด็ดขาด, ห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด ยกเว้น หมูป่า กระรอก หรือสัตว์ที่ทำลายพืชผลทางเกษตร, หากใครบุกรุกพื้นที่ในเขตอนุรักษ์จะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ นับเป็นวิธีการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าได้เป็นอย่างดี
ประปาภูเขา นับเป็นกุศโลบายอันแยบยลของนายพงศาในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจและปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ หากไม่มีการดูแลรักษาไว้ ชุมชนจะขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร นอกจากนั้น ชุมชนได้ตั้งกฎกติกาแบ่งปันปริมาณน้ำตามความเหมาะสมและยุติธรรมก่อให้เกิดเครือข่ายดูแลป่าเหนือจุดต่อประปาภูเขา
กลุ่มออมทรัพย์ จัดตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2539 เพื่อให้เป็น ธนาคารของหมู่บ้าน ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน ประกอบด้วยกลุ่มต้นน้ำออมทรัพย์ ปัจจุบันมีเงินสะสม ประมาณ 2,000,000 บาท และกลุ่มออมทรัพย์หลางตาง ปัจจุบันมีเงินสะสม ประมาณ 400,000 บาท ขณะเดียวกันทางกลุ่มพยายามเชื่อมโยงปัญหาทางเศรษฐกิจสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รณรงค์ให้สมาชิกเลิกใช้สารเคมีปราบวัชพืช และปราบแมลงศัตรูพืช
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากชุมชนมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อเป็นการเปิดชุมชนให้เป็นที่รู้จักแก่บุคคลภายนอก นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง เช่น กิจกรรมการเดินป่า ล่องแพ
โครงการ เด็กนักเรียนต้นน้ำ เริ่มเมื่อปีพ.ศ. 2535 นายพงศาได้ร่วมกับชุมชนและผู้มีศรัทธา สร้างบ้านพักให้เด็กจากในหมู่บ้านในป่าห่างไกลให้มาอยู่ร่วมกัน โดยทางหน่วยจัดการต้นน้ำฯ อุปการะเรื่องอาหารการกิน บ้านพัก และการรับ-ส่ง รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่นายพงศาใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง มีผู้ร่วมสมทบทุนเพียงจำนวนน้อย โครงการนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีเด็กนักเรียนประมาณปีละ 20-30 คน
โรงเรียนต้นน้ำรับเด็กที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนต้นน้ำหลางตาง ซึ่งก่อตั้งโดยความร่วมมือจากสถาบันต่างๆ และชุมชน โดยมีลูกจ้างของหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะเป็นครูผู้สอน ปัจจุบันเปิดสอน 4 ระดับชั้น มีนักเรียนรวม 34 คน ลูกจางที่ทำหน้าที่เป็นครู 4 คน
หลักสูตรอบรมเยาวชน การศึกษาระบบนิเวศต้นน้ำ เพื่อให้เด็กได้ศึกษาระบบนิเวศของป่าในพื้นที่จริง ใช้สถานที่ที่หน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะและเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาหือโรงเรียนนำนักเรียน นักศึกษามาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ปีละ ประมาณ 5 รุ่น โดยนายพงศามิได้ใช้งบประมาณราชการแต่ได้อย่างใด หน่วยฯ จึงเป็นเสมือนสถาบันให้การศึกษาด้านการจัดการต้นน้ำ
ป่าสมุนไพรประจำหมู่บ้าน พื้นที่ 1,200 ไร่ และพื้นที่ป่าสมุนไพรในหน่วยจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ มีการจัดสัมมนาภูมิปัญญาชาวบ้านด้านสมุนไพรในปีพ.ศ. 2538 โดยเชิญนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันศึกษาป่าสมุนไพรซึ่งจะเอื้อประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา วิจัย และการนำไปใช้
การศึกษาป่าผักพื้นบ้าน และจัดทำแหล่งผักป่าพื้นบ้านอาหารชุมชนชาวบกไฟและกลุ่มเก็บผักป่าพื้นป่า พื้นที่ 400 ไร่ ที่บ้านบกไฟ หมู่ 3 ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จัดเป็นพื้นที่สำหรับเก็บหาของป่าและสมุนไพรหรือ FOOD BANK ของชาวบ้าน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า และสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน จากการสำรวจรายได้จากการหาของป่าจากชาวบ้าน 37 ราย ปรากฏว่าชาวบ้านมีรายได้ถึง 624 ,667 บาท ต่อปี ในปีพ.ศ. 2542 ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กรเพื่อปลูกเสริมพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดในพื้นที่
ชุมชน ต้นไม้ ฝาย แฝก
โครงการ คนอยู่-ป่ายัง ใช้กิจกรรมเป็นสื่อหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน นายพงศาให้ความสำคัญต่อการสร้างความผูกพันด้วยใจ เขาจะเข้าไปคลุกคลีและใช้ชีวิตกับชาวบ้านเหมือนเป็นลูกหลานคนหนึ่ง เขาเชื่อว่าหากชาวบ้านมีใจจะเข้าร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมต่างๆและจะเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ นายพงศาทำงานโดยให้ความสำคัญต่อคนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเชื่อมโยงให้คนความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตของเขา กับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า
