มังคุด ราชินีผลไม้

2 กันยายน 2557 ไม้ผล 0

มังคุด เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์สูงประมาณ 75-85% ดินควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 5.5-6.5 และที่สำคัญควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง มังคุดจะให้ผลผลิตประมาณปีที่ 7 หลังปลูก แต่ผลผลิตต่อต้นในระยะแรกจะต่ำ ช่วงที่ให้ผลผลิตดีประมาณ 13 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ย 60กิโลกรัม/ต้น (น้ำหนักผลเฉลี่ย 80 กรัม/ผล) มังคุดเป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารค่อนข้างลึก ประมาณ 90-120 เซนติเมตร จากผิวดิน ดังนั้นจึงต้องการสภาพแล้งก่อนออกดอกค่อนข้างนาน โดยต้นมังคุดที่สมบูรณ์ใบยอดมีอายุระหว่าง 9-12สัปดาห์เมื่อผ่านช่วงแล้งติดต่อกัน 21-30 วัน และมีการกระตุ้นน้ำถูกวิธีมังคุดจะออกดอก ช่วงพัฒนาการของดอก (ผลิตาดอก ดอกบาน) ประมาณ 30 วันช่วงพัฒนาของผล (ดอกบาน เก็บเกี่ยว) ประมาณ 11-12 สัปดาห์ ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ เริ่มมีสายเลือดได้ 1-2 วัน ผลมังคุดที่มีสีม่วงแดงเก็บรักษาที่อุณหภูมิ10-13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95% เก็บรักษาได้นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ ฤดูกาลผลผลิตของภาคตะวันออกอยู่ในช่วงเดือน พฤษภาคม มิถุนายน ภาคใต้อยู่ในช่วงเดือน กรกฎาคม กันยายน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia mangostana L.
ชื่อสามัญ : Mangosteen
วงศ์ : Guttiferae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น สูง 10 – 12 เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 6 – 11 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. เนื้อใบหนา และค่อนข้างเหนียว คล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน ท้องใบสีอ่อน ดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง สมบูรณ์เพศ หรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างกลม

mungkoodton

  • ราก : เป็นระบบรากแก้ว มีจำนวนรากแขนงไม่มาก และที่บริเวณปลายรากมีขนรากน้อย
  • ลำต้น : ลำต้นตรง เปลือกภายนอกมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ภาคในเปลือกประกอบไปด้วยท่อน้ำยางมีลักษณะสีเหลือง
  • ใบ : ใบมีรูปยาวร่ มีความยาวประมาณ 9-25 ซม. กว้างประมาณ 4.5-10 ซม. ด้านบนมีลักษณะเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างสีเขียวปนเหลือง แผ่นใบโค้งเล็กน้อย มีตาข้างอยู่บริเวณซอกใบ และมีตายอดอยู่บริเวณซอกใบคู่สุดท้าย
  • ดอก : เป็นแบบเดี่ยวและบางสภาพอาจเป็นดอกกลุ่ม ซึ่งดอกจะปรากฎที่บริเวณปลายยอดของกิ่งแขนง ที่มีช่อดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกันดอกจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศแต่เกสรตัวผู้จะเป็นหมัน ดอกมังคุดประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีกลีบดอกค่อนข้างหนา 4 กลีบดอก เกสรอยู่ที่ฐานรอบๆ ของรังไข่
  • ผล : เป็นแบบเบอรี่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.4-7.5 ซม. มีเปลือกหนา 6-10 ซม. เนื้อสีขาวขุ่นลักษณะของผลอ่อนเปลือกนอกจะมีสีเขียวปนเหลือง มียางสีเหลืองอยู่ภายใน ผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-6 เมล็ด เมล็ดมีความยาวประมาณ 2.5 ซม. และกว้างประมาณ 1.6 ซม.

 

mungkoodbai mungkooddok mungkoodpons mungkoodb

พันธุ์
เชื่อกันว่ามังคุดที่ปลูกมนไทยมีเพียงพันธุ์เดียว เนื่องจากเกสรตัวผู้ของดอกมังคุดเป็นหมัน เมล็ดจะเจริญจากเนื้อเยื่อของต้นแม่ โดยไม่ได้รับการผสมเกสร ดังนั้นจึงเชื่อกันว่ามังคุดมีพันธุ์เดียว (กรมวิชาการเกษตร)

การเลือกต้นพันธุ์
เลือกต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง อายุไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 30 เซนติเมตร มีระบบรากสมบูรณ์ ไม่ขดหรืองอ (สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา)

การขยายพันธุ์
มังคุดสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การเสียบยอด และการทาบกิ่ง แต่วิธีที่นิยมปฏิบัติกันอยู่คือ การเพาะเมล็ดโดยตรง เพราะสามารถทำได้สะดวกและรวดเร็ว ต้นมังคุดที่ได้ไม่กลายพันธุ์ แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 8 ปีกว่าจะให้ผลผลิต และหากมีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีก็อาจเร็วได้ผลเร็วกว่านี้ได้เล็กน้อย ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอดนั้น เป็นการนำพันธุ์ดีจากต้นที่เคยให้ผลมาแล้วซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยให้มังคุดให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น ในการเพาะเมล็ดนั้นเมล็ดมังคุดที่นำมาเพาะควรจะนำมาจากผลมังคุดที่แก่จัดและเป็นผลที่ยังสดอยู่เพราะจะงอกได้ดีกว่า เลือกเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ นำมาล้างเนื้อและเส้นใยออกให้สะอาด แล้วรีบนำไปเพาะ แต่หากไม่สามารถเพาะได้ทันทีก็ให้ผึ่งเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้วให้แห้ง (ผึ่งลม) เก็บเมล็ดไว้ในถุงพลาสติก และนำไปแช่ตู้เย็นไว้จะเก็บไว้ได้นานขึ้น การเพาะเมล็ดสามารถเพาะลงในถุงพลาสติกได้โดยตรง แต่หากทำในปริมาณมากๆ ก็ควรเพาะในแปลงเพาะชำหรือกระบะเพาะชำ สำหรับวัสดุเพาะชำจะใช้ขี้เถ้าแกลบล้วนๆ โดยใช้ขี้เถ้าแกลบผสมทรายหรือดินร่วนหรือผสมทรายก็ได้ แปลงเพาะชำต้องมีวัสดุพรางแสง และรดน้ำให้วัสดุเพาะมีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากเพาะจะใช้เวลาประมาณ 15 ถึง 20 วัน เมล็ดจึงเริ่มงอก จากนั้นก็คัดเลือกต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์ และย้ายจากแปลงเพาะไปปลูกในถุงบรรจุดินผสมปุ๋ยคอก ใช้ถุงขนาด 4 ถึง 5 นิ้ว การย้ายควรทำในช่วงที่ต้นกล้ามีอายุไม่เกิน 1 เดือน เพราะระบบรากยังไม่แผ่กระจาย จะทำให้ต้นกล้าไม่กระทบกระเทือนมาก แต่ต้องระวังลำต้นอาจจะหักได้เพราะยังต้นยังอ่อนอยู่ ต้องมีการพรางแสงและให้น้ำกับต้นกล้าเช่นเคย เมื่อต้นโตขึ้นก็เปลี่ยนเป็นถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในการเปลี่ยนถุงก็ต้องระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนระบบรากเดิม และควรจะเปลี่ยนถุงบ่อยๆ สัก 5 ถึง 6 เดือนต่อครั้ง เพราะจะทำให้มังคุดมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และไม่มีปัญหาเรื่องรากขดงอก้นถุง เมื่อมังคุดมีอายุประมาณ 2 ปี มีความสูงราว 30 ถึง 35 เซนติเมตร มียอด 1 ถึง 2 ฉัตร ก็พร้อมที่จะปลูกในแปลงได้ (www.doae.go.th)

mungkoodkla

ส่วนที่ใช้ : เปลือกผลแห้ง

สรรพคุณ :

  1. รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้
  2. ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน
  3. ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูก และอาจมีเลือดด้วย) เป็นยาคุมธาตุ
  4. เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า รักษาบาดแผล
  5. รสฝาด สมานแผล ใช้ชะล้างบาดแผล แก้แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง ยาฟอกแผลกลาย ทาแผลพุพอง

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้
    ใช้เปลือกมังคุดครึ่งผล (ประมาณ 4-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว
    ถ้าเป็นยาดองเหล้า ความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา
  2. ยาแก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง
    ใช้เปลือกผลมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำรับประทาน ใช้เปลือกต้มน้ำให้เด็กรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุก 4 ชั่วโมง
  3. ยาแก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูกและอาจมีเลือดด้วย)
    ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ ผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผง ละลายน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง
  4. เป็นยารักษาแผลน้ำกัดเท้า และแผลพุพอง แผลเน่าเปื่อย
    เปลือกผลสด หรือแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ๆ พอควร ทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย ทาแผลพุพอง แผลเปื่อยเน่า

