พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาที่ใช้แนวคิดอันเหมาะสม และสอดคล้องกับภูมิสังคม อันได้แก่ สภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั่งหมดอยู่บนฐานความคิด ของความพอเพียง นอกจากนี้ยังมีปราชญ์ท้องถิ่นจำนวนมากที่ได้สร้างสรรค์แนวทางในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ
…ในการพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศทางสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วย โดยที่จะคิดให้กับเขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราต้องเข้าไปดูว่า เขาต้องการอะไรจริงและก็อธิบายให้เขาเข้าใจ หลักของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง…
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517
แต่เดิมนั้นการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักด้วยเข้าใจว่าดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถชี้วัดความอยู่ดีกินดีและมีความสุขของประชาชนในชาติได้ ทว่าผลลัพธ์จากการพัฒนาที่ดำเนินไปตามแนวคิดข้างต้น ได้ทำให้ผู้คนในวงกว้างเริ่มตระหนักว่าการเร่งรัดพัฒนาทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาในมิติอื่นๆ ควบคู่กันไปได้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์หลายประการ เช่น การละทิ้งถิ่นฐานและอาชีพในท้องถิ่นเพื่อเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ ภาระหนี้สินจากกระแสบริโภคนิยมโดยขาดความพอเพียงในตนเอง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยโดยขาดการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี ผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพืช สัตว์ รวมถึงมนุษย์ลดต่ำลง และอีกหลายๆ ปัญหาภายใต้วาทกรรมการพัฒนา บทเรียนเหล่านี้นำสู่ข้อสรุปว่าการพัฒนาที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการพัฒนาที่ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
แต่นับเป็นโชคดีของชาวไทยทุกคนที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ทรงอุทิศพระวรกายทรงงานด้วยพระวิริยอุตสาหะเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรที่อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารให้อยู่ดีกินดีขึ้นมานานกว่า 5 ทศวรรษก่อนที่จะมีผู้ใดคำนึงถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” ด้วยซ้ำ อีกทั้งผลงานจากโครงการพระราชดำริต่างๆ หลายร้อยหลายพันโครงการได้เป็นแรงหนุนสำคัญให้แนวคิด การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ลงหลักฐานอย่างมั่นคงในสังคมไทยและสังคมโลก
ด้วยพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกลและลึกซึ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาที่จะสร้างความยั่งยืนได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของ “ภูมิสังคม” ซึ่งเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของภูมิประเทศและผู้คน ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ชีวภาพ วีถีชีวิต ประเพณี ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้การพัฒนามีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความเป็นจริงในทุกด้าน ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือหรือวิธีการพัฒนาสำเร็จรูปที่มุ่งเน้นแต่ทฤษฎีจากตำราซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการที่แท้จริงของชุมชน
แม้คำว่าภูมิสังคมจะเป็นเพียงคำสั้นๆ ไม่กี่พยางค์ แต่การจะเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาตามนิยามได้อย่างถ่องแท้ต้องอาศัยการเข้าไปในพื้นที่จริงเพื่อศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างรอบด้านก่อนจะได้แนวพระราชดำริที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน จนมีคำกล่าวว่า ไม่มีที่แห่งใดในประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยย่างพระบาทไปถึง
ที่มา
ห้องสมุดมั่นพัฒนา
ป้ายคำ : พึ่งตนเอง