มันฝรั่ง พืชอาหารชาวตะวันตก

14 พฤษภาคม 2558 ไม้ใต้ดิน 0

มันฝรั่งเป็นพืชดั้งเดิมของชาวโลกซีกตะวันตก และเชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บนพื้นที่ระหว่างประเทศเม็กซิโก และชิลี บนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวีย หรือเปรู ปรากฏว่ายังมีมันฝรั่งพันธุ์ป่าขึ้นอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ พื้นที่ที่น่าจะเป็นถิ่นกำเนิดตั้งแต่เดิมของมันฝรั่ง คือ แถบหุบเขาใกล้คุซโค ในประเทศเปรู นักสำรวจชาวสเปนพบว่า มีการปลูกมันฝรั่งในอเมริกาตะวันตกเฉียงใต้ แต่ไม่ใช่ในประเทศเม็กซิโก แล้วได้นำเข้ามาปลูกในยุโรประหว่างปี พ.ศ.๒๐๗๔-๗๘ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๒๙ จึงแพร่พันธุ์เข้าไปในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. ๒๒๙๓ จึงปลูกกันแพร่หลายในประเทศยุโรป ปลาย พ.ศ. ๒๒๔๓ พันธุ์มันฝรั่งที่ใช้ปลูกทั่วๆ ไป ตามอาณานิคมของอเมริกานั้น มาจากประเทศไอร์แลนด์ โดยพ่อค้าชาวสเปนเป็นผู้นำไป ดังนั้นมันฝรั่งจึงได้ชื่อว่า “มันไอริช” อีกชื่อหนึ่ง

แหล่งปลูกในประเทศไทย ซึ่งปลูกมันฝรั่ง ได้ผลดี คือ จังหวัดในทางภาคเหนือ ซึ่งมีอากาศ หนาวเย็น เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ส่วนจังหวัดทางภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ก็ปลูกกันบ้าง แต่ปริมาณที่ผลิตยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับจังหวัดทางภาคเหนือ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ปลูก และผลิตมันฝรั่งมากที่สุด มันฝรั่งที่ส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดต่างๆ ส่วนมากเป็นมันฝรั่งจากจังหวัดเชียงใหม่

มันฝรั่งจัดเป็นพวกพืชล้มลุก อายุตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๔ ถึง ๕ เดือน ลำต้นมีลักษณะเป็นกิ่ง ตั้งตรงสูงประมาณ ๑-๒ ฟุต หัวเกิดจากลำต้นใต้ดิน ๑ ต้นจะให้หัว ๘-๑๐ หัว
มันฝรั่งมีชื่อภาษาอังกฤษสามัญว่า โพเตโต หรือ ไอริช โพเตโต มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โซลานัม ทูเบอโรซุม (Solanum tuberosum) อยู่ในตระกูล โซลานาซี (Solanaceae) มีขนบางๆ ตามลำต้น ใบเป็น แบบกลุ่ม (compound leaf) มีขนเล็กน้อย ประกอบ ด้วยใบยอด ๑ ใบ และใบย่อย ลักษณะรูปรีปลาย แหลม ๒-๔ คู่ และใบย่อยสั้น ๒ คู่ หรือมากกว่านี้ ช่อดอกเกิดเป็นกลุ่มบริเวณยอดของต้นก้าน ดอกยาว ดอกหนึ่งมีกลีบดอก ๕ กลีบ กลีบดอกมีสีขาว สี กุหลาบ สีชมพูม่วง หรือม่วง เกสรตัวผู้ ๕ อัน เกสรตัวเมีย ๑ อัน ซึ่งมีก้านชูเกสรยาว ผลมันฝรั่ง แต่ละผลมีลักษณะเล็กกลม สีเขียวหรือน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ ๑ นิ้ว ติดกันเป็นพวง หัวเกิดจากไหลอันเป็นลำต้นที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นกิ่งจากส่วนล่างของลำต้น งอกไชชอนลงไปในดิน ตอนปลายขยายใหญ่ เพื่อสร้างหัว หัวมีตาอยู่โดยรอบในลักษณะวงกลม ตาแต่ละตาสามารถแตกออก ได้ ๓ กิ่ง ที่ตามีเกล็ด (scale) ซึ่งรูปร่างคล้ายจาน สำหรับป้องกันตามิให้ได้รับอันตราย