ข้อควรระวัง
ก่อนที่จะใช้ยาทาที่บริเวณน้ำกัดเท้า ควรที่จะ

  1. ล้างเท้าฟอกสบู่ให้สะอาด
  2. เช็ดให้แห้ง
  3. ถ้ามีแอลกอฮอล์เช็ดแผล ควรเช็ดก่อนจึงทายา

คุณค่าด้านอาหาร
มังคุดประกอบด้วย แร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิดที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย

mungkooddum

สารเคมี
Chrysanthemin, Xanthone, Garcinone A, Garcinone B, Gartanin, Mangostin, Kolanone

การเตรียมพื้นที่
พื้นที่ดอน ให้ทำการไถพรวน เพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบและขุดร่องระบายน้ำ หากมีปัญหาน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่ดอนที่เคยปลูกไม้ยืนต้นมาก่อน ไม่ต้องทำการไถพรวน
พื้นที่ลุ่ม เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังไม่มาก ให้นำดินมาเทกองตามผังปลูก ความสูงประมาณ 1.0 ถึง 1.5 เมตร แล้วปลูกมังคุดบนสันกลางของกองดิน หากพื้นที่มีน้ำท่วมขังมาก ทำการยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้าและออกเป็นอย่างดี (สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา)

วิธีการปลูก
สามารถทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูก ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก วิธีนี้ดินที่อยู่ในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น แต่หากมีฝนตกชุก น้ำขังรากเน่า และต้นจะตายได้ง่าย ส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก) เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้ช่วยในการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนจะทำการปลูก ซึ่งต้นมังคุดจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูกมังคุด คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่หากจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก

mungkoodka

ระยะปลูก
เนื่องจากมังคุดเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ เจริญเติบโตช้า ระยะปลูกที่แนะนำคือ 8 ถึง 9 x 8 ถึง 9 เมตร สำหรับสวนที่จะใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานควรจะเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงานแต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น โดยมีจำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 20-25 ต้นต่อไร่

การให้น้ำ
ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอช่วงการเจริญเติบโตทางใบ และงดให้น้ำช่วงปลายฝน ต้นมังคุดที่มีอายุตายอด 9 ถึง 12 สัปดาห์ และผ่านสภาพแล้ง 20 ถึง 30 วัน เมื่อแสดงอาการใบตก ปลายใบบิด ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเป็นร่อง ให้กระตุ้นการออกดอกโดยการให้น้ำอย่างเต็มที่ให้มากถึง 1,100 ถึง 1,600 ลิตรต่อต้น* จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7 ถึง 10 วัน เมื่อพบว่าก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำ เป็นครั้งที่ 2 ในปริมาณ 1/2 ของครั้งแรก หลังจากนั้น 10 ถึง 14 วัน ตาดอกจะผลิออกมาให้เห็น และควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกเพียง ร้อยละ 35 ถึง 50 ของยอดทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของตายอดทั้งหมด ควรให้น้ำปริมาณมาก ถึง 220 ถึง 280 ลิตรต่อต้นทุกวัน จนกระทั่งพบว่ายอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอก จึงค่อยให้น้ำตามปกติ คือ 80 ถึง 110 ลิตรต่อต้น และจะต้องให้น้ำในปริมาณนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ผลมังคุดมีพัฒนาการที่ดี

ขั้นตอนการปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษามังคุด
การเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก (เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม)

  1. จัดการปุ๋ยเพื่อชักนำการแตกใบอ่อน
  2. ตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่ม
  3. จัดการเพื่อชักนำให้แตกใบอ่อน
  4. ป้องกันกำจัดโรคแมลงและไรศัตรูทำลายใบอ่อน
  5. กำจัดวัชพืช
  6. จัดการปุ๋ยเพื่อเตรียมความพร้อมต้นสำหรับการออกดอก

