พลาสติกคลุมดิน

การคลุมดิน (mulching) หมายถึง การคลุมดินด้วยวัตถุต่าง ๆ เช่น พลาสติก กระดาษ เศษเหลือของพืช เป็นต้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ การคลุมดินส่วนใหญ่นิยมกระทำเพื่อรักษาความชื้นในดิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง การคลุมดินยังมีประโยชน์ ในแง่ของการลดปริมาณวัชพืชด้วย นอกจากนี้วัสดุคลุมดิน ยังช่วยให้อุณหภูมิของดินไม่แตกต่างกันมาก

วัตถุประสงค์และข้อควรพิจารณาของการคลุมดิน
วัตถุประสงค์ของการคลุมดิน (purpose of mulching) มีดังต่อไปนี้

  1. เพื่อป้องกันการพังทลายที่เกิดจากเม็ดฝนที่ตกลงมา หรือที่เกิดจากน้ำ ไหลบ่าบนผิวดิน หรือที่เกิดจากลม
  2. เพื่อเป็นการอนุรักษ์น้ำในดิน
  3. เป็นการเพิ่มอุณหภูมิหรือรักษาอุณหภูมิไม่ให้ลดต่ำลงมากจนเป็นอันตราย ต่อรากพืช
  4. เป็นการลดการเจริญเติบโตของวัชพืช
  5. เป็นการรักษาโครงสร้างของดิน

ในการคลุมดินมีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

  1. ชนิดของพืชที่ต้องการคลุมดิน
  2. วัตถุคลุมดินหาได้ที่ไหน
  3. เศษเหลือของพืชที่จะคลุมดินหรือจะคลุกลงไปในดิน
  4. ควรใช้เศษเหลือของพืชจำนวนเท่าไรจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด
  5. การคลุมดินจะเป็นอุปสรรคต่อการพรวนดินหรือไม่
  6. การคลุมดินจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชหรือไม่
  7. การใช้วัสดุคลุมดินจะมีผลต่อผลผลิตของพืชหรือไม่
  8. จะใส่ปุ๋ยอย่างไร และใช้อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงชนิดใด

klumppdamton

ผลของการคลุมดินที่มีต่อสภาพต่าง ๆ ของดิน (effects of mulching) แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

  1. สภาพทางฟิสิกส์ของดิน ได้แก่
    1.1 ลดแรงปะทะของเม็ดฝนที่กระทำต่อผิวดิน
    1.2 ลดปริมาณและระยะทางการกระเด็นของดิน ซึ่งเกิดจากการตกลงมาของเม็ดฝน
    1.3 ลดการแพร่กระจายของอุณหภูมิของดิน และลดการจับตัวเป็นแผ่นแข็งที่ผิวดิน
    1.4 ลดการเกิดการพังทลายของดินภายใน หรือลดช่องว่างในดิน
    1.5 การเปลี่ยนแปลงความชื้นในดินมีน้อยลง
    1.6 ในฤดูหนาวอุณหภูมิจะสูงขึ้น
    1.7 ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนอุณหภูมิต่ำลง
    1.8 รักษาสภาพของจุลภูมิประเทศ (microlimate)
    1.9 ลดปริมาณและอัตราการแข็งตัวของดิน
    1.10 การสะสมน้ำที่ผิวดินลดลง
    1.11 ปรับปรุงคุณภาพด้านโครงสร้างของดิน
    1.12 ทำให้ดินมีความต้านทานต่อการแตกกระจายมากขึ้น
    1.13 ดินมีความพรุนมากขึ้น
    1.14 เพิ่มความสามารถในการซึมน้ำของดิน
    1.15 ลดการระเหยน้ำจากดิน
    1.16 ลดปริมาณน้ำที่ไหลบ่าและลดการพังทลายของดินที่เกิดจากน้ำ
    1.17 ลดความเร็วของลมและน้ำที่ไหลบ่าไปตามผิวดิน
    1.18 ลดการพังทลายของดินโดยลม
  2. สภาพทางเคมีของดิน
    2.1 ช่วยตรึงไนโตรเจนให้อยู่ในรูปอินทรีย์ในระยะเวลาอันสั้นหลังจากใส่ตอซัง ของพืชลงในดิน
    2.2 เกิดจากสภาพขาดออกซิเจน เนื่องจากมีการเน่าเปื่อยของคาร์โบไฮเดรตในดินบน
    2.3 ปลดปล่อยอินทรีย์ไนโตรเจนให้กลายมาอยู่ในรูปที่พืชใช้ดี
    2.4 อาจทำให้เกิดการตรึงไนโตรเจนเพิ่มขึ้น
    2.5 มีการตรึงฟอสฟอรัสชั่วคราวเกิดขึ้น
    2.6 มีโพแตสเซียมที่เป็นประโยชน์น้อยลง
    2.7 แต่โพแตสเซียมทั้งหมดเพิ่มขึ้น
    2.8 ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างมากขึ้น
    2.9 ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืช เนื่องมาจากน้ำที่ไหลบ่าบนผิวดินเพราะน้ำที่ไหลบ่าลดลง
  3. สภาพทางชีวะของดิน
    3.1 เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินซึ่งอยู่ใกล้ผิวดิน
    3.2 ศัตรูพืชมีมากขึ้น
    3.3 พืชต่าง ๆ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
    3.4 ผลผลิตของพืชมีโอกาสได้รับสูงขึ้น

