พริกชี้ฟ้า มีชื่อพื้นบ้านว่า พริกชี้ฟ้า พริกดอกใหญ่ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ชิลี (chili) ไทยดรากอนชิลี(Thai Dragon Chile) สเปอร์ เพปเปอร์ (Spur pepper) ลองคาเย็นนีเพปเปอร์ (Long cayenne pepper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แคบไซคัม แอนนูอัม (Capsicum annuum L.) จัดอยู่ในวงศ์ โซลานาซีอี้ (Solanaceae)
พริกชี้ฟ้า มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินซี มีสารแคปไซซิน (capsaicin) เบต้าแคโรทีน และมีสารแอลคาลอยด์ เช่นเดียวกับพริกขี้หนู
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum Linn. Var acuminatum Fingerh.
ชื่อสามัญ Cayenne pepper, chili spur pepper, long fed pepper, spur pepper
วงศ์ SOLANACEAE
ชื่ออื่นๆ พริกชี้ฟ้า พริกเดือยไก่ พริกบางช้าง พริกหนุ่ม (ภาคเหนือ) พริกมัน (กรุงเทพฯ) พริกแล้ง (เชียงใหม่) พริกซ่อม พริกขี้หนู พริกนก พริกแด้ (เหนือ) พริกขี้นก ดีปลีขี้นก (ใต้) ดีปลี (ปัตตานี) ปะแกว (นครราชสีมา) หมักเพ็ด พริกแกว (อีสาน)
ลักษณะ
พริกชี้ฟ้าเป็นพืชที่กินผล ใช้ประกอบอารหารได้หลายชนิด และนำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆได้อีก พริกชี้ฟ้าเป็นพืชที่มีอายุยืน มีรสเผ็ด และมีทรงพุ่มใหญ่ เมื่อเป็นผลอ่อนจะมีสีเขียวแลัวจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อแก่ พริกชี้ฟ้ามีถิ่นกำเนิดในประเทศอเมริกาใต้
พริกชี้ฟ้าเป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามหรือออกสลับ รูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-8 เซนติเมตร ดอกสีขาว ออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกห้อยลง เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลรูปทรงกระบอกยาว ปลายเรียวแหลม มักโค้งงอ ยาว 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็นมันสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีเมล็ดแบนสีนวลจำนวนมาก
ลำต้น
พริกเป็นพืชที่มีการเจริญของกิ่งเป็นแบบ Dichotomous คือ กิ่งจะเจริญจากลำต้นเพียง 1 กิ่ง แล้วแตกเป็น 2 กิ่ง และเพิ่มเป็น 4 เป็น 8 ไปเรื่อยๆ จึงมักจะพบว่า ต้นพริกที่สมบูรณ์จะมีกิ่งแตกขึ้นมาจากต้นที่ระดับดินหลายกิ่ง จนดูคล้ายกับว่ามีหลายต้นอยู่รวมที่เดียวกัน
ใบ
เป็นแบบใบเดี่ยว ใบแบนเรียบ มีขนบ้างเล็กน้อย ใบมีรูปร่างตั้งแต่รูปไข่ไปจนกระทั่งเรียวยาวขนาดใบมีต่างๆกัน ใบพริกหวานมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใบพริกขี้หนูทั่วไปมีขนาดเล็ก แต่ในระบบเป็นต้นกล้าและส่วนใบล่างๆของต้นโตเต็มวัย มีขนาดใบค่อนข้างใหญ่
ราก
เป็นพืชที่มีรากหากินได้ลึกมาก ต้นพริกที่โตเต็มที่รากฝอยจะแผ่ออกไปหากินด้านข้างในรัศมีเกินกว่า 1 เมตร และหยั่งลึกลงในดินเกินกว่า 1.20 เมตร ตรงบริเวณรอบๆ ต้นจะพบว่ามีรากฝอยสานกันอยู่อย่างหนาแน่นมาก
ดอก
โดยปกติมักจะพบว่าดอกเกิดเดี่ยวที่ข้อตรงมุมที่เกิดใบหรือกิ่ง แต่ก็พบว่ามีหลายดอกที่เกิดขึ้นตรงจุดเดียวกัน ดอกประกอบด้วยกลีบรอง ดอกมีลักษณะเป็นพู 5 พู มีกลีบดอกซึ่งจะมีสีขาวอยู่ 5 กลีบ (แต่อาจจะมี 4, 5, 6 หรือ 7 กลีบ) บางพันธุ์กลีบดอกจะเป็นสีม่วง โดยปกติจะมีเกสรตัวผู้อยู่ 5 อัน ซึ่งเท่าจำนวนกลีบดอกนั่นเอง เกสรนี้จะแตกออกมาจากตรงโคนของกลีบดอก อับเกสรตัวผู้มักมีสีน้ำเงินและจะแยกตัวเป็นกระเปาะเล็กๆ ยาวๆ สำหรับเกสรตัวเมียจะชูขึ้นไปเหนือเกสรตัวผู้ ส่วนของยอดของเกสรตัวเมียมีรูปร่างเหมือนกระบอกหัวมนๆ รังไข่จะมีอยู่ 3 พู หรืออาจจะมี 2 หรือ 4 ก็ได้ ลักษณะดอก
ผล