การจัดการเพื่อชักนำการออกดอก (เดือนพฤศจิกายน)
การชักนำการออกดอก โดยปล่อยให้ต้นมังคุดผ่านช่วงแล้งจนก้านระหว่างช่อสุดท้ายของยอดแสดงอาการเหี่ยวอย่างชัดเจน และใบคู่สุดท้ายของยอดเริ่มมีอาการใบตก จึงให้น้ำครั้งแรกในปริมาณ 35-40 มิลลิเมตร และครั้งต่อมาทุก 7-10 วัน ในปริมาณ 17.5-20 มิลลิเมตร จนกว่าต้นมังคุดจะออกดอกมากกว่าหรือเท่ากับ 15% ของจำนวนยอดทั้งหมด

mungkoodda

การควบคุมปริมาณดอกต่อต้นให้เหมาะสม (เดือนธันวาคม-มกราคม)

  1. การจัดการน้ำเพื่อควบคุมปริมาณดอก คือ ให้น้ำอัตรา 80% ของอัตราการระเหยน้ำจากถาดระเหยชนิด A ทุก 3 วัน เพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกต่อต้น 35-50% ของยอดทั้งหมด
  2. การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูทำลายดอก

การส่งเสริมการพัฒนาการของผล (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน)

  1. ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูทำลายผลมังคุด
  2. ควบคุมปริมาณผลต่อต้นให้เหมาะสม
  3. จัดการปุ๋ย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการของผล
  4. จัดการน้ำเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการของผล
  5. จัดการปุ๋ย เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพ

mungkoodpol

การจัดการเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายเนื่องจากการเก็บเกี่ยว (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน)

  1. เก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมือที่ป้องกันไม่ให้ผลมังคุดร่วงหล่นและเลือกเก็บเฉพาะผลที่สุกแก่ในระยะสายเลือด
  2. เก็บมังคุดที่เก็บเกี่ยวได้ในที่ร่มทำความสะอาดผลขูดยางที่เปลือกออกและคัดแยกคุณภาพก่อนจำหน่าย

การจัดการปุ๋ย

  1. ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เพื่อชักนำการแตกใบอ่อน
  2. พ่นปุ๋ยสูตรเร่งใบ อัตรา 100-200 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารไทโอยูเรีย อัตรา 20-40กรัม ผสมน้ำตาลเด็กซ์โตรส 600 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วต้น เพื่อชักนำให้แตกใบอ่อน
  3. ใส่ปุ๋ย เพื่อเตรียมความพร้อมต้นสำหรับการออกดอก
  4. ใส่ปุ๋ย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการของผล

การป้องกันกำจัดโรคและแมลง

  1. หนอนกินใบอ่อน หนอนชอนใบ ทำลายใบอ่อนใช้สารกำจัด
  2. โรคใบจุดและโรคจุดสนิม ทำลายใบอ่อนไร้สารเคมีป้องกันกำจัด
  3. เพลี้ยไฟ ทำลายใบอ่อน ดอก และผลใช้สารเคมีป้องกันกำจัด คือ อิมิดาโคลพริด หรือ ฟิโปรนิล หรือไซเพอร์เมทริน/โฟซาโลน หรือคาร์โบซัลแฟนการควบคุมสภาพบรรยากาศภายในทรงพุ่มควรให้โปร่ง และแสงสามารถส่องผ่านเข้าไปในทรงพุ่มได้มีการระบายอากาศดี การทำให้สภาพแวดล้อมภายในทรงพุ่มมีความชื่นสูงกว่าภายนอก ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของเพลี้ยไฟ
  4. ไรแดง ทำลายใบ ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด คือ โพรพาไกด์ หรือเฮกซีไทอะซอกซ์
  5. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง และมดดำที่ติดมากับผลมังคุด ควรแช่มังคุดในน้ำยาล้างจาน 10 % หรือสารละลายคลอรีน 10% นาน 10 นาที ร่วมกับการเป่าลม เพื่อกำจัดซาก/แมลงที่เหลือให้หมดไป เป็นวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมปฏิบัติง่าย ไม่มีสารพิษตกค้าง

การตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่ม

  1. ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านข้างทรงพุ่มที่ประสานกันออกให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่ม โดยรอบกับต้นข้างเคียงประมาณ 50-75 เซนติเมตร
  2. ตัดยอดในส่วนที่สูงเกินต้องการออก
  3. ตัดกิ่งประธานหรือกิ่งรองออกด้านละ 1-5 กิ่ง เพื่อทำเป็นช่องเปิดให้แสงส่องผ่านเข้าไปในทรงพุ่ม เมื่อมีกิ่งแขนงเกิดในทรงพุ่มให้เลี้ยงไว้ ซึ่งกิ่งแขนงที่อยู่ใน ทรงพุ่มสามารถให้ผลผลิตได้ และมีโอกาสเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพสูงกว่ากิ่งที่อยู่ ชายทรงพุ่ม

