มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ขอเชิญทุกท่าน ร่วมกันปลูกความดีบนผืนแผ่นดินไทยด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิด แนวทางการดำเนินชีวิตตามวิถีความพอเพียงจากการเรียนรู้แบบกสิกรรมธรรมชาติตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนสู่ความสุขที่ยั่งยืน มาร่วมกันรักษาธรรมชาติ เพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบนโลกใบนี้และคุณคืออีกหนึ่งความดีที่ช่วยโลกของเราได้
ประวัติความเป็นมา
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญและงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ
ประกอบกับ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยรับราชการใกล้ชิดกับพระองค์ท่านฯ ในหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรีกว่า ๑๖ ปี ได้สัมผัสกับชีวิตของเกษตรกรในทั่วภูมิภาคของประเทศ ซึ่งได้พบกับปัญหาต่าง ๆของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน ความยากจน ความรู้ในเรื่องการเกษตร ตลอดจนปัญหาสุขภาพ การศึกษา และอื่น ๆ ประกอบกับที่ได้ถวายการรับใช้พระองค์ท่าน ได้เห็นพระองค์ท่านทุ่มเทพระวรกาย กำลังทุนทรัพย์ อีกทั้งเวลาโดยส่วนใหญ่กับการพัฒนาค้นคว้าและทดลองในสิ่งต่าง ๆ ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช การทำนาข้าว การปรับปรุงดิน และน้ำ การศึกษาการปลูกป่า และพืชสมุนไพร การปลูกแฝก โรงสี และเทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยเรื่องพลังงาน และโครงการ อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทรงลงมือปฏิบัติการด้วยพระองค์เอง
พระองค์ท่านทรงเน้นให้ประชาชน และเกษตรกรรู้จักพึ่งตนเอง จึงได้พระราชทานแนวคิดเรื่อง ทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นหลักคิดให้กับทุก ๆ คน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร จึงได้รวบรวมกลุ่มคนในหลาย ๆ อาชีพ ที่มีแนวคิด แนวอุดมการณ์ ในการที่จะฟื้นฟูประเทศ โดยการนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ให้ใช้กับการทำการเกษตร และการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี หยุดการพึ่งพาชาติตะวันตกและหันกลับมาพึ่งพาตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เคยสืบทอดกันมาเพื่อเน้นการทำเกษตรที่ยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย
การรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริฯนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้เกษตรกรได้เห็นจริงจึงจะเข้าใจแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องจึงเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่แนวความคิดและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกสิกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์ การปศุสัตว์ การพลังงาน การแพทย์เภสัชกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยใช้ภูมิปัญญาตะวันออก
2. เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรม ถ่ายทอด และเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ให้กับเกษตรกร นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการและประชาชน
3. เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลภายใต้โครงการของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์
4. เพื่อเป็นสถานที่จัดทำแปลงสาธิต ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้กับสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับพืชผักสวนครัวและนาข้าวเพื่อให้ความรู้ และเป็นแปลงตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่นและเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจ
5. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมอุปกณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรในอดีต โดยจะตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวนาต่อไป
6. เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้ที่สนใจทางด้านการเกษตรแบบธรรมชาติเข้าแวะชม และแสวงหาความรู้
7. เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดให้กับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ที่สนใจใช้เป็นสถานที่จัดอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทุกประเภท
ป้ายคำ : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