เป็นประเภท Berry ที่มีลักษณะเป็นกระเปาะ มีฐานขั้นผล (Peduncle) สั้นและหนา โดยปกติ ผลอ่อน มักชี้ขึ้น เมื่อเป็นผลแก่ผลอาจชี้ขึ้นหรือห้อยลง ถ้าพันธุ์ที่มีลักษณะขั้วผลอ่อน พันธุ์นั้นจะให้ผลที่ห้อยลง ผลมีลักษณะตั้งแต่แบนๆ กลมยาว จนถึงพอง อ้วน สั้น ขนาดผลมีตั้งแต่ขนาดผลเล็กๆ ไปจนกระทั่งผลขนาดใหญ่ ผนังผล (Pericarp) มีตั้งแต่บางไปจนถึงหนาขึ้นกับพันธุ์ เมื่อผลแก่สุกอาจเปลี่ยนสีจากเขียว เป็นแดง หรือเหลืองพร้อมๆกับการแก่ของเมล็ดในผลควบคู่กันไป ผลพริกมีความเผ็ดแตกต่างกันไป บางพันธุ์เผ็ดจัด บางพันธุ์ไม่เผ็ดเลย ฐานของผลอาจแบ่งออกได้เป็น 2-4 ห้องซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในพริกหวานทั่วไป แต่พริกที่มีขนาดผลเล็กอาจสังเกตได้ยาก ในบางพันธุ์อาจดูเหมือนว่าภายในผลมีเพียงห้องเดียวโดยตลอด เนื่องจาก setae ไม่เจริญยาวตลอดถึงปลายผล ลักษณะของผลพริกแสดงไว้ในภาพที่ 3 ในระหว่างการเจริญเติบโตของผลหากอุณหภูมิในเวลากลางวันสูงและความชื้นในบรรยากาศต่ำจะทำให้ผลพริกมีการเจริญเติบโต (off-type) ที่มีรูปร่างบิดเบี้ยวและมีขนาดเล็ก นอกจากนี้การติดเมล็ดก็ยังต่ำกว่าปกติอีกด้วย
เมล็ด
เมล็ดจะเกิดเกาะรวมกันอยู่ที่รก (Placenta) ซึ่งมีตั้งแต่โคนจนถึงปลายผล เมล็ดพริกมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเมล็ดมะเขือเทศ แต่มีรูปร่างคล้ายกัน คือ มีลักษณะรูปกลมแบน มีสีเหลืองไปจนถึงสีน้ำตาลแต่ผิวเมล็ดพริกไม่ค่อยมีขนเหมือนอย่างในมะเขือเทศ ตามมาตรฐานของขนาดเมล็ดพริก เช่นเมล็ดพริกหวาน 1 กรัม ควรจะมีเมล็ดพันธุ์ 166 เมล็ดขึ้นไป ส่วนพริกเผ็ดที่มีขนาดผลเล็กควรมีขนาดเมล็ดเล็กลงเช่น เมล็ดพริกพันธุ์ห้วยสีทน 1 น้ำหนัก 1 กรัม มีจำนวนเมล็ดถึง 256 เมล็ด เมล็ดพริกพันธุ์จักพรรดิ์ น้ำหนัก 1 กรัม มี 150 เมล็ด เมล็ดพริกพันธุ์เชอร์รี่ 1 กรัม มี 150 เมล็ด
คุณค่าและสารอาหาร
พริกชี้ฟ้าแดง 100 กรัม ให้พลังงาน 72 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 84.0 กรัม โปรตีน 2.8 กรัม ไขมัน 2.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.1 กรัม แคลเซียม 3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม ไทอะมิน 0.16 มิลลิกรัม ไนอะซิน 3.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 168 มิลลิกรัม
พริกชี้ฟ้าเขียว 100 กรัม ให้พลังงาน 53 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 85.2 กรัม โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.6 กรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 192 มิลลิกรัม ไทอะมิน 0.07 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.1 มิลลิกรัม วิตามินซี 204 มิลลิกรัม
ประโยชน์
สรรพคุณของพริกชี้ฟ้าและวิธีใช้ ส่วนที่ใช้ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า คือ ผลและต้น ซึ่งแต่ละส่วนจะให้สรรพคุณแตกต่างกันดังต่อไปนี้
สรรพคุณทางยา
สารแคปไซซิน ( capsaicin) ในพริกชี้ฟ้าทำให้เจริญาอาหาร ช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น แก้หวัด ขับลม ช่วยสูบฉีดโลหิต ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ บำรุงธาตุ นำมาดองสุราหรือบดผสมวาสลิน ใช้ทาถูนวด ทาแก้เคล็ดขัดยอก แก้ปวดตามข้อฟกช้ำดำเขียว ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น และยังมีวิตามินเอสูงซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระอันก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ต้น ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
การปลูก
เพาะเมล็ดให้ได้ต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 1 เดือน ซึ่งมีความสูง 10-12 เซนติเมตร แล้วจึงย้ายลงปลูกในกระถางหรือดินที่เตรียมไว้ พริกชี้ฟ้าชอบดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ถูกแสงแดดประมาณครึ่งวัน พริกชี้ฟ้าจะเจริญงอกงามได้ดี การย้ายปลูกในตอนเช้า ระยะปลูกระหว่างต้น 60 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยว 120-160 วันหลังจากเพาะเมล็ด สามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็ทำการตัดแต่งกิ่ง พรวนดินใส่ปุ๋ย ต้นพริกก็สามารถที่จะให้ผลผลิตได้อีก
ที่มา กรมส่งเสริมการเกษตร
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน