มันเลือดเถามีครีบ ใบรูปร่างคล้ายหัวใจแคบ ใบมันออกม่วง มันเลือดจะใหญ่หรือเล็กขึ้นกับอายุที่ปลูก หากปลูกไว้นานหลายปี หัวจะใหญ่มาก นิยมนำหัวใต้ดินมานึ่งรับประทาน บางพื้นที่นำไปนึ่งรวมกับข้าวเหนียว แต่โดยมากนิยมนำไปทำของหวาน เนื้อมันเลือดมีสีม่วงน่าทาน สรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ แก้โรคเรื้อน แก้ริดสีดวง แก้วัณโรค
ชื่ออื่น : มันสีม่วง มันเลือดนก มันเลือดหมู ฯลฯ
มันเลือด เป็นมันที่มีขนาดของหัวใหญ่ ดังนั้น ในการขยายพันธุ์จะต้องผ่าแบ่งหัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ มากน้อยตามขนาดของหัวมัน ในแต่ละชิ้นจะมีตายอดติดอยู่ หลังจากแบ่งผ่าเสร็จให้นำชิ้นมันไปแช่ในสารป้องกันและกำจัดแมลง เชื้อราและฮอร์โมนเร่งราก และผึ่งลมให้แห้งก่อนที่จะนำมาชำในถุงดำ และเมื่อแตกยอดให้นำไปปลูกลงแปลงต่อไป
ระยะปลูกของมันพื้นบ้านใช้ระยะปลูกระหว่างต้นประมาณ 75 เซนติเมตร ให้ใช้จอบขุดสันแปลงหรือกลางแปลงก็ได้ ให้หลุมมีขนาดกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 25 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกเก่า เปลือกถั่ว และขี้เถ้าแกลบลงไปในหลุมและคลุกเคล้ากับดินปลูก นำต้นกล้ามันพื้นบ้านลงปลูกและกลบดินให้แน่น หลังจากนั้นให้นำไม้ไผ่ลวกขนาดกลางหรือขนาดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำ เฉลี่ย 0.5-1 นิ้ว และไม้ไผ่มีความยาวเฉลี่ย 2-2.5 เมตร เซี่ยมปลายไม้ให้แหลมและปักหลักลงไปข้างต้นมันพื้นบ้านให้ห่างจากต้นมัน ประมาณ 10-15 เซนติเมตร
มันเลือด ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนคือประมาณเดือนพฤษภาคม และมาเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนธันวาคม เป็นต้นมา ใช้เวลาปลูกในแต่ละรุ่นเป็นเวลา 8 เดือน การให้น้ำ ในช่วง 15 วันแรก จะมีการให้น้ำอย่างเสมอ อย่างน้อยวันละครั้ง เช้าหรือเย็น เมื่อต้นมันมีอายุได้ 15-45 วัน จะเปลี่ยนมาให้ 2-3 วัน ต่อครั้ง และให้น้ำสัปดาห์ละครั้งเมื่อต้นมันมีอายุ 1 เดือนครึ่ง-4 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นจะหยุดการให้น้ำจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ในการป้องกันและกำจัดวัชพืชจะใช้แรงงานคนโดยกำจัดในช่วงที่ต้นมันมีอายุ เฉลี่ย 45-50 วัน
มันเลือดใช้เวลาปลูกเพียง 8 เดือนสามารถเก็บเกี่ยวขุดหัวมันขึ้นมาจำหน่ายได้ (ถ้าปลูกมันเทศเนื้อสีส้ม สีม่วง และมันเหลืองญี่ปุ่น จะใช้เวลาปลูกสั้นกว่า ใช้เวลาประมาณ 4-4 เดือนครึ่ง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้) วิธีการสังเกตว่าต้นพื้นบ้านสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูกไปแล้ว ประมาณ 7-8 เดือน สังเกตว่าใบมีสีเหลืองเริ่มเหี่ยว เถาเริ่มแห้งและตายในเวลาต่อมา และสังเกตที่ดินปลูกจะแตกมีรอยแยกบริเวณหน้าดิน ให้ขุดมันพื้นบ้านขึ้นมาได้
ที่มา
มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน