ปัจจุบัน คนเข้าใจว่า มะลุลี คือ มะลิพวง สายพันธุ์โบราณ เพราะลักษณะดอก ใบ และต้นคล้ายคลึงกันมาก ความจริงแล้วทั้ง 2 ชนิด เป็นคนละต้นกัน มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยซึ่งคนทั่วไปจะไม่ทราบ แต่สำหรับเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะขยายพันธุ์มะลิทั้ง 2 ชนิดขายจะรู้ข้อแตกต่างเป็นอย่างดี และบอกจุดให้สังเกตคือ ถ้าเป็น มะลิพวง สายพันธุ์โบราณ ใบจะรีกว้างและใหญ่กว่าใบของมะลุลี ที่จะเป็นรูปรียาวเล็กกว่าอย่างชัดเจน
ดอกของมะลิทั้ง 2 พันธุ์จะแตกต่างกันด้วย คือ ดอกของมะลุลีจะเป็นพวงใหญ่และดกกว่า รูปทรงของกลีบดอกใกล้เคียงกันมากจึงทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นเดียวกัน อีกประเด็นหนึ่ง ได้แก่ มะลุลีมีชื่อรองเรียกว่า มะลิพวง ด้วยจึงยิ่งทำให้คนทั่วไปเชื่อมั่นว่าเป็นต้นเดียวกันอย่างแน่นอน ที่ต่างกันชัดเจนอีกจุดหนึ่งที่เกษตรกรบอกคือ กลิ่นหอมของดอก มะลิพวง สายพันธุ์โบราณจะหอมแรงกว่ากลิ่นหอมของดอกมะลุลี จึงสามารถแยกแยะได้ตามที่กล่าวข้างต้น
ชื่อสามัญ : The Star Jasmine
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum multiflorum ( Bum.f.) Andr.
วงศ์ : Oleaceae
ชื่ออื่นๆ : มะลุลี มะลิซ่อม
ลักษณะทั่วไป
บางตำราก็ว่าเป็นไม้เลื้อย ไม้พุ่มรอเลื้อย เข้าใจว่าคล้ายๆ กับต้นเฟื่องฟ้า ที่ปลูกเป็นพุ่มตัดแต่งทรง หรือจะปลูกกับซุ้มให้เลื้อยก็ได้ โดยมากแล้วจะปลูกริมรั้วกัน หรือปลูกขึ้นซุ้มให้ต้นเลื้อยขึ้นไปบนซุ้ม ส่วนจะปลูกลงดินหรือจะเลี้ยงในกระถางใหญ่ๆ ก็ได้ทั้งสองแบบ
ลำต้นสีน้ำตาล ผิวหยาบ จะขึ้นเป็นกอ แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มค่อนข้างแน่น ถ้าปล่อยกิ่งก้านไม่ตัดแต่งทรงพุ่ม ก็จะเลื้อยได้ไกล 2-5 เมตร ต้นหนึ่งปลูกแล้วอยู่ได้หลายปีกว่าต้นจะโทรม (ถ้าต้นเริ่มโทรมก็อาจจะทำการขยายพันธ์ ตอนกิ่งเตรียมไว้ พอตัดต้นเดิมที่โทรมแล้วออกก็เอากิ่งใหม่ปลูกแทน)
ใบและดอก
ใบสีเขียว ปลายใบแหลมเรียว ออกเป็นคู่ๆ ไปตามกิ่ง ไม่มีช่วงทิ้งใบจนต้นโกร๋น เขียวปี๋ตลอดปี ดอกสีขาว ออกเป็นกลุ่ม เป็นช่อๆละหลายสิบดอก (บางคนปลูกแล้วออกดอกดกบ้าง บางคนปลูกแล้วดอกไม่เยอะ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นด้วย) ดอกจะคล้ายๆ ดอกมะลิ ต่างกันตรงกลีบจะยาวเรียวกว่า 1 ดอกมีกลีบ7-8กลีบ ส่วนดอกมะลิวัลย์ กลีบจะเพรียว เรียว แหลมกว่า (คราวหน้าจะได้เห็นว่า ดอกมะลิวัลย์เป็นยังไง)
มะลุลีจะทยอยออกดอกทั้งปี ช่วงหน้าฝนจะออกเยอะเป็นพิเศษ เวลาบานก็จะทยอยบานไปเรื่อยๆ ทีละดอกจนครบทั้งช่อ บานอยู่ได้วันเดียวก็จะโรย จากนั้นดอกอื่นๆ ในช่อก็จะบานต่อเนื่องไป เราก็จะได้เห็นดอกมะลุลีได้หลายๆ วันกว่าที่จะบานหมดทั้งช่อ กลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน จะมีช่วงเย็นไปจนถึงเช้ามืดที่จะหอมแรงหน่อย พอสายๆ กลิ่นก็จะจางลง
ถิ่นกำเนิด : ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย พม่า ลาว เขมร เป็นต้น
ลักษณะทั่วไป : ไม้พุ่มรอเลื้อยเตี้ย รูปแบบทรงพุ่มไม่ค่อยแน่นอน แต่ค่อนข้างกลม
ฤดูการออกดอก : ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม : หอมอ่อนตลอดวัน (ช่วงอากาศเย็นจะหอมมาก)
การขยายพันธุ์ :
ข้อดีของพันธุ์ไม้ :
ออกดอกให้ชมได้บ่อย
ดอกใน 1 ช่อจะทยอยบาน จึงทำให้ได้ชมดอกหลายวัน
ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน
การดูแลรักษา
นิสัยของมะลุลีก็จะคล้ายๆ กับไม้เลื้อยทั่วไป ชอบอยู่กับแดด ถ้าเอาไปปลูกในตำแหน่งที่ไม่โดนแดดหรือแดดน้อย ดอกก็จะน้อยตามไปด้วยหรือไม่ออกดอกเลย ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี อย่ารดน้ำมากจนกลายเป็นดินโคนต้นแฉะหรือรดจนน้ำขังระบายไม่ทัน รากจะสำลักน้ำ ตายได้ เรื่องของแมลงรบกวนก็จะเป็นหนอนกินใบ หมั่นตัดแต่งกิ่งก้าน ทรงพุ่มให้โปร่งอยู่เสมอ
มะลุลีเป็นต้นไม้ที่ต้องการการเอาใจใส่สักหน่อย กิ่งไหนแห้ง กิ่งไหนไม่สมบูรณ์ ดูแคระแกร็น ก็ให้ตัดแต่งออก โดยเฉพาะกิ่งที่อยู่ด้านในๆ ของพุ่ม ที่ไม่ค่อยจะโดนแดด จะช่วยกระตุ้นให้มะลุลีออกดอกให้เราชมได้บ่อยๆ เพราะฉะนั้นคนที่คิดจะปลูกมะลุลีก็ต้องถามตัวเองว่า พอมีเวลามาดูแลมากน้อยแค่ไหน ถ้าปลูกแล้วไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ มะลุลีก็อาจจะออกดอกน้อยหน่อยหรืออาจจะมีแต่ใบไม่เห็นดอกเลย
ถ้าจะปลูกลงดิน ต้องมีพื้นที่สักหน่อย เพราะทรงพุ่มแผ่ใหญ่จะกินพื้นที่มากกว่าปลูกในกระถาง
ปลูกลงดินก็จะได้ต้นที่สมบูรณ์กว่า ดอกดกกว่า ปลูกในกระถาง เพราะได้อาหารมากกว่าปลูกในกระถาง
พื้นที่ปลูกต้องมีแดดส่องถึง ไม่โดนแดดหรือโดนแดดน้อย ดอกจะออกกระปริบกระปรอย หรือแทบจะไม่เห็นดอกเลย ถ้าอยากเห็นดอกเรื่อยๆ ก็ต้องหมั่นตัดแต่งกิ่งก้าน
มะลิชนิดนี้มีการแตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก ต้องคอยสังเกตว่าทรงพุ่มแน่นไปหรือไม่ หากแน่นเกินไปต้องทำการตัดแต่งกิ่งออกบ้าง โดยเฉพาะกิ่งที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด (กิ่งเหล่านี้มักจะอยู่ด้านในของทรงพุ่ม)
การตัดแต่งกิ่งแห้งและช่อดอกที่โรยแล้วจะมีส่วนช่วยให้การออกดอกเร็วขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้น
ปลูกได้ดีในที่มีแสงแดดจัดตลอดวัน
การตัดแต่งกิ่งย่อยที่ไม่ต้องการออก ควรทำบ่อยๆ เพราะว่ามะลิชนิดนี้มีการแตกยอดใหม่จำนวนมาก การปล่อยให้มียอดอ่อนจำนวนมากจะทำให้ช่อดอกเล็กลง
ไม่ชอบน้ำท่วมขัง แต่ต้องการน้ำบ่อยครั้ง
ที่มา
หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3
ป้ายคำ : ไม้ดอก