manfarungtuber

ลักษณะดอกของมันฝรั่ง
ภายในหัวมันฝรั่งจะมีแกนตรงกลางพุ่งไปยังตาทุกตารอบๆ แกนเป็นเซลล์พวกพาเรนไคมา (parenchyma) ซึ่งมีสารพวกแป้งอยู่ ต่อจากพาเรนไคมา ออกมาเป็นวาสคูลาร์ริง (vascularring) ประกอบ ด้วย แคมเบียม (cambium) และคอร์เทกซ์ (cortex) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำให้เกิดสีชมพู แดง ม่วง ตามผิวมัน ฝรั่งแต่ละพันธุ์ ผิวของมันฝรั่ง (periderm) หนา ๖- ๑๐ ชั้น ประกอบด้วย คอร์ก (cork) และ ซูเบอริน (suberin) เป็นส่วนใหญ่ ซูเบอรินเป็นสารซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายไขมัน แผ่นที่ป้องกันตามันฝรั่งนั้น เกิดจากเซลล์ผิวนอกรอบๆ หัวมันฝรั่งมีรูถ่ายเทอากาศเลนติเซล (lenticel) รูถ่ายเทอากาศนี้จะ ขยายใหญ่เมื่อได้รับความชื้น เมื่อผ่าตัดหัวมันฝรั่งออก แล้วนำไปเก็บไว้ในที่เหมาะสมมันจะสร้างสาร คล้ายไขมัน หรือซูเบอริน ปิดแผลใหม่ เพื่อป้องกันการเน่า หัวมันฝรั่งเมื่อขุดขึ้นมา หรือยังไม่ได้ขุดขึ้นมา ถ้าปล่อยให้ถูกแสงแดดนานๆ ผิวหัวจะกลาย เป็นสีเขียว และบางพันธุ์จะกลายเป็นสีม่วง เนื่องจากปฏิกิริยาของคลอโรฟิลล์

manfarungton manfarungyodmanfarungdoksmanfarungpon

พันธุ์
มันฝรั่งที่นิยมปลูกทางภาคเหนือของประเทศไทยมีหลายพันธุ์ด้วยกัน
๑. พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ซึ่งพวกชาวเขาเผ่าต่างๆ และจีนฮ่อที่อพยพมาอยู่ตามท้องที่เขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และตามภูเขาในเขตจังหวัดเชียงรายนิยมปลูก พันธุ์นี้เข้าใจว่าจะปลูกกันมานานแล้ว ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า “อาลู” (เป็นคำซึ่งชาวเมืองเรียกมันฝรั่ง) พันธุ์นี้มีหัวขนาดย่อมกว่าพันธุ์ต่างประเทศ มีลักษณะหัวกลมบ้าง หัวกลมค่อนข้างยาวบ้าง ขนาดกลาง เนื้อสีขาวแกนเหลือง เปลือกสีม่วงอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน เปลือกหนา เมื่อทอดกรอบเนื้อมีรสขื่นเล็กน้อย ลำต้นใหญ่ ใบยอด และใบย่อย ใหญ่กว่าใบยอดพันธุ์ต่างประเทศอย่างชัดเจน ตลาดให้ราคาพันธุ์พื้นเมืองต่ำกว่าพันธุ์ต่างประเทศ พันธุ์นี้ปลูกในฤดูฝน เริ่มลงมือปลูกในเดือนพฤษภาคม และขุดเก็บหัวในเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน หัวมันที่เก็บในรุ่นนี้ ใช้ทำพันธุ์ปลูกในฤดูหนาวได้ แต่ส่วนมากมักจะถูกส่งออกสู่ท้องตลาด เพื่อการบริโภค เพราะในฤดูฝน มันฝรั่งในตลาดมีปริมาณน้อย และราคาแพง ส่วนพันธุ์สำหรับใช้ปลูกในฤดูหนาว ชาวเขาได้เก็บรักษาไว้เอง

๒. พันธุ์ต่างประเทศ พันธุ์ที่เคยปลูกได้ผลดีมาแล้ว คือ พันธ์บินท์เจ (Bintje) พันธุ์นี้เป็นพันธุ์มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์ Munstersen และ Fransen เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันทั่วไปในท้องที่จังหวัดภาคเหนือ แต่ในปัจจุบันนี้ ปลูกน้อยลง ลักษณะประจำพันธุ์ คือ หัวกลมและยาว เปลือกบาง สีค่อนข้างขาว เนื้อในค่อนข้างเหลือง เนื้อร่วนซุย รสดี หัวโตมีขนาดยาว ๖ นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว ขนาดทั่วๆ ไปยาวตั้งแต่ ๒-๔ นิ้ว หัวที่ใช้ทำพันธุ์มีขนาดเล็ก พันธุ์นี้ทนทานต่อความแห้งแล้งและโรคได้ดี แต่ไม่ทนทานต่อโรคไบลท์ (blight) และวอร์ท (wart) เลย เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา อายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๑๐ วัน พันธุ์บินท์เจนี้ต้องสั่งซื้อจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาทำพันธุ์ทุกๆ ปี โดยองค์การคลังสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้สั่งเข้ามาตามจำนวนที่ชาวไร่ต้องการ หลังจากสั่งเข้ามาแล้วจะส่งต่อให้บริษัท จังหวัดเชียงใหม่ จำกัด จำหน่ายให้แก่ชาวไร่ ที่สั่งจอง มันฝรั่งที่สั่งกำหนดถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนกันยายน ของทุกๆ ปี ฉะนั้นชาวไร่จะเริ่มปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป มันพันธุ์นี้ใช้ปลูกในฤดูหนาวเพียงฤดูเดียว ถ้านำไปปลูกตามที่ราบทั่วๆ ไปจะไม่ลงหัว

manfarungkastelli manfarungSafari manfarungTimate manfarungSultana
พันธุ์ต่างประเทศ ที่นิยมปลูกในปัจจุบันคือ พันธุ์เมอร์คา (Mirka) สปันตา (Spunta) และโดนาตา (Donata) เพราะพันธุ์ทั้งสามนี้ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์บินท์เจ

manfarungAjiba

พันธุ์เมอร์คา เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา อายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๑๐-๑๒๐ วัน ผลผลิตสูง หัวยาวรี ตาที่หัวตื้น เนื้อในเหลืองอ่อนถึงสีเหลือง มีใบมากพอสมควร และต้านทานความแห้งแล้งได้ดี ไม่ต้านทานต่อโรคใบไหม้ แต่ต้านทานต่อโรคใบม้วน และเชื้อไวรัสได้ดี เป็นโรควอร์ทได้ง่าย พันธุ์นี้นำมาจากประเทศเชโกสโลวะเกีย

