พัดใบกะพ้อ

ต้นกะพ้อเป็นพืชที่สามารถใช้ได้เกือบทุกส่วน มีประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น การนำยอดของต้นกะพ้อไปใช้ในการทำขนมต้มในพิธีงานต่างๆ ส่วนใบแก่สามารถนำมากั้นเป็นหลังคา ยอดอ่อนนำมาประกอบอาหารได้ รากกะพ้อนำมารักษาโรคต่างๆ เช่น ช่วยบำรุงเลือด ยาแก้ปวดฟัน และใบอ่อนนำมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์เพื่อความสวยงาม เช่น พัด ดอกไม้ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ชาวบ้านในภาคใต้นำใบกะพ้อมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ หรือประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวใต้ เช่น การทำบุญเดือนสิบ ซึ่งมีทั่วๆไปในภูมิภาคของประเทศไทย จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ในภาคอีสาน เรียก บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก ภาคเหนือเรียก กินก๋วยสลาก หรือทานก๋วยสลาก และในภาคกลางเรียก สลากภัตรและสลากกระยาสารท ในท้องถิ่นภาคใต้มีประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยเฉพาะ งานเดือนสิบ ของนครศรีธรรมราช เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่สุดประเพณีดังกล่าวทำต่อเนื่องกันมาช้านาน เป็นประเพณีที่สืบปฏิบัติกันทั่วไปในภาคใต้ โดยเฉพาะในท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการปฏิบัติประเพณีนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

ใบพ้อ หรือใบกะพ้อ เป็นพืชตระกูลปาล์ม มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นรูปพัด ชาวบ้านในภาคใต้นำใบกะพ้อมาจักสานเป็นพัด เรียกว่า “พัดใบกะพ้อ” หรือ “พัดใบพ้อ” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมจักสานประเภทหนึ่งที่เป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน นับเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของภาคใต้

krapor

อุปกรณ์การสานพัดใบกะพ้อ

  1. ยอดอ่อนต้นกะพ้อ
  2. หวายและไม้ไผ่คลาน สำหรับทำห่วงหูตรงกลางด้ามของพัด
  3. หวายหรือผลิตภัณฑ์ใยสังเคราะห์ สำหรับผูกพันด้าม
  4. สีย้อม นิยมใช้สีแดง เขียว และสีเหลือง
  5. มีดจักตอก ใช้เป็นมีดเลื่อยตอกกะพ้อ
  6. กรรไกรตัดแต่งพัดใบกะพ้อ
  7. เหล็กแหลม ใช้เจาะรูสอดเชือกพันด้ามพัด

ขั้นตอนการสานพัดใบกะพ้อ

  1. การเลื่อยพ้อ นำยอดอ่อนใบกระพ้อสดที่ใบยังซ้อนทับกันอยู่นำมาเลาะหนาม เกลาแต่งเหลี่ยมก้านและตัดก้านให้ยาวพอเหมาะ เพื่อทำด้ามพัดต่อไป ดึงแยกครีบใบหรือหูกระพ้อทั้งสองข้างออกทิ้ง ตัดสะดือกระพ้อซึ่งเป็นก้านแกนกลางออก ให้เหลือประมาณ 5-6 นิ้ว กรีดใบออกเป็นทางยาวตลอด ให้กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร หนึ่งใบใหญ่ต้องกรีดให้ได้ 18-22 แฉก นำไปตากแดดจัด 1 วันให้ห้วยส่วนปลายใบลง เพื่อให้ใบเหยียดตรงไม่คดงอ เมื่อตากแดดใบสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน
  2. การลวกน้ำลวกและตากแดด นำใบกะพ้อที่ตากแดดหนึ่งวันแล้วไปลวกน้ำร้อน เพื่อให้ใบนิ่มจุ่มแช่ในน้ำเดือดประมาณ 3 นาที ยกขึ้นแขวนราวไม้ไผ่ ควรจัดวางให้เป็นระเบียบ เหมาะแก่การพลิกแปร ให้แห้งทั่วๆ กัน และเพื่อเก็บยกได้ง่ายหลังจากบ่มใบกะพ้อไว้หนึ่งคืน ให้ยกทั้งราวไม้ไผ่ไปแขวนตากแดดประมาณ 3 วัน จนกว่าจะแห้ง จึงนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกฝนถูกน้ำและความชื้น ต้องจัดการตากและเก็บ จนกว่าจะได้ใบกะพ้อแห้งขาวสวย แล้วจึงนำไปย้อมสีต่อตามต้องการ เพื่อให้การจักสานมีลวดลายงดงามมากยิ่งขึ้น
  3. การก่อพัด นำน้ำอุ่นมาพรมใบกะพ้อแห้งที่จะใช้จักสาน หรือชุมน้ำให้เปียกพอทั่ว ห่อด้วยผ้าทิ้งไว้ประมาณ 10 – 20 นาที เพื่อให้ใบกะพ้อแห้งอ่อนตัว และเกิดความเหนียวไม่แตกขณะสาน นำยอดกะพ้อที่นิ่มดีแล้วแยกตรงกลาง นับตอกข้างซ้ายและขวาให้เท่ากันจำนวนตอกตามความเหมาะสม เช่น พัดขนาดกลางนับข้างละ 18 ตอก พัดขนาดใหญ่ข้างละ 22 ตอก ส่วนตอกที่เหลือทั้งสอง้างให้ดึงออกนำมาใช้เป็นตอกก่อสานพัด
  4. การขึ้นพัด นำใบกระพ้อที่เตรียมไว้วางบนพื้น หันก้านเข้าหาตัวผู้สาน ใช้เท้าข้างหนึ่งเหยียบก้านใบกะพ้อให้กระชับ แผ่ใบกะพ้อออกเป็นตอก ทำเป็นตอกยืน นำตอกพ้อมาสลับหัวสลับหางซ้อนกันเป็นคู่ จะเริ่มวางตอกก่อข้างใดข้างหนึ่งก่อนก็ได้ แล้วจัดสานขัดเป็นลายขัดอีกข้างหนึ่งให้ได้ 3 คู่ จัดดึงตอกให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย พร้อมที่จะจัดไปสานก่อลายขัดอีกข้างหนึ่ง เมื่อก่อตอกก่อ 3คู่ ทั้งสองข้างเสร็จแล้ว ให้นำตอกสองข้างมาขัดกันเองสานขัดเข้ากับดอกยืนแบบลายขัดไทย โดยยกตอก 1 ตอก แล้วข่มตอกอีก 1 ตอก ไปเรื่อย ๆ จนสุดตอก
    ในกรณีที่ต้องการทำพัดย้อมสีตอกบางตอกให้นำตอกที่ย้อมสีแล้ว แทรกเข้าเป็นตอกยืนหรือตอกขัดตามที่ต้องการ
  5. การเวียนพัด เมื่อขึ้นพัดเสร็จแล้ว ต้องจัดตอกให้แน่นพอดี ปลายตอกที่เหลือให้สานกลับลงมา ดึงขัดและต้องจัดรูปทรงให้สวยงาม ปลายตอกที่เหลือให้รวบมัดไว้ที่ก้านพอเตรียมไว้พันเป็นด้ามพัด
  6. การพันด้ามพัด นำท่อนหวายสั้น ๆ หรือไม้ไผ่ที่เตรียมไว้นำมาให้โค้งประกบคร่อมปลายก้านใบกะพ้อไว้ ให้ช่วงโค้งห่างจากปลายก้านใบราว 1 นิ้ว นำเชือกหวายมาพันทับหวายที่ประกบก้านใบพันให้แน่นและให้ละเอียดที่สุด สอดห่วงหูตรงปลายด้ามของพัดให้ประณีต

padkrapors

ธรรมชาติสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามมาให้กับเรา เพราะฉะนั้นเราไม่ควรทำลายมัน แต่เราควรนำมันมาใช้ประโยชน์ในทางที่มีประโยชน์ คุ้มค่า และสร้างสรรค์ให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งเราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่าให้กับมัน ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นๆ ทำให้มีรายได้เข้าหมู่บ้าน มีเงินสะพัด เงินหมุนเวียน และสามารถลดปัญหาความยากจนให้กับชุมชนนั้นๆได้ แล้วทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ที่มา
วารสาร หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช http://www.gotoknow.org/blogs/posts
http://www.thaitambon.com/tambon

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ของใช้ในชีวิตประจำวัน

แสดงความคิดเห็น