มะกรูด กลิ่นหอมชื่นใจสมุนไพรคู่ครัว

7 มิถุนายน 2556 ไม้พุ่มเตี้ย 0

มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เป็นไม้เนื้อแข็ง ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อยใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูป มีใบย่อย 1 ใบ เรียงสลับ รูปไข่ คือมีลักษณะคล้ายกับใบไม้ 2 ใบ ต่อกันอยู่ คอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน กว้าง 2.5-4 เซนติเมตร ยาว 4-7 เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน ค่อนข้างหนามีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ใบด้านบนสีเข้ม ใต้ใบสีอ่อน ดอกออกเป็นกระจุก 3 5 ดอก กลีบดอกสีขาว เกสรสีเหลือง ร่วงง่ายมีกลิ่นหอม มีผลสีเขียวเข้มคล้ายมะนาวผิวเปลือกนอกขรุขระ ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนมีเป็นสีเขียวแก่ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็ก ผิวจะขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่ขั้ว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด นอกจากในประเทศไทยและลาวแล้วยังมีความนิยมในกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (โดยเฉพาะบาหลี)

ชื่อสามัญ : Porcupine Orange, Kiffir Lime, Leech Lime
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
วงศ์ : Rutaceae
ชื่อท้องถิ่น : มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ) มะหูด (หนองคาย) ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้) โกรยเซียด (เขมร) มะขู (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันอยู่ตามผิวใบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ ก้านใบมีปีกดูคล้ายใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 แฉก โคนกลีบดอกติดกัน ผล เป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลเรียวเป็นจุก ผิวขรุขระ มีต่อมน้ำมัน ผลอ่อนสีเขียวแก่ สุกเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยว เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด

magroodtree

ส่วนที่ใช้
ผล ผิวของผล น้ำของผล ใบ และราก

สารสำคัญ
ในใบและผลมะกรูด เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอม ระเหยในปริมาณ 0.08 % และ4 % ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูดมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน, ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลัก ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล,ไอโซพูลิโกล และไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซี และกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ

คุณสมบัติ

  1. ใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่าง ๆ คือ น้ำในผลแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยา เพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตสตรี เนื้อของผลใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผลมะกรูดที่คว้านไส้ออกนำมหาหิงส์ใส่แทนใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน
  2. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ
  3. กรด Citric ช่วยขจัดคราบสบู่ (ด่าง) ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้ผมหวีง่าย น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม
  4. ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ในดับกลิ่นคาวของอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงต่าง ๆ

มะกรูดนอกจากใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร และบำรุงผมแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาอื่นๆ อีก เช่นการใช้เป็นยาภายใน คือเป็นยากินเพื่อขับลมในลำไส้ ขับเสมหะ ขับพิษ ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ไอ แก้โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากในมะกรูดมีวิตามินซี นอกจากนี้ยาฟอกเลือดสตรี ขับระดู แก้ผอมแห้งแรงน้อย ยาบำรุงประจำเดือน ก็มักจะมีมะกรูดอยู่ในตำรับยาอยู่เสมอ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

มะกรูดยังสามารถใช้ในสรรพคุณแก้ลม ดังปรากฏในตำรายาหลวงเป็นยาแทรกยานัตถุ์พิมเสนดม และถ้าหากจะทำยาแก้ลมวิงเวียนอย่างง่าย ๆ ก็สามารถทำได้โดย ใช้ผิวมะกรูด 1 ช้อนแกง หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เติมการบูรหรือพิมเสน 1 หยิบมือ ชงน้ำเดือด 1 แก้ว แช่ทิ้งไว้ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1-2 ครั้ง ถ้าไม่หายรับประทานต่อไปอีก 1-2 วันอาการจะดีขึ้น

สรรพคุณทางยา
ขับลมแก้จุกเสียด
วิธีใช้

  1. ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก เอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งรับประทาน จะช่วยขับลม แก้ปวดท้องหรือป้ายลิ้นเด็กอ่อน เป็นยาขับขี้เทาได้
  2. น้ำมะกรูดใช้ถูกฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน
  3. เอาผลมะกรูดมาดอง เป็นยาดองเปรี้ยวรับประทานขับลมขับระดู
  4. เปลือกผลฝานบาง ๆ ชงน้ำเดือดใส่การะบูรเล็กน้อย รับประทานแก้ลมวิงเวียน
  5. เปลือกฝนใช้ผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น แชมพู สบู