ลักษณะหัวมันฝรั่งพันธุ์สปันตา
พันธุ์สปันตา เป็นพันธุ์ค่อนข้างเบา ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่และยาว ตาที่หัวตื้น เนื้อในสีเหลืองอ่อน ใบมากพอสมควร ต้านทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้านทานโรคใบไหม้ดีพอสมควร เป็นโรคใบม้วนได้ง่าย แต่ต้านทานต่อเชื้อไวรัส และโรควอร์ทได้ดี เนื้อในเมื่อต้มแล้วแน่น และนอกจากนั้นยังมีสีเนื้อในสม่ำเสมอด้วย พันธุ์นี้นำมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์

manfarungSpunta

ลักษณะหัวมันฝรั่งพันธุ์โดนาตา
พันธุ์โดนาตา (up to date) เป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างหนัก อายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๓๐-๑๔๐ วัน พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ แพเทอร์สันส์วิกตอเรีย (Patersons Victoria) และ บลูดอน (Blue Don) เจริญเติบโตรวดเร็ว ลำต้นแข็งแรง ใบค่อนข้างใหญ่ และใบมีสีเขียวอ่อน หัวมีขนาดใหญ่ และมีลักษณะรี หัวมีขนาดสม่ำเสมอ ผิวหัวสีเหลืองอ่อนผิวเรียบ ตาตื้น เนื้อในสีขาว เป็นโรควอร์ท โรคใบไหม้ และโรคสแคบ (scab) ค่อนข้างง่าย แต่ต้านทานโรคใบม้วนได้ดี พันธุ์นี้นำมาจากประเทศสกอตแลนด์

นอกเหนือจากพันธุ์ต่างประเทศที่กล่าวแล้ว ทางกรมวิชาการเกษตรก็ได้สั่งพันธุ์ต่างๆ มาศึกษาอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ศึกษาว่า จะมีพันธุ์ใดที่มีลักษณะต่างๆ ดี และให้ผลผลิตสูง ซึ่งจะได้เป็นลู่ทาง เพื่อนำไปใช้ทดแทนพันธุ์เดิม ซึ่งใช้อยู่ต่อไป

ฤดูปลูก

มันฝรั่งสามารถปลูกได้ผลดีเมื่ออากาศเริ่มเย็น หรือเมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาว ส่วนเวลาปลูกนั้นย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับท้องที่ โดยทั่วไปแล้วเริ่มต้นปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน

manfarungplang

การเลือกและการเตรียมที่
มันฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการอากาศเย็น จะเจริญเติบโตได้ดี ที่อุณหภูมิ ๒๑.๑ องศาเซลเซียส หรือ ต่ำกว่านี้เล็กน้อย ที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้และฝางใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ปรากฏว่า มันฝรั่งเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตประมาณ ๔ ตันเศษต่อไร่ ในขณะทำ การทดลองนั้นมีอุณหภูมิ ๒๑ องศาเซลเซียส ขณะ เป็นต้นอ่อนเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอุณหภูมิ ๒๓ องศาเซลเซียส หลังจากนั้นแล้วอุณหภูมิของดินควร มีประมาณ ๑๗.๘ องศาเซลเซียส มันฝรั่งจึงจะเจริญ เติบโตได้ดี มันฝรั่งจะลงหัวได้ดี ในดินที่มีอุณหภูมิ ประมาณ ๒๐-๒๘.๘ องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูง กว่านี้จะลงหัวไม่ดี เพราะสารพวกคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลจะถูกใช้ไปในการหายใจหมด
ในประเทศที่มีอากาศร้อนอย่างประเทศไทย และอินโดนีเซีย ต้องปลูกในที่สูง เช่น ที่ชวาปลูกในระดับน้ำทะเลถึง ๑,๐๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แต่ในประเทศไทยสามารถปลูกได้ดีพอใช้ ในจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ชาวเขานิยมปลูกตามบริเวณเทือกเขาเชียงดาว ฝาง และตามชายแดนพม่า การปลูกในประเทศที่มีอากาศร้อนดังกล่าว มักจะมีโรคแมลงรบกวน ค่าใช้จ่ายในการผลิตจึงสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เพราะอากาศร้อนอบอ้าวในเวลากลางคืน การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร
มันฝรั่งขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เช่น ดินร่วนปนทราย ดินน้ำไหลทรายมูล และดินร่วนขุยไผ่ ดินที่ใช้ปลูกต้องมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และระบายน้ำได้ดี ดินที่อุดมสมบูรณ์ และการใช้ปุ๋ย จะช่วยเพิ่มผลผลิตมันฝรั่งให้สูงขึ้น pH ของดินควรจะอยู่ในระหว่าง ๔.๕-๖.๕ ดินที่มีแคลเซียม และเป็นด่างไม่ควรปลูกเพราะจะทำให้เป็นโรคสแคบ

manfarungsuan

ในจังหวัดเชียงใหม่ นิยมปลูกมันฝรั่งในสวนผักตามชายหาดริมแม่น้ำ และเกาะกลางน้ำ การปลูกจะต้องปลูกหลังจากน้ำลดแล้ว คือ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จนถึงเดือนพฤศจิกายน และก็ยังมีบางแห่งที่ปลูกมันฝรั่งในนาข้าว หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว โดยเริ่มปลูกในเดือนธันวาคม ที่นาที่ปลูกมันฝรั่งนั้น ส่วนมากเป็นดินดี มีน้ำใช้ตลอดฤดู และมันฝรั่งที่ปลูกในรุ่นนี้จะเก็บหัวได้ ในราวเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน ดินในสวนผักส่วนมากได้รับการบำรุงอยู่เสมอ จึงเป็นดินดี ดินร่วน และมีอาหารพืชมาก สำหรับดินชายหาด หรือดินกลางเกาะน้ำนั้น ส่วนมากเป็นดินตะกอน หรือดินน้ำไหลทรายมูล ในปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม จะมีน้ำท่วมทุกปี ธรรมชาติได้ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอยู่เสมอ แต่ในสวนและดินชายหาดนั้น ถึงแม้จะเป็นดินดี มีอาหารของพืชอยู่ก็ตาม แต่แร่ธาตุของมันฝรั่งยังไม่ครบ ผู้ปลูกจึงควรใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้มันฝรั่งเจริญงอกงาม และให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทำเลที่ปลูกต้องไม่เป็นที่ลุ่ม ระบายน้ำได้ดี ดินเหนียวไม่เหมาะสำหรับใช้ปลูกมันฝรั่ง แต่ถ้าได้รับการปรับปรุงโดยใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรืออินทรียวัตถุ จนทำให้ดินร่วนซุยแล้ว อาจใช้ปลูกมันฝรั่งได้ ปูนขาวจะต้องใส่ก่อนปลูกหลายๆ เดือน เช่น ใส่ในฤดูฝน เพื่อน้ำฝนจะช่วยให้ปูนขาวละลาย และไหลซึมลงไปในดิน และช่วยแก้การเป็นกรดในดินให้อ่อนลง และช่วยทำให้ดินร่วน นอกจากนั้นแล้ว ที่ซึ่งมีเสี้ยนดินไม่ควรใช้ปลูกมันฝรั่ง เพราะจะทำอันตรายหัวมันฝรั่ง ทำให้คุณภาพเลวลง
มันฝรั่งเป็นพืชหัว การเตรียมดินจึงมีความสำคัญมาก ถ้าเตรียมดินไม่ดีแล้ว การลงหัวจะไม่ดีเท่าที่ควร และทำให้มีหัวขนาดเล็ก และผลผลิตต่อไร่ต่ำ การเตรียมดินควรจะไถดินให้ลึกไม่น้อยกว่า ๘ นิ้ว และตากแดดไว้อย่างน้อยประมาณ ๑ อาทิตย์ เพื่อกำจัดวัชพืช ทำลายเชื้อโรคบางชนิดในดิน และทำให้ดินแห้ง การไถพลิกดินควรจะไถประมาณ ๒-๓ ครั้ง หลังจากนั้น เมื่อเห็นว่าดินแห้งดีแล้ว จึงพรวนย่อยดินอีกครั้งหนึ่ง
ในที่บางแห่ง ซึ่งมีการระบายน้ำได้ดี และหลังจากฝนตกแล้ว น้ำสามารถระบายไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ขังแฉะอยู่เป็นเวลานาน การยกร่องไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าแรงงาน และเวลาโดยใช่เหตุ แต่อาจจะทำเป็นร่องเล็กๆ เพื่อช่วยในการระบายน้ำมิให้เข้าไปในแปลงในบางคราวหากจำเป็น แต่ในที่ซึ่งมีการระบายน้ำไม่ดีแล้ว ควรจะยกร่องเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือร่องธรรมดา ขนาดร่องกว้าง ๑ เมตร ส่วนความยาวแล้วแต่เนื้อที่ และความสะดวกในการใช้เครื่องมือ และการปฏิบัติรักษา

วิธีปลูก

การปลูกจะโดยใช้ทั้งหัว หรือผ่าหัวก็ตาม ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว ๖๐ เซนติเมตร ระหว่างต้น ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ไร่หนึ่งถ้าปลูกทั้งหัวจะใช้พันธุ์ประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัม โดยมากการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย นิยมใช้ปลูกทั้งหัวมากกว่าการใช้ตา จริงอยู่การใช้ตาปลูกจะได้จำนวนมากกว่าการปลูกทั้งหัว เมื่อใช้น้ำหนักพันธุ์เท่ากันก็ตาม แต่จากการทดลองที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้ ปรากฏว่า การปลูกทั้งหัวดีกว่าการใช้ตาปลูก ทั้งนี้ เพราะการปลูกทั้งหัวการเจริญเติบโตแข็งแรงดีกว่าการปลูกด้วยตา เนื่องจากหัวมีอาหารสะสมที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้ดีกว่า การปลูกด้วยตา เมื่อตัดแบ่งปลูก ส่วนมากจะเน่า ถึงแม้ว่าจะใช้ยาป้องกันโรคแล้วก็ตาม เพราะอากาศร้อนทำให้เชื้อโรคเจริญรวดเร็ว

