พริกหนุ่มเป็นชื่อพันธุ์พริกชนิดหนึ่งไม่ใช่พริกที่ยังไม่แก่ ขนาดใหญ่กว่า,เผ็ดน้อยกว่าพริกชี้ฟ้าและเล็กกว่าพริกหยวก,เผ็ดมากกว่าพริกหยวก ไม่ว่ามันจะแก่หรือจะหนุ่ม ก็เรียกพริกหนุ่ม แก่จัดแล้วก็ยังเป็นสีเขียวเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนเป็นสีแดง
พริกมีอยู่หลายกลุ่มซึ่งการเพาะปลูกคงต้องขึ้นอยู่กับตลาดและประโยชน์ใช้สอย เช่น ในพริกกลุ่มที่นำไปทำน้ำพริกหนุ่มทางภาคเหนือจะปลูกพริกในกลุ่มพริกหนุ่มขาวเพราะจะได้น้ำพริกที่มีสีสันสวยงาม ส่วนพริกในกลุ่มพริกหนุ่มเขียวจะส่งไปจำหน่ายยังตลาดกลางในกรุงเทพฯ นำไปทำอาหารเช่นการผัดพริก ถ้าจะนำไปแปรรูปเป็นพริกตากแห้งเม็ดใหญ่ต้องใช้พริกที่มีสีแดงเรียกพริกแดงมัน ส่วนที่นำมาบริโภคจะเป็นพริกขี้หนูสวนหรือพริกชี้ฟ้า
ขั้นตอนการเพาะกล้าพริก ต้องทำการเพาะในถาดหลุมเนื่องจากในปัจจุบันราคาเม็ดพริกสูงมากตกประมาณ เม็ดละ 1 บาทและต้องใช้วัสดุที่เหมาะสมในการเพาะกล้า ประมาณกระสอบละ 300 บาทเพื่อลดปัญหาการเกิดโรคของพริกตั้งแต่ระยะต้นกล้า ซึ่งวัสดุเพาะนั้น 1 กระสอบสามารถเพาะได้ถึง 16 ถาด 1 ถาดมีประมาณ 120 หลุม ต้นทุนการเพาะกล้าพริกตกอยู่ต้นละประมาณ 1 บาท ต้นกล้าที่ได้ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคหงิกงอ
การเตรียมต้นกล้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนในเรื่องวัสดุปลูก ให้ดินปลูก 1 กระสอบ นำมาผสมขี้เถ้าแกลบ ขี้เลื่อยที่ผ่านการหมักแล้วประมาณ 6 เดือน นำมาเติมลงในถาดหลุมให้เต็ม หรืออาจใช้วัสดุเพาะเป็นทรายแม่น้ำก็ได้แต่ต้องมีการล้างทรายให้สะอาด เก็บเศษหญ้า เศษเมล็ดหญ้าออกให้หมด แล้วนำทรายใส่ลงในตะกร้าพลาสติกปูด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ขีดให้เป็นแถวลึก 1 ซม. นำเมล็ดพริกหยอดแล้วกลบด้วยทราย นำอิฐบล็อกหรือไม้ทำเป็นที่วางไม่ควรวางถาดกับพื้นดิน จากนั้นนำถาดที่หยอดเมล็ดแล้วใส่ในถุงอบ หรือนำไปวางไว้ในกระโจมพลาสติกจะทำให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้นประมาณ 15 วันเมล็ดจะงอกรอให้มีใบจริง จึงแยกลงถาดหลุมเลี้ยงต่อไป ถ้าจะให้ต้นกล้าพริกเจริญเติบโตได้เร็วให้รดด้วยปุ๋ย และควรแช่ไว้ 1 คืนเพื่อปุ๋ยละลาย และหลังจากรดปุ๋ยแล้วให้ทำการล้างใบด้วยเพื่อป้องกันใบพริกไหม้
การเตรียมหลุมปลูก การเตรียมดินปลูกควรมีการเตรียมดินก่อนปลูกโดยวัดปริมาณธาตุอาหารในดินหรือวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ถ้าดินเป็นกรดให้โรยด้วยปูนขาวอัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ และให้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม 1-2 กำมือต่อหลุม กล้าพริก 1 ไร่จะปลูกพริกได้ประมาณ 3,000 หลุม การคลุมหญ้าให้ซื้อพลาสติกสีดำในการคลุมดิน
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน