“มะมุด” หรือชื่อพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า ส้มมุด ด้วยมีรสเปรี้ยว ให้วิตามินซีสูง ชาวใต้จึงนิยมนำมาทำอาหารทั้งยำ และแกงส้ม เป็นไม้ผลที่คุณค่าทางอาหารมากทีเดียว ขณะที่เม็ดรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยา แก้อาการท้องร่วง สมานลำไส้ สมานแผล เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera foetida Lour.
วงศ์ ANACARDIACEAE
ชื่ออื่น : มะละมุดไทย มะม่วงป่า (ใต้) มะแจ มาจัง มาแจฮูแต (มลายู-นราธิวาส)
ลักษณะ
ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงถึงค่อนข้างกลม วัดรอบลำต้น 80-150 ซม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลอมเขียวคล้ำ แตกเป็นสะเก็ดหยาบ ๆ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแดง
- ใบ ใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังเป็นคลื่นแข็งกรอบ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปหอก ขนาดใบกว้าง 4-11 ซม. ยาว 10-32 ซม. โคนใบสอบเบี้ยว ปลายใบเป็นติ่งทู่ๆ ใบพุ่งตั้งชัน เนื้อใบหนามากเกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบมี 12-26 คู่ เรียวโค้งและขนานกัน เส้นร่างแหเห็นไม่ชัด เส้นกลางใบขึ้นเป็นสันทางด้านหลังใบ ก้านใบอวบเป็นร่องทางด้านบน โคนก้านบวม ก้านใบยาว 2-5.5 ซม.
- ดอก มีขนาดเล็ก สีชมพูหรือสีส้มมีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง คล้านช่อมะม่วง ช่อหนึ่งๆ ยาว 7-21 ซม. เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านดอกสีแดงเข้มกลีบดอกและกลีบรองดอกมีอย่างละ 5กลีบ กลีบรองกลีบดอกรูปไข่ ขนาด 2-4 มม. ส่วนกลีบดอกรูปหอก ขนาดกว้าง 2.5 มม. ยาว 7-10 มม. เกสรผู้มี 5 อัน ในจำนวนนี้เป็นเกสรผู้ปลอม 4 อัน เกสรผู้แท้ที่เหลืออยู่อันเดียวจะยาวกว่าเกสรผู้ปลอม รังไข่กลม ขนาดกว้าง 1.8 มม. ยาว 2 มม.
- ผล รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ลักษณะเป็นป้อมเบี้ยวๆ เนื้อหนา ขนาดกว้าง 7.5 ซม. ยาว 10.5 ซม. ผลสุก สีเหลืองแกมเขียว ภายในมีเมล็ด
ระยะเวลาการเป็นดอก-ผล ออกดอกประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม ผลแก่ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
ลักษณะทางนิเวศและการกระจายพันธุ์
พบขึ้นตามชายฝั่งแม่น้ำ ในป่าพรุและในป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำทางภาคใต้ของประเทศไทย บางครั้งพบในป่าที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไปจนถึง 600 เมตร ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ชอบความชื้นสูง และแสงแดดเต็มวัน
ประโยชน์
ผลใช้รับประทาน ผลอ่อน รับประทานเป็นผักสด ผักแก้ม ยำ มีรสเปรี้ยว ผลสุกรสหวานอมเปรี้ยว
เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน ใช้ทำฟืน ให้ไฟแรง เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างและทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ได้ดี
ยำมะมุด
เครื่องปรุง
- ลูกมุดดิบ 2-3 ลูก (200 กรัม)
- กุ้งแห้ง ถ้วย (80 กรัม)
- พริกขี้หนูสด 10-15 เม็ด (15 กรัม)
- พริกชี้ฟ้าแดง 2 เม็ด (5 กรัม)
- มะพร้าวคั่ว 1 ถ้วย (360 กรัม)
- หอมแดงซอย 1 ถ้วย (100 กรัม)
- น้ำตาลทราย 4-5 ช้อนโต๊ะ (75 กรัม)
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
- เกลือ ช้อนโต๊ะ (4 กรัม)
- กะปิเผา 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม)
- ใบมะกรูด 1 ช้อนโต๊ะ (15 กรัม)
วิธีทำ
- ลูกมะมุดปอกเปลือกแช่น้ำเกลือแล้วสับหรือซอยแบบมะละกอ แช่น้ำและพักขึ้นให้แห้งประมาณ 2ถ้วยตวง
- โขลกกุ้งแห้ง เกลือ พริกขี้หนู ให้ละเอียด ใส่กะปิ โขลกให้เข้ากัน
- นำลูกมะมุดที่เตรียมไว้ใส่ภาชนะ นำเครื่องปรุง (ข้อ2) ลงเคล้า ใส่มะพร้าวคั่ว หอมซอย ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ชิมรสตามชอบ
- ตักใส่จาน โรยด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย พริกชี้ฟ้าหั่นฝอย
เอกสารอ้างอิง
-. คณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วอเนกประสงค์. 2540. ไม้อเนกประสงค์ กินได้ 486 หน้า.
-. เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
-. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านใต้ 279 หน้า.