สาระสำคัญของแนวคิดในการทำงานของพงศา ชุมชน ต้นไม้ ฝาย แฝก
ผลสำรวจที่น่าภาคภูมิใจอีกประการหนึ่ง คือ ไม่มีการถางป่าในหมู่บ้าน หากมีบ้าง คณะกรรมการหมู่บ้านก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่จะดำเนินการ เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านมีฉันทามติก่อนเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ปัจจุบันสภาพป่าต้นน้ำในเขตพื้นที่ทำงานมีความอุดมสมบูรณ์มาก ต่างจากก่อนหน้าที่นายพงศาจะเข้ามาทำงาน ตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัด คือ พันธุ์พืช และสัตว์ป่าแทบทุกชนิด ทางหน่วยฯ และชุมชนมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย เขตทำกิน แต่อนุญาตให้เก็บของป่าได้ แนวเขตดังกล่าวมาจากการตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน นอกจากนั้นชาวบ้านยังร่วมชี้เบาะแส เพื่อให้เจ้าที่จับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งในระยะเริ่มต้นของโครงการได้ถูกขัดขวางจากผู้ลุกลอบ นักการเมือง และข้าราชการในท้องถิ่นอย่างมาก
สร้างเครือข่ายประชาคมคนรักป่า
กลุ่มหมู่บ้านในโครงการ คนอยู่-ป่ายัง รวมพลังจัดตั้งองค์กรชุมชนเครือข่ายในลุ่มน้ำภายใต้ชื่อ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำหลังสวน เพื่อรณรงค์เผยแพร่กิจกรรมการดูแลทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยประสานกับเครือข่ายจากกลุ่มรักษ์แม่น้ำหลังสวนเกษตรทางเลือกภาคใต้ องค์กรป่าชุมชนจากชุมชนต่างๆ ของจังหวัดชุมพร รวมทั้งยังมีความพยายามผลักดัน ให้เกิดร่างแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลปากทรง เป็นการวางแผนโดยชุมชนในนามขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ปัจจุบัน ชุมชนต่างๆ ยอมรับแนวทางการทำงานของนายพงศา ชูแนม และประสานงานให้ทางหน่วยฯ เข้าไปทำงานในพื้นที่ หากด้วยงบประมาณอันจำกัด หน่วยฯ สามารถให้การสนับสนุนได้เพียงการจัดประชุม และให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายพงศา ชูแนม ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะขยายโครงการ คนอยู่-ป่ายัง สู่หมู่บ้านในป่าต้นไม้ให้ครบทั้ง 12 หมู่บ้าน เขามีแผนงานร่วมกับชุมชนในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยชาวบ้านหลักสูตร การจัดการชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร แห่งแรกในภาคใต้เพื่อให้เป็นการกรณีศึกษากับชุมชนอื่น มีชาวบ้านเป็นวิทยากร ใช้งบประมาณจากกองทุนชุมชน
โครงการ คนอยู่-ป่ายัง แสดงให้เห็นความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการสร้างสรรค์ และอนุรักษ์ป่าจนประสบความสำเร็จ สามารถรักษาป่าต้นน้ำหลังสวนผืนใหญ่ไว้ได้
ผู้นำโครงการฯ คือนายพงศา ชูแนม ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การแก้ปัญหาของนายพงศาสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสำฤทธิ์ได้จริง นายพงศา ยังเป็นนักกลยุทธ์ที่สามารถสร้างความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับชาวบ้าน ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมายทั้งจากระบบราชการ นายทุนท้องถิ่นและการขาดงบประมาณสนับสนุน หากนายพงศาก็ยังต่อสู้ฝ่าฟันด้วยปณิธานมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องคนปับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงอุดมเพ้อฝันใดๆ เพียงทุกฝ่ายหันหน้าประสานความร่วมมือกันเท่านั้น
ธนาคารต้นไม้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนคนธรรมดา ที่มองเห็นคุณค่าของต้นไม้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่แทนที่จะเห็นเพียงมูลค่าจากเงินตราเมื่อแปรรูปแล้ว โดยผลักดันให้ “ธนาคารต้นไม้” เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้สินและต่อสู้กับยุคทุนนิยม โดยรัฐยอมรับการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ของตนเองให้มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ นายพงศา ชูแนม พร้อมพี่น้องร่วมอุดมการณ์ได้ริเริ่มแนวคิดและลงมือทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ธนาคารต้นไม้เริ่มก้าวหน้าอีกขั้นด้วยการก่อตั้งเป็น “มูลนิธิธนาคารต้นไม้” เพื่อผลักดันธนาคารต้นไม้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิม
ป้ายคำ : ปราชญ์, ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง