มะดัน ฟอกเสมหะฟอกโลหิต ผลัดผิวขาว

15 เมษายน 2557 ไม้ผล 0

มะดันเป็นผลไม้และเครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยวคู่กับครัวไทยมาช้านาน มักนำผลและยอดอ่อนมาปรุงแต่งรสเปรี้ยวในต้มยำปลา ได้รสชาติจี๊ดถูกใจ บ้างก็เอาลูกทำน้ำพริกมะดัน หรืออาหารเก่าๆ ค่อนโบราณก็พวกแกงเผ็ดมะดันหมูย่างหรือเป็ดย่าง ส่วนยอดอ่อนก็นำไปจิ้มน้ำพริก แต่ปัจจุบันการนำมะดันมาปรุงอาหารลดน้อยลง จะพบแค่เพียงนำมาทำมะดันแช่อิ่ม มะดันจิ้มพริกเกลือหรือน้ำปลาหวาน

มะดันจัดเป็นต้นไม้คู่บ้านเรือนคนไทยอีกประเภทหนึ่งที่มักปลูกข้างบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่เป็นสวนท้องร่องหรืออยู่ติดชายน้ำ จะเห็นต้นมะดันเจนตา คนในวัยปู่ย่าตายายเราจึงมีเรื่องเล่าสนุกสนานถึงความซุกซนในวัยเด็กกับการเก็บมะดันมาลิ้มรส

madunloog

พืชที่มีรสเปรี้ยวและนำมาปรุงแต่งรสอย่างเช่นมะดันนั้นมีหลายอย่าง เช่น ตะลิงปลิง มะนาว มะนาวควาย มะงั่ว แตกต่างกันไปตามประเภทของอาหาร แต่ปัจจุบันคนไทยรุ่นใหม่ๆ ติดความเปรี้ยวของมะนาว เลยลิ้มรสเปรี้ยวของพืชอย่างอื่นแล้วไม่ถูกใจ ในการแพทย์แผนไทยจัดว่ามะดันเป็นพืชมหัศจรรย์ตัวหนึ่งที่มีความเปรี้ยวทุกส่วนของต้น เรียกว่าเปรี้ยวทั้ง ราก ต้น ดอก ใบ ผล ครบตั้งแต่รากจรดปลายยอด ซึ่งตากจากพืชสมุนไพรในกลุ่มเดียวกันที่อาจมีราก ดอก ใบ รสอื่น แม้ผลจะมีรสเปรี้ยวก็ตาม

ชื่อสามัญ : Garcinia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia schomburgkiana Pierre.
วงศ์ : Clusiaceae (Guttiferae)
ชื่อพื้นเมือง มะดัน (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านเล็กๆ มากมาย โคนกิ่งเล็กๆ จะเป็นเต้านูนรอบบางต้นมีกิ่งเล็กๆ งอกสานกันไปมาคล้ายรังนก เรียก รกมะดัน
  • ใบ เป็นใบรูปหอกสีเขียวแข็งออกเป็นคู่ตรงข้ามกันเป็นมัน ใบยาวประมาณ 9 ซม. กว้าง 2.5 ซม. ปลายแหลม
  • ดอก ดอกออกเป็นกลุ่ม 3-6 ดอก ดอกเดี่ยวเล็กๆ ดอกสีเขียวและแดงเรื่อๆ มี 4 กลีบ ยาว 6.5 มม. กว้าง 3 มม. ออกตามข้อ
  • ผล เป็นรูปกลมยาวปลายเรียวหรือยาวรี ผลยาว 5-7 ซม. กว้าง 2-3 ซม. ผลสีเขียวเป็นมันรสเปรี้ยวจัด

madunton

madunpon

madunking

สรรพคุณของมะดัน

  • ราก รสเปรี้ยว แก้เบาหวาน แก้ไข้หวัด แก้ไข้ทับระดู ขับฟอกโลหิต ขับเสมหะในลำคอ แก้กระษัย แก้ระดูเสีย เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • เปลือกต้น รสเปรี้ยว แก้ไข้ทับระดู แก้โลหิตระดู
  • ใบ รสเปรี้ยว แก้หวัด แก้ไอ แก้กระษัย แก้เสมหะพิการ
  • รากมะดัน รสเปรี้ยว แก้หวัด แก้ไข้ทับระดู และขับฟอกโลหิต ผล รสเปรี้ยว ล้างเสมหะ แก้สอเสมหะ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต แก้ไอ แก้ประจำเดือนพิการ
  • ทั้งห้า กัดเสมหะ ฟอกโลหิตประจำเดือน แก้กระษัย แก้ไข้หวัด

การนำไปปรุงเป็นยารับประทานส่วนมากนิยมใช้วิธีการต้ม ถ้าต้มตามหลักการแพทย์แผนไทยคือต้ม 3 เอา 1 โดยใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยวจนเหลือ 1 ส่วน แล้วเอายานั้นมาผสมกับน้ำอุ่นรับประทานใช้แก้เสมหะ แก้กระษัย ขับฟอกโลหิตประจำเดือนได้ เป็นยาระบายอ่อนๆ แต่ข้อควรระวังคือผู้ที่มีภาวะโลหิตจางไม่ควรรับประทานพวกยาและอาหารที่มีรสเปรี้ยวเพราะจะยิ่งไปกัดฟอกโลหิตมากขึ้น จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

madunbai

ความเด่นของมะดันอยู่ที่ความเปรี้ยว ซึ่งมีพวกกรดอินทรีย์จำพวกวิตามินซีสูง ซึ่งช่วยในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีรายงานทางเภสัชวิทยาว่าสารสำคัญในมะดันมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอกได้ และเนื่องจากเป็นกลุ่มกรดอินทรีย์ สามารถนำมาใช้ในการดูแลผิวพรรณหรือกระบวนการผลัดเซลล์ผิวได้ เพราะมีสารกลุ่ม AHA และ BHA จึงนำมาใช้ในวงการเครื่องสำอาง ซึ่งอาจนำไปทำโทนเนอร์หรือสบู่ ส่วนผสมในครีมบำรุงผิว จะช่วยให้ผิวขาว ซึ่งเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายในขณะนี้ก็มีมะเฟือง มะขามป้อม

SAMSUNG

ลักษณะทางธรรมชาติ

  • เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่อายุยืนหลายสิบปี ปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกภาค และทุกฤดูกาลชอบดินดำร่วนมีอินทรีย์วัตถุมากๆ ระบายน้ำดี เจริญเติบโตดีในพื้นที่ความชื้นสูงและทนต่อสภาพน้ำขังค้างได้นานพอสมควร
  • เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2-3 ปีหลังปลูก ออกดอกติดผลที่ปลายกิ่งปีละ 1 รุ่น ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศผสมตัวเองหรือต่างดอกต่างต้นได้
  • ปัจจุบันไม่มีใครปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ระดับพืชเศรษฐกิจหลัก แต่ยังมีหลงเหลืออยู่ตามสวนต่างๆ ซึ่งบางสวนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้

สายพันธุ์
พันธุ์ผลใหญ่ (เมล็ดเล็ก)และพันธุ์ผลเล็ก (เมล็ดใหญ่)ทั้งสองพันธุ์เป็นพันธุ์พื้นเมือง

การขยายพันธุ์
ตอน (ดีที่สุด). เพาะเมล็ด.

madunkla

เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ

  • ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี)ปีละ 2 ครั้ง
  • ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
  • ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
  • คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
  • ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง

หมายเหตุ :

  • การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
  • ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
  • ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง

เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :

  • ตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
  • ตัดทิ้งเพื่อไม่ให้แตกใหม่ป้องกันทรงพุ่มแน่นทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน

ตัดแต่งราก :

  • มะดันระยะที่ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งรากแต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
  • ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
  • ธรรมชาติของมะดันไม่จำเป็นต้องตัดแต่งรากแต่วิธีล่อรากขึ้นมาอยู่บริเวณผิวดินจะช่วยให้ได้รากใหม่สมบูรณ์กว่ารากเก่า

มะดันดอง
ส่วนประกอบ

  • มะดันผลใหญ่ 1 กิโลกรัม
  • เกลือป่น 3/4 ถ้วย
  • น้ำ 4 ถ้วย

madundong

วิธีทำ

  1. ล้างมะดันให้สะอาด
  2. ผสมเกลือกับน้ำเข้าด้วยกัน ตั้งไฟพอละลาย ยกลง ทิ้งไว้พออุ่น ใส่มะดัน ใช้ใบตองปิดให้มะดันจมในน้ำเกลือ
  3. ดองไว้ 2 วัน มะดันจะเปลี่ยนสี ตัวขั้วมะดันทิ้งเอาเม็ดออก รับประทานกับพริกเกลือ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น