การปลูกโดยวิธีผ่าหัว หรือใช้ตานั้นจะใช้พันธุ์ปลูกประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น

เครื่องมือที่ใช้ปลูกนั้น ใช้จอบแต่อย่างเดียว ถ้าปลูกในเนื้อที่มากๆ ผู้ปลูกควรแบ่งหน้าที่กัน จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น คนหนึ่งมี หน้าที่ใช้จอบขุดหลุมโพยลึกลงไปในดินประมาณ ๗-๑๒ เซนติเมตร ก่อนที่จะยกจอบขึ้นจากดินให้ดึงจอบเข้าหาตัว ด้านนอกของจอบจะเกิดช่องว่างประมาณ ๔-๖ เซนติเมตร ให้อีกคนหนึ่งโยนหัวมันลงไปในหลุมนั้น ดินในหลุมที่ถูกจอบกันนั้นพอยกจอบขึ้นก็จะกลบหัวมันในหลุมพอดี การกลบดินไม่ควรจะหนาเกินไป เพราะจะทำให้ต้นงอกออกมาช้า ฉะนั้นควรกลบให้หนาเพียง ๓-๔ เซนติเมตร ก็เพียงพอ อนึ่งสำหรับหัวที่มีตางอกออกมายาวๆ นั้น อย่าใช้วิธีโยน เพราะจะทำให้ต้นอ่อนที่งอกออกมานั้นหักได้ แต่ถ้าไม่ปลูกตามวิธีดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนวิธีปลูกใหม่ได้ คือ คนหนึ่งสะพายตะกร้า หรือกระบุงที่บรรจุหัวมัน ทำหน้าที่หยิบหัวมันวางลงบนหลังแปลง ส่วนอีก ๒ คนให้อยู่คนละข้างแปลงทำหน้าที่ปลูก ถ้าหากเป็นดินร่วน และก้อนดินมีขนาดเล็กการปลูกอาจจะใช้ช้อนปลูกแทนจอบได้ และรวดเร็วดีกว่าด้วย

การปลูกโดยแบ่งหัวนั้น กระทำได้โดยใช้มีดคมๆ ผ่าแบ่งหัวออกเป็น ๒-๓ ซีก แต่ละซีกต้องให้มีตาติดอยู่ประมาณ ๒-๓ ตา การแบ่งหัวนี้ อาจจะทำให้เชื้อโรค แบลคเลก (black leg) เข้าตามแผลสู่ลำต้น เป็นเหตุให้ต้นตายได้ แต่ถ้าจะนำหัวที่ผ่าไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำยาบอร์โดซ์ ซึ่งมีส่วนประกอบของธาตุทองแดงแล้ว จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้บ้าง น้ำยาที่ใช้ควรให้เข้มข้นกว่าธรรมดาประมาณ (สูตร 151P) ๑/๒-๑ เท่า หัวบางหัวที่ตายังไม่งอกออกมานั้น อาจจะนำมาเรียงไว้ในร่ม แล้วใช้ขี้เถ้าแกลบกลบบางๆ รดน้ำให้พอชื้นทิ้งไว้ประมาณ ๑๐-๑๕ วัน ตาก็จะงอกออกมา แล้วจึงนำไปปลูกในแปลง หรือมิฉะนั้นก็ผ่าหัวออกเป็นซีกๆ ละ ๒-๓ ตา แล้วนำไปเก็บไว้ในเข่งหรือลังไม้ และใช้กระสอบคลุมปิดไว้ ประมาณ ๑๐-๑๕ วัน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ตางอกเร็วขึ้น หัวที่ผ่านานแล้ว ไม่จำเป็นต้องชุบน้ำยาเหมือนหัวที่ผ่าสดๆ เพราะเมื่อเก็บไว้หลายๆ วัน แผลนั้นจะแห้งดี วิธีผ่าหัวออกเป็น ๒-๓ ซีกนี้จะใช้พันธุ์ปลูกประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อเนื้อที่ปลูก ๑ ไร่
หัวมันฝรั่งที่ขุดเก็บขึ้นมานั้นจะมีการหยุดพักตัว คือ ไม่งอกอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำจัดการพักตัวเสียก่อน การพักตัวในมันฝรั่งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม โดยทั่วไปมันฝรั่งจะหยุด ักตัวประมาณ ๘-๑๐ สัปดาห์หลังจากเก็บหัว การกำจัดการพักตัวหัวมันฝรั่งนั้น กระทำได้ โดยนำหัวมันฝรั่งไปเก็บไว้ในที่ซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง ประมาณ ๖๐-๗๐ องศาเซลเซียส เป็นเวลา ๓๐ วัน จะช่วยการเร่งการงอกของตาให้เร็วขึ้น

การเก็บรักษาหัวมันฝรั่ง โดยเฉพาะพันธุ์ต่างประเทศนั้นเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่ง เพราะเมื่อพ้นระยะการพักตัวแล้ว ตาจะเริ่มงอก และจะต้องใช้หัวเหล่านั้นปลูกทำพันธุ์ต่อไป มิฉะนั้นหัวเหล่านั้นจะฝ่อและแห้งไปในที่สุด ถ้าหากการงอกของตาตรงกับฤดู ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นการสนองความต้องการของกสิกร เพื่อให้มีวัสดุปลูกสม่ำเสมอ จึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องกระทำ แต่เดิมนั้นได้ ใช้วิธีสั่งหัวพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาทุกปี ซึ่งเป็นวิธีที่แพง และไม่เหมาะสมกับสภาพ และเศรษฐกิจของกสิกร ดังนั้นสาขาพืชผัก กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทดลองปลูกรักษาพันธุ์ต่างประเทศเอง คือ ได้นำพันธุ์มันฝรั่งพันธ์ต่างประเทศที่มีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง เมื่อปลูกในที่ราบในฤดูหนาว แล้วนำไปปลูกบนเขา คือ ดอยผาหลวงในฤดูฝน ผลปรากฏว่า หัวพันธุ์ที่ปลูกในฤดูฝนบนเขา สามารถจะนำมาใช้ทำพันธุ์ในฤดูหนาวได้ผลดีพอๆ กับพันธุ์ที่สั่งมาจากต่างประเทศโดยตรง แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เกิดกับมันฝรั่งที่ปลูกในฤดูฝนก็คือ โรคเออร์ลีไบลท์ (early blight) ซึ่งจะทำให้มันฝรั่ง ตายและเสียหายมาก

manfarungdok

การให้น้ำและการกำจัดวัชพืช

ปัญหาเรื่องการให้น้ำมันฝรั่งนั้น เป็นปัญหาที่สำคัญมาก ถ้าให้น้ำมากเกินไปจะทำให้หัวมันฝรั่งเน่า แต่ถ้าให้น้อยเกินไป จะทำให้ต้นมันฝรั่งเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ฉะนั้นการให้น้ำควรจะให้เพียงพอแก่ความต้องการ คือ ไม่มาก และไม่น้อยจนเกินไป โดยสังเกตความชุ่มชื้นในดินเป็นหลัก มันฝรั่งที่ปลูกในดินทราย และมีอากาศร้อน ควรให้น้ำบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในขณะที่มันฝรั่งกำลังเจริญเติบโต การให้น้ำแก่มันฝรั่งควรกระทำบ่อยครั้ง แต่ระวังอย่างให้เปียกแฉะ

เมื่อกลบดินหลังจากปลูกแล้ว ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพราะในเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน ดินทั่วๆ ไปยังชุ่มชื้นอยู่ การรดน้ำบ่อยครั้ง เพื่อเร่งให้ต้นงอกออกมานั้น บางครั้งอาจทำให้หัวมันที่ฝังอยู่ในดินเน่าได้ เมื่อตางอกพ้นพื้นดินออกมา ต้องคอยพรวนดิน ฆ่าวัชพืชต่างๆ ในแปลง ซึ่งส่วนมากจะงอกอยู่ก่อนตามันฝรั่งจะงอกโผล่ออกมาเหนือผิวดิน หลังจากพรวนดินแล้ว ควรตากดินทิ้งไว้หลายๆ วัน เพื่อให้วัชพืชที่พรวนขึ้นมานั้นตายไป แล้วจึงรดน้ำให้ชุ่ม การพรวนดินต้องกระทำอยู่เสมอ และบ่อยครั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องพรวนกลบโคนต้นด้วย เพราะมันฝรั่งจะงอกหัวใหม่ออกมาบริเวณโคนต้น และหัวบางหัวจะโผล่เหนือผิวดิน ถ้าปล่อยให้ถูกแดดผิวเปลือกของหัวจะเป็นสีเขียวคล้ำไม่งาม และตลาดให้ราคาต่ำ

manfarungkodmanfarungkeb

อุปกรณ์ที่ใช้รดน้ำก็คือ บัวรดน้ำ แต่ในปัจจุบันอาจใช้เครื่องสูบน้ำเข้าช่วย ซึ่งสะดวก และรวดเร็วกว่า วิธีการทดน้ำเข้าตามร่องข้างแปลงไม่ควรกระทำ เพราะจะทำให้ดินแน่น และการงอกหัวไม่ดี

การใส่ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ๒ ครั้ง ครั้งแรกใส่เมื่อต้นงอกสูงขึ้นมา ๔-๖ นิ้ว ก่อนใส่ปุ๋ยต้องพรวนดิน และตากทิ้งไว้ กะให้ดินแห้งพอสมควร จึงใส่ปุ๋ยผสม โดยวิธีโรยระหว่างต้น และระหว่างแถว พรวนดินกลบแล้วรดน้ำ การใส่ครั้งที่สอง เว้นระยะห่างจากการใส่ครั้งแรก ๑ เดือน อัตราปุ๋ยที่ใส่ทั้งสองครั้งประมาณ ๘๐-๑๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้สุดแล้วแต่ชนิดของดิน ถ้าสังเกตเห็นว่า หลังจากใส่ปุ๋ยผสมแล้วประมาณ ๑๕-๒๐ วัน ลำต้นยังไม่อวบอ้วน ใบมีขนาดเล็ก ควรใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต โรยบริเวณรอบโคนต้น ต้นละประมาณครึ่งช้อนแกง เสร็จแล้วรดน้ำ เพื่อให้ปุ๋ยละลาย มีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่งสำหรับพันธุ์บินท์เจ ถ้ามีลำต้นอวบอ้วน และเป็นพุ่มใหญ่แล้ว มันจะมีขนาดหัวใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน

การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ คือ พวกปุ๋ยคอก หรืออื่นๆ นั้นจะทำให้ดินดีขึ้น ช่วยให้มันฝรั่งลงหัวดี และช่วยให้การระบายน้ำดีด้วย การใส่ปุ๋ยพวกนี้ ส่วนมากจะใส่ก่อนปลูก โดยคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในอัตราค่อนข้างสูงประมาณ ๑ ตัน หรือมากกว่านั้น

โรคและแมลง

๑. โรคเออร์ลีไบลท์ ใบเป็นจุด
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราออลเทอร์นาเรีย โซลานี (Alternaria solani) ลักษณะอาการที่เกิดในมันฝรั่ง คือ ตามใบล่างจะเป็นจุดกลมๆ กระจัดระจายอยู่ทั่วไป แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในระยะต่อมา จุดเหล่านั้นจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อตรงที่เป็นโรคนี้แห้งตายไป และลักษณะคล้ายรอยไหม้

๒. โรค เลทไบลท์ (late blight) หรือ ดาวนี มิลดิว (downy mildew) หรือโรคใบไหม้
โรคนี้เกิดจากเชื้อราไฟทอฟทอราอินเฟสทานา (Phytophthora infestana) โรคนี้ทำความเสียหายแก่มันฝรั่งมากที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ ปรากฏว่าชาวไอร์แลนด์ถึงกับอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมันฝรั่งที่ปลูกไว้ถูกทำลายด้วยโรคนี้
โรคนี้จะทำอันตรายแก่มันฝรั่งในขณะที่สภาพดินฟ้าอากาศชุ่มชื้นและเย็น มันฝรั่งที่เป็นโรคจะมีใบเป็นจุด หรือแผลสีน้ำตาล หรือม่วงดำ โดยมีขนาดต่างๆ กัน และขยายตัวลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ตามบริเวณขอบแผลจะเห็นเป็นวงซ้อนกัน
และที่ด้านล่างตรงกันข้ามกับแผล จะสังเกตเห็นเป็นฝ้าขาว ซึ่งเป็นกลุ่มของสปอร์ที่ราผลิตขึ้น โรคนี้อาจพบตามบริเวณส่วนต่างๆ ของลำต้นได้ เชื้อราระบาดไปกับหัวมันที่ใช้เป็นพันธุ์ปลูกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อนำหัวที่มีเชื้อโรคไปปลูก เชื้อโรคนี้ก็จะเจริญขึ้นมาพร้อมกับหน่อมันฝรั่ง โรคนี้จะเป็นกับต้นมันฝรั่งทุกขนาดไม่จำกัดอายุ หัวที่เป็นโรคจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลหรือม่วง แล้วยุบเน่าทั้งหัว หัวที่เป็นโรคเมื่อผ่าด เมล็ดแป้งจะเป็นจุดสีแดงอิฐ

วิธีป้องกัน และกำจัดโรคเออร์ลี และเลทไบลท์
๑. ใช้หัวมันจากแหล่งที่ปราศจากโรค
๒. ฉีดป้องกันรา ทุกๆ ๕-๗ วันเมื่ออากาศผิดปกติ
๓. ใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรค
๔. เผาทำลายส่วนที่เป็นโรคทิ้งเสีย

๓. โรคคอมมอนสแคบ (common scab)
เป็นโรคที่เกิดมาจากเชื้อรา แอกติโนไมแซส สแคบีส์ (Actinomyces scabies) เมื่อเกิดขึ้นกับหัวมันฝรั่ง จะมีลักษณะคล้ายหูด โรคนี้จะเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่สภาพเป็นด่าง ในดินที่มีสภาพเป็นกรดเล็กน้อยก็สามารถเกิดโรคนี้ได้ การใช้ปูนขาวและปุ๋ยคอก ในการปลูกมันฝรั่งในดินทั่วๆ ไป ยกเว้นในดินที่มีสภาพเป็นกรด เป็นการเพิ่มเชื้อโรคสแคบให้มีจำนวนมากขึ้น โรคนี้จะเจริญเติบโตได้ดี เมื่อความชื้นในดินน้อยกว่าความชื้นที่พอเหมาะสำหรับการปลูกมันฝรั่ง ดินที่มีสภาพเป็นกรด โรคนี้เจริญเติบโตได้ไม่ดี
วิธีป้องกันและกำจัด ในต่างประเทศใช้กำมะถันผงอัตรา ๖๕-๑๓๐ กิโลกรัมต่อไร่ หว่านลงไปในดิน จะช่วยเปลี่ยนสภาพของดินให้เป็นกรดได้บ้าง และในบางทีเมื่อมันฝรั่งเป็นโรคนี้แล้วใช้ฟอร์มาลดีไฮด์อุ่นๆ หรือสารละลายเมอร์คิวริกคลอไรด์อ่อนๆ ฉีดไปบนต้นมันฝรั่ง อาจทำลายเชื้อราได้บ้าง

แมลงที่ทำลายมันฝรั่งเท่าที่พบในภาคเหนือ เช่น ที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้ และฝาง ได้แก่
๑. หนอนต่างๆ
เช่น หนอนของผีเสื้อกลางคืน มีลักษณะลำตัวลายสีดำ หรือสีเทายาวประมาณ ๑ นิ้ว โดยจะกัดโคนต้นมันฝรั่งหลังจากงอก และเจริญเติบโตพ้นพื้นดินแล้วในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะอยู่ใต้ผิวดินใกล้กับโคนต้นมันฝรั่ง เข้าใจว่า หนอนพวกนี้ไม่ชอบแสงแดด หนอนเหล่านี้นอกจากจะทำลายมันฝรั่งแล้ว ยังทำลายผัก เช่น คะน้า หอมหัวใหญ่อีกด้วย
วิธีกำจัด
โดยใช้ น้ำหมักสูตรไล่ กำจัดหนอน
๒. เพลี้ย
เพลี้ยเป็นแมลงพวกปากดูด โดยจะดูดน้ำเลี้ยงตามใบมันฝรั่ง และชะงักการเจริญเติบโต ลดผลผลิต นอกจากนี้เพลี้ยยังเป็นพาหะนำโรคใบด่างม้วน โมเสคลิฟรอลล์ (Mosaic leafroll) และโรคอื่นๆ อีกด้วย
วิธีกำจัด
โดยใช้ น้ำหมักสูตรไล่ กำจัดเพลี้ย

การเก็บหัวและเก็บรักษา
การเก็บหัวมันฝรั่ง ซึ่งจะกระทำเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
๑. อายุ
มันฝรั่งสามารถจะเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ วันหลังจากปลูก ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่า พันธุ์นั้นๆ จะเป็นพันธุ์ชนิดใด คือ พันธุ์เบา พันธุ์กลาง หรือ พันธุ์หนัก

๒. สังเกตจากเถา หรือลำต้นของมันฝรั่ง
เมื่อพร้อมจะเก็บเกี่ยวได้จะนอนราบกับพื้น และใบส่วนใหญ่จะมีสีเหลือง

๓. ใช้วิธีขุดหัวออกมาแล้วทดลองใช้มีดผ่าหัวดู
หัวมันฝรั่งที่แก่ เมื่อผ่าแล้วมีรอยแผลจะแห้ง ไม่มีน้ำเยิ้มออกมา

กองหัวมันฝรั่งหลังเก็บเกี่ยว การเก็บหัวโดยใช้วิธีขุดหัวด้วยจอบ หรือใช้มือถอนลำต้นขึ้นมา ถ้าหากดินที่ปลูกเป็นดินร่วน การขุดจะต้องระมัดระวังมิให้หัวได้รับอันตราย และเป็นรอยแผล เพราะจะทำให้เป็นโรค และนอกจากนั้นตลาดก็จะให้ราคาต่ำด้วย หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรคัดขนาดของหัวออกเป็น ๔ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว ขนาดใหญ่และขนาดกลาง จะขายได้ราคาดี ส่วนขนาดเล็กราคาถูกมาก และขนาดจิ๋วนั้นขายเกือบไม่ได้ และไม่คุ้มค่าระวางขนส่ง ในเนื้อที่ ๑ ไร่ จะได้หัวมันหนักประมาณ ๑,๖๐๐-๒,๔๐๐ กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ หลายประการด้วยกัน
หัวมันฝรั่งที่เก็บขึ้นมานั้นถ้าหากมีจำนวนมาก และยังขายไม่ออก ควรจะนำไปเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ ๔-๑๐ องศาเซลเซียส เพราะจะช่วยป้องกันการงอกของตาได้ถึง ๑๒-๑๕ อาทิตย์ มันฝรั่งที่ตางอกออกมานั้น จะขายได้ราคาต่ำ และคุณภาพลดลง เพราะอาหารภายในหัวจะถูกใช้ไป

manfarunghao

ผลิตผลจากมันฝรั่ง ประโยชน์
หัวมันฝรั่งมีคุณค่าทางอาหารสูง คือ มีปริมาณของแป้ง โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน บางอย่างอยู่ในเกณฑ์สูง จึงใช้เป็นอาหารประจำวันได้อย่างดี ประโยชน์ที่ได้จากหัวมันฝรั่งอาจจำแนก ได้ดังต่อไปนี้

  1. เป็นอาหารของมนุษย์โดยตรง ประชากร ในยุโรปและอเมริการับประทานมันฝรั่งเป็นอาหาร หลักแทนข้าว ด้วยวิธีต้ม ทอด อบ และอื่นๆ
  2. แปรรูป เช่น ทำแป้งและอื่นๆ อีกหลาย อย่างเป็นต้นว่า หั่นบางๆ แล้วทอดกรอบ น้ำตาลกลูโคสและเดกทริน (ใช้ทำกาวและสารเกี่ยวกับความ เหนียวต่างๆ)
  3. ใช้ในอุตสาหกรรมการหมักเพื่อผลิตอัลกอฮอล์และกรดซิตริก
  4. ใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร โดย จะใช้หัวสดต้ม หรือหมักเป็นอาหาร

ที่มา
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ใต้ดิน

แสดงความคิดเห็น