ขนาดการใช้และผลที่ได้รับจากการรักษาโรค

  • แก้ลม บำรุงหัวใจ ใช้ผิวสดหั่นเป็นชิ้น ผสมการะบูรหนึ่งหยิบมือ ชงน้ำเดือด คนให้ละลาย ปิดฝาทิ้งไว้ 3 5 นาที ดื่มเอาแต่น้ำ ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดี
  • ยาขับเสมหะ แก้ไอ ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือ ลนไฟให้เปลือกนิ่ม บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อย ๆ
  • เป็นยาสระผม หรืออาบ นำมะกรูดผ่าซีกลงในหม้อ ต้มอาบได้น้ำมันหอมระเหยอยู่บนผิว ทำให้ผิวไม่แห้ง และรสเปรี้ยวของมะกรูดช่วยให้อาบสะอาด นอกจากนี้ใช้มะกรูดผ่าซีกเอาน้ำมาสระผม

magroodpla

การปลูกมะกรูด
มะกรูดปลูกได้ดีในดินทุกชนิด ระยะปลูกมะกรูดนั้นปลูกได้หลายระยะ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และพื้นที่ของผู้ปลูก ซึ่งระยะปลูกไม่ควรติดกันเกิน 1 เมตร โดยทั่วไปนิยมปลูกมะกรูดระยะชิด คือ 2×2 เมตร 1 ไร่จะได้มะกรูด 400 ต้น หากปลูกระยะ 1.5 x 1.5 เมตร 1 ไร่จะได้ 1067 ต้น ในการปลูกระยะชิดนี้จะเป็นการปลูกมะกรูดเพื่อจำหน่ายใบ เนื่องจากมีการตัดใบจำหน่ายทุกๆ 3 4 เดือน พุ่มมะกรูดก็จะไม่ชิดกันมาก หากต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นลูกมะกรูด ผู้ปลูกอาจปลูกระยะห่าง 4 x 4 เมตร 1 ไร่จะได้ 200 ต้น หรือ 5 x 5 เมตร 1 ไร่จะได้ 65 ต้น เป็นต้น

การปลูกมะกรูดตัดใบ ต้องเลือกสภาพพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม โดยเลือกพื้นที่เป็นสภาพดินร่วนปนทราย หรือพื้นที่ที่มีการระบายน้ำที่ดีเพราะมะกรูดเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง ที่สำคัญการปลูกมะกรูดเพื่อตัดใบขายนั้นจะต้องมีสภาพแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ ถึงแม้มะกรูดจะเป็นพืชทนแล้งและไม่ต้องการน้ำมาก แต่หากเราต้องการจำหน่ายใบมะกรูดทั้งปี การให้น้ำมีความจำเป็นในการแตกใบของมะกรูดเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือน พ.ย. ไปจนถึงเดือน พ.ค.

การเตรียมเดิน ก็เหมือนการปลูกไม้ผลทั่วไป ขุดหลุม ขุดหลุมกว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้วัวผสมดิน กรีดถุงดำออก น้ำต้นกล้าลงปลูก กลบดิน รดน้ำ คลุมฟาง และทำหลักปักกับต้นเพื่อกันโยกเวลาลมพัด

magroodpol

ในการปลูกปีแรกนั้น บางท่านก็แนะนำว่าควรทำที่พรางแสง หรืออาจจะปลูกต้นกล้วยระหว่างแถว ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการปลูกของผู้ปลูกแต่ละราย หากปลูกระยะชิดมาก การปลูกกล้วยแทรก อาจไม่เหมาะสม ผู้ปลูกอาจปลูกข้าวโพดแทรกระหว่างแถวได้ในปีแรก หรือใช้ผ้าซาแล็มในการพรางแสง ซึ่งขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสมแต่ละพื้นที่

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้พุ่มเตี้ย

แสดงความคิดเห็น