พะยูง ไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้าง

27 มกราคม 2556 ไม้ยืนต้น 0

“พะยูง” เป็นไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกับไม้สัก ตะเคียน มีชื่อและความหมายดี เชื่อว่าบ้านใดปลูกไว้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ช่วยไม่ให้ชีวิตตกต่ำ เพราะพยุงคือการประคับประคองให้คงอยู่ ให้มั่นคงหรือการยกให้สูงขึ้น คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพะยูงไว้ประจำบ้านจะทำให้มีความเจริญความมั่นคง เพราะยูงหรือ พะยูง คือการช่วยพยูงให้คงอยู่ให้มั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดความสง่า เพราะโบราณ ได้เปรียบเทียบไว้ว่ายูงยางสูงกว่าโดดเด่นเห็นตระการตา คือ มีความสว่างในตัวเอง ซึ่งคล้ายกับความสง่าของนกยูง เป็นสัตว์ชั้นสูงชนิดหนึ่ง และยังมีคนโบราณบางคนได้กล่าวไว้ว่า พยูงหรือกระยงก็คือ กระยงคงกระพันได้อีกแง่หนึ่ง เช่นกัน ทั้งนี้เพราะโบราณถือว่า เนื้อไม้ของพะยูงเป็นเนื้อไม้ที่แข็งแกร่งและมีอิทธิฤทธิ์พอสมควร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและผู้ปลูก ควรเป็นสุภาพบุรุษเพราะเชื่อพะยูงเป็นชื่อที่เหมาะสมสำหรับสุภาพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า แก่นไม้พะยูงมีลักษณะที่แข็งแกร่งจึงเปรียบเทียบความแข็งแรงเหมือนกับสุภาพบุรุษ

ต้นพะยูงจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร หรือก่อฐานประดิษฐ์ถาวรวัตถุต่างๆ เช่น พิธีก่อกฤษ์ หรือว่างศิลาฤกษ์ การปลูกควรปลูกในวันเสาร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนไทยจัด ลำดับ ” พะยูง” ให้อยู่ใน 9 ชนิดไม้มงคลที่ปลูกไว้ในบ้าน ประกอบด้วย ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์, ทองหลวง, ไผ่สีสุก, กันเกรา, ทรงบาดาล, สัก, พะยูง, ขนุน

ชื่อพันธุ์ไม้ พะยูง
ชื่อสามัญ (ไทย) กระยูง กะยง (เขมร สุรินทร์) ขะยุง (อุบลราชธานี) แดงจีน(กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี) ประดู่ลาย (ชลบุรี) ประดู่แสน (ตราด) พะยูงไหม (สระบุรี) หัวลีเมาะ (จีน) ประดู่ตม (จันทบุรี)
(อังกฤษ) Black Wood, Rose Wood, Siamese Rose Wood,Thailand Rose Wood.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierra
ชื่อวงศ์ Papilionaceae

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ
พะยูงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยพบกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดิบแล้ง ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-300 เมตร

payoongs

ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา
พะยูงเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นเปลา ตรง เปลือกสีเทา เรียบ และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง มีเรือนยอดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ทึบ

  • ลักษณะเนื้อไม้ เนื้อละเอียด เสี้ยนสนเป็นริ้วแคบ ๆ เหนียว แข็งทนทาน หนักมาก สีน้ำตาลอ่อนแกนสีแดงอมม่วง หรือสีม่วงกึ่งสีเลือดหมูแก่ เป็นมันเลื่อม และมีริ้วสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อนผ่าน เลื่อยผา ไสกบ ตบแต่งยาก ขัดและชักเงาได้ดีมีน้ำมันในตัว
  • ใบ เป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนก ช่อติดเรียงสลับ ยาว 10-15 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อยรูปรี ๆ แกมรูปไข่ ติดเรียงสลับ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ มีลักษณะรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ใบกว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. โคนใบมน แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย หลังใบมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ มี 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้านขอบใบเรียบ
  • ดอก มีขนาดเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ทรงรูปดอกถั่ว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ยอด กลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ขอบหยักเป็น 5 แฉก กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายโล่ กลีบปีกสองกลีบรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงจะเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปเรือหรือพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เกสรผู้มี 10 อัน อันบนจะเป็นอิสระ นอกนั้นจะติดกันเป็นกลุ่ม รังไข่รูปรี ๆ ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนหลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว จะยาวยื่นพ้นกลุ่มเกสรผู้ขึ้นมา ระยะเวลาออกดอก ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
  • ผล เป็นฝัก ผิวเกลี้ยง แบน และบอบบาง รูปขอบขนาน กว้าง 1.2 ซม. ยาว 4-6 ซม. ตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ดมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือน หลังจากออกดอกซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ฝักเมื่อแก่จะไม่แตกออกเหมือนฝักไม้แดงหรือฝักมะค่าโม่ง ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดอยู่ในฝัก
  • เมล็ด รูปไต สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ผิวค่อนข้างมัน กว้าง 4 ซม. ยาว 7 มม. เมล็ดจะเรียงตามยาวของฝัก ใน 1 ฝักจะมีเมล็ดจำนวน 1-4 เมล็ด

การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ไม้พะยูงที่มีการปฏิบัติกันคือ การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและนิยมใช้กันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ที่สามารถทำได้คือการนำเหง้ามาปักชำ

payoongkla

วิธีเพาะเมล็ด เนื่องจากเมล็ดพะยูงมีความงันที่เปลือกอยู่บ้าง ดังนั้นเพื่อให้การงอกสม่ำเสมอ ควรขจัดความงันของเมล็ดออกด้วยการปฏิบัติเมล็ดก่อนเพาะ ซึ่งสามารถทำได้โดยนำเมล็ดมาแช่ในน้ำเย็นเป็นเวลา 24 ซม. แล้วนำไปเพาะในกระบะทราย กลบเมล็ดด้วยทรายบาง ๆ รดน้ำสม่ำเสมอแต่อย่าให้แฉะ เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่องอกได้ 10-14 วัน ก็นำกล้าย้ายลงถุงเพาะ 4×6 นิ้ว เจาะรู 8-12 รู โดยมีส่วนผสมดินเพาะชำที่เหมาะสมคือ ดินตะกอนริมห้วย : ทราย : ขี้เถ้า : แกลบ : ปุ๋ยหมัก = 5 : 2 : 2 : 1 (สุคนธ์ สิมศิริ และคณะ 2531) โดยทั่วไปเมื่อเลี้ยงกล้าไว้ประมาณ 3-5 เดือน จะได้กล้าที่มีขนาดเหมาะสมต่อการย้ายปลูก และกล้าควรจะมีความสูงไม่น้อยกว่า 30 ซม. จึงย้ายไปปลูก

การคัดเลือกพื้นที่และการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก
พะยูงแม้จะจัดเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าของไม้ชนิดนี้นับว่ายังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับ ไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น สัก เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรม อนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร การปลูกเชิงพาณิชย์หรือวนเกษตรเพราะยังมิได้มีนโยบายกำหนดไว้ว่าจะต้องปลูกไม้พะยูงในอัตราส่วนหรือจำนวนเท่าใดของเป้าหมายของการปลูกป่าของแต่ละปี การปลุกไม้พะยูงโดยทั่วไปจึงยังอยู่ในระดับที่ต่ำและมักจะเป็นการปลูกเพื่อการทดลอง สาธิตหรือ จากความสนใจเฉพาะบุคคล จึงยังมิได้มีการสรุปถึงวิวัฒนาวิธีที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไม้พะยูง อย่างไรก็ตามไม้พะยูงสามารถปลูกได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ทั้งทางภาคอีสานและภาคใต้ (ดำรง ใจกลม 2528) การคัดเลือกพื้นที่และการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกพะยูงจึงมิได้มีความแตกต่างหรือสลับซับซ้อนจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการปลูกพรรณไม้้ชนิดอื่นเท่าใดนัก การเตรียมพื้นที่ที่สำคัญ จึงประกอบด้วยการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก การไถพรวนพื้นที่หากสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย เช่น เป็นที่ราบ และการเก็บและทำลายเศษปลายไม้และวัชพืช

การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์
เนื่องจากตามสภาพธรรมชาติไม้พะยูงจะขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้งทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้นจึงสามารถปลูกพะยูงได้ในหลายพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ การเตรียมพื้นที่ปลูกพะยูงก็มีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพรรณไม้ป่าชนิดอื่น

ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพะยูง ควรจะปลูกระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นหรือกลางฤดูฝนและควรใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดไปปลูกซึ่งระยะปลูกที่ใช้ปลูกกันคือระยะ 3×3 หรือ 2×3 เมตร ก่อนนำไปปลูกควรใส่ปุ๋ยต้นละ 1 ช้อนชา เพื่อให้กล้าไม้มีปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอในช่วงระยะแรกของการตั้งตัว และสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้

