มันสำปะหลังจัดเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Manihot esculenta Crantz มีชื่อสามัญเรียกหลายชื่อตามภาษาต่างๆ ที่ได้ยินกันมากได้แก่ Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca
มันสำปะหลังมีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (Lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลัมเบียและเวเนซูเอลา มานานกว่า 3,000 7,000 ปีมาแล้วสันนิษฐานว่าแหล่งกำเนิดมันสำปะหลังมี 4 แหล่งด้วยกันคือ
มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับ 5 รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อเช่น Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า “มันหลา”) คำว่า “สำปะหลัง” ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า “ซำเปอ (Sampou)” ของชวาตะวันตก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มันสำปะหลังมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manihot esculenta Crantz. หรือ Manihot utilissima Pohl. อยู่ในตระกูล Euphorbiaceae เป็นไม้พุ่มเตี้ย อายุหลายปี
- ราก มันสำปะหลังมีรากน้อยและอยู่ไม่ลึกจากผิวดิน มีราก 2 ชนิด คือ รากจริงและรากสะสมอาหาร ที่เรียกกันทั่วไป หัว มีปริมาณแป้งประมาณ 15 40 % มีกรดไฉโดรไซยานิก ( HCN ) หรือกรดพรัสซิก ( prussic acid ) ซึ่งมีพิษ จะมีอยู่มากในส่วนของเปลือกมากกว่าเนื้อของหัว การแช่น้ำ การต้ม จะทำให้กรดระเหยไปได้
- ลำต้น มีลักษณะเป็นข้อๆ ซึ่งเป็นรอยที่ก้านใบร่วงหลุดไป สีของลำต้นส่วนยอดจะเป็นสีเขียวส่วนทางด้านล่างอาจมีสีน้ำตาล หรือสีม่วงแดงขึ้นอยู่กับพันธุ์
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบแยกเป็นแฉกคล้ายใบปาล์มมีสีเขียว ก้านใบอาจมีสีเขียว หรือสีแดง บางพันธุ์ใบจะมีสีเหลือง หรือขาว หรือใบด่าง ที่ใช้เป็นไม้ประดับ
- ดอก มันสำปะหลังมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกตัวผู้จะอยู่ทางส่วนปลายของช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือมีลายแดง ผลและเมล็ด ในแต่ละผลจะมี 3 เมล็ด เมล็ดจะมีสีเทาหรือลายจุดดำ
พันธุ์
พันธุ์ มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- พันธุ์ที่ใช้ประดับ นิยมปลูกตามบ้านเพื่อความสวยงาม เนื่องจากใบมีแถบสีขาวและเหลืองกระจายไปตามความยาวของใบจึงเรียกว่า มันด่าง และยังมีพันธุ์อีกชนิดหนึ่งเป็นพันธุ์ป่า มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาพบมากแถบจังหวัดชลบุรีและระยอง
- พันธุ์ชนิดหวาน พันธุ์นี้จะใช้หัวเป็นอาหารมนุษย์โดยเชื่อม ต้ม ปิ้ง หรือเผา ไม่มีรสขมเนื่องจากมีปริมาณ HCN ต่ำ ที่พบในบ้านเรามี 3 พันธุ์ ได้แก่ มันสวน มันห้านาทีหรือก้านแดงและระยอง 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงขึ้นมาใช้สำหรับทอดเป็นแผ่นบางเช่นเดียวกับ potato chips
