พลับพลึง ไม้ล้มลุกดอกสีขาว

11 เมษายน 2559 ไม้ใต้ดิน 0

พลับพลึงเป็นไม้ประดับที่มักปลูกไว้ริมรั้วนอกบ้าน จัดเป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว อวบน้ำ ดอกช่อ กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ปลายเกสรสีแดง ชอบดินชื้นแฉะ ขยายพันธ์โดยใช้ส่วนหัวใต้ดิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crinum asiaticum L. อยู่ในวงศ์ AMARYLLIDACEAE กาบใบสีเขียวของพลับพลึงจะมีคุณสมบัติเหมือนใบตอง คือใช้ทำงานฝีมือ งานประดิษฐ์ดอกไม้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Crinum asiaticum Linn.
ตระกูล AMARYLLIDACEAE
ชื่อสามัญ Crinum Lily,Cape Lily
ชื่ออื่น ดอกเรรัว(ลั้วะ), ด่อปั้นอ้อย(ปะหล่อง) – ลิลัว (ภาคเหนือ), พลับพลึง (ภาคเหนือ)

ลักษณะทั่วไป
พลับพลึงเป็นพรรณไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ และมีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นกลมมีความกว้างประมาณ 15 ซม. และยาวประมาณ 30 ซม.ใบจะออกรอบ ๆ ลำต้น ลักษณะใบแคบยาวเรียว ใบจะอวบน้ำ ขอบใบจะเป็นคลื่น ตรงปลายใบจะแหลม ใบจะมีความยาวประมาณ 1 เมตร และกว้างประมาณ 10-15ซม. ดอกจะออกเป็นช่อ ตรงปลายจะเป็นกระจุกมีประมาณ 12-40 ดอก ตอนดอกยังอ่อนอยู่จะมีกาบเป็นสีเขียวอ่อน ๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 90 ซม. ดอกมีความยาวประมาณ 15 ซม. กลีบดอกจะเป็นสีขาว และมีกลิ่นหอม เกสรตัวผู้จะมีอยู่ 6 อัน ติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ตรงปลายเกสรมีลักษณะเรียวแหลมยาวเป็นสีแดง โคนเป็นสีขาว ส่วนอับเรณูนั้น จะเป็นสีน้ำตาล ผลเป็นสีเขียวอ่อน และผลค่อนข้างกลม

plubpluangsplubpluangpom plubpluangdok
ไม้พุ่มขนาดเล็ก มีหัวใต้ดินลักษณะเป็นกลีบๆเรียงเวียนเป็นวงซ้อนอัดแน่นเป็นลำต้นเทียมเจริญเติบโตเป็นช่อชูส่วนของใบขึ้นมาเหนือดิน แตกกอ

  • ต้น : มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นกลมสูงประมาณ 30 ซม. ใบ รูปแถบแคบเรียวแหลม ออกตรงข้ามกันสองข้าง ขอบใบเรียบ อวบน้ำ
  • ใบ :ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับถี่รอบต้น ใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 100-120 เซนติเมตรปลายเรียวมนถึงแหลมทู่ โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา สีเขียวเป็นมัน ปลายใบอ่อนโค้งลง
  • ดอก : สีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มที่กลางต้น ก้านช่อดอกแข็งและค่อนข้างแบนยาว 30-45เซนติเมตรช่อละ 4-8 ดอก ดอกย่อยเกิดเดี่ยวๆ บนปลายก้านดอกย่อย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปเรียวยาว กลีบดอกโคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 6 แฉก มีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นรูปแถบเรียวเล็ก ดอกบานเต็มที่กว้าง 8-10 เซนติเมตร

plubpluangton

คนอีสานแท้ๆมักจะเรียกพลับพลึงว่าว่านชน เนื่องจากเมื่อพลัดตกหกล้มหรือไปชนกระแทกอะไรมาก็ให้ใช้ว่านนี้รักษา ประโยชน์ทางยาของพลับพลึงนั้น เป็นที่รู้กันโดยหมอยาในหลายท้องที่นิยมใช้แบบเดียวกันนั่นคือใช้พลับพลึงในการแก้ฟกช้ำดำเขียว แก้อักเสบ เคล็ดขัดยอก ปวด บวม โดยวิธีใช้ก็แสนง่าย เพียงนำใบพลับพลึงมาย่างไฟให้ตายนึ่ง คือย่างพอให้ใบอ่อนตัวลง แล้วพันรอบอวัยวะที่เจ็บ หัก บวม ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก นอกจากนี้ในมารดาหลังคลอดก็นิยมใช้ใบพลับพลึงในการทับหม้อเกลือ ที่ท้อง สะโพก เพื่อลดอาการอักเสบ ฟกช้ำ จากการคลอดลูก และเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว หรือคนที่ปวดศีรษะ ก็สามารถนำใบพลับพลึงอังไฟ แล้วมาพันรอบศีรษะไว้ อาการปวดก็จะทุเลาลง แต่ถึงแม้ประโยชน์ของเจ้าว่านชนจะมีมากมาย ก็ใช้ได้แค่ภายนอกเท่านั้น ไม่ใช้เป็นยากินเนื่องจากมีพิษ

plubpluangkor

นอกจากจะใช้พลับพลึงในทางยาก็จะใช้ในพิธีกรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากพ่อหมอเมืองเลย นำใบพลับพลึงซอยใส่ขันน้ำมนต์ ใช้ประพรมตัวเพื่อไล่ผีและสะสางสิ่งอัปมงคล พร้อมทั้งนำต้นพลับพลึงไปปลูกแก้เคล็ดเพื่อใช้ขับไล่ความไม่เป็นมงคลต่างๆได้ และยังมีการบอกเล่าไว้ว่าชื่อว่าน ชน นี้มีที่มาจากคำว่า ชนะ ช่วยให้ชนะสิ่งที่ไม่ดีทั้งปวง พลับพลึงจึงเป็นไม้มงคลหนึ่งที่ควรมีไว้ประจำบ้าน

สรรพคุณ / การใช้ประโยชน์

  • ใบ ตำผสมกับตะไคร้และข่า หมกไฟแล้วพอกบริเวณที่ปวดกระดูก(ปะหล่อง)
  • ดอก นำไปวัดหรือบูชาพระ(ลั้วะ)
  • ใบ จะมีรสเอียน นำไปต้มกินทำให้อาเจียน หรือใช้ใบพันรักษาอาการพกช้ำบวม เคล็ด ขัด ยอก แพลง จะถอนพิษได้ดี หรือจะใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียว หรืออาจใช้ปนกับชนิดอื่นๆ แล้วนำไปตำบริเวณที่ปวด ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ อาการบวม และลดอาการไข้
  • หัว จะมีรสขม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียน อาเจียน รักษาโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะ รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี นอกจากนี้ในหัวยังมีสาร alkaloid narcissine
  • เมล็ด ใช้เป็นยาบำรุง ยาระบาย ขับเลือดประจำเดือนและขับปัสสาวะ
  • ราก เคี้ยวให้แหลกจนเป็นน้ำ แล้วกลืนเอาแต่น้ำเข้าไป จะทำให้อาเจียน ใช้รักษาพิษยางน่อง หรือใช้ตำพอกแผล

ตำรับยา

  • ยาพันแก้ปวดหัว : นำใบมาลนไฟ พันรอบศีรษะ แก้ปวดหัว
  • ยาประคบ แก้ปวดเมื่อย บำรุงผิว แก้วิงเวียน แก้เคล็ดขัดยอก : ว่านชน ไพล ขมิ้นชัน ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย เกลือแกง การบูร ใบเปล้า ใบหนาด ตำแล้วนำไปทำเป็นยาประคบ
  • ยาย่างรักษาอาการ ตกต้นไม้ ควายชน เลือดตกใน : ว่านชน ใบหนาด ใบเปล้าใหญ่ ใบชมชื่น (เขยตาย) ใบส้มป่อย ให้หั่น ตำแล้วนำไปทำยาย่าง
  • ยาประคบเส้น : เทียนดำ 1 บาท เกลือ 1 บาท อบเชย 2 บาท ไพล 4 บาท ใบพลับพลึง 8 บาท ใบมะขาม 12 บาท ตำห่อผ้า นึ่งให้ร้อน ประคบเส้นตึงให้หย่อนแล

ที่มา
หนังสือบันทึกแผ่นดิน5 สมุนไพรประคบ อบ อาบ นวด
เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ใต้ดิน

แสดงความคิดเห็น