การปลูกพืชโดยใช้พลาสติกคลุมดินมีข้อดีคือจะช่วยป้องกันหญ้าขึ้นในแปลง ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และลดการระเหยของน้ำ การเตรียมดินปลูกพืชผักจำเป็นต้องมีการเตรียมดินอย่างดีเพื่อให้เมล็ดผักซึ่งมีขนาดเล็กมีการงอกที่ดี ควรไถดินลึก 6-8 นิ้ว พลิกดินตากไว้ 7-10 วัน เพื่อฆ่าไข่แมลงและศัตรูพืชบางชนิด แล้วจึงไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชออกให้หมดทำการยกแปลง ขนาดของแปลงขึ้นกับชนิดพืชผักที่ปลูก

klumppdamnam

ตัวอย่างเช่น ในการปลูกแตงโมโดยใช้พลาสติกคลุมดินของเกษตรกรที่จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนการปลูกจะทำการเตรียมดินโดยใช้ผาล 3 ไถตากดินเพื่อให้วัชพืชตายโดยจะไถเว้นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์แล้วไถพรวนด้วยผาล 7 เพื่อย่อยดิน หลังจากนั้นจะทำการแบ่งแปลงยกร่องโดยใช้ผาลจานหันเข้าหากันมีระยะห่างเท่ากับความกว้างของร่องที่จะทำการปลูก โดยให้มีระยะห่างระหว่างสันร่องประมาณ 6 เมตร และจะปรับสันร่องให้แบนลงโดยใช้คราดติดพ่วงรถไถเดินตามลากปรับ ใส่ปุ๋ยขี้ไก่โรยบนสันร่อง

หลังจากนั้นจะทำการวางท่อน้ำหยดไปตามสันร่องโดยจะโรยสายน้ำหยดจำนวน 2 สาย ต่อแถว โดยให้หลุมปลูกอยู่ระหว่างสายน้ำหยดทั้งสองสาย แล้วจะทำการคลุมพลาสติก โดยใช้แรงงานจำนวน 4 คน โดย 2 คน จะทำหน้าที่จับม้วนพลาสติกลากไปตามแถว อีก 2 คน จะทำหน้าที่ใช้จอบกลบขอบพลาสติกเป็นระยะเพื่อไม่ให้ลมพัดพลาสติกปลิว และจะกลบขอบพลาสติกซ้ำอีกครั้ง โดยใช้รถแทรกเตอร์

klumppdamplang

หลังจากนั้นจะเพาะกล้าในถาดเพาะกล้า เพื่อเตรียมนำไปปลูกในหลุมของแปลงที่คลุมพลาสติก ซึ่งจะเจาะหลุมบนแปลงพลาสติก โดยใช้ท่อเหล็กร้อนใส่ถ่านไฟและจะเดินระบบน้ำหยดไล่สายให้น้ำหยดทุกหลุม แล้วนำกล้าที่เพาะไว้มาใส่หลุมปลูกเนื่องจากการใช้พลาสติกคลุมดินในการปลูกพืชของเกษตรกรจะใช้พลาสติกหลายขนาด รวมทั้งมีวิธีการปูพลาสติกที่แตกต่างกัน