- พันธุ์ชนิดขม พันธุ์นี้มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุดหลายล้านไร่เป็นพันธุ์ปลูกส่งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้ง แต่เดิมปลูกพันธุ์เดียวคือพันธุ์ดั้งเดิมที่มีผู้นำเข้ามาในประเทศเป็นเวลานาน ผ่านการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีจนจัดเป็นพันธุ์พื้นเมือง ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้ทำการคัดเลือกพันธุ์จากแหล่งปลูกทั่วไปพบว่าพันธุ์ที่ปลูกในจังหวัดระยองให้ผลผลิตดีที่สุดจึงตั้งชื่อใหม่ว่า พันธุ์ระยอง 1 ลักษณะทรงต้นสูงใหญ่แข็งแรงความงอกดีเก็บต้นไว้ทำพันธุ์ได้นานให้ผลผลิตค่อนข้างสูงต้านทานโรคและแมลงได้ดี แต่มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำโดยเฉพาะในฤดูฝน ต่อมามีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังโดยหน่วยงานของราชการอย่างน้อยสองแห่งที่ดำเนินการในเรื่องนี้หน่วยงานแรกคือ กรมวิชาการเกษตรมีศูนย์วิจัยอยู่ที่จังหวัดระยองฉะนั้นพันธุ์ใหม่ๆ จึงใช้ชื่อว่า พันธุ์ระยอง เช่น ระยอง 2 ระยอง 3 ระยอง 5 ระยอง 60 และระยอง 90 ส่วนอีกหน่วยงานหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสถานีวิจัยอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จึงใช้ชื่อพันธุ์ใหม่ว่าศรีราชา 1 และเกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นการร่วมฉลองในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อตั้งมาครบ 50 ปี ในพ.ศ. 2536
การจำแนกสายพันธุ์ใช้คุณลักษณะหลายอย่างช่วยในการจำแนกเช่น สีของใบอ่อน สีก้านใบ สีลำต้น ขนที่ยอดอ่อน ลักษณะทรงต้น หูใบ
การใช้ประโยชน์
- ใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยนำหัวสดไปต้ม นึ่ง ปิ้ง เผา หรือเชื่อม สำหรับประเทศที่บริโภคมันสำปะหลังเป็นอาหารหลักจะมีวิธีการปรุงแต่งโดยเฉพาะ เช่น Gari อาหารของชาวไนจีเรีย หรือ Bononoka ของชาวมาดากัสกา นอกจากนี้ยังนำแห้งมันสำปะหลังไปปรุงเป็นอาหารทั้งคาวและหวานอีกหลายชนิด
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในรูปมันเส้นและมันอัดเม็ด ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ส่งออกทั้งหมด เพื่อการเลี้ยงสัตว์ของประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยใช้มันสำปะหลังน้อยมาก แม้ว่ามันสำปะหลังสามารถใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิด แต่ผู้ใช้จะต้องปรับสูตรอาหารให้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิด ข้อดีของการใช้มันสำหรับเป็นอาหารสัตว์คือราคาถูกและยังไม่เคยพบสาร aflatosin จึงปลอดภัยต่อการบริโภค แต่มีข้อเสียบ้างที่ว่าการใช้มันสำปะหลังต้องป่นให้ละเอียดและต้องผสมกากน้ำตาลซึ่งวิธีการผสมค่อนข้างยุ่งยาก
- ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะนำแป้งดิบ (native starch) มาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอื่นๆ เช่น ผลิตผงชูรส และไลซีน สารให้ความหวานเช่น glucose dextrose sorbital manitol และ inositol และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น สารดูดน้ำ (polymer) พลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ ผลิตเชื้อไรโซเบียม ผลิต flexible foam สำหรับทำที่นอนและเฟอร์นิเจอร์ ผลิต rigid foam เพื่อการบรรจุหีบห่อและตกแต่งภายใน นอกจากนี้ยังนำไปผลิตแป้งแปรรูป (modified starch) โดยการนำเอาแป้งดิบมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของแป้งให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเฉพาะอย่างเช่น อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไม้อัด อุตสาหกรรมทำกาวและอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์
ความเป็นพิษ