mungkoodpum

การเก็บเกี่ยวและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
โดยทั่วไปมังคุดเริ่มออกดอกเมื่อปลูกไปได้ประมาณ 7 ถึง 8 ปี และได้ผลผลิตเต็มที่เมื่อมีอายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป การออกดอกของมังคุดจะไม่ออกพร้อมกันในทีเดียว แต่จะทยอยออกอยู่นานราว 40 วัน เป็นผลให้การเก็บเกี่ยวมังคุดต้องทยอยเก็บเกี่ยวไปด้วยเช่นกันหลังจากมังคุดเริ่มติดผลประมาณ 11 ถึง 12 สัปดาห์ ก็จะทยอยเก็บเกี่ยวได้

วิธีเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี ยึดหลักให้มังคุดช้ำน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยรักษาคุณภาพไว้ได้มาก เพราะผลมังคุดหากได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ตกลงพื้นด้วยระยะเพียง 20 เซนติเมตร ในเวลาต่อมาผลจะแข็งและทำให้เนื้อเสียจนบริโภคไม่ได้ หรือใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวจากระดับสีของมังคุด และในปัจจุบันเครื่องมือที่เกษตรกรใช้เก็บมังคุด มีอยู่หลายรูปแบบดังนี้

  1. ใช้จำปาสอย เป็นเครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่ โดยผ่าเป็น 5 แฉก และควรลบเหลี่ยมที่ปลายจำปาด้วย เพื่อป้องกันผลเกิดรอยแผล สอยมังคุดได้ครั้งละ 1 ถึง 3 ผล แต่จะต้องระวังอย่าให้ปลายไม้ตะแครง จะทำให้ผลมังคุดร่วงหล่นเสียหายง่าย วิธีนี้เก็บได้ช้าและค่อนข้างยุ่งยาก
  2. เครื่องเกี่ยวแบบถุงกาแฟที่กรมวิชาการเกษตรทำขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ครั้งละ 5 ถึง 7 ผล และค่อนข้างจะมีความปลอดภัยต่อการบอบช้ำของผลมังคุด แต่ปัญหาที่ยุ่งยากคือ เครื่องมือชนิดนี้จะหนัก เป็นปัญหามากสำหรับการขึ้นต้นเก็บผลมังคุด
  3. ใช้ถุงกาแฟเก็บเกี่ยว ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด
    3.1 ชนิดขอบกลม ชนิดนี้ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ครั้งละ 3 ถึง 5 ผล แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถชอนเข้าไปสอยบริเวณซอกกิ่งแคบๆ ได้ และยังทำให้กิ่งมังคุดหักอีกด้วย
    3.2 ชนิดขอบรูปไข่ ชนิดนี้เกษตรกรนิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะในแถบตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ข้อดีของเครื่องมือชนิดนี้ คือมีน้ำหนักเบา และสามารถเก็บผลในบริเวณกิ่งแคบๆ ได้ และไม่ทำให้กิ่งหักติดมากับผลมังคุด
  4. เครื่องเก็บเกี่ยวชนิดใหม่ของเกษตรกรที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี สามารถเก็บเกี่ยวมังคุดได้ครั้งละ 4 ถึง 5 ผล มีความสะดวกในการชอนเข้าไปเก็บตามกิ่งต่างๆ และไม่ทำให้กิ่งหักติดมากับผลมังคุด
  5. ใช้ถุงผ้า (ย่าม) หรือตะกร้าขึ้นเก็บ วิธีนี้จะใช้ให้เด็กตัวเล็กๆ หิ้วตะกร้า หรือสะพายถุงย่ามปีนขึ้นไปเก็บ การเก็บเกี่ยวโดยวิธีนี้ผลมังคุดจะเสียหายน้อย

mungkoodsoi

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ควรทำความสะอาดโดยการล้างน้ำให้สะอาด เพื่อชำระฝุ่นละอองและคราบต่างๆ ที่ติดมากับผล แล้วนำไปผึ่งให้แห้งหรือเช็ดผิวเพื่อให้ผลให้สะอาด สำหรับมังคุดที่จะส่งจำหน่ายให้กับต่างประเทศ ควรจะแช่ผลมังคุดในสารละลายของเบนโนมีล (เบนเลท) ในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ
ไธอาเบนดาโซล (พรอนโต 40) อัตรา 1.25 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นานประมาณ 1 ถึง 2 นาที แล้วผึ่งให้แห้งจะช่วยลดการเน่าเสียของผลมังคุดที่อาจจะเกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย แล้วทำการคัดเลือกขนาดและบรรจุลงในภาชนะที่จะส่งไปจำหน่าย ดังแผนภูมิที่ปรากฏ (สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรจังหวัดสงขลา)

mungkoods

สุขลักษณะและความสะอาด
กิ่ง ใบที่ร่วงหล่น หรือที่ตัดแต่งและเศษวัชพืช สามารถนำไปย่อยหมักเป็นปุ๋ยได้ แต่กิ่งและใบที่เป็นโรคควรเผาทำลายนอกแปลง/ เครื่องมือ/อุปกรณ์ และเครื่องทุ่นแรงประเภทต่างๆ หลังการใช้ ควรทำความสะอาด ดูแลซ่อมบำรุงให้เรียบร้อย นำไปเก็บให้เป็นที่/ เก็บสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีในที่ปลอดภัย

การปฏิบัติอื่นๆ

  1. การเตรียมสภาพต้นมังคุดให้พร้อม คือ การจัดการให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อนในเวลาที่เหมาะสม และพัฒนาไปเป็นใบแก่ได้พอดีกับช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมปกติ ต้นมังคุดที่ตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำจะแตกใบอ่อนตามเวลาที่เหมาะสม แต่ต้นที่ไว้ผลมากและขาดการบำรุงที่ดีในฤดูที่ผ่านมา แม้จะจัดการต่างๆ แล้ว แต่ก็มักจะไม่ค่อยแตกใบอ่อนหรือแตกใบอ่อนช้า จึงควรกระตุ้นการแตกใบอ่อนโดยฉีดพ่นปุ๋ยยูเรีย อัตรา 100 ถึง 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แต่หากพ่นปุ๋ยยูเรียไปแล้ว มังคุดยังไม่ยอมแตกใบอ่อนก็ให้ใช้ไทโอยูเรีย จำนวน 20 ถึง 40 กรัม ผสมน้ำตาลเด็กซ์โตรส จำนวน 600 กรัม ในน้ำ 20 ลิตร (ไทโอยูเรียมีความเป็นพิษต่อพืชสูงจะทำให้ใบแก่ร่วงได้จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง) เมื่อมังคุดแตกใบอ่อนแล้วให้ดูแลรักษาใบอ่อนที่แตกออกมาให้สมบูรณ์ โดยการหมั่นตรวจสอบและป้องกันการระบาดของหนอนกัดกินใบและโรคใบจุดอย่างใกล้ชิด
  2. การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ (มังคุดคุณภาพ หมายถึง ผลมังคุดที่มีผิวลายไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของผิวผลและมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 80 กรัมปราศจากอาการเนื้อแก้วยางไหลภายในผล และจะต้องเป็นผลที่เก็บเกี่ยวถูกวิธี) ส่วนการควบคุมปริมาณดอก มังคุดทุกดอกจะเจริญเติบโตเป็นผลได้โดยไม่ต้องผสมเกสรหากปล่อยให้ออกดอกมากเกินไป ผลที่ได้มีขนาดเล็กราคาไม่ดี และยังมีผลต่อความสมบูรณ์ของต้นในปีถัดไป นอกจากจะจัดการน้ำตามที่กล่าวแล้ว ในกรณีที่พบว่ามังคุดออกดอกมากเกินไป ให้หว่านปุ๋ยทางดิน ในปริมาณ 2 เท่าของปกติควบคู่กับการให้น้ำจะทำให้ผลที่มีอายุ 2 ถึง 3 สัปดาห์ร่วงได้บางส่วน และจะต้องทำการตรวจสอบและป้องกันกำจัดศัตรูเพลี้ยไฟ ไรแดง ไรขาวอย่างใกล้ชิดในช่วงดอกใกล้บาน และติดผลขนาดเล็ก
  3. การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลมังคุดที่แก่พอเหมาะ เมื่อผลเริ่มเป็นระยะสายเลือด คือ ผลที่มีสีเหลืองอ่อนปนสีเขียว มีจุดประสีชมพูกระจายอยู่ทั่วผล แนะนำให้เก็บเกี่ยวด้วยตะกร้อผ้าเพื่อป้องกันผลตกลงมากระแทกกับพื้นและรอยขีดข่วนที่ผิว

mungkooda

ที่มา
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น