klumppdamnas

พลาสติกคลุมดิน สำหรับใช้คลุมหน้าดิน คลุมแปลงเกษตร มีประโยชน์ในการใช้ควบคุมอุณหภูมิภายในดิน ไม่ให้แปลงดินร้อนอบอ้าวหรือเย็นจนเกินไป ปกป้องหน้าดินจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ลดแรงกระแทกจากเม็ดฝนที่ตกหนัก ช่วยให้น้ำซึมผ่านได้ดี ทำให้ดินเก็บน้ำได้นานยิ่งขึ้น ถ้าใช้ปุ๋ยน้ำพืชจะได้ผลจากปุ๋ยอย่างเต็มที่ ทำให้หน้าดินร่วนซุย อากาศไหลเวียนได้ดี ไม่อับชื้น ป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ ทำให้วัชพืชตายแบบถอนรากถอนโคนกลายเป็นปุ๋ยให้พืชผักที่ปลูกได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและทำให้เกษตรกรสัมผัสหรือใช้สารเคมีในการควบคุมวัชพืชน้อยลง ช่วยลดปัญหาการเกิดโรคที่สะสมภายในดิน ลดปัญหาแมลงศัตรูพืชรบกวน ซึ่งพลาสติกคลุมดินนั้นจะส่งผลดีอย่างมากต่อการทำเกษตรอินทรีย์

แนะนำเกี่ยวกับการใช้งานพลาสติกคลุมดิน คลุมแปลงเกษตร
โดยปกติแล้วพลาสติกสำหรับคลุมแปลงเกษตรทั่วไปนั้นจะมี 2 ด้าน คือด้านสีเงินและด้านสีดำ การปูที่เหมาะสมและถูกต้องจริงๆนั้นจะต้องปูโดยเอาสีเงินขึ้นด้านบน แล้วสีดำลงด้านล่าง เพราะด้านสีเงินจะมีการเคลือบสารสำหรับป้องกันแสงแดด (UV Stabilizer) ช่วยให้สะท้อนแสงแดด ลดความร้อนได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งแสงและสีที่สะท้อนออกมายังช่วยป้องกันและขับไล่แมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาใกล้บริเวณพืชผักที่ปลูกได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องปู พลาสติกคลุมดิน โดยให้ด้านสีเงินอยู่ด้านบน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานของพลาสติกคลุมดินส่งผลได้อย่างดีเยี่ยมมีประสิทธิภาพ ส่วนด้านสีดำนั้นไม่ควรที่จะเอาไว้ด้านบน เพราะว่าจะทำให้อมความร้อนและไม่ได้รับประโยชน์จากด้านสีเงินตามที่กล่าวมา ส่วนเกษตรกรบางท่านอาจเป็นกังวลในเรื่องของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในแปลงดิน การใช้พลาสติกเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในแปลงดินนั้น ไม่ว่าจะใช้ด้านไหนคลุมขึ้นด้านบนหรือด้านล่าง ก็ไม่ส่งผลต่ออุณหภูมิในแปลงดินครับ จากการทดลองไม่ว่าจะใช้ด้านไหนอุณหภูมิก็ไม่แตกต่างกันมากเท่าไรนัก ไม่ต้องเป็นกังวลเลยครับในส่วนนี้

klumppdampa

ตัวอย่างพืชผักที่เหมาะสมกับการใช้พลาสติกคลุมดิน
ประเภทผัก ได้แก่ แตงกวา ถัวฝักยาว พริก มะเขือเทศ มะนาว มะกรูด ผักกาด
ประเภทดอกไม้ ได้แก่ ดาวเรือง เบญจมาศ
ประเภทผลไม้ ได้แก่ แตงโม แตงไทย สตรอเบอรี่
ประเภทพืชพลังงาน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน
และพืชผักอื่นๆ อีกมากมาย

klumppdamtang klumppdamto klumppdam

พลาสติกคลุมดิน คลุมแปลง นั้นสามารถใช้งานได้ดีมีประโยชน์ในทุกช่วงฤดูกาล โดยในฤดูร้อนและฤดูหนาวจะช่วยเก็บรักษาและควบคุมอุณหภูมิภายในดิน ส่วนในฤดูฝนก็สามารถช่วยควบคุมเหล่าพวกวัชพืชได้ เป็นที่นิยมใช้กันมากตามโรงเรือนเพาะชำ และแปลงเพาะปลูก อายุการใช้งานของ พลาสติกคลุมดิน จะขึ้นอยู่กับเม็ดพลาสติกหรือเกรดคุณภาพของ พลาสติกคลุมดิน โดยทั่วไปจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 3 เดือน ถึง 1 ปี แต่ถ้าหากจะใช้งานได้นานๆ ก็ต้องปูเอาด้านสีเงินขึ้น เพราะว่าด้านสีเงินจะมีเม็ดพลาสติกใหม่อยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของพลาสติกคลุมดินได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น เหมาะกับพืชผักที่มีอายุการปลูกนานๆ หรือพวกพืชล้มลุก

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด เครื่องมือเกษตร

แสดงความคิดเห็น