หัว รากและใบมันสำปะหลังไม่ควรทานดิบ เนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิคไกลโคไซด์ 2 ตัว คือ ไลนามาริน (linamarin) และโลทอสทราลิน (lotaustralin) ซึ่งสามารถสลายได้ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ก๊าซชนิดนี้มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและทางเดินโลหิต ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง ถ้ากินพืชที่มีสารนี้สด ๆ จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการรุนแรงมาก ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ ทำให้เสียชีวิตได้ พบอาการพิษแบบฉับพลันคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง
การปลูก
ฤดูปลูก
- ต้นฤดูฝน เดือนเมษายนมิถุนายน
- ปลายฤดูฝน เดือนกันยายนพฤศจิกายน
การเตรียมดิน
- ไถกลบวัชพืชและเศษใบ-ต้น มันสำปะหลังส่วนที่ไม่ได้ใช้ทำพันธุ์
- พื้นที่ดอนไม่จำเป็นต้องยกร่อง ส่วนพื้นที่ต่ำอาจมีน้ำขังได้บ้าง จึงควรยกร่องปลูก สำหรับพื้นที่ลาดเอียงควรยกร่องปลูกขวางแนวลาดเอียง
การเตรียมท่อนพันธุ์
- ใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่มีอายุ 8-12 เดือน เพราะท่อนพันธุ์จากลำต้นเจริญเติบโตและอยู่รอดดีกว่าท่อนพันธุ์จากกิ่ง
- ท่อนพันธุ์ใหม่ สด ไม่บอบช้ำ และไม่มีโรคแมลงทำลาย
- ตัดท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตรสำหรับปลูกในฤดูฝน หรือ 25 เซนติเมตรสำหรับปลูกในช่วงปลายฝน และมีจำนวนตาอย่างน้อย 5-10 ตาต่อท่อนพันธุ์
วิธีปลูก
- ปลูกแบบปักท่อนพันธุ์ตั้งหรือเอียง โดยในฤดูฝนควรปักให้ลึก 5- 10 เซนติเมตร ในช่วงปลายฤดูฝนควรปักให้ลึก 10- 15 เซนติเมตร
- ในพื้นที่ต่ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดเอียงควรปลูกมันสำปะหลังบนสันร่อง
ระยะปลูก
- พื้นที่ราบใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 80-100 เซนติเมตรระหว่างต้น 80- 100 เซนติเมตร ซึ่งมีจำนวนต้น 1,600-2,500 ต้นต่อไร่
- พื้นที่ลาดเอียงใช้ระยะปลูกระหว่างร่อง 80 เซนติเมตร ระหว่างต้น 80 เซนติเมตรเพื่อช่วยลดปัญหาการชะล้างพังทะลายของดิน
การใส่ปุ๋ย
- แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีที่มีอัตราส่วน N:P:K 2:1:2 ในทางปฏิบัติ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยยูเรียและโปรแตสเซียมคลอไรด์อย่างละ 10 กิโลกรัมต่อไร่ หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีที่มีอัตราส่วนปุ๋ยใกล้เคียง เช่น สูตร 15-7-18 ใส่อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
- ใส่เพียงครั้งเดียวเมื่อมันสำปะหลังอายุ 1-2 เดือนในขณะที่ดินมีความชื้น เพียงพอ โดยขุดหลุมใส่ 2 ข้างต้นระยะพุ่มใบแล้วกลบดิน
การบำรุงรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน
การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้คงสภาพเดิมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงได้ยาวนาน สามารถทำได้โดยการหว่านเมล็ดพืชสด เช่น ปอเทือง หรือถั่วพุ่ม อัตราประมาณ 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือโรยเมล็ดถั่วพร้าอัตราประมาณ 15 กิโลกรัมต่อไร่เป็นแถวห่าง 0.501.0 เมตร ระยะระหว่างต้น 25-50 เซนติเมตรแล้วไถกลบพืชสดเหล่านี้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือน ก่อนปลูกมันสำปะหลัง
การอนุรักษ์ดิน