พะยูงเป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางปลูกได้โดยทั่วไปในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมเหมาะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความรู้เกี่ยวกับอัตราการเจริญเติบโตของไม้พะยูงยังมีการศึกษากันน้อย โดยเฉพาะอัตราการเจริญเติบโตจนถึงช่วงอายุตัดฟันและปริมาตรมวลชีวภาพที่จะได้ในแต่ละช่วงอายุตัดฟัน แต่อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตของไม้พะยูงในช่วงอายุ 1-4 ปี นั้น อนันต์ สอนง่าย และคณะ (2531) ได้รายงานไว้ว่า เมื่อปลูกพะยูงด้วยระยะปลูก 2×3 เมตร กล้าไม้เมื่อมีอายุ 1 และ 2 ปี จะมีความสูง 1.1 เมตร และ 2.1 เมตร ตามลำดับ และกล้าไม้อายุ 4 ปี เมื่อปลูกในระยะ 2×2 เมตร จะมีความสูง 4.4 เมตร

payoongdok

การบำรุงรักษา
ระยะเวลาสำหรับการบำรุงรักษาแปลงปลูกไม้พะยูงนั้นยังกำหนดแน่นอนไม้ได้ เพราะขึ้นอยู่กับงบประมาณและการเจริญเติบโตของต้นไม้ ที่ปลูกแต่ละพื้นที่ว่าจะสามารถครอบคลุม การเจริญเติบโตของวัชพืชได้เร็วเพียงใด อย่างไรก็ตามพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่าควรมี การบำรุงรักษาติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี มีวิธีปฏิบัติในลักษณะเดียวกับการบำรุงรักษาพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ที่กำจัดวัชพืชควรดำเนินการ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะในฤดูแล้งไม่ควรให้มีวัชพืชหรือเศษวัชพืชอยู่ในแปลง เพราะจะกลายเป็นเชื้อเพลิงและก่อให้เกิดไฟไหม้แปลงได้้การกำจัดวัชพืชในช่วงก่อนถึงฤดูแล้ง จึงมีความสำคัญมากและควรดำเนินการควบคู่ไปกับการป้องกันไฟ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากในระยะที่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ การป้องกันไฟควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-พฤษภาคม หรือเมื่อแน่ใจว่า ไม่มีโอกาสที่จะเกิดไฟได้อีก การใส่ปุ๋ยในระยะที่ต้นไม้ยังเล็กมีความสำคัญมากเพราะยังอยู่ในภาวะที่ต้องแก่งแย่ง กับวัชพืชกล้าไม้จึงควรได้รับ การใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณการป้องกันโรค และแมลงหากมีการระบาดอย่างรุนแรงก็มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสม พร้อมทั้งขจัด ทำลายไม้ที่ได้รับความเสียหายจากโรคและแมลง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นที่แพร่ระบาดของโรคและแมลงต่อไป ในขณะที่ต้นไม้ยังเล็กอยู่ช่วง 3-5 ปีแรกของการปลูกไม่้ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเข้าแปลงปลูกเพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นจะเหยียบย่ำต้นไม้และกัดกินใบและยอดซึ่งจะทำให้ต้นไม้เสียรูปทรงและอาจตายได้ การบำรุงต้นไม้ด้วยการตัดและแต่งกิ่งสำหรับพะยูงอาจจะไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก นอกเสียจากเป็นส่วนที่ถูกทำลายด้วยโรคและแมลง เพื่อมิให้เป็นแหล่งแพร่ระบาดต่อไป การปลูกพะยูงในระยะปลูกที่แคบเช่น 2 x 2 เมตร จะช่วยให้ต้นไม้้มีการริีดกิ่งเองตามธรรมชาติได้ดีกว่าการปลูกในระยะ ที่ห่างสำหรับการตัดสางขยายระยะนั้นยังไม่มีตัวเลขกำหนดแน่นอนว่าควรจะเป็นเมื่อไรหรือเมื่อไม้มีขนาดเท่าใดเพราะขึ้นอยู่กับระยะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น อย่างไรก็ตามข้อสังเกตสำหรับพิจารณาการตัดสางขยายระยะคือ เมื่อเรือนยอดเริ่มเบียดเสียดชิดกันมาก และการตัดสางขยายระยะ ควรพิจารณาต้นที่โตด้อยหรือแคระแกร็นกว่าต้นอื่นเป็นหลัก

โรคแมลงและศัตรูธรรมชาติ
พะยูงมีศัตรูธรรมชาติที่เป็นทั้งโรคและแมลงหลายชนิดด้วยกันเช่นประเภทแมลงที่เจาะเมล็ดได้แก่ Antrocephalus sp. พวกกัดกินใบ เช่น Plecoptera Feflexa, Psilogramma menephron พวกม้วนใบ Apoderus sp. และพวกเจาะลำต้น เช่น Sphenoptera sp. เป็นต้น (ฉวีวรรณ หุตะเจริญ 2526) สำหรับโรคที่เป็นศัตรูของพะยูงมักพบในขณะที่เป็นกล้าอยู่ได้แก่โรคราสนิม(Rust) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Maravalia pterocarpi (thir.) ซึ่งจะทำลายทั้งส่วนใบและลำต้นของกล้าไม้ โดยเฉพาะกิ่งยอด และโรคใบจุด (Tar spot) ซึ่งเกิดจากเชื้อราในกลุ่ม Ascomycetes โดยจะทำลายใบ (กฤษณา พงษ์พานิช และคณะ 2531)

วนวัฒนวิธีและการจัดการ
เมื่อปลูกพะยูงไปแล้วก็มีวิธีการปฏิบัติและดูแลรักษาเช่นเดียวกับการปลูกไม้ป่าชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อต้นไม้พะยูงยังเล็กอยู่ควรใส่ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง และมีการกำจัดวัชพืช อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตัดแต่งกิ่งไม่มีความจำเป็นมากนักเพราะปลูกในระยะแคบทำให้มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ ส่วนการตัดสางขยายระยะขึ้นอยู่กับระยะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น คือสังเกตว่า เมื่อเรือนยอดเริ่มเบียดเสียดกันมากก็เริ่มตัดสางขยายระยะได้และควรพิจารณาต้นที่โตด้อยกว่าต้นอื่นเป็นหลัก

การใช้ประโยชน์

  1. เนื้อไม้ เนื่องจากพะยูงมีเนื้อไม้ที่มีสีสรรที่สวยงาม จึงมีการนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ แกะสลัก สิ่งประดิษฐ์ ไม้ถือและด้ามเครื่องมือ คุณภาพดี ราคาแพง ใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน กระบะรถยนต์ กระสวยทอผ้า ด้ามหอก คันธนู หน้าไม้ ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย โทน รำมะนา ลูกระนาด
  2. ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงครั่ง ไม้พะยูง เป็นไม้ที่เลี้ยงครั่งได้ดีชนิดหนึ่ง โดยให้ผลผลิตสูงถึงต้นละประมาณ 50 กก. และให้ครั่งได้มาตรฐานจัดอยู่ในเกรด A
  3. ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร ราก ใช้รับประทานแก้พิษไข้เซื่องซึม เปลือก ต้มเอาน้ำแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง ยางสด ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย

payoongmai

ข้อจำกัดของไม้ชนิดนี้
พะยูงแม้จะเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญและสามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ แต่เนื่องจากเป็นไม้ที่โตค่อนข้างช้า อีกทั้งไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับช่วงอายุตัดฟันและอัตราผลผลิตที่พึงได้ พะยูงจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในการปลูกสร้างสวนป่าอย่างจริงจัง ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการปลูกไม้ชนิดนี้ให้ประสบความสำเร็จ สำหรับการทำลายของโรคและแมลง นั้นไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรค สำคัญของการปลูกสร้างสวนป่าของไม้ชนิดนี้

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจในการปลูกไม้พะยูง
พะยูงเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่คุ้มค่าแก่การลงทุนและให้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตามคุณภาพของเนื้อไม้นับว่า เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงไม้พะยูงมีแนวโน้มที่จะแตกเป็นพุ่ม ตั้งแต่ในขณะที่มีอายุน้อยเพียง 3-4 ปี ดังนั้นการปลูกควรจะปลูกในระยะชิด เช่น 2 x 2 เมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการบังคับรูปทรงของต้นไม้ให้มีความเปลาตรงมากขึ้นและสะดวกต่อการควบคุมวัชพืช และที่สำคัญเมล็ด ที่จะใช้สำหรับการเพาะกล้าควรมีคุณภาพหรือได้รับการปรับปรุงคุณภาพพันธุศาสตร์แล้ว

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น