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังโดยทั่วไปมักมีความลาดเอียงไม่สม่ำเสมอ และ ลักษณะเนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย จึงทำให้มีการชะล้าง พังทะลายของดินมากโดยเฉพาะช่วง 1-3 เดือนแรกที่ปลูกมันสำปะหลัง วิธีการปฏิบัติเพื่อช่วยลดปัญหานี้สามารถทำได้โดย
- วิธีทางเขตกรรม คือ ควรเตรียมดินด้วยผาล 3 และ 7 ยกร่องปลูกใน แนวระดับโดยระยะระหว่างร่อง 80 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 80 เซนติเมตรตลอดจนการใส่ปุ๋ยเคมีด้วยจะช่วยให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดีมีพุ่มใบปกคลุมผิวดินได้รวดเร็ว ลดการสูญเสียดินได้มาก และยังทำให้ได้ผลผลิตสูงด้วย
- วิธีการจัดระบบการปลูกพืช สามารถใช้เป็นแนวป้องกันบนพื้นที่ปลูกที่มี ปัญหาการชะล้างพังทะลายของดินได้ค่อนข้างมาก ทางเลือกที่ใช้ปฏิบัติได้ผลดีระยะยาวได้วิธีหนึ่งคือ การใช้หญ้าแฝก ด้วยระยะห่างระหว่างหลุม 10 เซนติเมตร หลุมละ 1 ต้น จำนวนแถวของหญ้าแฝกขึ้นอยู่กับความลาดเอียงของพื้นที่
แหล่งปลูก
แหล่งปลูกมันสำปะหลังที่เหมาะสมควรมีคุณสมบัติดังนี้
สภาพพื้นที่
- ไม่เป็นที่ลุ่มหรือมีน้ำท่วมขัง
- มีความสูงจากระดับน้ำทะเล
- ใกล้แหล่งรับซื้อผลผลิต
ลักษณะดิน
- ดินร่วน ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี
- มีความเป็นกรดและด่าง 4.5 8.0
สภาพภูมิอากาศ
- เขตร้อนตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 30 องศาเหนือ ถึง 30 องศาใต้
- มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,2001,500 มิลลิเมตรต่อปี
- อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส
การเก็บเกี่ยว
มันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่จำกัดอายุการเก็บเกี่ยวแต่ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุครบ 8 เดือนขึ้นไป อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมคือ 12 เดือน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบส่งโรงงานโดยเร็ว ไม่ควรทิ้งเกิน 4 วันเพราะหัวมันจะเน่าเสีย
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปริมาณแป้ง
- พันธุ์ พันธุ์มันสำปะหลังแต่ละพันธุ์มีเปอร์เซนต์แป้งในหัวไม่เท่ากัน พันธุ์ระยอง 90 มีเปอร์เซนต์สูงที่สุด รองลงมาคือพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 5 ระยอง 72 และระยอง 60 ตามลำดับ
- ฤดู ช่วงฤดูแล้ง (พฤศจิกายนมีนาคม) เดือนพฤศจิกายน ความชื้นในดินเริ่มน้อยลงต้นมันสำปะหลังหยุดการเจริญเติบโต ทิ้งใบ น้ำในหัวมีน้อยเปอร์เซนต์แป้งจึงสูงจนถึงฤดูฝน (เมษายน – ตุลาคม) เดือนเมษายนอากาศร้อนจัดและเริ่มมีฝน มันสำปะหลังใช้พลังงานมากเพื่อการหายใจ และสร้างใบใหม่แป้งที่สะสมไว้ในหัวจึงถูกนำไปใช้ทำให้เปอร์เซนต์แป้งลดลง
- อายุ เมื่อเก็บเกี่ยวในเดือนเดียวกันอายุ 8-12 เดือน จะมีเปอร์เซนต์แป้งไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ถ้าต้นมันสำปะหลังมีอายุมากขึ้น 16-18 เดือน หัวจะมีขนาดใหญ่ บริเวณตรงกลางของหัวจะฝ่อหรือมีน้ำมากเปอร์เซนต์แป้งในหัวจึงต่ำ
- การตัดต้นก่อนเก็บเกี่ยว เมื่อมีการตัดต้นมันสำปะหลังโดยยังไม่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังจะมีการแตกยอดและใบใหม่ จึงดึงแป้งที่สะสมในหัวมันไปใช้ทำให้เปอร์เซนต์แป้งลดลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในราย 2 เดือนแรกหลังการตัดต้นไป ต่อเมื่อเข้าเดือนที่ 3 มีใบมากพอแล้วจะสังเคราะห์แสงสร้างแป้งไปสะสมที่หัวได้อีกครั้งหนึ่ง
- ระยะเวลาหลังเก็บเกี่ยว หลังจากขุดหัวมันสำปะหลังแล้วควรรีบนำส่งโรงงานทันทีในระยะ 2 วันแรกหัวมันยังไม่เน่าเสียและเปอร์เซนต์แป้งในหัวยังไม่ลดลงแต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เกิน 4 วัน หัวมันสำปะหลังจะเน่าเสียมากและเปอร์เซนต์แป้งในหัวจะลดลง
การเก็บรักษาต้นพันธุ์
ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ของมันสำปะหลังคือ ส่วนของลำต้น การเก็บรักษาต้นพันธุ์มีระยะเวลาจำกัดเนื่องจากความสมบูรณ์ ความแข็งแรง และความงอกจะลดลงเป็นลำดับ
การดูแลรักษากิ่งพันธุ์
อายุกิ่งพันธุ์เก็บได้ไม่เกิน 15 วันถ้านานกว่านี้เปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลงต้นที่คัดไว้ทำพันธุ์ควรวางให้ส่วนยอดตั้งขึ้นและโคนต้นแตะพื้นดิน เกษตรกรควรทำแปลงพันธุ์ไว้ใช้ปลูก ในฤดูต่อไป เพื่อให้ได้ท่อนพันธุ์ที่มีคุณภาพ และเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวในฤดูแล้ง และไม่สามารถปลูกต่อได้ทันที
ปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาในการเก็บรักษาต้นพันธุ์มีดังนี้
- พันธุ์ ต้นพันธุ์มันสำปะหลังในแต่ละพันธุ์สามารถเก็บได้นานต่างกัน เช่น
– พันธุ์ระยอง 90 เก็บไว้ได้ไม่เกิน 15 วัน
– พันธุ์ระยอง 60 ระยอง 5 เกษตรศาสตร์ 50 เก็บไว้ได้ 30 45 วัน
- ส่วนของต้นพันธุ์ มันสำปะหลังบางพันธุ์ เช่น ระยอง 90 มีการแตกกิ่ง ส่วนของกิ่งก็สามารถใช้ทำพันธุ์ได้แต่จะเก็บรักษาได้ไม่นานเท่าส่วนของลำต้น
- ฤดู ในฤดูฝนสภาพอากาศมีความชื้นสูง สามารถเก็บรักษาต้นพันธุ์ได้ยาว นานกว่าในฤดูแล้ง
- สภาพการเก็บ
– ในฤดูฝน เก็บไว้ในสภาพกลางแจ้งหรือในที่ร่มมีผลไม่แตกต่างกัน
– ในฤดูแล้ง เก็บในที่ร่มจะเก็บไว้ได้นานกว่าเก็บในสภาพกลางแจ้ง
- วิธีการเก็บ ควรเก็บกองรวมวางตั้งบนพื้นดินที่มีการสับพรวนดิน ให้ส่วนโคนของทุกๆต้นสัมผัสพื้นดินแล้วพรวนดินกลบรอบๆ กอง ถ้าเป็นฤดูแล้งต้องมีการรดน้ำช่วยจะทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น วิธีการเก็บรักษาต้นพันธุ์มันสำปะหลังไว้ทำพันธุ์ที่ดีที่สุด คือ การทำแปลงขยายพันธุ์ไว้เฉพาะเมื่อเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังจะไม่ เก็บเกี่ยวหมดทั้งแปลงแต่จะเหลือไว้ส่วนหนึ่ง (1:10) ซึ่งจะ เก็บเกี่ยวหลังจากเอาต้นพันธุ์ไปปลูกแล้ว
สุขลักษณะและความสะอาด
- สภาพพื้นที่ปลูก ควรดูแลรักษาให้ปราศจากวัชพืชและโรคแมลงอยู่เสมอ
- ต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรใหม่ สด ไม่บอบช้ำและปราศจากโรค แมลง และเป็นพันธุ์ที่ไม่ถูกทำลายโดยสารเคมีกำจัดวัชพืช
- ผลผลิต (หัวสด) เมื่อเก็บเกี่ยวส่งจำหน่ายไม่ควรมีส่วนของลำต้นและดิน ติดปน
- หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต (หัวสด) ควรรีบส่งจำหน่ายทันทีไม่ควรทิ้ง ไว้นานเกิน 4 วัน เพราะหัวมันสำปะหลังจะเน่าเสียหาย
- การพ่นสารเคมีกำจัดโรค แมลง และวัชพืช ทุกครั้งควรมีการ ป้องกันให้ถูกวิธี
รายละเอียดสอบถามได้ที่สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-0603 และ 0-2940-5492
และศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง 0-3868-1515 ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา
กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร